‘ปิยบุตร’โชว์กึ๋นเก่งกว่าผู้พิพากษาบอกศาลไม่ให้ประกันตัว’แกนนำราษฎร’ไม่เข้าข้อกฎหมายสักข้อ


เพิ่มเพื่อน    

17 มี.ค. 2564 - มีรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 16 มี.ค. 2564 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เปิดห้องพูดคุยทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse ในหัวข้อ “ราษฎรที่ถูกจองจำ” วิพากษ์กระบวนการยุติธรรมในกรณีคดีความที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ซึ่งมีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกจองจำจากคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และได้รับปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการควบคุมตัว

โดยนายปิยบุตรได้เล่าถึงเหตุการณ์กรณีที่เกิดขึ้นในศาลเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ได้มีการนัดพร้อมฝ่ายโจทก์และจำเลยในคดีการชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก รวมทั้งการพิจารณาคำร้องของอัยการ ที่จะให้มีการรวมคดีในสำนวนต่างๆ จากการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 เข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากตัวผู้ต้องหาแล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องประชาชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเข้าร่วมรับฟังในคดีด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเลยทั้งหมด ได้ชี้แจงต่อศาลไปในทิศทางร่วมกัน ว่ากระบวนการพิจารณาคดีนี้มีความผิดปกติ ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จำเลยเมื่อไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตลอดจนไม่ได้รับโอกาสในการปรึกษาทนายและจำเลยร่วมในคดีมากพอ จึงขอให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวและยุติกระบวนการพิจารณาคดีเอาไว้ก่อน

จากนั้น จึงได้มีการลุกขึ้นชี้แจงโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ชี้แจงจนจบ และสั่งให้ตำรวจศาลนำตัวนายพริษฐ์ออกไป แต่ผู้ร่วมรับฟังการพิจารณาคดีได้เข้ามาห้อมล้อมนายพริษฐ์ จนนายพริษฐ์ได้กล่าวชี้แจงจนจบสิ้นกระบวนการ แม้ศาลจะได้เดินลงจากบัลลังก์ไปก่อน ซึ่งเหตุการณ์นี้นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในทางกฎหมาย ที่ไม่เคยมีเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

หลังจากนั้น นายปิยบุตร ระบุต่อไปว่า สิทธิของจำเลยในการได้รับสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ได้รับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิททธิทางการเมือง รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และรับรองไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นี่เป็นสิทธิสำคัญ เพราะคดีอาญาคือการชั่งน้ำหนัก การหาดุลยภาพกันระหว่างการควบคุมอาชญากรรม (crime control) และการปกป้องสิทธิของจำเลย (due process)

ซึ่งตามหลักสากลวันนี้ มีทิศทางในการให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิของจำเลยมาก่อน เพราะหากนำไปขังก่อนโดยไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว แล้วปรากฏว่าจำเลยได้รับคำพิพากษาว่าไม่มีความผิด จะกลายเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อตัวจำเลยเอง

ดังนั้นการได้รับปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นกรณีที่ต้องยึดเป็นหลัก การไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นกรณีข้อยกเว้น ที่เกิดขึ้นได้น้อยมากและต้องตีความอย่างเคร่งครัด ต้องมีการชั่งน้ำหนัก ต้องทำเท่าที่จำเป็น และสมควรแก่เหตุเท่านั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ยืนยันหลักการเช่นนี้ โดยระบุว่าจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุดังนี้ คือ 1) มีพฤติกรรมหลบหนี 2) อาจเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3) อาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4) หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และ 5) เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือพิจารณาคดี ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ก็ต่อเมื่อจำเลยมีพฤติการณ์เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งเท่านั้น

แต่ในกรณีของกลุ่มราษฎรนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกัน ครั้งแรกสุดศาลให้เหตุผลว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคล อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน”

และหลังจากนั้น ฝ่ายจำเลยเมื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกกี่ครั้ง ศาลก็ไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลเพียงว่า “ไม่มีเหตุในการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง” ปัญหาคือขั้นตอนปัจจุบันเป็นขั้นตอนสั่งฟ้องของอัยการ ศาลกำลังเปิดกระบวนพิจารณาคดี แต่เหตุผลกลับบอกว่าเป็นความผิดไปแล้ว ซึ่งเหตุผลเช่นนี้ไม่เข้าข่ายอันใดทั้ง 5 เหตุข้างต้นเลยทั้งสิ้น

เมื่อเดือนก่อน อาจารย์นิติศาสตร์จากหลากหลายมหาวิทยาลัยก็ได้เข้าชื่อกัน ว่าการให้เหตุผลเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ประธานศาลฎีกาคนก่อนหน้านี้ ท่านไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ก็เคยวางแนวทางเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวเอาไว้ ให้ข้อสังเกตว่าการให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราว ระบบต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ลดราคาหลักประกัน เป็นต้น

นายปิยบุตร กล่าวต่อไป ว่าทุกคนจึงตั้งคำถามต่อกรณีไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ มีการเปรียบเทียบว่าคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตาย ค้าอาวุธเถื่อน ค้ายาเสพติด เปิดบ่อนการพนัน ยังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ประชาชนจึงตั้งคำถามว่าในท้ายที่สุดแล้วกระบวนการยุติธรรมนั้นยุติธรรมจริงหรือไม่ เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลและรัฐธรรมนูญหรือไม่

เรื่องเหล่านี้ แน่นอนที่สุดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก คราวแรกไม่มีการตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พอมามีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวว ปัญหาคือหากเราคิดว่ารัฐเดินแนวทางแบบนี้เพื่อที่จะปิดปากไม่ให้คนเหล่านี้ได้พูดได้แสดงออก ตนคิดว่ามันไม่ได้ผล หรือถ้าคิดว่าทำแบบนี้จะทำให้หลาบจำ เข้าอกเข้าใจเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ตนก็คิดว่าไม่ได้ผลอีกเช่นกัน
“ความผิดของเขาเกิดจากการพูดการเขียน ความผิดจากการพูด การเขียน การแสดงออกมันไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน ที่ไปลักวิ่งชิงปล้น ไปข่มขืน ไปล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น ที่ไปฆ่าคนตาย ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธเถื่อน ค้ามนุษย์ นี่คือความผิดฐานเสรีภาพในการแสดงออกจากการพูดการเขียนเท่านั้นเอง แล้วเขาเหล่านี้คือเยาวชนอนาคตของชาติ ผมก็นึกไม่ออกว่าเอาเขาไปขังแล้วได้อะไร? ท่านที่ตั้งคำถามสงสัยว่าก็มันทำผิดนี่ ปัญหาคือมันยังแค่สั่งฟ้อง ทำไมเราไม่ปฏิบัติกับกลุ่มคนเหล่านี้เหมือนจำเลยในคดีอื่นๆ ล่ะ ทำไมจำเลยคดีฆ่าคนตายได้ประกัน? ทำไมจำเลยในคดีค้ายาเสพติดได้ประกัน? ทำไมจำเลยในคดีขายยาบ้ายังได้ประกัน? ทำไมจำเลยในคดีลักวิ่งชิงปล้นได้ประกัน? จำเลยในคดีทำบ่อนการพนันยังได้ประกันเลย แล้วทำไมจำเลยจากเสรีภาพในการแสดงออกเนี่ย ถึงไม่ได้ประกัน? นี่มาตรฐานธรรมดานะ สิทธิที่เขาพึงมีพึงได้ตามกระบวนการยุติธรรมแค่นี้ยังให้ไม่ได้” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร ยังกล่าวต่อไป ว่าเวลาประเมินว่ากระบวนการยุติธรรมใดเป็นธรรมหรือไม่ ต้องประเมินจากความเป็นคนบอก วิญญูชนทั่วไปมองเข้าไปแล้วประเมินว่ายุติธรรม ไม่ใช่ตัวเองทำเองแล้วบอกว่ายุติธรรมเอง องค์กรตุลาการต้องได้รับการตรวจสอบผ่านการให้เหตุผลประกอบการตัดสิน

แล้วเหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวช่วงหลัง ก็มีเพียงแค่ “ไม่มีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง” เท่านั้น ซึ่งสังคมฟังแล้วก็ย่อมต้องตั้งคำถามเป็นธรรมดา ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่งคราว ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิพิเศษให้พวกเขา นี่คือการเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานขั้นต่ำ ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญารับรองเท่านั้น

จากนั้น จึงเข้าสู่ช่วงการแลกเปลี่ยนซักถามกับผู้ฟัง ซึ่งผู้ฟังจำนวนหนึ่งได้ขึ้นมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่ตรงกัน ว่ากระบวนการยุติธรรมในเวลานี้ไม่มีความยุติธรรม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายและกติกาสากล พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนซักถาม ว่าจะทำอย่างไรต่อปัญหาของกระบวนการยุติธรรมนี้

ในช่วงหนึ่งของการตอบข้อซักถามแลกเปลี่ยน นายปิยบุตร ระบุว่า แม้ในส่วนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีปัญหาอยู่ แต่ตัวกฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้เป็นปัญหา มีการรับประกันสิทธิให้กับจำเลยอย่างที่ตนได้กล่าวไป แต่ปัญหาคือพอนำมาใช้กลับมีการตีความที่แตกต่างกันไป ซึ่งตนมองว่านี่คือเรื่องอุดมการณ์ความคิด หลายคนอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่าการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นความต้องการที่จะปิดปากประชาชน ปัญหาคือมีกำลังความคิดความเชื่อในสังคมนี้อยู่หรือไม่ ว่ากรณีนี้เป็นเรื่องพิเศษยกเว้น

“มันจึงไม่ใช่ปัญหาในเรื่องตัวบทกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว โอเค 112 เนี่ยมันมีปัญหาในทางกฎหมาย โทษสูงไป อยู่ในหมวดความมั่นคง ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคืออุดมการณ์ความคิดของบุคคลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ว่ามีความคิดกับความผิดตาม 112 อย่างไร คุณคิดมันแบบพิเศษ หรือคุณคิดว่ามันก็เหมือน 288 ฆ่าคนตาย? คุณคิดมันเหมือนลักวิ่งชิงปล้น คุณคิดมันเหมือนข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุณคิดว่ามันพิเศษกว่ากฎหมายอันอื่น? แล้วมันไม่ได้แก้กันที่สภา ต่อให้สภาเขียนกฎหมายอย่างไรก็ตาม ถ้าวิธีคิดของคนในกระบวนการยุติธรรมมองเรื่อง 112 เป็นเรื่องพิเศษ ก็จะมีลักษณะแบบนี้” นายปิยบุตรกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีผู้ฟังส่วนหนึ่งยกตัวอย่างข้อโต้แย้งของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มราษฎร ว่าการไม่ให้ประกันตัวเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะว่าจำเลยกระทำผิดข้อตกลง ที่ว่าห้ามชุมนุมหรือก่อความวุ่นวายต่อ เป็นการทำความผิดซ้ำซากไม่หลาบจำ

นายปิยบุตร ระบุว่า ถ้าเราอ่านตามวิธีพิจารณาความอาญา เหตุแห่งการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีแค่ 5 ข้อตามที่ตนบอกไว้ข้างต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นเหตุในอนาคต แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวยืนอยู่บนเหตุในอดีต สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวต้องเป็นพื้นฐานอันดับแรก ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ในกรณีที่จำเลยไปกระทำการซ้ำ ตำรวจก็ต้องตั้งข้อหาเป็นอีกคดีหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหามาในอดีต เป็นคนละกรรมคนละการกระทำกัน การปล่อยตัวชั่วคราวตามหลักไม่มีข้อใดระบุว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของการทำให้คนหลาบจำ ไม่ใช่การใช้เพื่อดัดสันดาน

“ถ้าหากจะบอกว่าไม่อยากให้ปล่อยตัวไป ปล่อยตัวไปแล้วเดี๋ยวทำผิดอีก คุณต้องเขียนใน ป.วิอาญาฯ สิ ว่าเหตุแห่งการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวเพราะกลัวออกไปแล้วทำผิดอีก คำถามคือคำว่า ‘ทำผิดอีก’ คุณรู้ได้อย่างไร คำว่าทำผิดศาลต้องพิพากษา ไม่ใช่ตำรวจกล่าวหาแล้วถือว่าทำผิดแล้ว นี่คือจินตนาการมาเอง เหตุเขียนขึ้นมาเอง คุณถูกกล่าวหาว่าทำผิด 112 คุณกำลังสู้คดีอยู่ คุณก็ต้องได้รับการปล่อยตัว แล้วคุณได้รับการปล่อยตัวไปคุณไปทำตามที่ถูกล่าวหาอีกก็เป็นอีกคดีหนึ่ง มันคนละเรื่องกัน” นายปิยบุตรกล่าว
 
หลังจากแลกเปลี่ยนกันมาได้ประมาณหนึ่ง นายปิยบุตรจึงได้กล่าวปิดห้อง โดยระบุว่าสิ่งที่หลายๆ คนแสดงความคิดเห็นในวันนี้ ตลอดจนทำการรณรงค์อยู่ข้างนอก ไม่ได้เรียกร้องอะไรที่มากเกินไปเลย นี่คือสิทธิขั้นต่ำขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง ที่ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

เยาวชนอนาคตของชาติวันนี้สู้กับรัฐได้ยาก เพราะรัฐถือทั้งกฎหมาย ทั้งอำนาจ ทั้งยุทโธปกรณ์ กลไกรัฐไว้หมด เยาวชนมีแต่ปาก สมอง มือและขาสำหรับรณรงค์เท่านั้นเอง แต่ในท้ายที่สุดแม้รัฐจะชนะประชาชน รัฐก็ไม่ได้อะไรกลับไป

สิ่งที่ตนกังวลใจที่สุด คือต้องยอมรับก่อน ว่าไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ มันมีเยาวชนอนาคตของชาติที่ตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เหมือนกับคนรุ่นเราหรือรุ่นก่อนเรา มันเป็นข้อเท็จจริงไปแล้ว ถ้าอยากจะให้เขามองเหมือนคนรุ่นเราหรือรุ่นก่อนเรา วิธีที่ทำกันอยู่นี้ไม่มีทางสำเร็จแน่ๆ และยิ่งทำกันต่อไปเขาก็จะยิ่งตั้งคำถามมากขึ้น

“คุณอาจจะเอาเขาไปขังได้หมด คุณอาจจะลงโทษเขาได้หมด แต่แล้วอย่างไร? จะมีคนเหล่านี้รุ่นสู่รุ่นต่อไปเรื่อยๆ ที่เขาจะมีทัศนคติกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกแบบหนึ่ง แล้วเขาจะไม่เปลี่ยนแล้ว เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต แล้วครั้งนี้ หากบาดแผลของคนระหว่างรุ่นร้าวลึกมากขึ้น กว่าจะรู้สึกตัวกลับลำมาแก้ไข ผมเกรงว่าจะไม่ได้ผล วันหนึ่งหากจะย้อนมาใช้มาตรการแบบ 66/23 ในอดีตก็อาจไม่ได้ผลแล้ว สายเกินไปแล้ว วันนี้ยังมีโอกาสที่จะหาทางรอมชอมต่อกัน ก็หวังว่าวันหนึ่งคนที่มีอำนาจจะเริ่มคิดกันได้ ว่าวิธีการที่ท่านทำอยู่มันไม่ได้หรอก” นายปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"