
เนื่องในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการรณรงค์สื่อสารให้คนไทยตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของช้างไทยจากปัญหาผืนป่าที่ถูกทำลายและลดลง ทั้งด้วยปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมจากน้ำมือมนุษย์รบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างสัตว์ประจำชาติ ส่วนความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในหลายพื้นที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและเป็นปัญหาสะสมมานานรอการแก้ไข
งานอนุรักษ์ช้างไทยต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง นเรศณ์ เสือทุเรียน ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF Thailand กล่าวถึงปัญหาช้างป่าว่า ในอดีตช้างป่าในประเทศไทยมีจำนวนลดลงจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ การล่าช้างป่าเพื่อนำไปเลี้ยง ,ล่าช้างเพื่อตัดเอางา และป่าซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของช้างลดลง แตกต่างจากสถานการณ์ปัจจุบันช้างป่าเผชิญปัญหาใหญ่พื้นที่อาศัยลดลง เพราะประชากรเพิ่มขึ้นจากการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มข้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงมีความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตร องค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO ช่วยกันอนุรักษ์ช้างป่า

เพราะเดิมทีปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ พบมากทางภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปัจจุบันเริ่มพบความขัดแย้งคนกับช้างในพื้นที่ทับลาน และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ถือว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ มีช้างป่าออกมารบกวนพื้นที่เกษตรมากขึ้นเกือบทั่วประเทศไทย เราอนุรักษ์ดีเกินไป แต่ที่อยู่อาศัยของช้างเท่าเดิม ขณะที่พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับช้างป่าน้อย
“ พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับช้างเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การเวนคืนไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะไม่กลับไปมองเรื่องอดีตว่าคนบุกรุกที่อยู่อาศัยของช้าง แต่จะมองเรื่องปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาช้างที่มาบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อลดความขัดแย้ง” นเรศณ์ ชวนคิด

ผจก.โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF Thailand ได้ยกกรณีศึกษาประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างที่กุยบุรี ซึ่งอุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่มีประชากรช้างป่ากว่า 200 เชือก อาศัยอยู่ ทางอุทยานฯ ดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับ WWF Thailand เพื่อลดความขัดแย้งคนกับช้าง
นักอนุรักษ์ระบุว่า อุทยานฯ กุยบุรี มีพื้นที่ประมาณ 6 แสนไร่ ลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ราบที่เหมาะสมสำหรับเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามีน้อย ทำให้ชายขอบป่ากุยบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านเหมาะกับการหากินของช้าง ย้อนกลับไปการประกาศให้ผืนป่ากุยบุรีเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่ออนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและรักษาป่าต้นน้ำ สืบเนื่องจากมีช้างตาย เพราะมีการจัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกรและบางส่วนเป็นผู้มีอิทธิพล โดยมีการวางยาทำให้ช้างตาย นำมาสู่การเวนคืนพื้นที่ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ รวมถึงมีโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องการอนุรักษ์ช้าง ซึ่ง WWF Thailand เข้าไปทำโครงการลดความขัดแย้งคนกับช้างและอนุรักษ์ช้างมากว่า 20 ปี เรามีหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานระหว่างชาวบ้านและกรมอุทยานฯ เพื่อลดความขัดแย้ง อีกหน้าที่จะร่วมทำงานบริหารจัดการช้างป่าทั้งเชิงรุกและเชิงรับ
“ การจัดการเชิงรุกตามแนวพระราชดำรัส ร.9 สร้างแหล่งอาหารให้เพียงพอสำหรับช้างกระจายทั่วผืนป่า เช่น ปรับปรุงแปลงหญ้า ทำโป่งเทียม ปรับปรุงเรื่องบ่อน้ำ แหล่งน้ำ เพื่อให้มีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ช้างป่าในพื้นที่ป่ากุยบุรีมีประมาณ 200 เชือก แต่ที่ออกมารบกวนชุมชน ถือว่าเป็นส่วนน้อย ประมาณ 10 เชือก ส่วนช้างที่ออกมาเราต้องแก้ปัญหาเชิงรับ โดยทำงานร่วมกับกรมอุทยานฯ สนับสนุน จนท.ทีมเฝ้าระวัง เช่น เสบียง อุปกรณ์ในการลาดตระเวน การอบรมให้ความรู้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทีม จนท. รวมถึงเพิ่มเติมเทคโนโลยีทันสมัยด้วยระบบการเฝ้าระวังและการเตือนภัยสัตว์ป่าล่วงหน้า โดยติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ สำรวจจุดที่ช้างออก ซึ่งจะเป็นชายป่าเชื่อมมาพื้นที่เกษตร ภาพจะส่งมายังศูนย์ควบคุม ฝ่ายเฝ้าระวังจะรีบเข้าไปผลักดันให้ช้างกลับเข้าป่าก่อนที่จะเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร อย่างสัปปะรด หรือมะม่วง รวมถึงแจ้งเตือนผ่านไลน์และวิทยุสื่อสารให้เครือข่ายเจ้าของไร่รู้ตัว ระบบนี้เพิ่มความปลอดภัยทั้งคนและช้าง “ นเรศณ์ กล่าว

ส่วนการผลักดันช้างกลับเข้าผืนป่า เขาบอกขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของช้างตัวนั้นๆ ถ้าช้างที่ไม่ดื้อมาก แค่ได้ยินเสียงรถจักรยายนต์ของเจ้าหน้าที่ก็จะกลับเข้าป่า ถ้าดื้อมากจะจุดประทัดขับไล่ โดยจนท.จะติดตามช้างจนเข้าป่าแน่นอน เราเรียนรู้พฤติกรรมของช้าง ช้างเรียนรู้คน ซึ่งช้างป่ากุยบุรีไม่ออกมาเป็นฝูงช้างป่า ไม่มีการพังบ้านเรือนชาวบ้าน บางครั้งออกมาตัวเดียว แต่บางคืนมาถึง 5-6 ครั้ง ทำให้พืชผลเสียหายมาก อีกวิธีใช้โดรนผลักดันช้างป่า พบว่ามีประสิทธิผล ทำให้ช้างกลับเข้าป่าด้วยความรวดเร็ว สร้างความปลอดภัยให้ทีมเฝ้าระวังช้างป่าภาคพื้นดิน ช้างเองก็ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะกลาง
แนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืนในพื้นที่กุยบุรี นเรศณ์กล่าวว่าระยะยาวควรปรับปรุงแหล่งอาหารและเสริมประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน ตลอดจนมีกองทุนเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนผู้เสียชีวิตจากเหตุช้างป่า ในการทำงานร่วมกับชาวบ้าน พบว่า ถ้าพืชผลทางการเกษตรกรไม่เสียหาย ชาวบ้านจะไม่โกรธแค้นช้าง ทุกคนเจอช้างก็รักช้าง ไม่อยากทำร้าย นอกจากนี้ ชาวบ้านควรมีรายได้เสริมจากการสูญเสียรายได้ที่เป็นผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ในอนาคตอาจมีการขยายผลสําเร็จโดยการแบ่งปันความรู้ให้กับพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาเดียวกัน
“ มองว่า การที่การทำงานลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างต้องทำงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ชาวบ้าน ทำตามศักยภาพและอำนาจหน้าที่ เพราะไม่สามารถที่จะหยุดช้างที่ออกมาจากป่ารอยต่อได้เพราะเดิมเป็นพื้นที่หากินของช้างป่า ถ้าทำได้จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและลดโอกาสเกิดความขัดแย้งได้มากที่สุด คนและช้างอยู่ร่วมกันได้ ” นเรศณ์ กล่าว
ทั้งนี้ การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างที่กุยบุรีเป็นหนึ่งในโมเดลลดความขัดแย้ง หยุดความสูญเสีย และช่วยอนุรักษ์ประชากรช้างไทยไม่ให้จำนวนลดลง แต่การจัดการช้างป่าของแต่ละพื้นที่นั้นไม่มีสูตรสำเร็จ มาตรการแต่ละพื้นที่ต้องคิด วิเคราะห์ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ช้างแสนรู้ 19 เชือก ร่วมตักบาตรอุทิศส่วนกุศลแด่วิญญาณช้าง 'วันช้างไทย'
นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พนักงาน และช้างแสนรู้ 19 เชือก ได้ร่วมประกอบพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง
"ฅนกับช้าง ทุ่งพระยา" วิถีชีวิต วิถีป่า เส้นทางสู่การอยู่ร่วมอย่างยั่งยืน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแนวเขตติดกับป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวต้องเผชิญกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ
“หัวใจคน หัวใจช้าง เสียงก้องจากป่า... เรื่องราวการอยู่ร่วมกันของคนกับช้างป่าแห่งทุ่งพระยา”
กลางผืนป่ากว้างใหญ่แห่งภาคตะวันออกของไทย ที่ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติยังคงดำรงอยู่ ผืนป่าที่ทอดยาวครอบคลุมหลายจังหวัดคือแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
คึกคัก! เปิดภูกระดึงรอบ 2 อบรมป้องกันช้างป่า ก่อนนักท่องเที่ยวเดินขึ้น
ตั้งแต่เวลาประมาณ 05:00 น. ได้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศทยอยเดินทางมายังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งเป็นวันแรกที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงกลับมาเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้ง
ภาพหาดูยาก! ภูกระดึงสุดเงียบเหงา ไม่มีนักท่องเที่ยว
บรรยากาศบนยอดภูกระดึงที่ทำการวังกวาง ในช่วงเช้าจนถึงปัจจุบัน หลังที่นักท่องเที่ยวจำนวน 889 คน ชุดสุดท้าย เดินทางลงจากเขาทำให้บรรยากาศโดยรวมบนยอดภูกระดึง