กกต.อนุมัติเลื่อนประชุม ‘ฝ่ายค้าน’สวนหมัด‘ส.ว.’


เพิ่มเพื่อน    

 กกต.ไม่ฝืนโควิดลามหนัก ไฟเขียวพรรคการเมืองเลื่อนประชุมใหญ่สามัญประจำปีเดือนเมษายนออกไปได้ เตรียมร่อนหนังสือถึงทุกพรรคการเมืองศุกร์นี้ หลังหลายพรรคยกเลิกด่วน ควันหลง พ.ร.บ.ประชามติอืด ฝ่ายค้าน-ส.ว.ฟัดกันนัว ก้าวไกลอ้างเหตุแช่แข็งเพราะอยากดองกฎหมาย

    ภายหลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำร่องยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไปแล้วเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ และพรรคฝ่ายค้าน กำลังอยู่ระหว่างการยื่นเช่นกันในช่วงเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติที่ไม่สามารถผ่านออกมาได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีควันหลงทางการเมืองตามมาต่อเนื่อง
    โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องใช้เวลาหลายปี และฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรอาจจะลงความเห็นว่าร่างแก้ไขนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุญัตติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ว่า ฝ่ายกฎหมายของสภาเป็นเพียงที่ปรึกษาไม่ใช่ผู้ชี้ขาด แต่เหตุใดจู่ๆ ฝ่ายกฎหมายถึงได้มีความสำคัญขึ้นมา ทั้งที่เป็นเพียงแค่ฝ่ายให้คำปรึกษาธรรมดา ทั้งนี้อำนาจการตัดสินใจเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
    นายรังสิมันต์กล่าวว่า ดังนั้นฝ่ายกฎหมายของสภาจึงนำเป็นข้ออ้างที่จะใช้ในการตัดสินว่าจะร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแน่นอนว่าต้องใช้ระยะเวลานานนับปี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลือกระหว่างการแก้ไขรายมาตราหรือแก้ไขทั้งฉบับ เพราะสามารถทำทั้งสองแนวทางไปพร้อมกันได้ พรรคจึงเสนอให้จัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อไม่ให้ยึดโยงกับการมีอยู่ของสภา หากมีการยุบสภาหรือปัญหาทางการเมือง ส.ส.ร.จะยังทำหน้าที่ต่อไปได้ และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะเป็นทางออกที่แท้จริง ส่วนการแก้ไขรายมาตราเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและชั่วคราว
    เมื่อถามถึงกรณีที่นายไพบูลย์ระบุว่า คำถามประชามติว่าให้ตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา  166 เพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคล นายรังสิมันต์กล่าวว่า การถามว่าจะให้ตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่เป็นการถามในเชิงองค์กร ไม่ใช่การถามในเชิงบุคคลหรือคณะบุคคล ดังนั้นจึงสามารถถามเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.ได้อยู่แล้ว  ซึ่งเมื่อถามไปแล้วประชาชนก็จะเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร
    นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย  (พท.) กล่าวในประเด็นนายไพบูลย์ว่า เราได้ยืนยันเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้นแล้วว่าเราอยากแก้ทั้งฉบับ นายไพบูลย์จะเสนออย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของนายไพบูลย์ แต่ไม่ควรก้าวก่ายความเห็นของพรรคอื่นๆ ครั้งที่แล้วฝ่ายค้านก็เสนอแก้เป็นรายมาตราไป ซึ่งก็มีปัญหาเพราะฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ไม่เห็นชอบ ดังนั้นในการยื่นแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นสิทธิ์ที่เรากระทำได้ตามกฎหมาย
    มีรายงานจากพรรคก้าวไกลว่า พรรคขอเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด  จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น ทั้งนี้ แต่เดิมพรรคก้าวไกลมีกำหนดประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันที่ 24 เม.ย.64
    ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคการเมืองว่า พรรคได้เตรียมความพร้อมแล้ว เพียงรอขั้นตอนนำเสนอที่ประชุมใหญ่ ซึ่งจะนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรควันที่ 19 เม.ย.64 เวลา 10.00 น.เพื่อกำหนดระเบียบวาระการประชุมใหญ่สามัญประจำปี  พร้อมกำหนดวันเวลาสถานที่ในการประชุม และเตรียมความพร้อมเรื่องการประชุมใหญ่สามัญ แต่เนื่องจากมีปัญหาโควิด-19 เข้ามา ทำให้พรรคต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนว่าจะมีแนวทางให้พรรคการเมืองปฏิบัติอย่างไร
    ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงปัญหาที่พรรคการเมืองหลายพรรคไม่สามารถจัดประชุมใหญ่ได้ทันภายในเดือน เม.ย.ตามที่กฎหมายกำหนด หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า สถานการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา กกต.จึงจะใช้วิธีการเดียวกัน โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองจะออกหนังสือเวียนถึงพรรคการเมืองในวันศุกร์ที่ 16 เม.ย.นี้ เพื่อแจ้งพรรคการเมืองว่าหากไม่สามารถจัดการประชุมได้ ให้ทำหนังสือแจ้งมายังนายทะเบียนพรรคพร้อมเหตุผลก่อนครบกำหนดที่ต้องจัดการประชุมใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนด
    ทั้งนี้ มีรายงานว่าล่าสุดมีหลายพรรคส่งหนังสือแจ้งมาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เป็นต้น โดยให้เหตุผลการไม่สามารถจัดการประชุมใหญ่พรรคได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้
    ขณะที่มีควันหลงหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติได้ทัน ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเมื่อ 7-8 เม.ย.ที่ผ่านมา
    โดยนายประเสริฐกล่าวถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ  ส.ว.ระบุว่าฝ่ายค้านมีการกดบัตรเขย่ง ซึ่งเกิดจากการกดบัตรแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ว่า ฝ่ายค้านบางคนมีประชุม กมธ.และมีประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย แต่ที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ ส.ว.หลายคนอยู่นอกห้องประชม ซึ่งแปลกใจมากที่ระหว่างการโหวตกลับนั่งเฉย ยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่มีบัตรเขย่งและไม่มีการกดบัตรแทนกัน เพราะฝ่ายค้านเราต้องการเห็นกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ดังนั้นจึงมาประชุมกันมากและไม่คิดจะไม่เข้าประชุม
    เช่นเดียวกับนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมกฎหมายสำคัญหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ฝ่ายรัฐบาลต้องทำหน้าที่รักษาองค์ประชุมซึ่งรวมถึงเสียง ส.ว. ด้วย ถ้า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.เข้าประชุมก็จะไม่มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมเลย ส่วนฝ่ายค้านจะอยู่ครบหรือไม่ เป็นประเด็นรองลงมา ไม่มีเหตุผลที่จะมาโทษฝ่ายค้าน  เมื่อมีบางพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถเข้าประชุมได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พรรคร่วมรัฐบาลจึงต้องควบคุมองค์ประชุมให้ได้ เพราะในวันที่ 7-8 เม.ย. ส.ส.ฝ่ายค้านก็อยู่ประชุมกันเยอะเพื่อประคับประคองการประชุมแทนฝ่ายรัฐบาล แต่การที่มาบอกว่าฝ่ายค้านคือต้นเหตุของปัญหาจึงเป็นการโบ้ยความรับผิดชอบ การที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติค้างการพิจารณานั้น เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน
    นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส.ส.พรรคกดแสดงตนในช่วงที่นับองค์ประชุม เพราะเรามีความมุ่งหมายให้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติผ่านการพิจารณา เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ และ ส.ส.พรรคขึ้นอภิปรายเกือบทุกมาตรา เราไม่มีเจตนาถ่วงรั้ง สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ แต่ ส.ว.ต่างหากที่เป็นฝ่ายเตะถ่วงและออกมาแก้เกี้ยว อย่าลืมว่า ส.ว.เป็นฝ่ายที่เสนอให้นับองค์ประชุมโดยการขานชื่อ เป็นการถ่วงเวลาชัดเจน อย่ามาโทษฝ่ายค้านเพราะมันดูตลก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"