สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค รวบรวม 493 รายชื่อยื่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบกรุงเทพมหานคร จัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ละเมิดสิทธิประชาชน และขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ยุติการจัดทำร่างผังเมืองรวม
6 พ.ย.2567-จากกรณีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดรับฟังความคิดเห็นและอยู่ระหว่างการประกาศคัดค้าน แต่มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังขาดการรับรู้และมีส่วนร่วมในร่างผังเมืองฯ อย่างแท้จริง อีกทั้งการวางและจัดทำผังเมืองจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 (2) พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 9 และตามธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง พ.ศ. 2566 ซึ่งคำนึงถึงสิทธิของประชาชนและสิทธิของผู้บริโภคสากลที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรอง ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วมและแสดงข้อคิดเห็นในความเดือดร้อนและความต้องการของตนเองในฐานะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ สิทธิที่จะได้ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สิทธิที่จะได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการเลือกและตัดสินใจ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิ
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 สภาผู้บริโภค ร่วมกับตัวแทนกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) กว่า 50 คนได้นำรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ 493 รายชื่อเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีนางสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวกรุงเทพมหานครที่ได้รับผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยได้รวบรวมรายชื่อกว่า 493 รายชื่อมายื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำเนื่องจากเราพบว่ากรุงเทพมหานครดำเนินการละเมิดสิทธิของชุมชน โดยขอให้ตรวจสอบการดำเนินการว่าละเมิดสิทธิของประชาชน พร้อมให้ทบทวนการจัดทำร่างผังเมืองดังกล่าวใหม่ โดยขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ทำการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทบทวนการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน
“เราพบว่ากรุงเทพมหานครจัดทำผังเมืองรวมฯละเมิดสิทธิของชุมชนในหลายประเด็น อาทิ กฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ แต่ กทม.ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้รับฟังปัญหาก่อนว่าประชาชน มีปัญหาอะไรกับการใช้ผังเมือเดิมหรือไม่ ทั้งในเรื่องน้ำท่วม การก่อสร้างอาคารสูงหรือไม่ หรือสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่าน เพื่อนำเอาความคิดเห็นและปัญหาความต้องการดังกล่าวมาออกแบบผังเมืองใหม่ให้ใช้ประโยชน์ร่วม แต่ กทม. ติดกระดุมผิดเม็ดทำผิดขั้นตอน โดยนำร่างผังเมืองใหม่ฯ มาอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพจำยอมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และ ไม่มีโอกาส หรือมีส่วนร่วมรับรู้ผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงมาตรการอย่างไรในการเยียวยาแก้ไขอย่างไร จึงขอให้กรรมการสิทธิ์ตรวจสอบเพื่อให้ยุติการดำเนินการ”นายอิฐบูรณ์
นางสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯ รับเรื่องร้องเรียนและจะนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยส่งให้คณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อพิจารณาว่าการร่างผังเมืองรวม กทม. ที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ แต่จากการฟังปัญหาเบื้องต้นพบว่ามีหลายประเด็นที่เข้าข่ายโดยเฉพาะเรื่องของ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิการมีส่วนร่วม เพราะประชาชนที่มาส่วนใหญ่บอกว่าไม่รับรู้ถึงการดำเนินการ และเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าองค์ประกอบการละเมิดสิทธิของประชาชนจริงเราจะเสนอไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อให้พิจารณาต่อไป
นายทวีทอง ลาดทอง ผู้แทนประชาชนจากเขตคลองเตย และสภาชุมชนคลองเตย กล่าวว่า ชาวชุมชนคลองเตยทั้งหมด 26 ชุมชนมีประชากร 1 แสนคน ได้รับผลกระทบจากผังเมืองรวมเนื่องจาก เดิมพื้นที่ชุมชนคลองเตยเป็นสีน้ำตาลหมายถึงที่อยู่อาศัย แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และสีแดง ซึ่งหมายถึงพื้นที่พาณิชย์ และพื้นที่ราชการ ทำให้ชาวคลองเตยกังวลว่าจะถูกขับไล่หรือไม่ จึงได้เรียกร้องขอพื้นที่ 20 %จากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยเพียงแค่ 515 ไร่จากจำนวน 2,455 ไร่ จึงขอให้กรรมการสิทธิมนุษย์ช่วยตรวจสอบและให้กรุงเทพมหานครช่วยทวบทวนการจัดทำผังเมืองรวมฯ
ทั้งนี้ที่ผ่านสภาผู้บริโภคได้ติดตามกระบวนการจัดทำร่างดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีหลายกระบวนการที่อาจจะมีปัญหาละเมิดสิทธิของชุมชนและขัดต่อการดำเนินการตามกฎหมาย จึงจัดทำ “รายงานข้อเท็จจริงการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)” โดยพบปัญหาดังนี้
1.ปัญหากระบวนการรับฟังความเห็น ปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการประชาสัมพันธ์อย่างไม่ทั่วถึง กว้างขวาง เพียงพอ และไม่มีข้อมูลความละเอียด ว่า “ผลกระทบ”และแนวทางเยียวยาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ที่เดือดร้อน เสียหายจากผังเมืองดังกล่าวซึ่งเป็นสาระเงื่อนไขสำคัญที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่ต้องชี้แจงรายละเอียด ผลกระทบ และมาตรการเยียวยากับชุมชน
2.ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เคยทราบเรื่องการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มาก่อน และไม่สามารถเข้าใจในเนื้อหาได้เลย โดยเฉพาะเนื้อหาผลกระทบเรื่องการขยายถนน การตัดถนนใหม่ 148 เส้นและผังแสดงผังน้ำ ที่มีการขยายคลองระบายน้ำ การขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 200 คลองรวมไปถึงการวางแนวอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงเรื่องการเวนคืนที่ดินจากประชาชน
3.การชี้แจงเนื้อหาการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการสะท้อนถึง “ผลกระทบ” ที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในทุกมิติ กล่าวถึงเพียงการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาการคมนาคม การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่มุ่งให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ การลงทุนของกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชน
4.มาตรา 72 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า รัฐต้องจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพรวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ มิได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหา สอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างระบบคมนาคม หรือระบบระบายน้ำ การเปลี่ยนสีของผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
5.การดำเนินการวางเส้นการตัดถนน เพื่อการคมนาคมหรือขนส่ง อาจขัดต่อ มาตรา 37 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง แต่การทำผังเมืองรวมที่ระบุแนวการขยายถนน หรือการตัดถนนใหม่ กว่า 148 สาย ระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร ,แผนผังแสดงผังน้ำ ที่มีการวางแนวการขยายคลอง ตัดคลอง หรือทำอุโมงค์ระบายน้ำใหม่ กว่า 200 สาย ที่ส่งผลไปถึงเรื่องการเวนคืนที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีการระบุระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดแจ้ง
6.ขัดต่อ มาตรา 41 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่ แต่พบว่ามีประชาชนเพียง 21,776 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จากประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 5,471,588 คน หรือคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.4 ของประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) จาก22 ขั้นตอน แต่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนเหลือ 18 ขั้นตอนโดยประชาชนไม่ทราบมาก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนกรุงอ่วม! สภาพอากาศมีผลกระทบสุขภาพถึง 33 พื้นที่
เพจกรุงเทพมหานคร โพสต์กราฟฟิกพร้อมเนื้อหา
ฝุ่น PM 2.5 กทม. แนวโน้มลดลง เกินค่ามาตรฐานเหลือ 15 พื้นที่ อยู่ฝั่งธนบุรีเป็นส่วนมาก
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร
คนกรุงเทพฯ สำลักฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม 63 พื้นที่
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ณ เวลา 07.00 น. : ตรวจวัดได้ 34.3-74.3 มคก./ลบ.ม. พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 63 พื้นที่ คือ
นักวิชาการ เตือนคนกรุงฝุ่น PM 2.5 สูงมาก อากาศข้างนอกเย็นสบาย แต่ออกไปอาจป่วยตายได้
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า กรุงเทพฯช่วงนี้ อากาศข้างนอกเย็นสบายแต่ออกไปอาจป่วยตายได้..
ขอเชิญชาวกรุงเทพมหานคร ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ฟรี ทั่วเขตกรุงเทพมหานคร
ขอเชิญชาวกรุงเทพมหานคร ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ฟรี ทั่วเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีการออกให้บริการดังนี้
เปิด 5 เขตพื้นที่ มีฝุ่น PM2.5 สูงสุด ในกรุงเทพมหานคร
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร