
วัคซีนเป็นเครื่องมือทางสาธารณสุข ที่มีความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และช่วยลดอัตราการป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนลดลง สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตของผู้คนได้ประมาณ 3.5-5 ล้านคนทั่วโลกจากโรคภัยต่างๆ ในแต่ละปี
สำหรับประเทศไทย มีแผนการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้วัคซีนแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน โดยมีวัคซีน 11 ชนิด ป้องกัน 13 โรค แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด19 การเข้ารับวัคซีนมีจำนวนลดลง จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การเข้ารับวัคซีนในเด็กลดลงถึง 20% หากความครอบคลุมวัคซีนในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอาจทำให้โรคหวนกลับมาระบาดอีกครั้ง
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่ายจึงได้จัดกิจกรรมวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค: การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตลอดชีวิต (Lifetime immunization) เมื่อวัคซีนสำคัญสำหรับทุกช่วงวัย” เปิดเวทีเสวนา VaxTalk Venue Lifetime Immunization #ฉีดให้ครบจบโรคร้าย โดยมีการชี้ให้เห็นถึงแนวทางการใช้วัคซีนในเด็กที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันโรค อาทิ ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอ ไอพีดี (IPD) และโควิด19
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ว่า ไข้หวัดใหญ่ตอนช่วงโควิด-19 หายไปเกือบหมด แต่หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลาย ผู้คนเริ่มลดการใส่หน้าอนามัย ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่มีโอกาสที่จะกลับมาใหม่ อย่างที่เห็นในกลุ่มเด็กนักเรียนมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก รวมไปถึงกลุ่มวัยทำงาน หรือในกลุ่มผู้สูงอายุด้วย ซึ่งจากข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่ย้อนหลังไป 6 ปี ก่อนยุคโควิด-19 จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วเด็ก คือกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด จึงมีการส่งเสริมให้ฉีดวัคซีนในเด็กตั้งแต่อายุ 6เดือน -2 ปี ซึ่งในปีนี้ได้มีการขยายช่วงอายุการรับวัคซีนเป็นจาก 2ปี ไปถึง 5 ปี แต่ส่วนตัวมองว่ายังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะต้องเจาะไปที่กลุ่มเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี จนถึงกลุ่มวัยรุ่น เพราะเชื่อว่าสามารถแพร่ระบาดได้ในโรงเรียน และตั้งแต่โควิด-19 ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง ทำให้ไข้หวัดใหญ่กลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่ในเด็กแต่ยังรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ หากได้รับเชื้อก็จะมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเด็กคือ กลุ่มเสี่ยงเป็น แต่ผู้สูงอายุคือ กลุ่มเสี่ยงตาย

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า โดยการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ก็จะมีช่วงฤดู เช่น ในประเทศซีกโลกเหนือ ยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น จะพบมากในช่วงฤดูหนาว เดือนตุลาคม-มกราคม พอช่วงฤดูร้อน พฤษภาคม-กรกฎาคม ไข้หวัดใหญ่จะไม่มี แต่ปีนี้พิเศษเพราะในญี่ปุ่น หรืออเมริกา ยังพบการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ เหตุจากสถานการณ์โควิด เช่นเดียวกับประเทศไทยที่จะพบมากในช่วงฤดูฝน แต่หลังจากโควิด คาดว่าจะมีการแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างและรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้น ในแนวทางการป้องกันคือ การฉีดวัคซีน ที่มีความคุ้มค่า และคุ้มทุนมากที่สุด สามารถฉีดได้ทุกช่วงอายุ แต่ขณะนี้ภาครัฐได้เน้นที่กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มผู้สูงอายุ
“หลายคนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ หรือ 4 สายพันธุ์ ดีกว่า คำตอบคือ ฉีดได้ทั้งคู่ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดฟรี หรือฉีดแบบชำระค่าบริการ เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์หรือ4สายพันธุ์ มีความปลอดภัยเท่ากัน ป้องกันโรคเท่ากัน แต่หากฉีดแบบ 4 สายพันธุ์ ก็สามารถป้องกันได้ในกรณีที่มีการแพร่บาด แต่ส่วนตัวมองว่า 4 สายพันธุ์อาจจะไม่เกิดการระบาด ทั้งนี้ต้องศึกษาเพิ่มเติม ครึ่งปี -1 ปี ส่วนกลุ่มที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 เข็ม คือ 1.เด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ปี ที่ได้รับวัคซีนปีแรก และ2.กลุ่มที่มีระบบภูมิคุ้มกันเสีย เช่น โรคไตวายเรื้อรัง กลุ่มกินยากดภูมิ หรือกลุ่มที่มีการฉายแสงรักษามะเร็ง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ด้วย นอกจากนี้ยังมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด HD ที่ใช้สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีประวัติแพ้ไข่ สามารถฉีดได้แล้ว การวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพียงเข็มเดียว ยังสามารถป้องกันโรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคสโตรกได้อีกด้วย” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

อีกโรคที่ต้องฉีดวัคซีน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่าคือ โรคโปลิโอ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มไม่แสดงอาการใดๆ พบมากกว่า 95% ของผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่แสดงอาการเล็กน้อย หรือแสดงอาการคล้ายกับโรคหวัด กลุ่มอาการเยื้อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดบริเวณต้นคอ คอแข็ง อ่อนเพลีย เป็นต้น พบ 1-2% แต่กลุ่มที่รุนแรงคือ กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะอัมพาตเฉียบพลัน อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร ซึ่งส่วนที่ขาลีบ จะเป็นอาการถาวร ที่พบมากถึง 1 ใน 500-1,000 ของผู้ติดเชื้อ
ในกลุ่มเด็กควรได้รับวัคซีนโปลิโอ ปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดกิน(OPV) ประกอบด้วย 2 สายพันธุ์ คือ 1 และ 3 ส่วนชนิดฉีด(IPV) ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ 1,2 และ3 โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมคม 2566 ทางกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีการนำร่องฉีดวัคซีนโปลิโอ สูตร 2IPV+3OPV คือ รับแบบ IPV จำนวน 2 เข็ม เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และ 4 เดือน จากนั้นรับแบบ OPV 3 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปีซึ่งปัจจุบัน OPV จะไม่มีสายพันธุ์ 2 เพราะไม่มีการระบาดมานานแล้ว และด้วยราคาถูก ดี และใช้งานง่าย แต่ก็มีข้อเสีย คือ อาจจะเกิด VAPP ลักษณะอาการคล้ายโปลิโอประมาณ 1-3 ราย ดังนั้นจึงต้องมีการใช้แบบ IPV ก่อน แต่มีราคาที่แพงกว่าข้อดีไม่เกิด VAPP ครอบคลุมเชื้อทั้ง 3 สายพันธุ์ ซึ่งในอนาคตการใช้แบบ OPV คงยกเลิกในอีก 10ปี หรือ15ปี และหากมีการระบาดจะต้องมีนำแบบ OPV มาใช้ในการปูพรมก่อน

อีกโรคที่มีความรุนแรงในเด็ก คือ โรคไอพีดี เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า นิวโมคอคคัส รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี อธิบายว่า เชื้อนิวโมคอคคัส อาศัยหรือเกาะอยู่ที่ลำคอของทุกคน ซึ่งมีเด็กทั่วโลกที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เสียจากโรคนี้ถึงกว่า 300,000 ราย แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่สูงที่สุดในเด็กถึง 400,000 ราย โดยเชื้อนิวโมคอคคัสหากมีการแพร่เชื้อไปตามส่วนของร่างกายจะก่อให้เกิด แก้วหูอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต และปอดอักเสบ ซึ่งเป็นต้นเหตุของ 3 โรคอันตราย ได้แก่ โรคไอพดี โรคปอดบวม และโรคหูชั้นกลางอักเสบ

แนวทางการใช้วัคซีนไอพีดี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า เชื้อนิวโมคอคคัสยังสามารถถ่ายทอดเชื้อจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองสู่ลูกได้ อาการส่วนใหญ่ในเด็กจะพบว่าเกิดอาการแก้วหูอักเสบ ส่วนผู้ใหญ่จะพบอาการของโรคปอดอักเสบถึง 75% ดังนั้น วัคซีนสามารถช่วยป้องกันได้ โดยมีประสิทธิภาพป้องกันในเด็ก สามารถป้องกันโรคหูชั้นกลางอีกเสบได้ถึง 40-85% ส่วนผู้ใหญ่สามารถป้องกันได้ดีถึง 73 % ซึ่งวัคซีนไอพีดี ขณะนี้มีทั้งหมด 5 ชนิด ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย แบ่งเป็น 10 สายพันธุ์ของอินเดียและตะวันตก 13 สายพันธุ์ของจีนและตะวันตก 15 สายพันธุ์ของตะวันตก แต่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการพิจารณาการเลือกชนิดเพื่อนำมาใช้และบรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กไทย แต่ในหลายประเทศทั่วโลกมีการให้บริการฉีดฟรีในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2566 เป็นต้นมา โดยยังเหลือประเทศไทย ที่คาดว่าจะได้ฉีดในเด็กเร็วๆนี้ และประเทศจีน แต่จีนกำลังจะสร้างวัคซีนชนิดนี้ขึ้นมาเองด้วย
ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก โรงพยาบาลศิริราชฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการรับวัคซีนในเด็กเล็กว่า โควิด 19อันตรายในเด็กเล็กที่ติดเชื้อโดยยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก่อให้เกิดภาวะที่ตามมาคือ โรคมิซซี(MIS-C) รุนแรงหรือLong COVID หายช้า ซึ่งในเด็กเล็กอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการได้ โดยภาวะมิซซีจะมีอาการอักเสบในร่างกายตามระบบอวัยวะอย่างน้อย 2 ระบบขึ้นไป เช่น ระบบผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและระบบอื่นๆ เช่น ระบบไต ระบบประสาท ระบบหายใจ เป็นต้น ซึ่งอาการที่พบนอกจากการมีไข้ ยังมีอาการปวดท้องถึง 66.5% อาเจียน 64.3% ผื่น 55.6% ท้องร่วง 53.7% และเยื่อบุตาขาวแดง 53.6% ซึ่งการเสียชีวิตของเด็กจากโควิด-19 ที่ปอดอักเสบรุนแรงในปี 2563-2566 มากที่สุด 54% อยู่ในกลุ่มเด็กเล็กที่อยู่ต่ำกว่า 1 ปี และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน

“ดังนั้นหากฉีดวัคซีนในเด็ก อายุ 0-4 ปี จากการศึกษาในอเมริกา จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 70% มีประสิทธิภาพป้องกันอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน อย่างภาวะมิซซีได้มากถึง 90% ทั้งนี้ที่สำคัญการฉีดวัคซีนในแม่ช่วงหลัง 20 สัปดาห์ จะช่วยป้องกันทารกป่วยหนักวิกฤตในทารก 6 เดือนแรกได้ 60% หรือถ้าฉีดก่อนจะสามารถป้องกันได้ 38% ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้เด็กได้รับวัคซีนก่อนที่จะได้รับเชื้อโควิด-19” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' ไขข้อโต้แย้ง 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' กับ Hippocratic Oath
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ข้อโต้แย้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ Hippocratic Oath
'หมอยง' แจงการระบาด 'โควิด' ช่วงเทศกาลสงกรานต์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 การระบาดในช่วงสงกรานต์
'หมอยง' แจงโรค 'RSV' ความจริง 10 เรื่องที่ควรรู้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า RSV ความจริงที่ควรรู้
ชวน 'ตากแดด' เดินหมื่นก้าว สุขภาพดีสู้ได้สารพัดโรค
'หมอธีระวัฒน์' ชวนตากแดด เปรียบเหมือนยาอายุวัฒนะ เดินวันละหมื่นก้าว เข้าใกล้มังสวิรัติ เสริมสร้างสุขภาพดี ป้องกันสารพัดโรค
'สมศักดิ์' ลุยฉีดวัคซีน 'กาฬหลังแอ่น-ไข้หวัดใหญ่' ให้ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ 7,000 คน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราช