'คสช.-ตำรวจ'ตั้งโต๊ะแถลงสั่งฟ้อง 5 แกนนำม็อบอยากเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

22 พ.ค. 61 - ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ11) ในฐานะทีมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมกันแถลงถึงการดูแลสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จะเคลื่อนขบวนมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เลือกตั้ง พฤศจิกายน 2561

 พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้าเพื่อไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ต้นปี 2562  ทุกอย่างดำเนินการไปตามกรอบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 2560 สำหรับกิจกรรมกลุ่มดังกล่าวทางคสช.รับทราบว่าเป็นการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง และทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จัดกำลังมีแผนงานรองรับอำนวยความสะดวกให้การจัดกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมทั้งป้องกันผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย และความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ และทราบว่าจะเคลื่อนขบวนออกนอกพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านจราจร ตนจึงขอความร่วมมือกลุ่มผู้ชุมให้ความร่วม มือเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อย ทั้งในส่วนผู้จัดกิจกรรม และประชาชนทั่วไป ต้องไม่เกิดการกระทบกระทั่งขึ้น

พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และคำสั่งคสช. และต้องไม่ถูกปลุกเร้าให้เกลียดชังต่อกัน และเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ คสช.และรัฐบาลปัจจุบันจะส่งมอบอำนาจการบริหารประเทศ ให้รัฐบาลใหม่ โดยกลไกต่างๆ จะดำเนินการตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ส่วนการดูแลการจัดกิจกรรมวันนี้ ใช้กรอบกฎหมายปกติ และมอบให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการหลัก โดยยึดหลักการดูแลอำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย อีกทั้งการปฏิบัติงานเป็นไปตามขั้นตอนที่เหมาะสมตามอำนาจหน้าที่

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้ประสานงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ยื่นหนังสื่อถึงผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม เพื่อขออนุญาตจัดกิจกรรมดังกล่าว ต่อมาวันที่ 17 พ.ค.ผู้กำกับฯ แจ้งสรุปสาระสำคัญ ให้นางสาวชลธิชา รับทราบ เรื่องหน้าที่จัดการชุมนุม  ผู้จัดการชุมนุม และเงื่อนไขต่างๆ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ2558 จากนั้นวันที่ 19 พ.ค.นางสาวชลธิชา มีหนังสือถึงผู้กำกับฯ ว่ายืนยันจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ทางผู้กำกับฯแจ้งย้ำให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามกฎหมายชุมนุม ซึ่งมีการทำหนังสือตอบกับไปมา และวันที่ 21 พ.ค.นางสาวชลธิชา ขอเพิ่มเติมพื้นที่จัดกิจกรรม บริเวณฟุตบาทหน้าม.ธรรมศาสตร์ เป็นการเพิ่มเงื่อนไขที่เคยขอไว้ในวันที่ 16 พ.ค. โดยผู้กำกับฯพิจารณาแล้วสาระสำคัญการชุมนุมเห็นว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าว ไม่ใช่การชุมนุมตามนัยยะตามกฎหมายชุมนุม เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่ต้องห้าม ตามคำสั่งคสชที่ 3/2558

 พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบหมาย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผบ.ตรง ดูแลในภาพรวม จัดกำลังตำรวจ 20 กองร้อย ประมาณ3,000 นาย ที่มาปฏิบัติหน้าที่ โดยเฝ้าระวังมือที่3 ที่อาจทำให้สถานการณ์บานปลาย รวมถึงดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติ เนื่องจากแกนนำประกาศว่าจะเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ดังนั้นผู้จัดชุมนุมยื่นขอจัดกิจกรรมไว้ตั้งแต่ต้น ถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย ผู้กำกับฯ แจ้งให้แกนนำรับทราบแล้ว อย่างไรก็ตามตำรวจเตรียมพร้อมดูแลสถานการณ์ และยืนยันว่าไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด แต่เราพยายามทำให้เกิดความปลอดภัยในภาพรวมมากที่สุด นอกจากนี้เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายคสช. ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อให้ดำเนินการ จำนวน 5 คน คือ นายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายเอกชัย หงส์กังวาน นางสาวณัฏฐา มหัทธนา และนายปิยะรัตน์ จงเทพ ในข้อหาร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนเกิน 5 คน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตหัวหน้าคสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย”  พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า ล่าสุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องที่นางสาวชลธิชา และนายอานนท์ นำภา ทนายความฯ ไปยื่นคำร้องให้คุ้มครองการชุมนุม เมื่อมีคำสั่งศาลออกมา ซึ่ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ แจ้งผู้ชุมนุมรับทราบ ทั้งนี้การพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องตนยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งใดๆ ส่วนการดำเนินใดที่อาจทำให้สถานการณ์บานปลายก็เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ สำหรับการทำหน้าที่รายงานข่าวสื่อมวลชน ขอให้มีบัตร และปลอกแขน ของบชน. และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม จะให้ตัวแทนมายื่นหนังสือที่ทำเนียบ  พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า หากใช้สิทธิ เสรีภาพตามกฎหมาย ไม่กระทบผู้ใด น่าจะดำเนินการได้ ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังดูอยู่ ทั้งนี้จากการประเมินกลุ่มผู้ชุมนุมที่ม.ธรรมศาสตร์ประมาณ300-500 คน อย่างไรก็ตามทางเจาหน้าที่มีแนวคิดไว้ก่อนว่าสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นบ้าง เพื่อหาทางออกให้ดีที่สุด  

ถามว่า ก่อนหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ผู้ชุมุนมเคลื่อนขบวนออกม.ธรรมศาสตร์ แต่ตอนนี้เคลื่อนขบวนออกจากพื้นที่แล้ว จะมีมาตรการดำเนินการใด ต่อไป  พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การเคลื่อนออกจากม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่ชัดเจนว่ามีความผิด ตามกฎหมาย และขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ในอนาคตจะมีดำเนินการตามกฎหมายที่เราไม่ได้ไปกลั่นแกล้งใคร จะเมื่อไหร่ หรือรูปแบบใดเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการ โดยใช้กฎหมายปกติดำเนินการ ขึ้นอยู่กับพยายามหลักฐาน

 เมื่อถามว่า จะใช้มาตรการเช็กบิลย้อนหลัง หรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเจรจา หากฝ่าฝืนคำสั่งคสช. หรือกฎหมาย อะไรเป็นความผิดซึ่งหน้าต้องถูกดำเนินการ อะไรที่สามารถดำเนินการภายหลัง เนื่องจากเป็นความผิดต้องถูกดำเนินการภายหลัง

"เราพยายามดูแลสถานการณ์ ไม่ได้บอกว่าจะให้เดิน หรือไม่ให้เดิน ต้องดูว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายคงไม่บังคับใช้อย่างเฉียบขาด ตามหลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วย”

เมื่อถามอีกว่า ตำรวจนำกำลังมามาก เป็นการข่มขู่ผู้ชุมนุม พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองแบบนั้น ในเรื่องการควบคุมฝูงชน ถ้าดูประเทศอื่นและตามกฎหมายเรา เรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่คงไม่มีใครเอากำลังมาน้อยกว่าผู้ชุมนุม เพราะเราประเมินสถานการณ์ ตามหลักการไม่ได้ทำร้ายผู้ชุมนุม เพราะเจ้ารัฐไม่ได้ขัดแย้งกับผู้ใด   

พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวอีกว่า เราก็ประสานว่า  คสช.ยืนยันว่า ไม่ต้องการให้เกิดภาพความรุนแรง และการเผชิญหน้ากันบ้านเมืองในเวลานี้ สิ่งใดที่ยอมรับได้บ้าง พูดคุยกัน ไปสู่จุดหมายและทางออกที่ดีร่วมกัน น่าจะเหมาะสมที่สุด   

นักข่าวถามว่า เป็นการรบไปเจรจาไปหรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์  กล่าวว่า ไม่ได้รบ เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้น ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้รังแกประชาชนชนตามการประกาศของกลุ่มผู้ชุมนุม  ส่วนที่มีข่าวว่า คสช.ไฟเขียวให้เดินขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น  ความจริงคือตนได้อธิบายว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง โดยมีเจตนาที่จะไปทำเนียบรัฐบาล ใครจะไปกล้าไฟเขียว อีกทั้งทำเนียบรัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม และเจ้าหน้าที่ก็แจ้งแล้วว่าการออกมาชุมนุมนอกมหาวิทยาลัยก็ผิดคำสั่ง คสช.

ส่วนถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมทำตามการเจรจามีการผลักดันเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานการณ์จะตัดสินใจอย่างไร พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวอีกว่า   พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์  เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ตรงนั้น มีอำนาจในการตัดสินใจในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่  โดยเข้าไปติดตามสถานการณ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ลงไปดูใกล้ชิดให้เกิดความเรียบร้อยตรวจตราลูกน้องทำงาน 

 เมื่อถามว่า มีการมองว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ มีท่าทีแข็งกร้าว พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า  พล.ต.อ.ศรีวราห์ ลงไปดูแลสถานการณ์ ให้ความมั่นใจกับเจ้าหน้าที่ในการทำงาน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"