งานวิจัยชี้ชัดประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงลำดับต้นๆ ของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูร้อนที่ผ่านมาหลายภาคของไทยเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ไหว หลายพื้นทื่เจอกับภาวะร้อนและแล้งยาวมาแล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เจอฝนถล่มหนักระยะสั้นๆ ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม บางเมืองถูกตัดขาด แสดงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น การเตรียมรับมือสภาพอากาศที่แปรปรวนและสุดขั้วในพื้นที่เมืองหรือพื้นที่เสี่ยงยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกหน่วยงาน และคนในชุมชนต้องร่วมกันวิเคราะห์วางแผนป้องกัน
จากเวที ”เมือง (ไม่) รู้ร้อนรู้หนาวกับชุมชนเมืองในยุคโลกเดือด” นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติ และชุมชน ภาคประชาสังคม ร่วมระดมสมองหาแนวทางการนำสู่การเตรียมความพร้อม รับมือ ปรับตัว อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม (People-centred urban climate resilience and adaptation) ภายใต้โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป กิจกรรมจัดที่โรงแรมเดอะคอนวีเนี่ยน ขอนแก่น จ.ขอนแก่น เมื่อวันก่อน
ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ผอ.โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง กล่าวว่า โครงการเปลี่ยนแปลงเมืองนี้โจทย์ใหญ่ทำให้ภาคประชาสังคมไทยมีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องเมืองและสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานใน 2 ภูมิภาค ภาคใต้-ภาคอีสาน ภายใต้ 12 เมืองย่อยนำร่อง เช่น สงขลา พัทลุง สตูล ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ฯลฯเป้าหมายสร้างศักยภาพภาคประชาสังคม โดยทำงานร่วมกับภาควิชาการและภาครัฐ เหตุที่เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ คำว่า”เมือง” ไม่ใช่แค่พื้นที่เทศบาลนคร แต่เป็นเรื่องกระบวนการกลายเป็นเมือง เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่สีเขียว พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่เกษตร ให้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่อาศัย ถนน โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งจากนโยบายรัฐและภาคธุรกิจ ประชากรอพยพมาอยู่ในเมืองใหญ่มากขึ้น การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นธรรมและเท่าเทียม จำเป็น ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว เห็นผลกระทบชัดเจน จะเตรียมความพร้อมอย่างไร ไม่ใช่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบมากกว่า เราใช้เวลา 5 ปี คลี่คลายประเด็นการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริบทแต่ละพื้นที่ต่างกัน ปัญหาที่มีต่างกัน
“ หากชุมชนมีศักยภาพและเข้าใจปัญหาต่างๆ ของเมือง มีศักยภาพในการปรับตัว และเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จะทำอย่างไรให้แต่ละชุมชนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราเน้นการเรียนรู้ร่วมกันช่วยสร้างศักยภาพ สร้างนโยบายที่ดีขึ้น ตลอดจนการตัดสินใจที่ดีขึ้นควบคู่กับการใช้ข้อมูลองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสานองค์ความรู้ของท้องถิ่น ที่ผ่านมาเราประเมินความเปราะบางชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การวางแผน รับมือ ปรับตัว ยึดหลักให้ชุมชนภาคประชาสังคมเก็บข้อมูลเอง มีข้อมูลระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และเชิงลึก เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงเมืองในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต “ ดร.ผกามาศ กล่าว
ผอ.โครงการคนเดิมย้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นที่ประจักษ์ ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนน้อย น้ำท่วม ดินถล่ม ภัยพิบัติต่างๆ เชื่อมโยงสภาพภูมิอากาศ เหตุการณ์สุดขั้วอย่างปี 66 ที่นราธิวาส-ยะลา ฝนตกหนักระดับ 600 มิลลิเมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน เกิดน้ำท่วมหนัก แสดงถึงความไม่ปกติ ไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยากขึ้น ชุมชนต้องเตรียมตัว อากาศเปลี่ยน เมืองก็เปลี่ยน ปัจจุบันเมืองต่างๆ ในไทย มีแนวโน้มเหมือนกรุงเทพมหานคร การพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง ผังเมืองหมดอายุ ส่งผลปัญหาซับซ้อนแก้ยาก และจะแก้อย่างไรให้ลดเหลื่อมล้ำ
สถานการณ์ระดับโลกเร่งให้ชุมชนต้องเตรียมความพร้อม ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า เมื่อ 5 ปีก่อนในประเทศไทยไม่มีคนสนใจเรื่องความเปราะบางของเมือง ทั้งที่เป็นประเทศที่อยู่ในความเสี่ยงมาก โลกมีใบเดียวแต่มนุษย์ใช้ทรัพยากรของโลกไปแล้วเทียบเท่า 1.7 ใบ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ รัสเซีย ส่วนไทยใช้ทรัพยากรแล้ว 85% เหลืออีก 15% โลกเผชิญกับคลื่น 4 ลูก คลื่นลูกแรก การระบาดของโควิด คลื่นลูกที่ 2 ความล่มสลายทางเศรษฐกิจ คลื่นลูกที่ 3 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าเราไม่สามารถลดขนาดของคลื่นลูกนี้ลงได้ ผลที่ตามมาคือความล่มสลายทางความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะล่มสลาย โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม ระบบนิเวศ สัตว์ต่างๆ ถูกทำลาย ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม จากการประชุมอีโคโนมิคฟอรัม ซึ่งมีนักธุรกิจระดับโลกมาประชุมชี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกใน 10 ปีข้างหน้า วิเคราะห์เรื่องสำคัญ แยกเป็น 1.การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้จะมีการพูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่โลกคงไปไม่ถึงจุดนั้น 2.การปรับตัว เราจะอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้อย่างไร 3. สภาพภูมิอากาศที่เราได้ประสบแล้วในปีที่แล้ว อากาศร้อนมาก หนาวมาก ถ้าติดตามข่าวขณะนี้คนอิสลามที่ไปร่วมพิธีฮัจญที่ซาอุดิอาระเบียเสียชีวิตกว่า 1,300 คน เพราะอุณหภูมิสูงถึง 51องศาเซลเซียล ประเด็นที่ 4.ความล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ ประเด็นเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญ ขณะนี้คือยุคโลกเดือด ไม่ใช่ยุคโลกร้อน
ดร.วิจารย์ กล่าวต่อว่า ในความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement จะเริ่มต้นควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส แต่ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นที่ 1.5 องศาเซลเซียส เป็นเรื่องน่ากลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าอุณหภูมิเพิ่มถึง 2 องศาเซลเซียล ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก พบว่าอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2 องศาฯโดยเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี ค.ศ.1900 จนถึงปัจจุบัน บางช่วงบางเวลาเพิ่มเป็น 1.5 องศาด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ จึงต้องมาพูดกันเรื่องการปรับตัว โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะอยู่ได้อย่างไร
“ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นระดับ 3-4 มิลลิเมตรต่อปี น้ำแข็งทั่วโลกละลายปีละ 400 ล้านตัน สูงมาก มีนกเพนกวินตาย เพราะน้ำแข็งละลาย หรือหมีขั้วโลกไร้ที่อยู่ บ่งบอกว่า น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อไทย ”
เหตุที่ชุมชนต้องตื่นตัวโลกเดือด แม้ไทยเป็นตัวการ ทำให้เกิดโลกร้อนไม่ถึง 1% หรือปล่อยก๊าซลำดับที่ 20 ของโลก เพราะไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่ได้รับผลกระทบ ดร.วิจารย์ ระบุประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 คือ จีน สหรัฐ กลุ่มประเทศอียู รัสเซีย อินเดีย แต่ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญ ขณะที่เมียนมาร์ได้รับผลกระทบลำดับ 2 ระหว่างอุณหภูมิที่ต่างกันแค่ครึ่งองศา คนที่ได้รับผลกระทบจะแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเผชิญกับน้ำท่วม น้ำแล้ง ขณะที่ผลกระทบต่อแมลง ต่อพืช มีค่อนข้างสูง อุณหภูมิที่ต่างกัน 0.5 องศา จากผลกระทบแค่ 6% จะเพิ่มเป็น 18 % ฉะนั้นพืชเกษตรที่เราปลูก แมลงที่ช่วยผสมเกสรหรือกำจัดศัตรูพืชจะหายไป พืชจะเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ เช่นเดียวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะปะการัง ถ้าอุณหภูมิสูงถึง 1.5 องศา จะได้รับผลกระทบ10% ถ้าอุณหภูมิ 2-3 องศา ได้รับผลกระทบ 59% ปีนี้เกิดปะการังฟอกขาวรุนแรงในอ่าวไทย ต่อไปปะการังอาจจะเป็นแค่เรื่องเล่าเท่านั้น
“ ขณะนี้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า แต่ที่สุดแล้วในอีก 2 ปีข้างหน้าไทยจะปล่อยคาร์บอน 388 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในขณะเดียวเราจะปรับตัวได้อย่างไรในฐานะที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ต้องเตรียมการหาพันธุ์ข้าวที่ทนภัยแล้ง ทนน้ำท่วม เครือข่ายชุมชนต้องมองเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปรับตัว ประเทศไทยจะเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065 และจะเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 “ ดร.วิจารย์ กล่าว
อีสานเตรียมความพร้อมและเริ่มหาทางรับมือโลกเดือด ศ.ดร.บัวพัน พรหมพักพิง ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชน และสาธารณะประโยชน์ คณะมนุษย์ศาสตร์ฯ ม.ขอนแก่นกล่าวว่า ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เป็นเมืองเกิดขึ้นตามมิตรภาพ มีการพัฒนาเมืองด้วยเส้นทางรถไฟ สร้างถนนมิตรภาพ ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ปัจจุบันมีโครงการรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง เมืองจะยิ่งเติบโตและมีรายได้สูง บนความเสี่ยงนี้เราขับเคลื่อนภาคประชาสังคมเปิดเวทีล้อมวงพูดคุยกัน ประเมินความเปราะบางโดยชวนผู้นำและหน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น มาประเมินปัญหาของชุมชน ทำแบบสำรวจครัวเรือน และสร้างยุทธศาสตร์นำร่อง อย่างสภาพความเปราะบางของเมืองขอนแก่นมีปัญหาที่อยู่อาศัย ผลกระทบจากโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ นำไปสู่การหาที่อยู่อาศัยใหม่ ต้องปรับตัวหาอาชีพใหม่ และรายล้อมด้วยปัญหาของเมือง ฝนตกน้ำท่วม พื้นที่ริมทางรองรับการระบายน้ำของตัวเมือง ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ก็เตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วม
“ กรณีเมืองหนองสำโรง จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ นำมาพัฒนาเป็นโซนบ้านจัดสรร ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน การพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ถมที่ดินสูงทำให้เมื่อฝนตกท่วมชุมชมเดิม เกิดความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันเมืองหนองสำโรงกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังและแหล่งเสื่อมโทรม จึงร่วมกันแสวงหาทางออก เตรียมป้องกันน้ำท่วม ยังไม่พูดถึงเมืองเกิดใหม่ที่ขาดโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดน้ำเสีย แต่ก็ยังสามารถแก้ปัญหาได้ โดยใช้กลไกภาคประชาสังคมร่วมพัฒนาเมือง ขณะที่ อ.สะใคร จ.หนองคาย รัฐบาลชี้ตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย นำพื้นที่ป่าชุมชนเปลี่ยนสถานะเป็นพื้นที่โครงการดังกล่าว การพัฒนาเมืองแบบนี้จะเปลี่ยนแปลงชุมชนอย่างแน่นอน เราชวนชาวบ้านที่เริ่มตื่นตัว วางแผนหากเมืองใหม่เกิดขึ้นจะปรับตัวอย่างไร แต่กลับถูกกล่าวหาว่าต่อต้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ แท้จริงเป็นการเตรียมความพร้อม ป้องกันความเสียหายทั้งนิเวศและชุมชน “ ศ.ดร.บัวพัน สะท้อนภาพเมืองอีสานร่วมกันวางแผนรับมือจริงจัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าประมาท! ดร.ปลอดฯ แนะโลกร้อน อุทกภัยมีแต่รุนแรงขึ้น ไทยต้องคิดแบบมีองค์ความรู้
เราอยู่ในยุคโลกร้อน และก็อาจจะอยู่ไปเป็นเวลาร้อยๆปีก็ได้ สิ่งที่จะ เกิดกับประเทศไทยและคนไทยจะมีแต่มากยิ่งขึ้น รุนแรงขึ้น
'ดร.ธรณ์' ชี้อากาศแปรปรวนหนัก ภาคใต้ไม่มีพายุ แต่ปริมาณน้ำฝนเทียบเท่า 'ไต้ฝุ่น'
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โ
ดร.ธรณ์ ชี้โลกร้อนฆ่าพะยูน ตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว แนะไทยควรพูดใน COP29
ในอดีตพะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ตัว ปัจจุบัน (2566-67) พะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว
'ดร.ธรณ์' ชี้มหาพายุเฮอริเคน 'มินตัน' สภาพอากาศสุดขั้ว คนอเมริกานับล้านต้องอพยพหนี
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์
เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้าม
พายุเข้ามาที่ชายฝั่งเวียดนาม 'ดร.ธรณ์' แนะหน่วยงานในพื้นที่เตรียมตัวแจ้งเตือนหากฉุกเฉิน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า