'ว่าวบูรงนิบง'ทุนวัฒนธรรมยะลา  สู่เศรษฐกิจสร้างสันติสุขชายแดนใต้

นับเป็นครั้งแรกที่จังหวัดยะลา ได้มีการจัดมหกรรมว่าวนานาชาติ ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 เมษายนที่ผ่านมา โดยมี 6 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง และจากประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมแสดงรวมกว่า 1,400 ตัว ลอยบนท้องฟ้า

ที่มาของการจัดมหกรรมว่าวนานาชาติ ขึ้นเป็นคร้้งแรกในปีนี้  มาจากการผลักดันของมหาวิทยาลัยราชภัฎมรภ.ยะลา ที่ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว) ทำวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม ว่าวบูรงนิบง สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ซึ่งงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ สำคัญ เพื่อฟื้นฟูการเล่นว่าวบูรงนิบง ที่เป็นฐานทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่  พร้อมๆกับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานราก ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น

เป็นเวลานับร้อยปีที่ชาวยะลา โดยเฉพาะในหมู่ชาวมุสลิมนิยมเล่น”ว่าวบูรงนิบง”รองมาจากการเลี้ยงนกเขาเท่านั้น  ในช่วงหน้าร้อนที่มีลมดีๆ ไม่มีฝนจะเห็นว่าวบุรงนิบง ลอยเต็มท้องฟ้ายะลา  แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ความนิยมเล่นว่าวและความผูกพันธ์ในตัวว่าวบูงนิบงของชาวยะลาที่มีมายาวนาน กลับไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำให้เกิดการรวมตัว สามารถจัดกิจกรรมการเล่นว่าวที่ยิ่งใหญ่แต่อย่างใด ที่ผ่านมางานมหกรรมว่าว จึงตกไปอยู่ที่จ.สตูล แทน ทั้งๆที่ว่าวบูรงนิบง ของชาวยะลามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งรูปลักษณ์และลวดลายมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความเป็นมา หรือความเชื่อทางศาสนาซ่อนอยู่ ซึ่งทำให้ว่าวชนิดนี้เรียกได้ว่าเป็นว่าวที่”ไม่เหมือนใคร”

ตามประวัติศาสตร์ว่าวบูรงนิบง มีกำเนิดมาจากว่าวเบอร์อามัส หรือรู้จักกันอีกชื่อคือ”ว่าวทองแห่งมลายู” ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนเชื้อสายมลายูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความเป็นมาของว่าวเบอร์อามัส มาจากในสมัยที่ศาสนาอิสลาม ยังไม่เข้ามาในดินแดนที่เป็นภาคใต้ตอนล่างของไทย ว่าวเบอร์อามัส คือของสูงที่มีแต่เฉพาะ กษัติริย์ผู้ปกครองดินแดนเท่านั้นที่สามารถครอบครองได้  แต่ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามเข้ามาในดินแดนภาคใต้ ว่าวเบอร์อามัส จึงถูกลืมเลือนไปช่วงหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีชาวมุสลิม ที่เห็นคุณค่าของว่าวเบอร์อามัส ได้นำมาฟื้นฟูขึ้นใหม่ แต่ปรับรูปแบบและลวดลายให้เข้ากับหลักศาสนา และกลายมาเป็นว่าวบูรงนิบงจนถึงทุกวันนี้

ผศ.นูรีดา จะปะกียา หัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมว่าวบูรงนิบง สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา มรภ.ยะลา  กล่าวว่า  โครงการวิจัยนี้ เป็นการสืบสาน ฟื้นฟู รักษา และต่อยอด ขยายผลองค์ความรู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจของลูกหลานคนมลายูสามจังหวัดชายแดนใต้ในการทำว่าว -นำเรื่องเล่าที่สูญหายในพื้นที่ ตลอดจนกรรมวิธีการทำว่าว ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ นำไปพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาจากรากทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และส่งต่อสู่ลูกหลานเป็นการสืบสานศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ โดยนำลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของว่าวบูรงนิบง  มาพัฒนาสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ เสื้อ กระเป๋า และอยู่ระหว่างดำเนินการขอจดสิทธิบัตร ขณะเดียวกันก็ผลักดันเทศกาลว่าวนานาชาติ ให้ยกระดับเทศกาลวัฒนธรรมประจำของจังหวัดยะลา เพื่้อความยั่งยืน

“โครงการวิจัยยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมว่าวบูรงนิบง สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลานี้ จะก่อเกิดผลลัพธ์หลายมิติ ทั้งการสร้างกลไกประชาคมเครือข่ายว่าวบูรงนิบง การเสริมพลังทุนทางวัฒนธรรม และสืบสานคุณค่าทุนทางวัฒนธรรม และเป็นรากฐานสำคัญในการการสร้างความมั่นคงแก่เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ “

ก่อนที่จะมาเป็นการวิจัยเพื่อให้ว่าวบูรงนิบง ให้กลายมาเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้  จริงๆแล้ว มรภ.ยะลา ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่เรื่องว่าวบูรงนิบง  แต่เป็นการทำวิจัย”ประเพณีแห่นก ” ของชาวยะลาที่มีขึ้นทุกปี เพราะการแห่นกเป็นประเพณียอดนิยม  มักมีในโอกาสเฉลิมฉลองต่างๆ หรือในงานพิธีมงคล เช่น การเข้าสุหนัต ของชาวมุสลิม   “นก” จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดยะลา มีอิทธิพล เกี่ยวข้องในทุกมิติในชีวิตผู้คน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ประเพณี ความเชื่อดั้งเดิม  จุดเริ่มต้นวิจัยจึงมุ่งหวังที่จะถอดมิติทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับนกโดยตรง

ผศ.นินุสรา มินทราศักดิ์

ผศ.นินุสรา มินทราศักดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.ยะลา หนึ่งในทีมวิจัยฯ ขยายความเกี่ยวกับที่มาของการวิจัยจาก”ประเพณีนก” มาสู่”ว่าวบูรงนิบง”ว่า  เริ่มแรกทุนวิจัยที่มรภ.ยะลาได้รับจากบพท. อยู่ในกลุ่ม“ธัชภูมิ” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆให้เกิดความภาคภูมิใจ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาจนเกิดเป็น”ตลาดวัฒนธรรม “สร้างงาน สร้างอาชีพ เกิดรายได้ให้หมุนเวียนในท้องถิ่นนั้นๆ  

จากการวิจัย “ประเพณีนก” ในปีแรก ที่ผลลัพธ์ออกมาดี  เพราะผลักดันทำให้เกิดตลาดวัฒนธรรมที่ชื่อว่า “ตลาดบุรงมาร์เก็ต “ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยคำว่า “บุรง” นั้นแปลว่า “นก” ซึ่งตลาดดังกล่าว ได้อาศัย”งานวิ่งยะลามาราธอน” ที่โด่งดังติดอันดับ 5 ระดับสากล ของงานวิ่งมาราธอน มาเป็นตัวดึงดูดคนจากภายนอกให้มารู้จัก”ตลาดบุรงมาร์เก็ต “

จาก”ตลาดบุรงมาร์เก็ต”ทำให้ทีมวิจัยคิดต่อยอดการวิจัยไปอีกขั้น ผศ.นินุสรา กล่าวว่า เรามองหาวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องนก ในที่สุดก็ไปมองเห็นว่า “ว่าว” ที่เวลาลอยขึ้นไปบนท้องฟ้ามีความคล้ายคลึงกับนก น่าจะเป็นโจทย์ใหม่ ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นพลังทางเศรษฐกิจได้

นอกจากนั้น ยังมีอีกเหตุผลก็คือทุกวันนี้ ปราชญ์ชาวบ้านที่ทำ “ว่าวบูรงนิบง “เหลือน้อยเต็มที หากไม่ฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมอาจจะสูญหายไป จึงควรสืบสานการทำว่าวบูรงฯให้กับคนรุ่นใหม่

การวิจัย “ว่าวบูรงนิบง” จึงเริ่มขึ้นในช่วง 3-4เดือนที่ผ่านมา และใช้งานมหกรรมว่าวยะลา เป็นตัวนำร่องโครงการ ซึ่งในกระบวนการวิจัยขั้นต่อไป  ผศ.นินุสรา บอกว่า จะเป็นการเริ่มรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ค้นหาอัตลักษณ์ของว่าวเบอร์อามัสก่อนมาเป็นว่าวบูรงนิบง และสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับว่าวบูรงนิบง ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน นักออกแบบลวดลาย นักผลิตของที่ระลึกในจังหวัด  นอกจากนั้น ยังจะจัดทำเวทีประชาคม เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อผลักดันให้ว่าวบูรงนิบง กลายเป็นทุนวัฒนธรรม “ที่กินได้”

งานมหกรรมว่าวนานาชาติที่ยะลา

“กระบวนการทำวิจัยว่าวบูรงนิบงนี้ เราทำสิ่งที่เรียกว่า เป็นการร่วมค้นหาตัวตนความเป็นยะลา ผ่านเรื่องราวว่าวบูรงนิบง ที่มีรูปลักษณ์เป็นนกเป็นรูปแบบเฉพาะของคนยะลาที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ และงานมหกรรมว่าวที่จัดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในการสร้างการรับรู้เรื่อง ว่าวบูรงนิบง ขึ้นอย่างเป็นทางการด้วย ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อให้ทุนวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ เป็นซอฟต์เพาเวอร์ ที่มีพลังสามารถยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นจริง จับต้องได้   ส่วนตัวคิดว่า นี่เป็นพลังส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดสันติสุขในพื้นที่แห่งนี้ได้ ”

การค้นหาลวดลาย และออกแบบว่าวบูรงนิบง ที่มีพื้นฐานตามภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการวิจัย อาจารย์ศฤงคาร กิติวินิต อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สังคมศาสตร์ มรภ.ยะลา หนึ่งในทีมวิจัย รับผิดขอบด้านการออกแบบลวดลายว่าวบูรงนิบงว่า บอกว่า การทำงานขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาสร้างลวดลายเฉพาะว่าวบูรงนิบง ข้อมูลที่เก็บมีทั้ง วัตถุ สิ่งของ เครื่องมือเช่นกริช พืชพันธุ์ ลายพรรณพฤกษา ไม้เลื้อย ใบไม้ ไม้ดอก ประเพณี คติความเชื่อ อาคาร บ้านเรือน ของชาวยะลาทั้งช่องลมลายเรขาคณิต ลายตัวอักษรมลายู ยาวี ทั้งหมดจะถูกนำมาประมวลเพื่อสร้างลายเฉพาะของยะลาขึ้นมา ก่อนออกมาเป็นลายว่าวบูรงนิบง

อาจารย์ศฤงคาร กิติวินิต

“ผมคิดว่างานวิจัยที่พวกเรากำลังทำคือซอฟต์พาวเวอร์ เราสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสื่อสาร สร้างการรับรู้ในแง่มุมต่างๆ ในสังคมได้ ลวดลายบนว่าวนี้ หากเป็นที่รู้จัก ก็จะสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป แต่ที่เราทำอยู่อาจจะไม่มีพลังเพียงพอ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าอาจต้องอาศัยคนที่มีพลัง เป็นผู้นำไปสื่อสารให้ เช่น ลิซ่าแบล็กพิงก์  หรือในแง่วงการภาพยนตร์ ค่ายหนังดังต่างๆ  หยิบเรื่องว่าวบูรงฯ ไปอยู่ในหนังของเขา ก็จะทำให้เป็นที่รู้จัก เกิดพลัง เกิดมูลค่า  จนเป็นสิ่งที่เรียกว่าซอฟต์ เพาเวอร์ได้จริงๆ”

ถึงแม้ทีมวิจัยจากมรภ.ยะลากำลังค้นลวดลายที่แท้จริงของว่าวบูรงนิบง แต่คนรุ่นใหม่อย่างอนุธิดา กาญจนานุชิต เจ้าของแบรนด์ YABULAN  ที่เป็นชาวยะลาโดยกำเนิด และเข้าร่วมในเครือข่ายการออกแบบลายว่าวบูรงนิบง ก็ได้ใช้อัตลักษณ์จากลายว่าวบูรงนิบง มาดีไซน์เป็นลายผ้า เพราะส่วนตัวมีความชื่นชอบลวดลายว่าวบูรงนิบง และเห็นว่าที่ผ่านมามีการใช้วัฒนธรรมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาออกแบบเป็นลายผ้ากันอยู่แล้ว จึงเกิดไอเดีย ที่จะนำลายจากว่าวบูรงนิบงมาเป็นลายผ้าในแบรนด์ของตนเอง

อนุธิดา กาญจนานุชิต เจ้าของแบรนด์ YABULAN  ที่นำลวดลายว่าวเบอร์อามัสมาเป็นต้นแบบลายผ้า

“จริงๆแล้วตอนเรียนดีไซน์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต หนูทำวิทยานิพนธ์ ก่อนจบโดยทำเรื่องลายผ้าที่มาจากว่าวบูรงนิบง  ซึ่งมีพื้นฐานมาจากว่าวเบอร์อามัส ซึ่งว่าวเบอร์อามัสมีจุดเด่น คือ เป็นว่าวที่ใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นโครงว่าวมากที่สุด เป็นว่าวชั้นสูงที่มีเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุณค่า และด้วยสีสันของตัวว่าวก็สวยมากมีความเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้วจึงนำมาต่อยอดในการออกแบบเครื่องแต่งกาย ในการทำแบรนด์YABULAN  จึงเป็นการนำสิ่งที่เราเคยศึกษาทำวิทยานิพนธ์มาเป็นธุรกิจ เพราะส่วนใหญ่ที่เรียนกันมา ก็ไม่ค่อยมีคนเอางานที่เขียนหรือศึกษามาทำเป็นธุรกิจตัวเอง”

ปัจจุบันแบรนด์YABULANมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหรับ และคนไทย อนุธิดา บอกว่าเมื่อนำไปแสดงตามที่ต่างๆ จะได้รับการตอบรับดีมาก และมีออเดอร์เข้ามาจนทำไม่ทัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะลายผ้าที่มาจากว่าวบูรงนิบง มีความเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากลายอื่นๆ.

   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คึกคัก! ชาวเบตงแห่ประมูลทรัพย์สินหลุดจำนำ เน้นทองรูปพรรณ

ที่สถานธนานุบาลเทศบาลเมืองเบตง หรือโรงรับจำนำ อ.เบตง จ.ยะลาในวันนี้มีการนำของหลุดจำนำหลายรายการเพื่อนำมาประมูลในราคากลาง โดยมีประชาชนในพื้นที่และจากพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมประมูลเป็นจำนวนมาก

ตรวจเข้ม! แรงงานไทยแห่กลับจากมาเลย์ ฉลองวันฮารีรายอ

ชาวไทยมุสลิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งได้เดินทางข้ามแดนไปขายแรงงานตามเมืองต่างๆ ของมาเลเซีย ได้ทยอยเดินทางกลับบ้าน

เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 17 พร้อมจัดยิ่งใหญ่ ศรัทธา-ศิลป์-แผ่นดินหนังใหญ่ ร่วมใจสู่มรดกโลก

ที่สุดงานวัฒนธรรมแห่งปี .. “เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 17” รวบรวมศิลปะการแสดง หนังใหญ่วัดขนอน “ โขน มโนรา (มโนราห์) และวันสงกรานต์ไทย” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เป็นมรดก

ระเบิดตูมสนั่น อาคารเก็บวัตถุพยานฯ จังหวัดยะลา

เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้น ที่คลังเก็บวัตถุพยาน ศูนย์ฝึกอบรมทางยุทธวิธี ศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) บ้านบูเกะคละ อำเภอเมือง จังหวัด