พลังสตรีที่สตูล : สร้างอาชีพจากภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้าน เย็บกระเป๋าส่งขายเศรษฐีดูไบสร้างรายได้เดือนละ 2 ล้านบาท


เพิ่มเพื่อน    

 

 

สตูลกลุ่มสตรีในอำเภอควนโดน จ.สตูล  รวมกลุ่มกันสร้างอาชีพจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน  โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มนวดแผนไทยและผลิตภัณฑ์บ้านทุ่งพัฒนานำสมุนไพรในท้องถิ่นมาทำลูกประคบ  ยาหม่อง  ขี้ผึ้ง  น้ำมันไพล  ฯลฯ  และนวดแผนไทย  นวดฝ่าเท้า สร้างรายได้ให้สมาชิก  ขณะที่กลุ่ม ดาหลาปาเต๊ะรับออร์เดอร์ผลิตกระเป๋าผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ-ผ้าปาเต๊ะส่งไปขายที่สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เดือนละ 1,500 ชุด  ทำรายได้กว่า  2 ล้านบาทต่อเดือน

          ตำบลควนสตอ  อ.ควนโดน  จ.สตูล  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดมาทางทิศเหนือประมาณ 23  กิโลเมตร  มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 31 ตารางกิโลเมตร  มี 10 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ  8,300 คน  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  ประกอบอาชีพเกษตรกร  ปลูกข้าวเอาไว้กินในครอบครัว  พืชเศรษฐกิจคือยางพารา  ทำสวนผลไม้  ปลูกพืชผักสวนครัว  และเลี้ยงสัตว์  เช่น  วัว  แพะ แกะ  ไก่  ฯลฯ

ใบหนาด-ไมยราบภูมิปัญญาจากบ้านทุ่งพัฒนา

          มารีหยา  อุสนุน  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสตอ  อ.ควนโดน  จ.สตูล  ในฐานะผู้นำกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มนวดแผนไทยและผลิตภัณฑ์บ้านทุ่งพัฒนาหมู่ที่ 10 เล่าว่า  กลุ่มอาชีพนวดแผนไทยเริ่มก่อตั้งในปี 2549  เพราะเห็นว่าเมื่อเสร็จจากงานประจำวันในครอบครัวแล้วแม่บ้านจะมีเวลาว่าง  ตนจึงชักชวนแม่บ้านประมาณ 7-8  คนไปอบรมการนวดแผนไทยจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอควนโดน  รวมทั้งอบรมเรื่องการใช้สมุนไพรพื้นบ้านมาทำลูกประคบแก้ปวดเมื่อยร่างกาย   ทำยาหม่อง  ขี้ผึ้งไพล  น้ำมันไพร  ฯลฯ

          “เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว  เราจึงเริ่มทำเป็นอาชีพ  โดยเปิดนวดแผนไทย  นวดฝ่าเท้า  ให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านก่อน  หลังจากนั้นเราจึงเริ่มนำสมุนไพรมาทำเป็นลูกประคบ  และทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  โดยใช้วิธีการลงหุ้นจากสมาชิกคนละ 100 บาท  เพื่อเอามาซื้อสมุนไพรและอุปกรณ์ต่างๆ  ตอนหลังเมื่อมีงานออกร้านในจังหวัดหรือในอำเภอ  เราก็จะไปออกบูธเปิดนวดแผนไทย  นวดฝ่าเท้า  รวมทั้งเอาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปขายด้วย”  มารีหยาบอกความเป็นมาของกลุ่ม

 

สมุนไพรต่างๆ ที่นำมาทำลูกประคบ

         

          สำหรับสมุนไพรที่ใช้นั้น  มารีหยาบอกว่า  จะซื้อสมุนไพรที่สมาชิกปลูกหรือคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีรายได้ใช้พื้นที่ว่างรอบๆ บ้านปลูกสมุนไพรแล้วเอามาขายให้กลุ่ม  เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ไม่ใช้สารเคมี  เช่น  ไพล  รับซื้อหัวสดกิโลกรัมละ 50 บาท  มีสรรพคุณ  บรรเทาปวดกล้ามเนื้อ  เส้นเอ็น  ช่วยขับโลหิตและกระจายเลือดเสีย  ขมิ้นชัน  รับซื้อกิโลฯ ละ 25  บาท  มีสรรพคุณมากมาย  หากนำมาใช้ทำลูกประคบจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  ลดการบวมช้ำ  ฯลฯ  ส่วนสินค้าเด่นของกลุ่ม  คือลูกประคบไพล  และยาหม่องไพล 

          ลูกประคบไพล มีส่วนประกอบเป็นสมุนไพรสดหั่นหยาบ  คือ  1.หัวไพล  500 กรัม  2.ขมิ้นชัน  100 กรัม 3.ตะไคร้ 200 กรัม  4.ใบมะขาม 100 กรัม  5.ส้มป่อย 50 กรัม  6.ใบหนาด 50 กรัม  ผสมพิมเสนและการบูร  คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำผ้าดิบมามัดให้เป็นลูกประคบ  ขนาดลูกละ 200 กรัม  ราคาจำหน่ายลูกละ 80 บาท  สามารถใช้ประคบได้ทั้งแบบสดและประคบแห้ง 

          หากประคบสดให้นำลูกประคบมานึ่งให้ร้อนจนสมุนไพรมีกลิ่นหอมระเหยออกมา  จากนั้นจึงนำลูกประคบมานวดเบาๆ บริเวณที่เจ็บปวดกล้ามเนื้อ  เส้นเอ็น   บวมช้ำ  หรือบริเวณที่ปวดเมื่อยร่างกาย  ทำให้ลดอาการเจ็บปวดต่างๆ  เลือดลมไหลเวียนสะดวกขึ้น  แบบประคบแห้ง  คือนำสมุนไพรที่หั่นแล้วไปตากแดดให้แห้ง  แล้วนำมาบรรจุถุงผ้า  สามารถเก็บได้นานหลายเดือน  เมื่อจะใช้จึงนำมานึ่งให้ร้อน

 

มารีหยา (ขวา)

 

          มารีหยาบอกด้วยว่า  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนวดแผนไทยและผลิตภัณฑ์บ้านทุ่งพัฒนา  ยังนำสมุนไพรในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วไม่ต้องซื้อ  เช่น  ใบหนาด (ชาวบ้านมีความเชื่อว่าใช้ป้องกันภูติผีได้) นำมาเป็นส่วนผสมของลูกประคบ  เพื่อช่วยบำรุงผิว  แก้ผดผื่นคัน  ฟกช้ำ แก้ปวดหลัง  เอว  ข้อ  ฯลฯ

          ส่วนตำราแพทย์แผนไทย  ระบุว่า  ใบหนาด  มีกลิ่นหอมฉุน  มีรสเมาร้อน  แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ  เป็นยาห้ามเลือด  ยาเจริญอาหาร  แก้โรคไขข้ออักเสบ  แก้ไข้  ลดความดันโลหิต  ขับพยาธิ  ระงับประสาท  ขับลม  แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง  ขับเหงื่อ  ใช้ภายนอกบดเป็นผงใส่บาดแผล  แก้แผลอักเสบ  แก้กลากเกลื้อน  และแผลฟกช้ำ  ฯลฯ

           ไมยราบ  (ชาวบ้านเรียกว่า หนามงับ”  เพราะลำต้นมีหนาม  เมื่อเอานิ้วไปแหย่ใบจะหุบหรืองับนิ้วทางกลุ่มนำมาตากแห้งทำเป็น  ชาไมยราบ’  ชงน้ำดื่ม  มีสรรพช่วยลดน้ำตาลในเลือด  แก้เบาหวาน  แก้ปวดเมื่อย  อ่อนเพลีย  ฯลฯ 

          ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 10 คน  มีเงินหมุนเวียนประมาณ 60,000 บาท  โดยสมาชิกจะมาช่วยกันผลิตสมุนไพรและลูกประคบเพื่อขายออนไลน์และเอาไปออกร้านทั้งในอำเภอและจังหวัด  โดย อบจ.สตูลช่วยสนับสนุน  มีเก้าอี้สำหรับให้ลูกค้านอนนวด 20 ตัว  คิดราคานวดแผนไทยและนวดฝ่าเท้า 45 นาที  100 บาท 

          ตอนนี้สินค้าขายดีก็คือลูกประคบ  ราคาลูกละ 80 บาท  จะผลิตครั้งหนึ่งประมาณ 150 ลูก  และยาหม่องไพล  ใช้ถูทา  แก้ปวดเมื่อย  ใช้ดมแก้วิงเวียน  ผลิตครั้งละ 200 ขวด  ราคาขายขวดละ 30 บาทและ 60 บาท  ทำให้สมาชิกมีรายได้เสริมเดือนละหลายพันบาท  และยังช่วยให้ผู้สูงอายุในตำบลประมาณ 30 คน  มีรายได้จากการปลูกสมุนไพรขายด้วย”  มารีหยา  ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าว

 

 

กลุ่มดาหลาปาเต๊ะผลิตกระเป๋าจากผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ส่งขาย ดูไบเดือนละ 1,500 ชุด  ทำรายได้กว่า 2 ล้านบาท

          “ปาเต๊ะหรือ บาติก (Batik)  เป็นภาษาชวา  ใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด  คำว่า ติกมีความหมายว่า เล็กน้อย  หรือจุดเล็กๆ   ผ้าปาเต๊ะจึงหมายถึงผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด ๆ  ซึ่งมาจากกรรมวิธีการทำผ้าปาเต๊ะหรือทำผ้าบาติกนั่นเอง  ลวดลายของผ้าปาเต๊ะจะเลียนแบบมาจากธรรมชาติ  เช่น  ต้นไม้  ดอกไม้   รูปเลขาคณิตต่าง ๆ  ปัจจุบันนิยมทำลวดลายท้องทะเล  คลื่น  ปะการัง  และสัตว์ทะเลต่างๆ

           กลุ่มดาหลาปาเต๊ะ  .ควนโดน  เริ่มรวมกลุ่มในปี 2547  จากแกนนำที่เป็นครูสอนอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า  รวบรวมแม่บ้านให้มาทำอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าขาย  ในช่วงแรกจะเน้นผ้าคลุมศรีษะ  ผ้าละหมาด  หรือชุดแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม  ต่อมาในปี 2559  มีอาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนสตูลมาสอนให้ตัดเย็บกระเป๋าผ้าเพื่อใส่เอกสาร  เมื่อเห็นว่ากลุ่มผลิตงานออกมาได้ดี  มีคุณภาพ  จึงว่าจ้างให้กลุ่มผลิตกระเป๋าเอกสารจำนวนประมาณ 1,600  ใบ  กลุ่มจึงเริ่มขยายตัว  เปิดให้ชาวบ้านที่มีฝีมือด้านการตัดเย็บเข้ามารับงานไปทำต่อ

          ฟาติมะ  วัฒนา  เหรัญญิกกลุ่มดาหลาปาเต๊ะ  บอกว่า  ตอนนี้กลุ่มมีสมาชิกประมาณ 40 คน  คนที่มีจักรเย็บผ้าของตัวเองก็จะนำงานไปทำที่บ้าน  บางส่วนก็จะมาเย็บที่กลุ่ม  มีจักรเย็บผ้า 20 ตัว  แบ่งงานกันทำตามความถนัด  และสมาชิกจะต้องออมเงินเข้ากลุ่มเดือนละ 100 บาทเพื่อเป็นกองทุน  นำมาช่วยเหลือสมาชิกในยามเจ็บป่วย  หรือคลอดบุตร (วงเงินแล้วแต่คณะกรรมการ 7 คนจะพิจารณาปัจจุบันกลุ่มมีเงินกองทุนประมาณ 80,000 บาท (เงินออมทรัพย์ 40,000 บาท  เงินลงหุ้น 40,000 บาท)

         ฟาติมะบอกจุดเด่นของกลุ่มดาหลาปาเต๊ะว่า  เสื้อผ้าและของใช้ที่กลุ่มผลิตจะเน้นผ้ามัดย้อมที่มาจากสีธรรมชาติ  โดยใช้ต้นไม้ในท้องถิ่นนำมาหมักทำสีมัดย้อมเสื้อผ้า  เช่น  ขมิ้น  ให้สีเหลืองเข้ม  ใบกระท้อน  ให้สีไม้โอ๊ค  ใบสะตอ  ให้สีเขียวแกมเหลือง  จำปาดะ  ให้สีเหลืองแกมแดง  ฯลฯ ส่วนข้อดีของสีธรรมชาติ  คือ  ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้  หาได้ง่ายในท้องถิ่น  ไม่ต้องซื้อเหมือนสีเคมี

 

ฟาติมะกับสีธรรมชาติที่พร้อมใช้และการย้อมสีผ้า

 

          “อัตลักษณ์ของอำเภอควนโดนคือ จำปาดะกลุ่มดาหลาจึงเอาเปลือกและแก่นของต้นจำปาดะมาทำสีมัดย้อม  ให้สีเหลืองแกมแดง  โดยเราจะเอาไม้จำปาดะมาสับเป็นชิ้น  นำมาต้มเพื่อให้ได้สีออกมา  จากนั้นจึงเอาน้ำสีที่ได้มาเก็บใส่ขวด  เวลาใช้จะเอาไปต้มในกะละมัง  ใส่เกลือเพื่อให้สีคงทน  เอาผ้าที่จะย้อมสีลงไปต้มนานประมาณ 15 นาที  แล้วเอามาล้างน้ำเย็น  3 น้ำ  น้ำสุดท้ายเป็นน้ำด่างสนิมเหล็ก  เพื่อให้สีย้อมติดทนทาน  สีไม่ลอก  ไม่จาง ฟาติมะบอกเคล็ดลับ  และเผยว่า  วิธีทำน้ำด่างสนิมจะเอาเศษเหล็ก หรือตะปูที่เป็นสนิมมาแช่น้ำอย่างน้อย 3 เดือน  ยิ่งแช่นานก็จะทำให้ผ้าที่ย้อมสีมีความทนทานมากขึ้น

 

ผ้ามัดย้อมที่ได้จากสีของต้นจำปาดะ (คล้ายขนุนแต่เนื้อจะเละกว่า  นิยมนำมาชุบแป้งทอด)

 

          ปัจจุบันกลุ่มดาหลาปาเต๊ะ  ผลิตเสื้อผ้าผู้หญิง  ผู้ชาย  ผ้าพันคอ  กระเป๋าสะพาย  กระเป๋าใส่เงิน  รองเท้าผ้า  หรือผลิตตามคำสั่งซื้อ  ใช้ผ้ามัดย้อมที่ตัดเย็บเอง  และผ้าลายปาเต๊ะที่ผลิตมาจากโรงงาน   ราคาจำหน่ายตั้งแต่ 100 - 2,500 บาทต่อชิ้น   ส่วนสมาชิกที่มาช่วยกันตัดเย็บจะได้รับค่าแรงเป็นชิ้น  เฉลี่ยต่อเดือนคนหนึ่งจะมีรายได้ตั้งแต่ 4,000 บาทขึ้นไป   จนถึง 10,000-20,000 บาท  ตามความสามารถของฝีมือและจำนวนงานที่ทำ  และกลุ่มจะหักกำไรจากการขายจำนวน 10 % เข้ากองทุนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน

          ฟาติมะบอกด้วยว่า  ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา   มีนักธุรกิจไทยที่ค้าขายกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ว่าจ้างให้กลุ่มผลิตกระเป๋าสะพายส่งไปจำหน่ายที่เมืองดูไบซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ  โดยผลิตกระเป๋าเป็นเซ็ต   จำนวน 1,500 เซ็ตต่อเดือน  1 เซ็ต  ประกอบด้วย  กระเป๋าสะพายใบใหญ่  กระเป๋าใส่เงิน  กระเป๋าใส่เศษสตางค์  กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง  และกระเป๋าใส่พวงกุญแจ

 

ตัวอย่างกระเป๋า 1 เซ็ท  มี  5 ใบ

 

          โดยกลุ่มดาหลาปาเต๊ะคิดค่าผลิตกระเป๋าราคาเซ็ทละ 2,800 บาท  หากเป็นผ้ามัดย้อม  และราคา 1,500 บาทหากเป็นผ้าปาเต๊ะ  ตอนนี้เริ่มทยอยส่งสินค้าให้กับลูกค้าแล้ว  โดยลูกค้าต้องการสินค้าทั้งหมด  6,000  เซ็ท  และหากผลิตได้ตามเป้าหมายเดือนละ 1,500 เซ็ท  จะทำให้กลุ่มมีรายได้อย่างต่ำเดือนละประมาณ  2 ล้านบาท  ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิดอย่างสม่ำเสมอ  และยังกระจายการจ้างงานไปยังกลุ่มแม่บ้านกลุ่มอื่นๆ ที่มีฝีมือทางการตัดเย็บ  โดยกลุ่มได้จ้าง QC หรือพนักงานควบคุมคุณภาพมาตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของลูกค้าด้วย

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของพลังสตรีที่จังหวัดสตูล  สร้างงาน  สร้างรายได้เข้าสู่สมาชิกและชุมชน !!

 

หมายเหตุ : เรื่องและภาพโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"