'วัดมหาธาตุ'แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมครบมิติ เดินหน้าศึกษาอนุรักษ์ สร้างศักยภาพ


เพิ่มเพื่อน    

เจดีย์ทรงปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง สิ่งก่อสร้างสำคัญวัดมหาธาตุ

 

     เป็นเวลายาวนานที่วัดมหาธาตุ ริมฝั่งแม่น้ำน้อย จ.ชัยนาท ยังคงเป็นสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง และสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้กับคนไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณมาแล้ว 86 ปี

      การส่งต่อเรื่องราวคุณค่าทางโบราณคดีและงานอนุรักษ์โบราณสถานวัดมหาธาตุ ปัจจุบันกรมศิลปากร (ศก.) มีแผนดำเนินการอย่างชัดเจน สู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีศักยภาพของประเทศที่ผู้สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชม สร้างรายได้ให้จังหวัด

      นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารกรมศิลปากรสัญจร ณ จังหวัดลพบุรี และติดตามโครงการบูรณะโบราณสถานต่างๆ ในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ว่า ศก.ได้ตั้งเป้าหมายในการอนุรักษ์และพัฒนาวัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท พร้อมทั้งเร่งรัดการบูรณะโบราณสถานสำคัญให้เป็นไปตามแผนงาน

 

ภาพมุมสูงวัดมหาธาตุ โบราณสถานสำคัญ จ.ชัยนาท แสดงถึงผังวัด

 

 

      วัดมหาธาตุเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองสรรคบุรี ริมฝั่งแม่น้ำน้อย จังหวัดชัยนาท อธิบดีกรมศิลปากรระบุว่า รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏส่วนใหญ่อยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เป็นศูนย์กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุของเมืองอื่นๆ สำหรับอาคารเสนาสนะต่างๆ ยังคงเห็นร่องรอยของการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้งหลายสมัย สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ เช่น เจดีย์ทรงปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง เจดีย์รายทรงแปดเหลี่ยม วิหารหลวง และเจดีย์ใหญ่ด้านหลังที่ได้รับอิทธิพลจากทวารวดี ส่วนพระวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือที่ชาวสรรคบุรีให้ความเคารพสักการะ กราบไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกกันว่า หลวงพ่อหมอ หรือหลวงพ่อหลักเมือง 

      “ เดิมวัดมหาธาตุไม่มีแผนระยะยาวในการจัดการดูแลรักษา รวมถึงไม่ได้มีการศึกษาทางโบราณคดีอย่างจริงจัง และไม่ได้กำหนดทิศทางในการอนุรักษ์และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ เห็นว่าต้องจัดทำการสำรวจ ตรวจสอบผังปัจจุบันวัดมหาธาตุ เพื่อจัดทำแผนงานในการพัฒนาโบราณสถานวัดมหาธาตุ” นายประทีป กล่าว

 

บูรณะวัดมหาธาตุสู่แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมที่มีศักยภาพ

 

 

      สำหรับแผนดำเนินงานพัฒนาโบราณสถานวัดมหาธาตุมีระยะเวลา 3 ปี ดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย งานโบราณคดี งานอนุรักษ์โบราณสถาน และงานปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถาน ปัจจุบันได้ดำเนินงานขุดตรวจทางโบราณคดีไปแล้ว ขณะนี้กรมศิลปากรอยู่ระหว่างการบูรณะโบราณสถานภายในวัดมหาธาตุและการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อพัฒนาให้โบราณสถานวัดมหาธาตุสวยงาม ทรงคุณค่า มีศักยภาพเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และเป็นศาสนสถานที่สำคัญคู่เมืองสรรคบุรีในอนาคต

 

ปรับปรุงภูมิทัศน์วัดมหาธาตุตามแผนงานพัฒนา 3 ปี 

 

      นอกจากวัดเก่า โบราณสถานคู่เมืองชัยนาท ยังมีการติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ของสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี อาทิ โครงการขุดลอกและปรับภูมิทัศน์โบราณสถานคลองเรือก ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี แนวคูเมืองลพบุรีชั้นในด้านทิศตะวันออกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนของประชาชนรุกล้ำลงไปในคลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูให้เป็นแหล่งศึกษาระบบประปาของลพบุรี สะอาด งดงาม เป็นระเบียบและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแลนด์มาร์คของชุมชน 

 

โบราณสถานคลองเรือก ลพบุรี  มีโครงการขุดลอกและปรับภูมิทัศน์

 

      การดำเนินโครงการต่างๆ ของสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ยังมีที่น่าสนใจ เช่น โครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านสำราญชัย ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก ซึ่งเริ่มดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีแล้ว มีการค้นพบโครงการกระดูกมนุษย์สมัยโบราณจำนวนมาก รวมถึงเครื่องถ้วยชาม ขวานหิน โบราณวัตถุในพื้นที่ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน

      โครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานบ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์) จังหวัดลพบุรี ระยะ 3 บ้านหลวงรับราชทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของลพบุรี กลับมาฮิตมีคนเยี่ยมชมไม่ขาดสายเมื่อละครพีเรียดย้อนยุคเรื่องบุพเพสันนิวาส พูดถึงในฉากที่ เกศสุรางค์ (การะเกด) และครอบครัวของหมื่นสุนทรเทวา ไปเที่ยวเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเกศสุรางค์ได้มาเยี่ยมแม่มะลิ หรือ มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) ที่บ้านหลังนี้ หากอนุรักษ์แล้วเสร็จจะยิ่งเพิ่มความสง่างามของบ้านวิชาเยนทร์ อาคารงดงามผสมผสานศิลปะตะวันออกกับสถาปัตยกรรมยุโรปยุคเรอเนสซองซ์

      โครงการบูรณะศาลาการเปรียญวัดบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี รวมถึงโครงการอนุรักษ์และพัฒนาภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ได้แก่ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาอาคารหมู่ตึกพระประเทียบหลังที่ 9 และหลังที่ 10 โครงการซ่อมแซมศาลาเชิญเครื่อง โครงการพัฒนาปรับปรุงคลังเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (เรือนจำเก่า) พระนารายณ์ราชนิเวศน์ แต่ละโครงการสำคัญช่วยเติมเต็มการย้อนรอยประวัติศาสตร์ในเมืองละโว้ งานนี้ อธิบดีกรมศิลปากรมอบหมายให้เร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่ตั้งไว้

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"