วิทยสถาน'ธัชภูมิ' ศูนย์กลางอัดพลังวิจัยพื้นที่ พาไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580

ถ้าถามว่าประเทศเราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร  ซึ่งคงต้องอาศัยแรงผลักดันทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอีกด้านในโลกยุคใหม่ศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การวิจัยและการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรืออว.จึงได้ผุดวิทยสถาน “ธัชภูมิ” ทำหน้าที่ เป็นศูนย์กลางที่จะระดมแนวความคิดในพัฒนาพื้นที่ เพราะการพัฒนาพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มท้องถิ่นในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ อว. มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท) เป็นหน่วยงานหลัก ในการเชื่อมโยง ระหว่าางงานวิจัย กับพื้นที่  โดยอาศัย 5 สถาบันความรู้ ในสังกัด บพท. เป็นกลไกสำคัญ ได้แก่ สถาบันความรู้เพื่อการจัดการทุนทางวัฒนธรรม, สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน, สถาบันความรู้เพื่อการสร้างโอกาสทางสังคม, สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมือง และสถาบันความรู้เพื่อเสริมพลังท้องถิ่น

ซึ่งบทบาทของธัชภูมิ ที่ครอบคลุม 5 สถาบัน นอกจากจะต้องพัฒนาพื้นที่ อีกส่วนที่สำคัญคือการผลิตและพัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่,  พัฒนาระบบจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ, ยกระดับความรู้เชิงแนวคิด ทฤษฎี สังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อนำสู่นโยบาย, จัดทำฐานข้อมูลสำคัญเพื่อการพัฒนาพื้นที่, ขับเคลื่อนการขยายผลองค์ความรู้, สร้างเครือข่ายวิชาการระหว่างศาสตร์สาขา ระหว่างสถาบัน และระหว่างประเทศ  และสังเคราะห์โจทย์วิจัยใหม่

เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กล่าวว่า ปัญหาของเมืองไทย  ที่พบคือ ทุกหน่วยย่อยทำงานดี แต่ต่างคนต่างทำ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่จะหาวิธีรวมความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือในศาสตร์อื่นๆ นำมาร่วมกันเพื่อให้เกิดระดมความคิดในการพัฒนาประเทศ ด้วยเป้าหมายที่ตั้งเรือธงไว้ว่า ประเทศไทยจะก้าวเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะตั้งแต่มีการพัฒนาประเทศมายังไม่เคยกล้าปักธงว่าประเทศไทยได้พ้นจากประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา หรือประเทศที่ยากจนแล้ว

แผนผังกรอบการทำงานของธัชภูมิ

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อน วิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ อธิบายว่า แนวคิดของธัชภูมิ คือแพลตฟอร์มความรู้ เหมือนกับสถานที่ที่นำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันในลักษณะความรู้คนละชุดจากหลากหลายแหล่ง และในการทำงานที่เน้นเจาะจงเชิงพื้นที่ของ บพท. ที่ผ่านๆมาในแต่ละจังหวัดทำให้พบคนเก่ง แต่ไม่มีพลังในการสร้างสรรค์ด้วยโครงสร้างภายในองค์กร หรือในบางจังหวัดมีบางปัญหาที่แก้ไม่ได้ โดยพบปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ คือ ระบบในการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบงบประมาณ หรือระบบการไม่บูรณาการ ข้อมูลที่มีไม่เชื่อมโยงกับปัญหาภายในพื้นที่ ทำเฉพาะจุด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาคลาสสิคของระบบภายในหน่วยงานบ้านเรา  

“การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง โครงสร้างพื้นที่ เป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นการทำงานในพื้นที่และคนในท้องถิ่น ถือเป็นเส้นทางที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาให้ตรงจุด เสริมศักยภาพประชาชน ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งธัชภูมิจะเป็นตัวกลางในแลกเปลี่ยนข้อมูลของทั้ง 5 สถาบัน ที่จะทำให้เห็นปัญหาอย่างตรงจุด แก้ไขให้ถูกที่ สร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน “ดร.สีลาภรณ์ กล่าว

แผนการดำเนินงานเบื้องต้นของสถาบันทุนทางวัฒนธรรม

ด้าน ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ของบพท.ในระยะเวลา 3 ปี ได้ค้นพบคำตอบว่าการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าคือ พื้นที่ และเป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็ง การค้นพบความรู้ และสั่งสมเป็นชุดความรู้ ซึ่งจะมีผลในการนำไปขยายผลเป็นแนวความคิดใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า และประชาชนจะต้องเข้าสู่การเป็น Smart citizen ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของ บพท. ที่รับผิดชอบในการประมวลและสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม และภูมิปัญญาจากพื้นที่ จะช่วยให้งานของสถาบันภายใน”ธัชภูมิ”ครอบคลุมทุกมิติไม่ว่าจะเป็น ด้านขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม  ด้านเศรษฐกิจฐานราก จากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น  ด้านการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม ด้านการพัฒนาเมืองเพื่อกระจายศูนย์กลางความเจริญ และด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน

แผนการแก้ปัญหาความจน ของสถาบันความรู้เพื่อสร้างโอกาสทางสังคม

“นอกจากนี้กลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพราะประเทศไทยแทบทุกจังหวัดมีมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้ง่าย เข้าใจบริบมท้องถิ่น สามารถสร้างข้อตกลง หรือการมีส่วนร่วมต่างๆ  ผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ นำประเทศไปสู่เป้าหมายในปี 2580” ดร.กิตติ กล่าว
มุมมองที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่   รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. กล่าวว่า  การพัฒนาเมือง คือ การพัฒนาเชิงโครงสร้างที่มีมิติในการวิเคราะห์เมือง ท้องถิ่น จังหวัด และภูมิภาค ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เอกสาร หนังสือ หรือบทเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องประกอบไปด้วยความร่วมมือของคน องค์กร นักวิชาการ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสถาบันต่างๆ ดังนั้นการจะสร้างเศรษฐกิจต้องสร้างกลไกการขับเคลื่อนใหม่ พัฒนาพื้นที่ระดับท้องถิ่น และจังหวัด เพื่อยกระดับระเบียงเศรษฐกิจ สู่การสร้างมูลค่าในการลงทุน  โดยมีเครื่องมือและกระบวนการที่สำคัญคือ ระบบการมีส่วนร่วมสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูล กองทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วิสาหกิจเพื่อสังคมของการร่วมเปลี่ยนแปลง และนักพัฒนาเมืองระดับสูง(พมส.) เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร  มหาวิทยาลัยศิลปากร (EAST) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนต้องผสมผสานทั้ง การบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งกลไกในการขับเคลื่อนที่ต้องมีคือ คน สร้างธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลในตลาด และของที่ถูกผลิตตอบโจทย์ผู้บริโภค คนในพื้นที่จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างสิ่งเหล่านี้  อาจจะต้องมีกระบวนการในการเปลี่ยนแนวคิด ปลูกฝั่งเรื่องทักษะ และปรับฐานการบริหารจัดการ ดังนั้นจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ Local Enterprises:LE หมายถึง ธุรกิจที่ทำมา-หากิน สร้างท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไข้ 3 ข้อ ได้แก่ ใช้ทรัพยากรพื้นถิ่นมาสร้างมูลค่า สร้างและจ้างงานคนในพื้นที่ และโครงสร้างการกระจายรายได้ถึงคนฐานราก ซึ่งคาดว่าจะเกิดการสร้างมูลค่าให้การทำธุรกิจแบบ LE ถึง 14% สามารถเพิ่มสัดส่วนแบ่งรายได้สู่ฐานรากจากเดิม 7%  เป็น 17% อีกด้วย

รศ.ดร.วีรศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ ต้องมาคู่กับเรื่องของท้องถิ่น ซึ่งในการทำงานของบางท้องถิ่นทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนไม่เกิดความเชื่อใจในการบริหารงาน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการใหม่ของท้องถิ่นเพื่อประชาชน โดยมาตรฐานวิจัยที่ผ่านการทดลอง เช่น การพัฒนาระบบงาน ฐานข้อมูล การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล และกระบวนการบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นเป็นมาตรการกระตุ้นเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ผ่านการรับชำระภาษี ค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีที่ดินว่างเปล่า ภาษีสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย ภาษีรถยนต์ ที่อาจจะเป็นรายได้หลักของถิ่น โดยล่าสุด 12 ม.ค.66 ทางรัฐก็ได้มีมติ ครม. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดินหน้าในการจัดทำแผนตามงานวิจัยต่อไปได้ ซึ่งความท้าทายนี้คือ การเพิ่มขีดความสามารถของท้องถิ่นที่มีถึง 7,850 แห่งของไทย.

แผนที่ในการพัฒนาท้องถิ่นจำนวน 7,850 แห่งในประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ศุภมาส’ ยัน ไม่ได้หนีอุเทนถวาย หลังมีคำสั่งให้ ขรก. เวิร์คฟรอมโฮม

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวก่อนการป

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'วันนักประดิษฐ์'

2 ก.พ.2567 - เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2567 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ