"แผนไทยไร้ขยะพลาสติก" อีกหลายสิ่งที่ต้องเติมเต็ม


เพิ่มเพื่อน    

 

 

 

     ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแผนลด-เลิกผลิตขยะพลาสติก โดยประกาศห้ามใช้ "พลาสติก 4 ชนิด" ทั้งถุงหิ้ว โฟม แก้ว หลอด พลาสติก แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2565 ส่วนพลาสติกอีก 7 ชนิด ขีดเส้นจะต้องนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่า 50% ในปี 2565 ด้วยเช่นกัน โดยแผนดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งดำเนินการ ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573
    โดยแบ่งระยะของการดำเนินตามแผนออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565) มีเป้าหมายแรก คือ  1.ให้ลดและเลิกใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม แก้วพลาสติกบาง แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น
    และเป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติกเป้าหมายกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2565 ชนิดของพลาสติกที่นำกลับมาใช้หมุนเวียน ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบหนา, บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว, ขวดพลาสติกทุกชนิด, ฝาขวด, แก้วพลาสติก, ถาด และกล่องอาหารและ ช้อน ส้อม มีดพลาสติก
    โดยในปีฐาน พ.ศ.2562 รวมการใช้พลาสติก 7 ประเภทอยู่ที่ 1,341,668 ตัน เป้าหมายนำกลับไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 หรืออยู่ที่ 670,834 ตัน โดยมีมาตรการรายละเอียดดังนี้
      1.มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยการออกแบบ/ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์ เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ รับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อม การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก และมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพลาสติกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเชื่อมโยงทั้งประเทศ
    2.มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
      3.มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมให้ประชาชนลด และคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติก และจัดหาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 


"กรีนพีซ" ชี้แผนดี แต่ขาดความรับผิดชอบผู้ประกอบการทาง กม.
    พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า มติ ครม.นี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายที่อยู่ใน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2563-2573 ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบในเดือนเมษายน 2563 ไปแล้ว จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า จากการดำเนินการในช่วงปีที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อได้ประมาณ 1,524 ล้านใบ หรือประมาณ 4,385 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
      อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนปฏิบัติการระยะที่ 1 ซึ่งพิจารณาถึงผู้ผลิตมีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติกโดยใช้แนวทางการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคนั้นสามารถทำให้ชัดเจนขึ้น โดยประยุกต์หลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต "ให้เป็นกรอบกฎหมายที่ผลบังคับใช้"
    พิชามญชุ์ระบุว่า ตามโรดแมป จัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2563-2573 ในทุกระยะ ยังมีข้อกังวลโดยเฉพาะแนวคิดการจัดการขยะพลาสติกแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่อยู่บนฐานของการนำเอาขยะพลาสติกไปเผาเป็นพลังงาน  ตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565) เพื่อผลิตเป็นชื้อเพลิงขยะ ซึ่งระบุเพียงว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติก ที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.78 ล้านตันต่อปี และการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน แต่ไม่ได้คำนึงถึงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะพลาสติกเลยแม้แต่น้อย ซึ่งหากนำขยะพลาสติก 0.78 ล้านตันไปเผา จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 22.83 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า  
    " รัฐบาลต้องผลักดันให้มีกรอบกฎหมายว่าด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายเร็ว (Fast Moving Consumer Goods) มีแนวทางและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการขยายความรับผิดชอบของตนไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ, กระจายสินค้า, การรับคืน, การเก็บรวบรวม, การใช้ซ้ำ, การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด และภาครัฐต้องขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยมุ่งเน้นไปที่การลด (reduce) ใช้ซ้ำ (reuse) และการเติม (refill) และหยุดสนับสนุนวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง อันเป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤติมลพิษพลาสติกอย่างยั่งยืน" พิชามญชุ์ ย้ำ

 

ควรอนุโลมใช้พลาสติกที่จำเป็น 
จนกว่าจะหาผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้

    ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธาน PPP Plastics กล่าวว่า มติ ครม.เป็นการลดขยะพลาสติกในขั้นตอนผู้บริโภค แน่นอนว่าจะบรรลุเป้าหมายได้จะต้องร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายของโรดแมปในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เวลานี้บ้านเราสามารถงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic bag) จากความร่วมมือของภาคเอกชนรายใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปริมาณการใช้ถุงลดลงไปมากในส่วนห้าง แต่การงดใช้ถุงพลาสติก ที่จะขยายความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มตลาดสด แผงลอย และร้านขายของชำ  ยังมีข้อกังวลว่าจะดำเนินการได้อย่างไร ถ้าไม่ให้ใช้ จะหาถุงประเภทใดมาใช้ทดแทนได้ โดยไม่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมา ซึ่งพลาสติกเป็นวัสดุที่มีราคาถูก น้ำหนักเบา ผลิตได้หลายรูปทรงตามที่ต้องการ ทำให้เป็นมีการใช้ปริมาณมากและเป็นที่นิยมในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันถุงทดแทนยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ อย่างถุงพลาสติกชีวภาพ (Biodegradable plastic Bag) ก็ไม่เป็นที่นิยม เพราะมีขนาดตลาดที่จำกัด ราคาค่อนข้างสูง และระยะเวลาการเก็บรักษาสั้น เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารได้บางประเภทเท่านั้น อีกทั้งถุงพลาสติกชีวภาพไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ปลายทางจึงต้องฝังกลบบ่อขยะเท่านั้น วนถุงที่ผลิตจากกระดาษมีจุดอ่อนด้านความคงทน ต้นทุนก็ต่างจากถุงพลาสติกมาก แถมเยื่อกระดาษผลิตจากต้นไม้
    "การงดใช้ถุงพลาสติกในตลาดอาจต้องให้ลดในสิ่งที่ไม่จำเป็น และอนุโลมบางส่วน นอกจากนี้ ยังมีถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทมัลติเลเยอร์ มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน มีความคงรูป ราคาถูก เหมาะกับกระบวนการถนอมอาหาร ถุงประเภทนี้รีไซเคิลไม่ได้ แต่เก็บและรวบรวมมาแปลงเป็นถนนพลาสติกได้ ทำขยะให้มีค่า แต่จะทำอย่างไรให้เข้าสู่ระบบ"  

ผู้ประกอบการต้องร่วมมือ
    ในช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มพุ่งพรวดจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี ดร.วิจารย์มองว่าเรื่องนี้ ผู้ประกอบการต้องร่วมมือ ปรับแนว หาทางใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเด็นนี้ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าโดยเฉพาะการศึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากวัสดุในท้องถิ่น เช่น หลอดกระดาษ หลอดไม้ไผ่ หรือกล่องบรรจุอาหารจากชานอ้อยนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ 
    "ประเทศไทยต้องสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะพลาสติกต้องเข้าสู่ระบบจัดการที่รองรับ สร้างความรู้ให้คนเข้าใจว่า ขยะชนิดไหนรีไซเคิลได้ การแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน มีการเก็บรวบรวม และนำกลับมาใช้ใหม่ ที่สำคัญภาครัฐต้องมีมาตรการติดตามตรวจสอบโรงงานผลิตพลาสติกว่า มีการผสมสารอ็อกโซ (Oxo) สารเร่งให้เกิดการแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ในระยะเวลาสั้น ปัจจุบันไม่มีระบบตรวจสอบ เพราะการเติมสารนี้สร้างความเสี่ยงในการเพิ่มและสะสมไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นเศษพลาสติกที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตรปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม นี่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน" ดร.วิจารย์กล่าว  

สังคมต้องตระหนักมีส่วมร่วมจัดการขยะ
    ดร.วิจารณ์ระบุ การสร้างความตระหนักให้คนในสังคมร่วมจัดการขยะสำคัญสูงสุด ตอนนี้ PPP Plastics ทำโครงการถังวนถุง ตั้งจุดคัดแยก และไม่ทิ้งขยะปนเปื้อนลงถังวนถุงจำนวนกว่า 400 จุด ทั่ว กทม. ปริมณฑล และระยอง ขยะพลาสติก 12 ประเภทที่ได้ จะนำไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบใหม่ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เราสามารถรวมพลาสติกได้จำนวนมากกว่า 12,000 กิโลกรัม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สำคัญส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นำกลับมาหมุนเวียนทำประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก เพราะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมีส่วนทำให้เกิดขยะทะเลจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและการประมง รวมถึงทำลายภาคการท่องเที่ยว  
    " การคัดแยกขยะแต่ต้นทาง PPP Plastics มีโครงการนำร่องในพื้นที่เขตคลองเตย สร้างความรู้ชุมชนทั้งตามบ้านเรือน คอนโดมิเนียม เปลี่ยนทัศนคติ รณรงค์ส่งเสริมให้ชุมชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ทำให้ขยะเดินทางสู่กระบวนการรีไซเคิลจนสร้างรายได้ และเตรียมขยายผลไปพื้นที่เขตปทุมวัน ก็หวังว่าจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป ในส่วนภูมิภาคนำร่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จังหวัดระยอง รับซื้อขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ นอกจากชุมชน ยังขยายสู่โรงเรียนต้นแบบ 14 แห่ง อบรมครูแยกขยะ รู้มูลค่าขยะในระยอง นี่คือการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน" ประธาน PPP Plastics กล่าว


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"