'เยาวราช -พลับพลาชัย'กับ'เรื่องลับสีเทา'ในอดีต

ศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮง

หากพูดถึงเยาวราช ใครๆ ก็มักนึกถึงอาหาร ของกินอร่อยๆ เลื่องชื่อ  แต่หากย้อนกลับไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น มีหลายย่านในกรุงเทพมหานคร  เคยเป็นโรงโคมเขียว โคมแดง ซึ่งเรียกชื่อตามสีโคม ที่ประดับอยู่ด้านหน้าทางเข้า หรือเรียกแบบทางการในสมัยนั้นว่าธุรกิจรับชำเราบุรุษ บอกเลยว่าธุรกิจนี้รุ่งเรือง เฟื่องฟูสุดๆ เพราะมีโรงโคมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตั้งแต่ย่านเยาวราช  ไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษมเลยทีเดียว   เพราะที่ไหนมีตลาดก็จะมีสถานที่คู่กันคือโรงบ่อน และโรงโคม สตรีให้บริการก็มีทั้งชาวจีน และชาวไทย ไม่ว่าจะทำแบบสมัครใจ แบบไม่เต็มใจ โดยเฉพาะหญิงที่ไม่สามารถมีบุตรได้ ก็ผันตัวมาเป็นหญิงขายบริการ

เมื่อมีผู้ประกอบอาชีพขายบริการมีมากขึ้น แต่ในสถานะทางสังคมก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ยามป่วยจึงไม่มีโรงหมอรักษา จะทำบุญก็เข้าวัดไม่ได้ ในสมัยร.5 จึงได้กำหนดให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้มีใบประกอบอาชีพ โดยจะต้องเสียภาษีอยู่ที่ 12 สตางค์/คน/6 เดือน  แต่ภาษีนี้ ได้ยกเลิกไปในสมัยปลายรัชกาลที่6  และมีโรงพยาบาลสำหรับผู้หญิงขายบริการ ชื่อว่า โรงพยาบาลหญิงคนชั่ว หรือหญิงหาเงิน ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลกลาง ที่รับรักษาผู้ป่วยทั่วไป

วัดบำเพ็ญจีนพรต

แค่ฟังเรื่องเล่าคงไม่พอ วันนี้ จะพาไปสัมผัสสถานที่จริงในอดีตที่เคยตั้งเป็นสถานที่ทำการธุรกิจสีเทาๆในกรุงเทพฯ ผ่านทริป The Secret of พระนคร ตอน “พระนครสีเทา” จัดโดย บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ที่จะช่วยจุดประกายการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ในมุม Dark Tourism ที่ย่านเก่าเยาวราชและพลับพลาชัยบอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมของสถานภาพทางสังคมในมุมมืด กับการก่อเกิดสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

.พระประธาน 3 องค์ ภายในวัดบำเพ็ญจีนพรต

เริ่มจุดหมายแรกที่เยาวราชซอย 8 วัดบำเพ็ญจีนพรต วัดมหายานแห่งแรกในประเทศไทย แต่เบื้องหลังในอดีตที่นี่เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจโรงโคม ที่ขึ้นชื่อว่าดีและดังมากในพระนคร  ความน่าสนใจในพื้นที่คือ มีการก่อตั้งวัดมาก่อน ซึ่งด้านในมีอุโบสถ์ขนาดเล็ก ที่มีลักษณะเหมือนศาลาแบบแต้จิ๋ว เดิมคือสำนักสงฆ์และชีที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงรัชกาลที่1 จนมาถึงรัชกาลที่ 5  ได้ยกฐานะเป็นวัด และพระราชทานนามว่า วัดบำเพ็ญจีนพรต มีพระประธาน 3 องค์ รูปแบบศิลปะราชวงศ์ชิง ตามคติมหายาน พร้อมด้วยเถรวาท 28 องค์ ด้านหน้าคือ พระศรีอริยเมตไตรย และผู้ดูแลรักษาพุทธศาสนา พระสกันทะโพธิสัตว์ ต่อมาในร.6 เอกชนได้เข้ามาซื้ออาคารสร้างปิดล้อมวัดทั้ง 4 ทิศ เพื่อประกอบธุรกิจโรงโคมประเภทตึก 4 ชั้น โดยแบ่งเป็นห้องๆ สำหรับหญิงขายบริการ  แต่ปัจจุบันเป็นวัดที่ผู้คนในย่านให้ความความเคารพ และห้องต่างๆพระก็ใช้ในการจำวัด  

ห้องภายในอาคารสำหรับหญิงขายบริการอยู่อาศัย ปัจจุบันเป็นสถานที่จำวัดของพระ

เดินทางต่อไปยัง 2 วัดที่สร้างขึ้นจาก 2 แม่ลูก ยายแฟง(แม่) และนางกลีบ(ลูก) เจ้าของธุรกิจโรงโคมในช่วงสมัยรัชกาลที่3-รัชกาลที่6  ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากเหล่าชายทั่วพระนคร อย่างที่รู้ว่าหญิงขายบริการจะไปทำบุญจะเข้าวัดก็ยากเหลือแสน  นางกลีบที่ร่ำรวยจากธุรกิจค้าประเวณีผู้มีทรัพย์สิน และที่ดินไว้ปลูกดอกไม้ประมาณ 7 ไร่  ก็ได้นึกถึงยายแฟง ผู้เป็นแม่ ซึ่งได้สร้างวัดคณิกาผล  และด้วยเจตนาให้เหล่าหญิงขายบริการได้มีพื้นที่ทำบุญ นางกลีบและจีนกัน(ลูกชาย) จึงใช้พื้นที่สวนดอกไม้ร่วมกันสร้าง”วัดกันมาตุยาราม”ขึ้น

โบสถ์วัดกันมาตุยาราม

ความสวยงามและใส่ใจในการสร้างวัดของนางกลีบ  สะท้อนให้เห็นผ่านอุโบสถ ที่มีสถาปัตยกรรมร่วมสมัย  ประดิษฐานพระประธาน พระอริยกันตมุนี เป็นศิลปะพระพุทธรูปในสมัย รัชกาลที่ 4 ที่มีความเป็นสามัญมนุษย์หาชมได้ยาก  ส่วนองค์ทางด้านหน้า คือ พระนิรันตราย องค์จำลอง ซึ่งเป็นพระประจำวัดนิกายธรรมยุติ  พิเศษกว่านั้นคือจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องราวการประสูติของพระพุทธเจ้า ภาพจิตรกรรมยังซ้อเรื่องราวของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งกลายเป็นเปตรไว้ด้วย ที่มีลายเส้นแบบขรัวอินโข่ง ดังที่ปรากฎในวัดบวรฯ แต่ภาพของวัดนี้สันนิษฐานว่าวาดขึ้นโดยลูกศิษย์ขรัวอินโข่ง นอกจากนี้ซุ้มประตูยังวาดเป็นของ 10 สิ่งที่พระห้ามฉัน บานหน้าต่างตกแต่งฝั่งมุก ที่หาได้ยากนักสำหรับทั่วไปที่ไม่ใช่วัดหลวง

ภาพจิตรกรรมผนังลายเว้นลูกศิษย์ขรัวอินโข่ง
.รูปปั้นนางกลีบภายในวัดกันมาตุยาราม

ไปชมวัดของยายแฟงผู้เป็นแม่ได้สร้างไว้ในย่านพลับพลาชัย  คือ วัดคณิกาผล เดิมชื่อ วัดใหม่ยายแฟง  จากการดำเนินธุรกิจเจ้าของโรงโคมที่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ร่ำรวย มีลูกค้าเป็นข้าราชการชั้นสูง คหบดีและขุนนาง จวนช่วงชีวิตหนึ่งยายแฟง จึงได้ซื้อที่ดินจำนวน 4 ไร่ เพื่อสร้างวัดถวายให้กับ รัชกาลที่ 3  ภายในโบสถ์วัดแห่งนี้ประดิษฐานหลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ศิลปะสุโขทัยที่มีความงดงาม ซึ่งวัดแห่งนี้ได้สวดเจริญพระพุทธมนต์ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ซึ่งทั้งสมเด็จโตและพระวชิรญาณภิกขุ ก็ได้ตอบคำถามยายแฟง ในความหมายรวมเดียวกันว่า ยายแฟงซึ่งเป็นผู้สร้างวัดนั้นได้บุญน้อย แต่ผู้ที่ได้คือเหล่าหญิงสาวที่ทำงานให้ยายแฟง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยายแฟงตัดสินใจบวชชี ตลอดจนบั้นปลายชีวิต  และโอนธุรกิจนี้ไปให้แก่ลูกสาว คือ นางกลีบนั้นเอง ปัจจุบันในวัดมีรูปปั้นยายแฟง ซึ่งมีผู้คนนิยมเดินทางมาขอโชคลาภ ค้าขายเป็นจำนวนมาก

หลวงพ่อองค์ดำภายในวัดคณิกาผล

การซื้อขายหวยรวยเบอร์ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี 100% ทำให้นักเสี่ยงโชคหลายคนต้องตกที่นั่งลำบากก็เยอะ ขนาดเจ้าพ่อในการทำธุรกิจนี้ ที่ผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติพากันขอพรที่ “ศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮง” ที่ตั้งอยู่บนชั้น 4 สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาชัย   ตรงข้ามวัดคณิกาผล ซึ่ง “ยี่กอฮง” หรือ “พระอนุวัตรราชนิยม(ฮง เตชะวณิชย์) “คือ ผู้คุมการออกหวย ก.ข. ก็คือการพนันในอดีต ที่ต่อมาพัฒนาเป็นลอตเตอรี่ หรือสลากกินแบ่งรัฐบาลเรียกง่ายๆก็คือ “หวย “ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเจ้าของโรงหวยที่ร่ำรวย ส่งภาษีให้หลวงปีละหลายบาท ทั้งยังใจบุญบริจาคเงินสร้างถนน สะพาน โรงเรียน จนรัชกาลที่ 6 พระราชทานยศให้เป็นพระอนุวัตรราชนิยม ถึงกระนั้นอาชีพพนันมีขึ้นก็ต้องมีลง “ยี่กอฮง”เกิดล้มละลายจากการเก็บภาษีที่เพิ่ม  ทรัพย์ตกเป็นของหลวง บ้านที่ท่านอยู่จนถึงบั่นปลายชีวิต ก็คือ สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาชัยนั้นเอง

รูปปั้นยายแฟง ที่หลายคนมาขอโชคลาภ

เดินทางมาจนถึงสถานที่สุดท้าย วัดพลับพลาชัย กับเรื่องราวในอดีตที่เคยเป็นแดนประหารชีวิตผู้กระทำผิด และจัดงานศพสามัญชน โดยใช้ลานด้านหน้าวัด หรือที่อยู่ตรงบริเวณโรงเรียนวัดพลับพลาไชย จนมีการยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะมีการพัฒนาและขยายเมือง ส่วนในสมัยรัชกาลที่6 ทรงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดโคกหรือคอก มาใช้ชื่อวัดพลับพลาชัยในปัจจุบัน ส่วนวัดนั้นได้รับการบูรณะใหม่หมดทั้งสิ้น เหลือเพียงองค์พระประธาน พระพุทธมงคล ที่ยังคงเดิม และยังเป็นพระเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาด้วย

ยี่กอฮง หรือ พระอนุวัตรราชนิยม(ฮง เตชะวณิชย์)

จบการเดินทางในทริปนี้ ทำให้รู้เลยว่า กว่าจะเป็นกรุงเทพฯได้อย่างทุกวันนี้ มีอดีตและเรื่องราวที่เราไม่เคยรู้ซ่อนอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ให้น่าค้นหาจริงๆ .

ความศรัทธาอันล้นหลามต่อยี่กอฮง
พระอริยกันตมุนี(องค์ด้านหลัง)  และพระนิรันตราย(องค์ด้านหน้าองค์จำลอง ซึ่งเป็นพระประจำวัดนิกายธรรมยุติ)
พระพุทธมงคล ภายในโบสถ์วัดพลับพลาชัย
.บรรยากาศวัดพลับพลาชัย
เปรตพระเจ้าพิมพิสาร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานตรุษจีนเยาวราช พสกนิกรเฝ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเปิดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ปี 2567 ซึ่งปีนี้กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์

บอร์ดเคทีซี เคาะ 'พิทยา วรปัญญาสกุล' นั่งซีอีโอคนใหม่

ประชุมคณะกรรมการ “เคทีซี” หรือ บริษัทบัตรกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ได้มีมติแต่งตั้งนางพิทยา  วรปัญญาสกุล  ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)

'ลุงตู่' หาเสียงเยาวราช ปชช.แห่รับคึกคัก

พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวม