ไล่บี้สอบจริยธรรม ACTกระตุกปปช.สางปมนักการเมือง-ขรก.พันโควิดทองหล่อ


เพิ่มเพื่อน    

 

สสจ.บุรีรัมย์เปิดไทม์ไลน์-โชว์แผนผัง "ศักดิ์สยาม"  น่าจะรับเชื้อจากคณะทำงานเที่ยวกับเพื่อน 6 คนที่ทองหล่อ คนละกลุ่มกับทีมตำรวจติดตามและคนขับรถ รมต.ยันสอบสวนโรคตามขั้นตอนไม่มีสิทธิพิเศษ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ชี้วิกฤติจริยธรรมนักการเมือง จี้ ป.ป.ช.ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบต้นเหตุโควิดระบาด แนะเอาผิดเจ้าของผับ-ผู้บริหาร กทม. ตำรวจ และ จนท.สธ.ที่ละเลย

     เมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายน นพ.พิเชษฐ พืดขุนทด สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ แถลงอาการป่วยของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ว่านายศักดิ์สยามเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2564 เวลาประมาณ 16.30 น. โดยแจ้งว่าเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เมื่อถึงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ได้รับแจ้งจากคณะทำงานคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งในเวลาที่ได้รับแจ้งนั้น ในทางการแพทย์ต้องจัดให้นายศักดิ์สยามเป็น “ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง” เนื่องจากผู้ป่วยยืนยันทำงานใกล้ชิดและเป็นผู้ติดตามนายศักดิ์สยามไปเกือบทุกๆ ที่ที่ไปปฏิบัติราชการ
    "ผลการตรวจไม่พบเชื้อ แพทย์ให้คำแนะนำต้องกักตัว 14 วัน และงดภารกิจทันที ท่านจึงไม่เข้าร่วมพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึงท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะ ซึ่งเดินทางมากับท่านศักดิ์สยามงดเข้าร่วมพิธีทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงแก่ผู้ร่วมพิธี"
    ต่อมา เวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 6 เม.ย. นายศักดิ์สยามได้เข้ามารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ด้วยอาการท้องเสียและมีไข้ 38 องศา จึงได้ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกครั้ง และผลจากห้องปฏิบัติการ รายงานเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 7 เม.ย. พบว่าติดเชื้อ จึงให้การรักษา และดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกราย คือให้รักษาตัวในห้องความดันลบ และทำการสอบสวนโรคตามระบบทันที
    นพ.พิเชษฐกล่าวว่า การสอบสวนโรค และติดตามข้อมูลเพื่อจัดทำไทม์ไลน์ เป็นไปตามขั้นตอน นายศักดิ์สยามไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ มากกว่าผู้ป่วยอื่นๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และเมื่อค่ำวันที่ 9 เม.ย. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้จัดทำไทม์ไลน์ของนายศักดิ์สยาม ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ถึงวันที่ 7 เม.ย. ที่นายศักดิ์สยามเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ตามมาตรการควบคุมโรค นำส่งให้แก่กรมควบคุมโรค และแจ้งในเฟซบุ๊กของ สสจ. เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุม ปฏิบัติราชการร่วมกับนายศักดิ์สยาม และผู้ที่อาจจะพบปะพูดคุยกับนายศักดิ์สยามในสถานที่ต่างๆ ที่นายศักดิ์สยามได้แจ้งไว้ ซึ่งจัดเป็นผู้มีความเสี่ยง ได้ไปตรวจในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่อไป
    “จากการสอบสวนโรคและการประเมินเบื้องต้น มีความเป็นไปได้สูงมากว่านายศักดิ์สยามได้รับเชื้อจากคณะทำงานและผู้ติดตามที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตรวจพบว่ามีตำรวจติดตามจำนวน 5 ท่าน และพนักงานขับรถ 1 ท่าน เป็นผู้ติดเชื้อ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว เมื่อรวมกับคณะทำงานที่พบการติดเชื้อเป็นคนแรกแล้ว พบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวน 8 ท่าน และขณะนี้กำลังรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกหลายท่าน” นพ.พิเชษฐกล่าว
    สสจ.บุรีรมย์กล่าวว่า สำหรับอาการของนายศักดิ์สยาม ขณะนี้ ไม่มีไข้ เนื่องจากมีสุขภาพแข็งแรง เพียงแต่มีอาการปวดกระดูกสันหลังและต้นคอ ซึ่งได้ทำการรักษากับแพทย์โรงพยาบาลพระราม 9 เป็นประจำอยู่แล้ว คาดว่าจะรักษาในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ อีกประมาณ 10 วัน ก็จะหมดเชื้อ กลับไปพักผ่อนและปฏิบัติราชการได้
ทั้งนี้ เว็บเพจเฟซบุ๊กของ สสจ.บุรีรัมย์ เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยโควิดระลอกใหม่ล่าสุด วันที่ 9 เม.ย. พบว่ามีผู้ป่วยใหม่รายวัน 10 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 15 ราย อยู่ในระหว่างการรักษาทั้ง 15 รายนอกจากนี้ ในส่วนของผังแสดงการเชื่อมโยงของการติดเชื้อ ยังพบว่ามีผู้ที่เสี่ยงได้รับการแพร่เชื้อโควิดจากนายรวิชญ์ อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นธุรการคมนาคมที่เป็นผู้ใกล้ชิดกับนายศักดิ์สยาม และเป็นผู้ไปสัมผัสคลัสเตอร์ทองหล่อระหว่างวันที่ 30 มี.ค. ถึง 1 เม.ย. มีจำนวนถึง 7 คน รวมถึงศักดิ์สยาม นอกนั้นเป็นนายตำรวจติดตาม 5 นาย และเป็นพนักงานขับรถ 1 คน
     นพ.พิเชษฐชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีแผนผังการติดเชื้ออาจจะสื่อสารจนทำให้เข้าใจผิดว่านายรวิชญ์ไปสถานบริการร่วมกับตำรวจติดตามและคนขับรถที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน 6 คน ข้อเท็จจริงคือนายรวิชญ์ไปเที่ยวสถานบริการย่านทองหล่อกับเพื่อนคนอื่น 6 คนในกลุ่มนี้มี 2 คนที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน คือนายรวิชญ์และนายเอ้ ส่วนอีก 4 คนยังไม่พบการติดเชื้อ
    “ต้องแยกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไปสถานบันเทิงร่วมกับนายรวิชญ์กับกลุ่มที่ติดทีหลัง โดยนายรวิชญ์ได้มาทำงานตามปกติ พบกับทีมงานอย่างใกล้ชิด ทั้งนายนิวัติตำรวจติดตามและคนขับรถ รวม 6 คน ซึ่งร่วมพบปะพูดคุยกันเหมือนปกติ รวมถึงเข้าปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับ รมว.คมนาคม หยิบจับเสนอเอกสาร วัสดุ อุปกรณ์ ภาชนะต่างๆ เพราะนายรวิชญ์ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อมาจนกระทั่งแอดมิตเข้าโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยยืนยันวันที่ 5 เม.ย.จนทำให้เกิดการติดต่อกัน” นพ.พิเชษฐกล่าว
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง วิกฤติจริยธรรมนักการเมืองที่ผับทองหล่อ ระบุว่า ต้นเหตุการระบาดใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนทั่วไป เคยเกิดมาแล้วจากสนามมวยของกองทัพ บ่อนการพนัน แรงงานผิดกฎหมาย และล่าสุดที่ผับย่านทองหล่อ ทุกกรณีล้วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายและมีพฤติกรรมคอร์รัปชันอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น กรณีผับทองหล่อล่าสุดนี้ได้สร้างความไม่พอให้ประชาชนอย่างมาก เนื่องจากข่าวอันอื้ออึงเซ็งแซ่ว่ามีรัฐมนตรีและนักธุรกิจคณะใหญ่โคจรร่วมกันไปติดโควิดในสถานที่นั้น โดยทุกคนล้วนละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐ กลายเป็นว่าการระบาดใหญ่รอบนี้คนที่เป็นรัฐมนตรีนำทีมไปทำเรื่องไม่เหมาะสมเสียเอง เหตุการณ์นี้จึงสะท้อนปัญหา ‘จริยธรรม’ ของนักการเมืองที่เรื้อรัง
    เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมบอบช้ำซ้ำซาก สิ่งที่รัฐบาลควรทำโดยด่วนคือ 1.ใช้กฎหมายเอาผิดเจ้าของผับ ผู้บริหารของ กทม. ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ละเลยในการตรวจตรา บังคับใช้กฎหมาย 2.ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเรียกสามัญสำนึกด้านจริยธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ร่วมกันฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรค คือ ป.ป.ช., ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ควรทำหน้าที่วินิจฉัยว่าพฤติกรรมของพวกเขาเป็นความผิดหรือไม่ 3.ออกมาตรการควบคุมที่ชัดเจนและเข้มงวดสำหรับสถานประกอบการแต่ละประเภททั่วประเทศได้ 4.รัฐบาลควรจัดให้มีช่องทางสายด่วนให้ประชาชนร้องเรียนเมื่อพบเห็นผู้ฝ่าฝืนมาตรการโควิดนี้ 5.ทุกมาตรการที่รัฐแนะให้ประชาชนปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนต้องปฏิบัติเท่าเทียมกันไม่มีข้อยกเว้น เช่น การโหลดแอปพลิเคชันหมอชนะ การเปิดเผยไทม์ไลน์ต่อเจ้าหน้าที่และสาธารณชน
    นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า อยากจะฝากไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคว่า ไม่ควรนำปัญหาโควิด-19 มาเป็นประเด็นทางการเมือง หรือไม่ควรนำมาโจมตีรัฐบาลเพื่อหวังผลทางการเมือง ทุกฝ่ายควรร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน รัฐบาลทุ่มเททุกสรรพกำลัง บุคลากรทางการแพทย์ก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ไม่นิ่งนอนใจต่อสถานกาณ์การแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ทองหล่อเพิ่มสูงขึ้น จึงได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกอีก 10 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชน 45 ล้านคน สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือการกระจายของเชื้อโรคการเมือง ที่แพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนเป็นเท็จให้สังคมบิดเบี้ยวสับสนตื่นตระหนก เป็นการไม่ช่วยประชาชนแล้ว ยังสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้น หากฝ่ายค้านหรือผู้ไม่หวังดีต่อชาติ ได้มีลักษณะดังกล่าว ก็ขอให้หยุดพฤติกรรมนั้นเสีย
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลอ้างว่าไม่ได้ปิดกั้นการขึ้นทะเบียน และการนำเข้าวัคซีนทางเลือกอื่น ในเมื่อรัฐบาลไม่มีนโยบายในการสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น ไม่มีนโยบายในการรับรองให้เอกชนไปจัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น แล้วผู้ผลิตวัคซีนยี่ห้ออื่นจะมีแรงจูงใจอะไรในการมาขึ้นทะเบียน อย. รัฐบาลก็ควรมีกระบวนการในการรับรองให้กับเอกชนไปดำเนินการจัดซื้อวัคซีน หรือไม่ก็ไปจัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นมาจำหน่ายต่อให้กับเอกชน ไม่ใช่ใส่เกียร์ว่าง นายกฯ ได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานในการจัดหาวัคซีนทางเลือก 10 ล้าน ก็เท่ากับว่ารัฐบาลได้ยอมรับความบกพร่องของตนเองไปแล้วโดยปริยาย มีการกล่าวอ้างกันว่าประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยที่จะจองวัคซีน แล้วเราร่ำรวยพอที่จะยอมให้เกิดความเสียหายจากการฉีดวัคซีนล่าช้า ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.5 แสนล้านบาทต่อเดือน ในการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่เกิดขึ้นจากคลัสเตอร์ทองหล่อ 2 เดือน ก็มีมูลค่าเทียบเท่า 5 แสนล้านบาท เลิกอ้างได้แล้ว รัฐบาลควรกระจายความเสี่ยง และเร่งจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ มาได้แล้ว
“อยากจะบอกกับทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และคุณอนุทินก็คือ ชีวิต และปากท้องของประชาชน 67 ล้านคนนั้นสำคัญกว่าหน้าตาของพวกคุณมาก ดังนั้นอย่าห่วงหน้าตาตัวเองให้มากนักเลย เอาเวลาที่จะเถียง มารับฟัง ยอมรับในความบกพร่อง แล้วเร่งแก้ไขจะดีกว่า” นายวิโรจน์กล่าว
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง โควิดแบบนี้ ผู้นำต้องแบบไหน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,475 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-9 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้นำประเทศที่ประชาชนต้องการในวิกฤติโควิดแบบนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.5 ระบุแก้ปัญหาปากท้องและความยากจนได้, ร้อยละ 90.0 ระบุเสียสละ อดทน ยอมแบกภาระไว้กับตนเอง, ร้อยละ 89.9 ระบุคุมม็อบอยู่ ไม่สูญเสีย, ร้อยละ 89.8 ระบุใจซื่อ มือสะอาด ซื่อสัตย์ สุจริต,  ร้อยละ 89.5 ระบุจงรักภักดี ปกป้องสถาบัน และร้อยละ 89.2 ระบุ ฟังเสียงประชาชน ร้อยละ 89.2 เช่นกันระบุรู้จักใช้คนเก่ง, ร้อยละ 89.0 ระบุเด็ดขาด กล้าได้กล้าเสีย ในขณะที่ร้อยละ 88.5 ระบุไม่กอบโกยผลประโยชน์ให้ครอบครัว เครือญาติ และพวกพ้อง และร้อยละ 87.1 ระบุปฏิรูปการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและราชการ รวดเร็วฉับไว ไม่เกียร์ว่าง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"