จุฬาฯ เปิดตัวถุงมือพาร์กินสันลดสั่นรุ่นล่าสุด

ถุงมือพาร์กินสันที่พัฒนารุ่นที่ 5

สั่น ช้า เกร็ง เป็นอาการผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ชัดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)โดยเฉพาะอาการมือสั่นขณะพักอยู่เฉย ๆ ที่พบได้ในผู้ป่วยถึงร้อยละ 70อาการสั่นอย่างควบคุมไม่ได้นี้ทำให้ผู้ป่วยมีภาพลักษณ์ของการเป็นโรคและอาจไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างที่ปรารถนา จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแลซึ่งลดทอนความรู้สึกมั่นใจในตัวเองและทำให้รู้สึกอายในการเข้าสังคมแนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบัน คือการรับประทานยารักษาที่มีหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถลดอาการสั่นได้ทั้งหมด ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการสั่นมาก ๆก็อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่มีใครต้องการ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและมีผลข้างเคียงมาก

นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยศ. นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ และผศ. ดร.พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น” มาตั้งแต่ปี 2557ได้ทำการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยคำขอรับสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ เครื่องวัดอาการสั่นและระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าแบบพกพา ตั้งแต่มกราคม 2560 และมีผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ล่าสุดทีมได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นรุ่นที่ 5” ที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่ง่ายลดสั่นได้ดีอย่างเป็นอัตโนมัติ และที่สำคัญ คือมีราคาย่อมเยากว่าอุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ

“ถุงมือพาร์กินสัน เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นแรกที่ช่วยลดอาการมือสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยให้มีอาการสั่นลดลงโดยไม่ต้องเพิ่มยาจนเกินความจำเป็นและลดความเสี่ยงของการผ่าตัดสมอง” ผศ.ดร.พญ. อรอนงค์ กล่าว

ผศ.ดร.พญ. อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล และ ศ. นพ.ย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกว่า 10 ล้านคน และในประเทศไทย มีราว 150,000 รายโดยมีการประเมินว่าในจำนวนผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 100 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน 1 คน ยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งคาดการณ์แนวโน้มจะมีผู้ป่วยโรคโรคพาร์กินสันจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวในอนาคต


ผศ.ดร.พญ. อรอนงค์กล่าวอีกว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐานะและหากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอยู่ในวัยทำงาน ก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสามารถในการทำงานรวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจในครอบครัวผู้ป่วย และถ้าเกิดในผู้ป่วยที่สูงวัยจ ะเกิดผลกระทบทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่างอาจจะเพิ่มปัญหาการทรงตัวไม่ดี การเดิน กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง จนอาจเกิดปัญหา หกล้ม กระดูกหักตามมา หรือนำไปสู่ภาวะผู้ป่วยติดเตียงได้ ทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการรักษา งบประมาณค่าใช้จ่ายสุขภาวะทั้งของผู้ป่วยและครอบครัว และระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศอีกด้วย

การทำงานของถุงมือลดสั่น ผศ. ดร.พญ.อรอนงค์ อธิบายว่า มาจากการทำงานร่วมกันของ 2 ระบบ ดังนี้ 1. การตรวจจับและวัดลักษณะอาการสั่นของโรคพาร์กินสัน โดยใช้ชุดเซนเซอร์รับสัญญาณเชิงเส้น(Accerelometer) และเซนเซอร์รับสัญญาณเชิงมุม (Gyroscope) ซึ่งมีความแม่นยำในการวัดสูงและมีความคลาดเคลื่อนต่ำ โดยลักษณะของการสั่นของโรคพาร์กินสัน จะมีความถี่ระหว่าง 4-7 Hz.

ถุงมือลดสั่นพาร์กินสันรุ่นต้นแบบมีขนาดใหญ่เทอะทะ

2.การระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยไฟฟ้า เมื่อชุดเซนเซอร์รับสัญญาณตรวจพบลักษณะของการสั่นที่จำเพาะกับโรคพาร์กินสันระบบจะแปลงสัญญาณและส่งข้อมูลผ่านทางระบบไร้สาย(Bluetooth)เพื่อควบคุมเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการสั่นโดยใช้ กำลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขนาดเล็ก โดยเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อที่พัฒนามาจะใช้ความต้านทาน ความถี่และกระแสไฟฟ้าในขนาดที่ปลอดภัยและเป็นมาตรฐานที่ใช้ในงานกายภาพบำบัดไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย

ตัวอุปกรณ์ถุงมือพาร์กินสัน 1 ชุดจะประกอบด้วย 3ส่วน ได้แก่ (1) ถุงมือที่มีการติดอุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า (2)เครื่องควบคุมการทำงานโดยการตรวจวัดอาการสั่นและการปล่อยกระแสไฟฟ้า และ (3) โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการติดตั้งโปรแกรมการควบคุมการทำงาน (mobile application) พร้อมกับ เก็บข้อมูลอาการสั่นและการกระตุ้นกล้ามเนื้อบนหน่วยความจำ และสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ที่มีโปรแกรมวิเคราะห์การสั่นโดยละเอียดอีกครั้ง


ก่อนพัฒนามาเป็นรุ่นที่ 5 ถุงมือพาร์กินสันต้นแบบมีขนาดใหญ่ แต่รุ่นที่ 5 ได้พัฒนาให้มีรูปทรงสวยงาม ขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบา ขึ้นมีลักษณะเหมือนสายคล้องผ่ามือ ช่วยลดภาพลักษณ์ของความเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ลงไปได้มาก

“ผู้ป่วยจำเป็นต้องสวมถุงมือนี้ตลอดเวลา เพื่อใช้การกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยไฟฟ้าในการลดอาการสั่นหากปิดเครื่อง หรือถอดอุปกรณ์นี้ ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการมือสั่นอยู่ ดังนั้นผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่จะพบมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น เช่น อาการช้า อาการเกร็งทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคพาร์กินสันแต่อาการสั่นมักพบต่อเมื่อมีการสนองต่อการรับประทานยาไม่ดี ดังนั้นการใช้ถุงมือลดสั่นนั้นจะช่วยผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาเพิ่มเพื่อลดอาการสั่นและไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น” ผศ. ดร.พญ. อรอนงค์ กล่าว

แม้ในต่างประเทศจะมีการออกแบบ และจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยลดอาการมือสั่น ในผู้ป่วยพาร์กินสัน แต่อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงมาก และยังไม่มีอุปกรณ์ในลักษณะแบบเดียวกันที่มีผลงานวิจัยทางการแพทย์รองรับ แต่นวัตกรรมถุงมือพาร์กินสันลดสั่นของจุฬาฯ มีผลงานวิจัยทางคลินิกรองรับและมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติอีกทั้งราคาการผลิตถุงมือก็ต่ำกว่าของต่างประเทศ โดยปัจจุบันราคาการผลิตอยู่ที่ราว 3-4 หมื่นบาทต่อชุด

ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์กล่าวอีกปัจจุบัน โรงพยาบาลจุฬาฯ นำถุงเมือพาร์กินสันไปใช้กับผู้ป่วยโรคนี้แล้ว จำนวนกว่า50 ราย และพิสูจน์ประสิทธิภาพว่าช่วยลดอาการมือสั่นได้ดี และทีมวิจัยวางแผนพัฒนาถุงมือพาร์กินสันรุ่นต่อไปให้มีขนาดเล็กลง สวยงามมากขึ้น ใส่แล้วไม่เหมือนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อนาคตตั้งเป้าหาผู้ร่วมทุน ผลิตถุงมือลดสั่นเพื่อคนไข้พาร์กินสัน เพื่อให้คนที่เป็นโรคพาร์กินสัน สามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง

ล่าสุดผลงานถุงมือร์กินสันลดสั่น ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาคเอกชนประจำปี 2565 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ ทางจุฬาฯ

ส่วนโรงเรียนแพทย์และสถานพยาบาล ที่ต้องการใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนในผู้ป่วยจริงสามารถติดต่อ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึกผู้สูงอายุ หรือ ตึกสธ. ชั้น 7 โทร.0-2256-4000 ต่อ 70702-3 โทรสาร 02-256-4000 ต่อ 70704 โทรศัพท์มือถือ 08-1107- 9999 Website: www.chulapd.org

วิธีใช้ถุงมือพาร์กินสัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอโอ๋' มองดราม่าอัญเชิญพระเกี้ยว อย่าเห็นคนรุ่นใหม่เป็นศัตรู ขอให้รู้ผู้ใหญ่จะตายก่อน

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่าด้วยเรื่องอัญเชิญพระเกี้ยว

'ดร.นิว' ถามอธิการบดี จะเลือกรักษาเกียรติภูมิของจุฬาฯ หรือ วิทยานิพนธ์ชี้นำความคิดล้มล้างฯ

จากกรณีศาลอาญายกฟ้อง อ.ไชยันต์ ไชยพร คดีหมิ่นประมาท นายณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี"

เขย่าจุฬาฯ ชี้แจงผลสอบวิทยานิพนธ์บิดเบือนของ 'ณัฐพล ใจจริง' ยังไม่โดนถอดปริญญา

นายสุรวิชช์ วีรวรรณ คอลัมนิสต์ประจำเครือผู้จัดการ แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Surawich Verawan ระบุว่า แว่วว่าผลสอบวิทยานิพนธ์ผิดจริง แต่ไม่ถอนปริญญาเพราะไม่มีระเบียบ