ภาคเหนือเผชิญอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย น้ำท่วมตัวเมือง มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำแห้งแล้วแต่ประชาชนยังจมโคลนจมฝุ่นต้องการการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากปัญหาที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ตามบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่างๆ
นอกจากเชียงรายเชียงใหม่ ขณะนี้มีหลายจังหวัดจมบาดาลและอีกหลายจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงน้ำท่วม จำเป็นต้องมีการเตือนภัยพิบัติให้ตรงจุด และเตรียมความพร้อมในการรับมือ แก้ปัญหาอย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติ เพื่อหาทางออกให้สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ ที่บูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการในการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น สามารถชี้จุด คาดคะเน และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมแก่ผู้ประสบอุทกภัยและแนวดินถล่มจากน้ำท่วมในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ
แพลตฟอร์มจุฬาฝ่าพิบัติ: ดิจิทัลวอร์รูม (Chula Disaster Soluion Network: Digital War Room) ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1 ระบบการเตือนภัยและขอความช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงตำแหน่ง ด้วยการบูรณาการแผนที่ภูมิสารสนเทศ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่มีความอ่อนไหวได้อย่างแม่นยำ และให้คำอธิบายประกอบจากผู้เชี่ยวชาญในวอร์รูม ส่วนที่ 2 ระบบการจัดสรรทรัพยากรให้ตรงตามความต้องการ ทั่วถึงและทันท่วงที ส่วนที่ 3 ระบบการถอดบทเรียนและสร้างการเรียนรู้ ตั้งแต่เรื่องการเตือนภัย การกู้ภัย การขนย้ายและอพยพ การบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟูหลังพิบัติ จนถึงการที่จะเยียวยาธรรมชาติในระยะยาว โดยอาศัยองค์ความรู้จากศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในจุฬาฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย นวัตกรรมพัฒนาขึ้นโดย ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันนำไปเสริมการช่วยเหลือในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ
รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ผู้รักษาการรองอธิการบดี จุฬาฯกล่าวว่า จุฬาฝ่าพิบัติ : ดิจิทัลวอร์รูม ออกแบบระบบจัดการภัยพิบัติอย่างครบวงจรเพื่อลดความสูญเสียและไม่ให้ประชาชนเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย สามารถเตือนภัยในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ ทั้งสันเนิน แนวร่องน้ำต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยง เช่น แนวร่องตัดกับถนน ที่อาจทำถนนขาดหรือน้ำท่วมถนน แนวเนินที่ตัดกับถนนจะเป็นจุดอพยพเคลื่อนย้ายยามจำเป็น การแจ้งเตือนอย่างเฉพาะเจาะจง เป็นสิ่งที่ขาดอยู่ในปัจจุบัน ขณะเกิดภัย การขอความช่วยเหลือจากจุดต่างๆ ในพื้นที่อย่างเป็นระบบและแม่นยำ ชี้แนะจุดอพยพที่ใกล้ที่สุด เพราะเมื่อเกิดเหตุผู้ประสบภัยมีความตื่นกลัวและขาดคำแนะนำ ทรัพยากรที่ถูกระดมไปช่วยเหลือทั่วถึงและทันท่วงที และหลังเกิดภัย การฟื้นฟูชีวิตจิตใจ กายภาพ อาชีพ เพื่อลดความสูญเสียและไม่ให้ประชาชนเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง แม้กระทั่งถอดบทเรียนเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้รับมือกับภัยพิบัติที่จะถี่ขึ้น การช่วยเหลือเชิงบูรณาการที่จะต่อจิ๊กซอทุกตัวเพื่อให้การจัดการภัยพิบัติมีประสิทธิภาพที่สุด เราพร้อมจับมือเพื่อให้แพลตฟอร์มนี้เป็นที่พึ่งของสังคม
ศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา กล่าวว่าแพลตฟอร์ม Chula Disaster Soluion Network : Digital War Room ยึดมาตรฐานสากล เตรียมพร้อม ป้องกัน เผชิญหน้ากับภัยพิบัติโดยสูญเสียน้อยที่สุด เมื่อภัยพิบัติเกิดแล้วการเยียวยาและการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติครั้งต่อไป เมื่อเกิดภัยพิบัติต้องกางแผนที่ สำรวจระดับน้ำ ปริมาณน้ำ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้มีแผนที่เกือบจะเป็นเรียลไทม์ มีการกำหนดจุดเป็นสีต่างๆ กรณีจุดสีแดงจะเปิด Digital War Room โดยมีนักวิจัยจุฬาฯ ในสาขาต่างๆ เครือข่ายผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันในรูปแบบดิจิทัลวอร์รูม เมื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนที่จุดเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยและการแจ้งเตือนว่าจะเกิดเหตุ ระบบแผนที่ทางภูมิศาสตร์ในแพลตฟอร์มที่มีรายละเอียดเฉพาะเจาะจงจะเป็นประโยชน์ในการอพยพและการเตือนภัยในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ในดิจิทัลวอร์รูมจะมีการสื่อสารถึงคนในพื้นที่ที่สามารถโต้ตอบกันได้โดยตรงเพื่อประสานขอความช่วยเหลือในด้าน ต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย อาสาสมัครจะลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ และส่งเข้ามาที่วอร์รูม มีคลังเสบียงที่บริหารจัดการให้ตรงกับพื้นที่ แม้แต่การบริจาคสิ่งของจัดสรรให้ถูกต้องเหมาะสมตามพื้นที่
“ แพลตฟอร์มนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงแผนที่ได้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนอกจากเชิญผู้ให้และผู้รับมาร่วมกันและจัดการอย่างเป็นระบบ มองตรงประเด็นปัญหา เชื่อมโยงสู่การบรรเทาทุกข์ Forward ไปสู่ข้างหน้าเป็นบทเรียนที่เกิดเป็นองค์ความรู้แก่สังคม แพลตฟอร์มนี้ผู้เกี่ยวข้องเป็นเครือข่ายทางสังคม เป็นกลุ่มประชากรจิตอาสา “ ศ.ดร.ใจทิพย์ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ กล่าวว่า แพลตฟอร์มจุฬาฝ่าพิบัติ : ดิจิทัลวอร์รูม ปัจจุบันเน้นรับมือน้ำท่วม แต่อนาคตอันใกล้มีแผนจะจัดทำชุดข้อมูลเพิ่มให้ครอบคลุมทุกภัยมากที่สุด เพื่อสื่อสารและเตือนภัยพิบัติแผ่นดินไหว ภัยพิบัติสึนามิ หลุมยุบ พื้นที่เสี่ยงจะถูกแขวนไว้ในแพลตฟอร์มนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้เพื่อเลือกตั้งถิ่นฐานหรือย้ายที่อยู่ ข้อมูลมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยที่สุด ซึ่งข้อมูลภูมิประเทศที่ใช้ในการเตือนภัยในแพลตฟอร์มนี้แบ่งออกเป็นชุดข้อมูลเตือนภัยดินโคลนไหลหลากและน้ำป่า ประกอบด้วยตำแหน่งรูรั่วของมวลน้ำจากภูเขาสูงที่ราบ แนวไหลหลากของมวลน้ำ หมู่บ้านที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติดินโคลนไหลหลาก และชุดข้อมูลเตือนภัยน้ำท่วม ประกอบด้วยแนวร่อง ในภาวะปกติแห้ง แต่หากฝนตกน้ำจะไหลมารวมกัน รวมถึงแนวเนินถ้าฝนตกหนัก น้ำจะไหลออกจากแนวนี้ จุดเสี่ยงถนนขาด และจุดแนะนำในการอพยพ กรณีแม่สาย มีแนวรูรั่วจากภูเขา จากการใช้งาน
“ มีแนวน้ำหลากจากภาคเหนือในกรณีที่น้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนในกรณีที่คันดินกั้นน้ำแตก เราจะได้ยินข่าวคันดินแตก น้ำจะท่วมตรงนั้นตรงนี้ ขณะนี้จุฬาฯ มีข้อมูลคันดินแตกตรงไหน น้ำจะไหลไปทิศทางไหน ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ของแม่น้ำสายหลัก ข้อมูลทั้งหมดนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศไทย แพลตฟอร์มนี้ทดลองใช้ในพื้นที่ภาคเหนือมาแล้ว 1 เดือน “ ศ.ดร.สันติ กล่าว
นักวิจัยผู้พัฒนาแพลตฟอร์มจุฬาฝ่าพิบัติ : ดิจิทัลวอร์รูม ย้ำนวัตกรรมนี้จะทำให้ไทยรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมในอนาคตได้ ภัยที่มากับฝนตกหนักไม่ได้มีแค่น้ำท่วมสูง แต่ยังมีดินถล่ม ดินโคลนไหลหลาก นวัตกรรมหรือชุดข้อมูลที่จัดทำขึ้นจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ว่า มีโอกาสได้รับภัยอะไรบ้าง หนักเบาแค่ไหน เตือนภัยส่งข่าวชุมชนนี้ต้องอพยพ หมู่บ้านใกล้เคียงที่เสี่ยงน้ำท่วม จากข้อมูลประชาชนจะรู้ตัวและเตรียมรับมือ รวมทั้งหากภาครัฐมีนโยบายหรือแนวทางการอพยพที่มีประสิทธิผล จะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
'แพทองธาร' ลุยสันกำแพง ติดตามแก้น้ำท่วม ชาวบ้านชูเป็นกัปตันซอฟต์พาวเวอร์
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และโครงการสำคัญที่กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี
'ภูมิธรรม' เตรียมเสนอแผนแก้น้ำท่วมดินโคลนถล่มภาคเหนือ เข้าครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 4/2567 โดยมีนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ศปช. ยันพายุหยินซิ่งไม่เข้าไทย แจงข่าวน้ำท่วมแม่สายอีกรอบเป็นเฟกนิวส์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก