ชาวสวิสลงมติเห็นด้วย'แบนบุรกา' ห้ามคลุมหน้าในที่สาธารณะ


เพิ่มเพื่อน    

สวิตเซอร์แลนด์เดินตามรอยหลายชาติในยุโรป ข้อเสนอของฝ่ายขวาจัดที่ต้องการห้ามการสวมชุดคลุมใบหน้าในที่สาธารณะหรือที่รณรงค์หาเสียงกันว่ากฎหมายห้ามชุดบุรกาของชาวมุสลิม ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 51.2% ในการลงประชามติเมื่อวันอาทิตย์

แฟ้มภาพ กลุ่มสตรีมุสลิมประท้วงที่กรุงเฮก หลังจากเนเธอร์แลนด์อนุมัติกฎหมายห้ามเครื่องแต่งกายปิดบังใบหน้าที่รวมถึงชุดนิกอบและบุรกา เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 (Photo by Ana Fernandez/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

    ผลคะแนนประชามติที่มีผลผูกมัดเมื่อวันอาทิตย์เผยว่า มีชาวสวิส 51.2% หรือ 1,426,992 คนเห็นด้วยกับข้อเสนอห้ามการสวมชุดแต่งกายคลุมใบหน้าทั้งหมดในที่สาธารณะ โดยมี 1,359,621 คน หรือราว 48.8% ไม่เห็นด้วย จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิมี 50.8%

    แม้ข้อเสนอจะไม่ได้อ้างถึงชุดบุรกาหรือนิกอบของสตรีมุสลิมโดยตรง แต่โปสเตอร์หาเสียงประกาศชัดว่า "หยุดอิสลามหัวรุนแรง" และ "หยุดลัทธิสุดโต่ง" โดยใช้ภาพของผู้หญิงสวมชุดนิกอบสีดำ ซึ่งเป็นชุมคลุมทั้งตัวแต่ยังเผยให้เห็นดวงตา ต่างจากบุรกาที่คลุมทั้งหมด ขณะที่โปสเตอร์ของฝ่ายคัดค้านเรียกร้องว่า "ไม่เอากฎหมายต่อต้านบุรกาที่ไร้สาระ เปล่าประโยชน์และเกลียดกลัวอิสลาม"

    รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีกล่าวว่า การลงมติที่เรียกกันว่าการต่อต้านชุดบุรกา เป็นผลลัพธ์ของการอภิปรายในสวิตเซอร์แลนด์มานานหลายปี หลังจากประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปหลายชาติออกกฎหมายลักษณะดังกล่าว เช่น ฝรั่งเศสห้ามการสวมชุดคลุมใบหน้าทั้งหมดในที่สาธารณะเมื่อปี 2554 และเดนมาร์ก, ออสเตรีย, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และบัลแกเรีย มีกฎหมายห้ามการคลุมใบหน้าทั้งหมดหรือบางส่วนในที่สาธารณะ และยังมีอีกบางประเทศที่ห้ามเฉพาะบางสถานที่เช่นโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

    ข้อเสนอนี้ริเริ่มโดยกลุ่มขวาจัดที่เคยเสนอให้จัดลงประชามติจนนำไปสู่การห้ามมัสยิดก่อสร้างหออะซานหรือหอขานละหมาด เมื่อปี 2552 ที่ทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกโกรธเคืองมาแล้ว

    รัฐบาลสวิสและสภานิติบัญญัติของสวิสคัดค้านการออกกฎหมายห้ามชุดคลุมหน้าบังคับใช้ทั่วประเทศ และเรียกร้องประชาชนปฏิเสธข้อเสนอนี้ หลังการลงมติ คาริน เคลเลอร์-ซัตเทอร์ รัฐมนตรียุติธรรม แถลงข่าวว่า ผลประชามตินี้ไม่ใช่การลงคะแนนต่อต้านมุสลิม และย้ำว่า มีเพียงประชากรมุสลิมจำนวนเล็กน้อยมากในประเทศที่ได้รับผลกระทบ

    ผลประชามตินี้จะห้ามการปิดบังใบหน้าอย่างสิ้นเชิงในที่สาธารณะ ไม่ว่าในร้านค้าหรือในเขตชนบทเปิดโล่ง แต่ยังมีข้อยกเว้น เช่น ภายในศาสนสถาน หรือด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและความปลอดภัย

    ผู้คัดค้านข้อเสนอนี้กล่าวว่า แทบไม่มีสตรีมุสลิมสวมชุดบุรกาในสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ที่สวมบุรกามักเป็นผู้ที่เปลี่ยนความเชื่อหรือนักท่องเที่ยว และมีเพียงประมาณ 30 คนที่สวมชุดนิกอบ สำนักงานสถิติกลางของสวิสสำรวจเมื่อปี 2562 พบว่ามีประชากรสวิสนับถืออิสลาม 5.5% จากประชากร 8.6 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรากเหง้ามาจากตุรกี, บอสเนีย และโคโซโว

    ด้านสภาอิสลามกลางแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (ไอซีซีเอส) กล่าวว่า การห้ามนี้เป็นความผิดหวังครั้งใหญ่สำหรับชาวมุสลิม ไอซีซีเอสจะจ่ายเงินค่าปรับให้แก่ผู้ที่สวมนิกอบเองตราบใดที่ยังมีเงินทุน

    การลงมติเมื่อวันอาทิตย์ยังรวมถึงคำถามว่าด้วยข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 51.7% แต่แผนของรัฐบาลเรื่องการระบุเอกลักษณ์บุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการยอมรับทั่วสหพันธรัฐ ถูกคัดค้านด้วยคะแนน 64.4%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"