คู่มือพระราชา!!!


เพิ่มเพื่อน    

                                                           (1)

                ด้วยเหตุเพราะการประพฤติและปฏิบัติแบบสม่ำเสมอ จนชักติดกลายเป็น นิสัย หรือ สันดาน ก็แล้วแต่จะว่ากันไป นั่นคือระหว่าง ขี้ หนีไม่พ้นต้อง อ่านหนังสือ หรือ ขี้ไป-อ่านไป เลยทำให้บรรดาหนังสือ หนังหา ที่กองระเกะระกะรกรุงรังอยู่ในภายบ้านทั้งบ้าน เลยถูกอ่านซะจนเกลี้ยง!!! แทบไม่เหลืออะไรที่ไม่เคยผ่านหู-ผ่านตาอีกต่อไป ชนิดต้องย้อนกลับมาอ่านหนังสือที่เคยอ่านแล้ว-อ่านเล่า รอบที่ 4 รอบที่ 5 หรือรอบที่ 10 เอาเลยถึงขั้นนั้น...

                                                     (2)

                แล้วหนึ่งในเล่มที่ไม่ว่าจะอ่านแล้ว-อ่านเล่า อ่านซ้ำ-อ่านซาก ก็ยังไม่คิดจะเบื่อ ก็คงหนีไม่พ้น นิทานเวตาล พระนิพนธ์ของ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ทรงร่ายเรียง แปล และสอดแทรกสไตล์ของตัวพระองค์เอง เอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว หรือปีพุทธศักราช 2461 โน่นเลย แต่ไม่ว่าจะอ่านกี่เที่ยว ต่อกี่เที่ยว ก็ยังเป็นอะไรที่สุดแสนจะก้าวหน้า ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ สอดคล้องและเหมาะสม กับฉากสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองและของโลก โดยเฉพาะภายใต้ภาวะที่ระบบ การเมือง-การปกครอง ไม่ว่า ประชาธิปไตยล้วนๆ หรือ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็แล้วแต่ หนีไม่พ้นต้องเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ หนักยิ่งขึ้นเรื่อยๆ...

                                                       (3)

                เรียกว่า...แม้เป็นหนังสือที่เคยอ่านๆ มาตั้งแต่ ตีนยังเท่าฝาหอย หรือถูกบังคับให้อ่าน (ในบางช่วง-บางตอน) ตั้งแต่ยังเป็น นักเรียน เอาเลยก็ว่าได้ แต่หลังจากโตๆ ขึ้นมาจนฝ่าตีนชักแผ่ ชักบาน พอๆ กับ ฝาหอยมือเสือ การคว้าหนังสือเล่มนี้กลับมาอ่านอีกรอบแล้ว รอบเล่า ก็กลับยิ่งช่วยให้เกิดการนฤมิตสร้างสรรค์ทาง ปัญญา หรือแม้แต่ สติ ให้ยกระดับขึ้นไปอีกไม่ว่ามากหรือน้อย อย่างมิอาจปฏิเสธได้ และเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนี่เอง สำนักพิมพ์ แพรว หรือ อมรินทร์พรินติ้ง เขาก็ไปหยิบนิทานเก่าแก่เล่มนี้ เอามาพิมพ์ใหม่ เป็นปกอ่อนแบบบรรดาหนังสือพ็อกเกตบุ๊กโดยทั่วไป ต่างไปจากหนังสือปกแข็งเล่มเดิมที่อ่านจนปกหลุด ปกขาด ไปนานแล้ว แถมยังแทรกเชิงอรรถ ดัชนี นำเอาความคิด ความเห็น ของบรรดาปรมาจารย์ในแวดวงหนังสือ ไปตั้งแต่ นายตำรา ณ เมืองใต้ อาจารย์ ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ไปจนถึง อาจารย์ชลฯ หรือ ชลธิรา สัตยาวัฒนา มาเกริ่นนำให้เห็นถึงความลุ่มลึก ลึกซึ้ง ความประณีตละเอียดอ่อน ไปจนถึง อารมณ์ขัน ที่ถูกบรรจุไว้ในนิทานเก่าแก่เล่มนี้ จนทำให้ยิ่งมีค่า มีราคา ยิ่งขึ้นไปใหญ่...

                                                        (4)

                คือก่อนหน้านั้น...เมื่อหลายต่อหลายปีที่แล้ว ขณะที่ยังเขียนหนังสือ หนังหา ให้กับ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น สัปดาห์ละครั้ง สองครั้ง ก็เคยหยิบเอานิทานเรื่องนี้นี่แหละ มาชี้แนะ ชี้นำ ให้ใครต่อใครลองไปหาอ่านอย่างเป็นระบบและกิจการ โดยให้ชื่อว่า คู่มือพระราชา ล้อกันไปกับหนังสือที่ได้แนะนำเอาไว้อีกหลายเล่ม ไม่ว่า พระไตรปิฎก ของ สุชีพ ปุญญานุภาพ หรือ วิเทโศบายต่างประเทศ ของอาจารย์ กนต์ธีร์ ศุภมงคล ฯลฯ ที่ถือเป็น คู่มือประชาชน หรือ คู่มือของนักปกครอง อะไรต่อมิอะไรประมาณนั้น อันเนื่องมาจากไม่ว่าตั้งแต่บทเริ่มต้น ไปจนถึงบทลงท้าย ของนิทานเรื่องนี้ ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้ง กับ พระราชา ของอินตะระเดียยุคโบร่ำโบราณ อย่าง พระวิกรมาทิตย์ นั้น อาจแทบไม่ต่างอะไรไปจาก คัมภีร์ ว่าด้วยรายละเอียดแห่งความเป็นกษัตริย์ หรือพระราชา เอาเลยก็ว่าได้ ว่าควรประกอบไปด้วยอะไรมั่ง อะไรเหมาะ-ไม่เหมาะ ควร-ไม่ควร อะไรพึงเน้นหนัก-อะไรพึงลด-ละ-เลิก อะไรที่ควรเฉียบขาด เด็ดขาด และอะไรที่ควรประนีประนอม ยืดๆ หยุ่นๆ กันไปตามสภาพ ฯลฯลฯ...

                                                     (5)

                และด้วยสำนวน ลีลา ตามสไตล์ของอภิมหานักเขียน กวี และนักปราญ์ อย่าง กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. นั่นเอง ที่ยิ่งทำให้นิทาน 10 เรื่อง จากจำนวน 25 เรื่อง ซึ่งพระองค์ได้นำเอาต้นฉบับภาษาอังกฤษของร้อยเอก เซอร์ อาร์.เอฟ เบอร์ตัน และนาย เอช. ทอว์นีย์ มาถ่ายทอด เรียบเรียง และขยายความเพิ่มเติม สอดแทรกเอาโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน แบบไทยๆ แจมเข้าไว้ด้วยอีกต่างหาก จึงเป็นอะไรที่สุดแสนจะไหลลื่นเอามากๆ โดยเฉพาะสำหรับคนเก่า คนแก่ และคนชราทั้งหลาย ที่ยังพอสามารถซึมซับ รสชาติแห่งวรรณคดี ได้บ้าง นิทานเรื่องนี้ เล่มนี้ จึงไม่เพียงแต่อ่านง่าย อ่านสบาย แต่ถ้าลองยิ่งอ่านแล้ว อ่านเล่า อ่านแล้ว อ่านอีก ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะมองหาและมองเห็น สิ่งที่มีคุณค่า ราคา ไม่ต่างไปจากเพชรหรืออัญมณี ที่ประดับรายรอบหัวแหวนแต่ละหัว หรือองค์ประกอบภายในนิทานแต่ละเรื่อง นับแต่ จุดเริ่มต้น ไปจนถึง บรรทัดสุดท้าย เอาเลยก็ว่าได้...

                                                      (6)

                สรุปรวมความแล้ว...วันอาทิตย์สบายๆ วันนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าถือโอกาสแนะนำหนังสือดี หนังสือที่น่าอ่าน และควรอ่านเอาไว้ให้แก้เบื่อ แก้เซ็ง ขณะอยู่ว่างๆ หรือขณะต้องเข้าส้วมอย่างอันตัวข้าพเจ้าเองหรือไม่ อย่างไร ก็ตามที ยิ่งโดยเฉพาะภายใต้บรรยากาศความเป็นไปของบ้านเมือง ไม่ว่าบ้านไหน เมืองไหน ดูๆ มันจะหนักไปทางน่าเบื่อ น่าเซ็ง ไปด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งประเภท ประชาธิปไตย แต่ละชนิด แต่ละรูปแบบ ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นอะไรที่ชักหาทางออก ทางไป แทบไม่เจอ การได้ย้อนกลับไป เจาะเวลาหาอดีต ไปหยิบเอาหนังสือเก่าๆ อย่าง นิทานเวตาล เล่มนี้ มาอ่านแก้เมื่อย แก้เซ็ง ไปพลางๆ อาจพอได้ คำตอบ บางสิ่ง บางอย่าง ขึ้นมาได้มั่งก็ไม่แน่!!!

                          -------------------------------------------------------------------


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"