สอวช.สำรวจ 10 อุตสาหกรมรายใหญ่ในไทย พบ 100 บริษัท เป็นของต่างชาติครึ่งหนึ่ง-สะท้อนเปราะบางศก.

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับบริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด เผยผลการสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม สำหรับปี 2568 – 2572 หรือ “Thailand Talent Landscape” เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา โดยได้มีการสำรวจข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการในประเทศไทยกว่า 300 ราย ภายใต้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และนำมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรในอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงาน พร้อมขอบคุณบริษัท ไอริสฯ ที่ทำการสำรวจข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการ โดยทำงานร่วมกับทีมงานของ สอวช. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นโจทย์วิจัยของรัฐบาล และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตรหรือคอร์สเรียนต่าง ๆ ได้ ซึ่ง สอวช. เองก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม STEMPlus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนักศึกษาและบุคคลทั่วไปตลอดจนหน่วยงานฝึกอบรม โดยหน่วยงานที่ส่งบุคลากรเข้าอบรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250% และหน่วยงานที่มีการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM สามารถนำค่าจ้างบุคลากรมาลดหย่อนภาษีได้ 150% ในปีที่ผ่านมามีบุคลากรที่ผ่านการรับรองการจ้างงานแล้วกว่า 5,000 ราย ปีนี้ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นไปถึง 10,000 ราย และตั้งเป้าให้มีผู้ที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง 100,000 ราย

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ในระบบเศรษฐกิจของประเทศมีผู้เล่นรายใหญ่ไม่ถึง 100 บริษัท ครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทของไทย และอีกครึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งทำให้เกิดการกระจุกตัว หากภาวะเศรษฐกิจไม่เสถียรก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องสร้างผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้โครงสร้างประชากร ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างประชากรของไทยเป็นรูปแบบพีระมิดฐานกว้าง ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มฐานของพีระมิด สอวช. จึงได้ทำโครงการ Social Mobility เพื่อยกฐานะทางสังคมของประชากรฐานราก โดยมีเป้าหมายทำให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2570 ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงกระทบกับการค้า การลงทุน ซึ่งการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้จะหาทางออกได้ยากหากขาดกำลังคนที่เพียงพอ และกำลังคนที่มีทักษะ หรือมีสมรรถนะสูง

ด้าน นางสาวเพ็ญสุดา เหล่าศิริพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวถึงผลสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม สำหรับปี 2568 – 2572 หรือ “Thailand Talent Landscape”ว่า จากการสัมภาษณ์องค์กรต่าง ๆ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พบประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
1.ยานยนต์สมัยใหม่ มีทิศทางของอุตสาหกรรมเรื่องเครื่องยนต์สันดาปภายใน ระบบไอเสีย และระบบน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะถูกแทนที่ด้วยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่รองรับการส่งจ่ายด้วยพลังงานไฟฟ้า 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม มีทิศทางการเติบโตคงที่และมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งส่วนใหญ่ยังรับจ้างประกอบ โดยขาดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตนเอง 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีทิศทางของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการฟื้นฟูสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ราคาเป็นมิตรและบริการประทับใจ 4.เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการสร้างความเข้มแข็งด้านการเกษตรกรรมของประเทศ และพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ระบบเกษตรกรรมจึงต้องปรับตัวและมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย

ข้อ 5.การแปรรูปอาหารและอาหารแห่งอนาคต มีทิศทางที่เน้นความยั่งยืน คนส่วนใหญ่เลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโปรตีนทางเลือกแม้ตลาดจะเล็กแต่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น อาหารฟังก์ชันสำหรับกลุ่มที่ต้องการโภชนาการมากกว่าพื้นฐาน และอาหารสำหรับผู้สูงอายุมีทิศทางดีขึ้น 6.การบินและโลจิสติกส์ มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคอาเซียน 7.เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างจำกัดจากอุปสงค์ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีเอทานอลเป็นส่วนประกอบหลักลดลง ตลอดจนความเข้มข้นของมาตรการทางกฎหมายการนำเข้าและส่งออกในต่างประเทศที่ส่งผลต่อการค้าของประเทศไทย 8.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล และการสนับสนุนเงินทุนวิจัย ทุนพัฒนาทักษะ ทุนสร้างสรรค์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 9.ดิจิทัล มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มการทำธุรกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายผ่านระบบออนไลน์ และ 10. การแพทย์ครบวงจร เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมีจุดแข็งด้านอัตราค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพการรักษาที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก

ทั้งนี้พบว่าทุกอุตสาหกรรมมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในทุกมิติ ตลอดจนต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านในสาขาที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามทักษะทางด้านภาษา การทำงานเป็นทีม และสามารถรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ ยังมีความจำเป็นในทุกอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการจัดเวทีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “มุมมองผู้บริหารในการเตรียมความพร้อมบุคลากรในอนาคต” โดยตัวแทนผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทย บริษัท  เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ว่า อยากให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อดึงเม็ดเงิน รวมทั้งให้มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญใช้ภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ในช่วงปีที่ผ่านมาการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็น ทั้งเรื่องของโรงงานผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด และนายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวถึงอุตสาหกรรมบีซีจีว่า เศรษฐกิจบีซีจีเป็นเป้าหมายของทั่วโลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าเราจะมีวัตถุดิบของตัวเอง แต่ที่ต้องการ คือ เราไม่สามารถควบคุมตลาดได้เหมือนในอดีต เพราะเวทีการค้าในระดับโลกจะยากและซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การพัฒนาบีซีจีในมิติไหนต้องพิจารณาดูให้ดี และจะรู้เฉพาะเรื่องไม่ได้ ต้องรู้ให้กว้างเพราะมีการแข่งขันสูงขึ้น

นายอุดร คงคาเขตร Senior Vice President B2B2C Business บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะอนุกรรมการโลจิสติกส์ กล่าวถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ว่า มีสิ่งที่ท้าทายที่สำคัญ 3 ข้อ คือ ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้เล่นที่ต้องพัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัย และชุมชนที่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขความเป็นกลางทางคาร์บอน ผู้ประกอบการจึงต้องวางแผนรับมือ เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องเจออย่างแน่นอน

นพ.สมฤทธิ์ จันทรประทิน รองผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสารสนเทศ กลุ่ม 1 เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ว่า นับเป็นโอกาสดีที่ Digital Healthcare เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ถือเป็น Big Move ที่สำคัญของอุตสาหกรรมการแพทย์ แต่ความท้าทายคือต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น และในด้านทักษะแรงงานเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะทักษะด้านอารมณ์ ทัศนคติ และการมีจิตสาธารณะ

นพ.อนุชา พาน้อย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ด็อกเตอร์ เอทูแซด จำกัด กล่าวถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพว่า มุมมองด้านสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นเรื่อง Wellness ซึ่งเป็นประเด็นที่มาแรง และมีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจพันธุกรรมเพื่อดูภาวะเสี่ยง ซึ่งสิ่งที่สำคัญของการพัฒนาบุคลากร คือ การพัฒนาชุดทักษะ หรือ Skiil Set ที่จำเป็นและสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว

ดร.นิษฐา รัชไชยบุญ นันทขว้าง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สีฟ้า กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึง อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและอาหารแห่งอนาคตว่า ในโลกอนาคตอาหารจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาหารแห่งอนาคตมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องอาหาร และในอนาคตมีแนวโน้มการพัฒนาไปสู่ One Food One World ได้

นายสันติ เลาหบูรณะกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด กล่าวถึงอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ว่า คนไทยมักจะชอบเสพผลงานศิลปะของต่างชาติ ดังนั้นความท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้การทำงานสร้างสรรค์ของไทยสามารถดึงดูดความสนใจของคนในประเทศและต่างชาติได้ รวมทั้งต้องมีการพัฒนาทักษะของแรงงานในอนาคตอย่างต่อเนื่องด้วย

นายธัชกรณ์ วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด กล่าวถึง อุตสาหกรรมดิจิทัลว่า เห็นได้ชัดว่าสมัยก่อนเทคโนโลยี AI จะถูกใช้อยู่แค่ในบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ตอนนี้มีการนำ AI ไปใช้ในวงกว้างทุกแห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่บุคลากรที่มีทักษะอาชีพด้านวิศวกรก็ไม่อยากให้หายไป ซึ่งต้องมีการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skill ต่าง ๆ อาทิ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานเป็นทีม และการมีทัศนคติที่ดียังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก.

—————————-

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ตาลเดี่ยว-หญ้าเนเปียร์' พลังงานสะอาด ปฐมบทเดินหน้า'สระบุรีแซนด์บ็อกซ์'

ทุกปีกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักประมาณ 4-5 ล้านตัน แต่ละปีปลดปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2  ) ไม่ต่ำกว่า  9-12 ล้านตัน CO2  การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลสู่การใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นทดแทนถ่านหิน

สสว. - สอวช. เผยแพร่ผลการศึกษาและเกณฑ์การประเมินผู้ประกอบการ BCG สำหรับกลุ่ม MSME

สสว. ร่วมกับ สอวช. จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาและเกณฑ์การประเมิน BCG สำหรับ MSME ภายใต้โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME