คมนาคมเคาะค่าโดยสารสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต 53บาท


เพิ่มเพื่อน    

 

26 มี.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการทดลองเพื่อเดินรถเสมือนจริง โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ว่า จากการทดลองเดินรถในวันนี้ พบว่า มีความสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังมีความตรงเวลา โดยจากสถานีกลางบางซื่อ ไปยังสถานีรังสิต ระยะทาง 26 กม. ใช้ระยะเวลา 25 นาที และจากสถานีกลางบางซื่อ ไปยังสถานีตลิ่งชัน ใช้ระยะเวลา 15 นาที ซึ่งใช้ความเร็วในการเดินรถ 80-90 กิโลเมตร (กม.)/ ชั่วโมง (ชม.) จึงถือเป็นการอำนวยความสะดวก และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางของประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณมากขึ้น พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่น เช่น สายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีน้ำตาล เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมอบหมายให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ในฐานะที่ได้ให้บริการเดินรถรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เข้ามาเป็นผู้บริหารเดินรถนับตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป พร้อมทั้งเปิดให้สถาบันการศึกษา กลุ่มประชาชน ที่ประสงค์จะเข้ามาทดลองนั่งในระหว่างที่มีการทดลองเดินรถโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยื่นหนังสือมายัง รฟท. เพื่อกำหนดวัน-เวลาต่อไป จากนั้น รฟท.จะเปิดทดลองให้บริการ (Soft Openning) ในช่วง ก.ค. 2564 (ไม่เก็บค่าโดยสาร) โดยจะเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานพิธีเปิดฯ ซึ่งในส่วนของการเปิดทดลองนั้น จะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น. ซึ่งกำหนดให้แต่ละขบวนรถออกห่างกันขบวนละ 10 นาที ทำให้ 1 ชม. สามารถเปิดให้บริการในแต่ละเส้นทางได้ 6 ขบวน และจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบและเก็บค่าโดยสารใน พ.ย. 2564

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการให้ รฟท. ไปดำเนินการปรับปรุงป้ายแจ้งรายละเอียดขบวนรถไฟประเภทต่างๆ รวมถึงปรับปรุงป้ายแจ้งตารางเวลาการเดินรถ ทั้งขบวนรถเข้า-ขบวนรถออก คล้ายกับท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะที่ขบวนรถไฟที่จะนำมาให้บริการนั้น 1 ขบวน ขบวนละ 4 โบกี้ รองรับผู้โดยสารได้ 1,100 คน/ขบวน และมีการออกแบบให้สามารถเพิ่มโบกี่ได้เป็น 10 โบกี้ รองรับผู้โดยสารได้ 2,700 คน/ขบวน

ทั้งนี้ในส่วนกรณีการบริหารเดินรถเข้าสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปัจจุบันมีขบวนรถวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงทั้งหมด 118 ขบวน/วัน แบ่งเป็น ขบวนพาณิชย์ 66 ขบวน และขบวนธรรมดา 52 ขบวน เมื่อมีการเปิดบริการเดินรถเชิงพาณิชย์ของรถไฟสายสีแดง จะปรับให้เหลือ 22 ขบวน/วัน ซึ่งเป็นขบวนรถไฟที่จำเป็น เพื่อให้บริการประชาชน นักเรียน/นักศึกษา ในช่วงเวลา 05.00-19.00 น. ขณะที่ขบวนอื่นๆ รวมถึงขบวนเข้าซ่อมบำรุง จะเปิดให้วิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงได้ในเวลา 22.00 น. เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร อีกทั้งยังส่งผลให้จำนวนครั้งการปิดเครื่องกั้นจะลดลงด้วย จากเดิม 826 ครั้ง/วัน เป็น 154 ครั้ง/วัน หรือลดลง 5 เท่า

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงอัตราค่าโดยสารว่า ตามที่ รฟท. ได้หารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้ข้อสรุปแล้วว่า รถไฟสายสีแดงจะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท (ค่าแรกเข้า) ซึ่งถือเป็นอัตราที่ถูกที่สุดในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า และค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท เฉลี่ยค่าโดยสารอยู่ที่ 1.01 บาท/กม. เมื่อแบ่งในแต่ละเส้นทาง สรุปได้ว่า ช่วงบางซื่อ-รังสิต จะมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 12-38 บาท ขณะที่ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อยู่ที่ 12-27 บาท

นอกจากนี้ หากประชาชนเดินทางตลอดเส้นทางตั้งแต่ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ระยะทางรวม 41 กม. ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 12-53 บาท (เสียค่าแรกเข้าครั้งเดียว) โดยแนะนำให้ซื้อบัตรโดยสารเที่ยว โดยจากผลการศึกษาพบว่า ผู้โดยสาร 1 คน จะมีระยะทางในการเดินทางอยู่ที่ 12.50 กม. ทั้งนี้ ยืนยันว่า อัตราค่าโดยสารดังกล่าว ได้ยึดหลักการบริหารและเป็นไปตามหลักสากล อย่างไรก็ตาม คาดว่า เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว จะมีผู้ใช้บริการเกิน 80,000 คน ซึ่งจะมากกว่าสมมติฐานเดินที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังได้ออกบัตรโดยสารรายเดือน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางบ่อย หรือเดินทางเป็นประจำ โดยจะมีค่าโดยสารในอัตราที่ถูกลง แบ่งเป็น 20 เที่ยว ราคา 700 บาท เฉลี่ย 35 บาท/เที่ยว, 30 เที่ยว ราคา 900 บาท เฉลี่ย 30 บาท/เที่ยว และ 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาท/เที่ยว อีกทั้งยังมีบัตรนักเรียน โดยเด็กที่มีส่วนสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร (ซม.) ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร, บัตรเด็ก (อายุไม่เกิน 14 ปี และมีความสูงไม่เกิน 91-120 ซม.) จะลด 50% จากราคาปกติ, และบัตรผู้สูงอายุ จะลด 50% ทั้งในส่วนของบัตร Smart Card และตั๋วเที่ยวเดียว

ทั้งนี้ หลังจากมีการจัดเก็บค่าโดยสารแล้ว จะมีการประเมินผลการดำเนินงานทุกเดือน จนครบระยะเวลา 1 ปี จากนั้นจะมีการพิจารณาเรื่องค่าโดยสารอีกครั้ง โดยหากการรถไฟฯ สามารถบริหารและเดินหน้าต่อไปได้ ก็จะยังคงใช้อัตราดังกล่าวต่อไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน เนื่องจากโครงการดังกล่าว รัฐเป็นผู้ลงทุน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงค่าโดยสารที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ในเรื่องอัตราค่าโดยสารนั้น การรถไฟฯ ยังสามารถนำรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อ จากการดำเนินการของบริษัท เอสอาร์ที แอสเซท จำกัด (บริษัทลูกบริหารสินทรัพย์) มาช่วยสนับสนุนได้ รวมถึงมอบหมายให้ไปศึกษาการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) จัดตั้งโรงไฟฟ้าเอง เพื่อจ่ายกระแสไฟใช้ภายในสถานีกลางบางซื่อ ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เดือนละ 20 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้

สำหรับการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีพื้นที่ภายในอาคาร 298,200 ตารางเมตร (ตร.ม.) แบ่งเป็น พื้นที่บริการผู้โดยสารและประชาชน 129,400 ตร.ม., รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งหากกรณีใช้พื้นที่สูงสุด อยู่ที่ 51,465 ตร.ม. และพื้นที่สำหรับโฆษณา 2,360 ตร.ม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับการรถไฟฯ สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณรอบสถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,900 ไร่ 9 แปลง โดยมีจำนวน 5 แปลง ที่ความพร้อมและไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ ประกอบด้วย แปลง A, B, D, E และ G ทั้งนี้ แปลง A, E, G คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปี 2564 โดยในขณะนี้ การรถไฟฯ เริ่มพิจารณาเอกสารเชิญชวนให้เอกชนมาร่วมลงทุน และมีแผนจะสามารถร่วมลงทุนเอกชนภายในปี 2570 ส่วน 4 แปลงที่เหลือ ประกอบด้วย แปลง C, F, H, I อยู่ระหว่างการส่งมอบพื้นที่ และจะทยอยดำเนินการต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับการออกแบบปรับปรุงชานชาลาสถานีให้เป็นแบบชานสูงและชานต่ำภายในสถานีรถไฟต่างๆ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ ว่าขณะนี้นายนิรุม มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ได้มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆจากต่างประเทศว่ามีการออกแบบชานสูงชานต่ำ ความกว้างความยาวของสถานี มีการดำเนินการอย่างไร แล้วจะได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบว่าที่ รฟท.ดำเนินการทำอยู่ขณะนี้ทำถูกต้องตามหลักสากล ตามหลักวิศวกรหรือไม่

“สิ่งเหล่านี้ได้ ได้บอกตลอดว่าเราจะใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการตัดสินคงไม่ได้ ส่วนรายละเอียดนั้น รฟท.จะไปรวบรวมข้อมูลภายใน 1 เดือน นับจากวันนี้”นายศักดิสยาม กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างพิจารณาผลดีและผลเสียในประเด็นดังกล่าว ซึ่งข้อสรุปในเรื่องชานชาลาแบบชานสูง หรือชานต่ำ ต้องมีการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรมความปลอดภัย งบประมาณดำเนินการ รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารขณะเดียวกันยังได้มีการนำประเด็นดังกล่าวสอบถามขอความเห็นจากสถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก ที่ปรึกษาควบคุมงานโครงการก่อสร้าง ผู้บริหารโครงการก่อสร้างของการรถไฟฯ และหน่วยงานภายนอกเพิ่มเติม โดยร่วมกันพิจารณารูปแบบชานชาลาสถานีเพื่อให้ได้รับมุมมองที่กว้างขวาง และเป็นประโยชน์ในทุกๆ ด้าน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"