'ตาลเดี่ยว-หญ้าเนเปียร์' พลังงานสะอาด ปฐมบทเดินหน้า'สระบุรีแซนด์บ็อกซ์'

ทุกปีกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักประมาณ 4-5 ล้านตัน แต่ละปีปลดปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2  ) ไม่ต่ำกว่า  9-12 ล้านตัน CO2  การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลสู่การใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นทดแทนถ่านหิน คือ กุญแจสำคัญขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero 2050 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการหลักผลักดัน “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดสระบุรี แหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้ามาสนับสนุนเป้าหมายสระบุรีนครคาร์บอนต่ำ

นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจริงบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ในศูนย์เรียนรู้พืชพลังงานบ้านหัวเขา ตำบลเขาเกตุ  อ.ทับกวาง จ.สระบุรี นำร่องปลูกหญ้าเนเปียร์ พืชพลังงานที่มีศักยภาพนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยทำรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ ซึ่งหญ้าเนเปียร์มีศักยภาพสูง แต่ยังต้องศึกษาวิจัยรอบด้าน ทั้งการปลูก การนำมาใช้งาน และการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงเครื่องจักรให้เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไป  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศเร็วขึ้น และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ยังมีหลากนวัตกรรมโลว์คาร์บอนที่น่าสนใจเกิดขึ้นแล้วในจังหวัดสระบุรี

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”ว่า ไทยประกาศเจตนารมณ์ยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สอวช. วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ มุ่งเน้นนวัตกรรม และเชื่อมโยงกลไกระดับนานาชาติ ร่วมกับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (TCA) ในพื้นที่ จ.สระบุรี แหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งมีความท้าทายในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนัก และการขับเคลื่อนองคาพยพในรายสาขาต่างๆ ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน 

“ เราเห็นการยกระดับพื้นที่ชุมชนทดลองปลูกหญ้าเนเปียร์ สร้างพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศพืชพลังงานนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ อว. สนับสนุน   นอกจากนี้ มีโครงการ“ตาลเดี่ยวโมเดล”ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สร้างต้นแบบการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้จัดการขยะชุมชน ทั้งขยะใหม่ที่มีปริมาณ 10 -20  ตันต่อวัน และขยะตกค้าง  ผลิต แปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร  นำมาใช้ประโยชน์ใหม่ ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเตรียมขยายผลในตำบลอื่นๆ ของ จ.สระบุรี สนับสนุนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เป็นการเดินทางสู่ Net Zero ที่ย่อประเทศไทยลงมา หากสามารถเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ จ.สระบุรี จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดหรือพื้นที่อื่นๆ ในการแก้ปัญหาได้ สระบุรีมีพลังของกลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์ แล้วยังมีภาคชุมชน ภาคเกษตรกรรม องคาพยพต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง “ ผอ.สอวช. กล่าว

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จ.สระบุรี ถูกยกฐานะให้เป็นเมืองหลวงอุตสาหกรรมการก่อสร้าง มีการผลิตปูนซีเมนต์ร้อยละ 80 ของการผลิตทั้งประเทศ  ในกระบวนการผลิตปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM2.5  สระบุรีตกเป็นจำเลยอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ท้าทายในการผลักดัน ”สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ภาคเอกชนอย่างอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นกลไกสำคัญลดก๊าซ  TCMA กับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีขับเคลื่อน ส่วนจังหวัดสระบุรีคิดรูปแบบบริหารจัดการในแต่ละรายสาขาที่ตอบโจทย์ Net Zero  ทั้งเกษตร ขยะ พื้นที่สีเขียว และพลังงาน โดยมีคณะทำงานแต่ละด้านขับเคลื่อน

“ 4 เดือนนับจากขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีความคืบหน้าไปมาก พลังงานสะอาดมีการนำระบบหลังคาโซล่าร์มาใช้ รองรับภาคชุมชนและอุตสาหกรรม หรือแม้แต่นวัตกรรมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำก็น่าสนใจ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดโดยไม่ก่อก๊าซคาร์บอน รวมถึงการเปลี่ยนผืนน้ำผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ล้อมรอบศูนย์ราชการ  ส่วนศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนตาลเดี่ยว มอบการบ้านให้ท้องถิ่นนำมาใช้จัดการขยะชุมชน รวมถึงนำเทคโนโลยีนี้มาต่อยอดธนาคารขยะที่ทำอยู่  สำหรับปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ต้องเสนอให้ส่วนกลางหาทางปลดล็อค เพื่อให้มีความเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดโมเดลสนับสนุนลดโลกร้อน  สงครามนี้อีกยาวนาน แต่ต้องทำต่อเนื่องทั้งภาคองค์ความรู้และภาคปฏิบัติ  “ ผู้ว่าฯ สระบุรี กล่าว

นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินอุตสาหกรรมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และสร้าง”สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เน้นใช้นวัตกรรมก้าวข้ามข้อจำกัด และสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050   ตามโรดแมฟการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พ.ศ. 2593 การดำเนินงานครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่พัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) เชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้ทดแทนถ่านหิน ลดปล่อยคาร์บอน  การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลา แรงงาน รวมทั้งลดของเสียในการก่อสร้าง การพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปลดปล่อย CO2 ในกระบวนการผลิตและการก่อสร้าง การวิจัยพัฒนาใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดลดการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิต

ส่วนคาร์บอนก้อนใหญ่จะพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน Carbon Capture and Utilization/Storage (CCUS) เพราะยังมีสัดส่วนของคาร์บอนที่เหลืออยู่จากกระบวนการต่างๆ ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง  ถือเป็นจุดเป็นจุดตายของุรกิจซีเมต์ ซึ่งเทคโนโลยีด้านนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัดและราคาแพงมาก อย่างไรตาม ตั้งเป้าภายในปี 2030 ลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนลงร้อยละ 50 เป็นเป้าระยะใกล้

“ จากโรดแมฟที่ดำเนินการไปได้มากสุดในพื้นที่สระบุรี เป็นการใช้เชื้อเพลิงสะอาดแทนฟอสซิล ธุรกิจซีเมนต์ 40% ของการปล่อยคาร์บอนมาจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมในสระบุรีใช้เชื้อเพลิงสะอาดกว่า 50% ถัดมาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคการขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้าระบบสมาร์ทกริดที่ต้องก้าวข้ามแพลตฟอร์มซื้อขายไฟ  หรือเชื้อเพลิงชีวมวลที่รัฐต้องมีกลไกสนับสนุน รวมถึงงานวิจัยหน่วยงานรัฐทำได้ หากจะขยายผลไปเชิงพาณิชย์หรือมีการซื้อขายต้องมีเอกชนทำงานร่วม  ส่วนกลางต้องมอบอำนาจการตัดสินใจเชิงพื้นที่ เพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าฯ ซีอีโอ ต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แก้ข้อจำกัด  อีกส่วน สอวช. ต้องส่งเสริมนวัตกรรมนำมาสู่ภาคปฏิบัติของภาคเอกชน เป็นการหาทางออกร่วมกันเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์  “ นายเจริญชัยย้ำ

การปรับตัวสู่เมืองคาร์บอนต่ำผ่านการแปลงขยะชุมชนเป็นขุมทรัพย์ สร้างรายได้ ลดปล่อยก๊าซ เกิดขึ้นที่ชุมชนตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว. เผยถึง “ตาลเดี่ยวโมเดล” ว่า ต.ตาลเดี่ยวมีพื้นที่บ่อขยะขนาด 5 ไร่ แต่ละวันมีขยะเข้ามาหลากหลายประเภทกว่า 10 ตัน  สระบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดวิกฤตมีปัญหาขยะล้นเมือง โดยเฉพาะการกองทิ้ง เกิดมลพิษอากาศ มลพิษทางน้ำ  ปี 2560 วว. ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น อบต.ตาลเดี่ยว และจังหวัดสระบุรี พัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาแก้ไขปัญหาขยะชุมชน  โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะ 2 แนวทาง คือ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน และเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ สร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนจัดการขยะที่ต้นทาง ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างเครื่องจักรในการคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติในการแปรรูปขยะมูลฝอยจากขวดพลาสติกดำๆ เป็นเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูง  การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะคุณภาพสูงทดแทนถ่านหิน การผลิตสารปรับปรุงดินจากขยะเศษอาหารได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ การบำบัดน้ำชะในบ่อขยะ โมเดลนี้ขยายผลสู่กทม. และ จ.ระยอง วว.พร้อมจะฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และงานวิจัยให้แก่ชุมชนอื่นๆ  เพื่อขยายการจัดการขยะชุมชนด้วยนวัตกรรมอย่างครบวงจรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่สระบุรี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

TCMA นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ร่วมขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ พลิกโฉมสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย

จังหวัดสระบุรี รวมพลัง 18 หน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA)