พลิกโฉมมหาวิทยาลัย ภาคเหนือ มช.พัฒนา'ศูนย์ทดสอบดัชนีน้ำตาล' มุ่งสู่ระดับโลก 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทีมโดย รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน คณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล พร้อมคณะ ได้เยี่ยมลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University)  ของสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

รศ.ดร.รัฐชาติ  กล่าวว่า ทิศทางแนวนโยบายด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เป็นการพัฒนาปรับปรุงระบบนิเวศของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยแบบองค์รวม ทั้งในด้านการปฏิรูประบบบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศให้กับมหาวิทยาลัยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล  จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษา  ทั้งการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะอาจารย์ สามารถตอบสนองต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21 มุ่งหวังยกระดับมหาวิทยาลัยของไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมีความถนัดและเชี่ยวชาญ ผลักดันให้เกิดการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยและยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ

“มหาวิทยาลัยในภาคเหนือ มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นและมีความชัดเจน สามารถตอบโจทย์ประเทศไทยในมิติของความยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ สิ่งนี้เป็นการสะท้อนการทำงานของโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป ทางโครงการจะให้การสนับสนุนเรื่องของงบประมาณมากขึ้น เนื่องจากจะมีกองทุนเพื่อพัฒนาอุดมศึกษาเข้ามาช่วยในโครงการนี้ แต่ขอให้การทำงานต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกมหาวิทยาลัย”รศ.ดร.รัฐชาติ

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อว. กล่าวว่า นโยบายสําคัญของ อว. จะมุ่งเน้นในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในด้านของการผลิตและพัฒนากำลังคน การพัฒนาองค์ความรู้วิจัยและนวัตกรรม ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้และการทำงานรูปแบบใหม่ โดยใช้ศักยภาพและความถนัดของสถาบัน นำไปสู่การพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาให้สามารถจัดการศึกษา ทำวิจัย และผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เกิดการยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้สังกัดกลุ่ม ประจำปีงบประมาณ 2565 – 2566 จำนวน 104 แห่ง ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก มี 17 แห่ง กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มี 19 แห่ง กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น มี 48 แห่ง กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา มี 2 แห่ง และกลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ มี 18 แห่ง

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) สามารถนำงานวิจัยต่อยอดสู่นวัตกรรม ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลิตบัณฑิต ส่วน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based  & Community) ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระดับครัวเรือนและชุมชน  ยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนให้ดีขึ้น  

ในโอกาสนี้คณะผู้แทนจากอว.ได้เยี่ยมชม “ศูนย์ทดสอบดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index Center; GIC)” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศูนย์ GI ที่มีระบบ กลไก และบุคลากรที่พร้อมต่อการให้บริการศึกษาค่าดัชนีน้ำตาล ที่มีความเชี่ยวชาญและยอมรับในระดับสากล โดยผ่านการขอรับรอง ISO22642:2010 (ระบบคุณภาพสำหรับการวิเคราะห์ค่าดัชนีน้ำตาล) และเป็นแพลตฟอร์มการทำงานแบบบูรณาการของผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและการแพทย์ ที่จะช่วยสนับสนุนการศึกษาวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ในระดับ Clinical trial อย่างครบวงจร สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน นับเป็นการ เพิ่มขีดความสามารถทางวิชาการด้านสุขภาพระดับโลก

รศ. ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งการวิจัยที่มีคุณภาพในระดับแนวหน้าของโลกหรือเฉพาะทางสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพหรือทักษะสูงให้สามารถคิดค้น ผลงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในระดับสากล ผลิตบัณฑิตที่เป็นนักวิจัยหรือผลงานวิจัยในระดับนานาชาติเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานโลก ซึ่งโครงการจัดตั้ง ศูนย์ GI Center (GIC Thailand) เพื่อให้บริการวิจัยแบบบูรณาการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำ และการพัฒนาเป็นศูนย์ที่ให้บริการทดสอบ GI ที่เป็นมาตรฐานรายแรกในประเทศไทย สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่เป็นเลิศและสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ Food for health in NCDs ต่อไปในอนาคต รวมทั้งศูนย์นี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและการต่อยอดในเชิงพาณิชย์

“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศูนย์ GI center (GIC Thailand) ให้เป็นศูนย์ที่ดำเนินการทดสอบและวิจัย GI ในผลิตภัณฑ์อาหารแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก Glycemic Index Foundation ในการประเมินคุณภาพของคาร์โบไฮเดรตในอาหารเอเชีย โดยใช้อาสาสมัครคนไทยเพื่อพัฒนาฐานข้อมูล GI ของอาหารในท้องถิ่นตลอดจนสนับสนุนและตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมผ่านการนำเสนอชุดบริการให้คำปรึกษาในการพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ GI ต่ำแก่ SMEs และบริษัทข้ามชาติ (MNCs) นอกจากนี้ GIC Thailand ยังจะมีศักยภาพในการให้บริการวิจัยด้านโภชนาการทางคลินิกที่หลากหลาย นอกเหนือจากการทดสอบ GI เพื่อการวิจัยและพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ ตลอดจนการนำไปใช้ในการยื่นขอเลขทะเบียน อย. และการเป็นข้อมูลอ้างอิงผลต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์”รองอธิการบดี มช.กล่าว

นอกจากนี้  ศูนย์ GIC Thailand จะทำให้เกิดแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ นักวิจัยผู้ประกอบการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการนำความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยในมิติของ Food for NCDs Prevention มาร่วมกันพัฒนาบูรณาการศาสตร์ที่จะพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลกได้อีกทั้งยังเป็นการสร้าง Frontier Technology ให้กับประเทศในการเป็นผู้นำแห่งวิทยาการที่นำไปสู่การรับมือกับมิติการเปลี่ยนแปลงของโลก

สำหรับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่(มรภ.เชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการภายใต้โปรแกรม 25 แผนงานย่อยรายประเด็น “แผนงานพัฒนาระบบ ววน. ในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อดำเนินโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่การเป็นล้านนาเมืองสร้างสรรค์(Creative LANNA)

รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community) เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน สังคม ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ที่จะมีผลต่อประเทศ ส่วนโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน (The Development of Creative Smart Community driven by Innovation and Lifelong Learning University) เป็นการพลิกโฉมการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจและผู้ประกอบการโอทอป เพื่อพัฒนากำลังคนด้านเศรษฐกิจชุมชนอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนการเป็นเมืองล้านนาสร้างสรรค์ (Creative LANNA) และเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) รองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC)

“โครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์นี้ฯ เราสนับสนุนให้ชุมชนโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพื่อให้เกิดความหลากหลายทั้งในงานหัตถกรรม สถาปัตยกรรม การท่องเที่ยว อาหาร ซึ่งจะส่งผลเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ก่อเกิดย่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในชุมชนซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการร่วมกับภาคีเครือข่ายขยายผลต่อไป”รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มช. เปิดตัวเว็บไซต์ แสดง Dashboard ระบบการเฝ้าระวังโรคที่เป็นผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัย

มช. เปลี่ยนการเผาเป็นพลังงานสะอาด พัฒนาชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทดแทนการใช้ถ่านหิน ลดมลพิษ เพิ่มโอกาสแก่ชุมชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสาธิตวิธีการใช้เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์

‘ศุภมาส’ ยัน ไม่ได้หนีอุเทนถวาย หลังมีคำสั่งให้ ขรก. เวิร์คฟรอมโฮม

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวก่อนการป