เคาะแผนซื้อยาสู้โควิดใหม่

ยอดติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่า 2 หมื่น ดับ 70 ราย "ครม." อนุมัติ 3.45 หมื่นล้าน ให้ สปสช.จ่ายสถานพยาบาลค่าบริการสาธารณสุขโควิด ช่วงเดือน ธ.ค.64-ก.พ.65 พร้อมปรับแผนสำรองยารับมือโควิดรอบใหม่ จาก "โมลนูพิราเวียร์" เป็น "ฟาวิพิราเวียร์-เรมเดซิเวียร์" นายกฯ พอใจเจอแจกจบได้ผล "สธ." ห่วงผู้สูงอายุเสียชีวิตเยอะ เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่ม 608

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,742 ราย ติดเชื้อในประเทศ 19,636 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19,392 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 244 ราย เรือนจำ 54 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 52 ราย หายป่วยเพิ่ม 24,125 ราย อยู่ระหว่างรักษา 221,436 ราย อาการหนัก 1,390 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 476 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 70 ราย เป็นชาย 38 ราย หญิง 32 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 56 ราย มีโรคเรื้อรัง 12 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,226,697 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,981,413 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 23,848 ราย ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 14 มี.ค. 109,592 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 126,267,971 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 460,150,698 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,067,554 ราย 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,904 ราย, นครศรีธรรมราช 1,235 ราย, ชลบุรี 888 ราย,  สมุทรปราการ 814 ราย, สมุทรสาคร 593 ราย, พระนครศรีอยุธยา 574 ราย, นครราชสีมา 569 ราย, นนทบุรี 541 ราย, นครปฐม 464 ราย และปทุมธานี 446 ราย

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2565 รอบที่ 2 วงเงิน 34,528 ล้านบาท ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นค่าบริการสาธารณสุขโรคโควิด-19 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องของหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการแล้วระหว่างเดือน ธ.ค.2564-ก.พ.2565 โดยใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในไทย  หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนและผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สปสช.ประมาณการค่าบริการสาธารณสุขในช่วงเดือน มี.ค.-ก.ย.2565 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ UCEP Plus และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการให้สอดคล้องกับการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจริง และเร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ UCEP Plus ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 16 มี.ค.นี้

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดหาเวชภัณฑ์ยาและขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อโควิด ระยะการระบาดระลอกเม.ย.2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่ สธ.เสนอ โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาจากยา Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ตามโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ฯ 50,000 โดส เป็นยา Favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์) จำนวน 17,065,457 เม็ด และยา Remdesivir (เรมเดซิเวียร์) จำนวน 5,166 Vial (ขวด) 
ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (CPG COVID-19) กำหนดให้ยา Favipiravir เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ทั้งที่ไม่มีอาการปอดอักเสบหรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย โดยมีอัตราการใช้ยาร้อยละ 87 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด และสำหรับยา Remdesivir ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีข้อห้ามในการใช้ยา Favipiravir โดยมีอัตราการใช้ยาร้อยละ 2 ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด

พร้อมทั้งปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ และขยายระยะเวลาการดำเนินการตามโครงการ จากเดิมระยะเวลาดำเนินการ ต.ค.-ธ.ค.2564 เป็น ต.ค.2564-ก.ย. 2565

ปรับแผนสำรองยาสู้โควิด

 “สธ.เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิดยังคงมีความต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องสำรองยาดังกล่าวไว้ให้เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย รวมถึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการ เพื่อให้ สธ.สามารถจัดหาเวชภัณฑ์ยาเพื่อดูแลดูแลประชาชนได้ตามแผนงานและสอดคล้องกับเวชปฏิบัติในปัจจุบัน” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยได้รับรายงานการเพิ่มระบบการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัว หรือเจอ แจก จบ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าสู่ระบบการรักษาสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นมา ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวก ได้เข้าถึงบริการครอบคลุมมากขึ้น

 "ประชาชนที่มีผลตรวจ ATK ด้วยตนเองเป็นบวก สามารถเข้าไปรับบริการคลินิกโรคทางเดินหายใจของโรงพยาบาลที่มีสิทธิการรักษาอยู่ได้ และจะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามประเมินอาการในช่วง 48 ชั่วโมงแรก หากมีอาการรุนแรงขึ้น ก็อาจมีการพิจารณาให้เข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาลได้" นายธนกรกล่าว 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า   ขอคนไทยอย่าเพิ่งกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แยกย่อยเป็นหลายๆ (BA.2.2) สายพันธุ์ย่อยนั้น ถึงแม้ว่าจะทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่พบสัญญาณเรื่องของความสามารถในการแพร่เชื้อ ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงยังเป็นวิธีการป้องกันที่สำคัญเพื่อลดการติดเชื้อและลดอัตราความรุนแรงของโรค

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า จากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 70 คนวันนี้ พบ 47 คนของผู้เสียชีวิตเป็นคนอายุ 70 ปีขึ้นไป และ 97% เป็นกลุ่มคน 608 และพบว่าอัตราการเสียชีวิตสูงสุดคือ กลุ่มคนอายุ 60-70 ปีขึ้นไป ถึง 7.5%, อายุ 50-60 ปี อัตราการเสียชีวิต 0.3%, ส่วนกลุ่มอายุ 1-50 ปี เสียชีวิต 0.1% และในจำนวนนี้มีถึง 52 คนที่รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม ซึ่งมีเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง รวมถึงคนที่ป่วยมะเร็ง ทำให้ได้รับวัคซีนไม่ครบ เพราะบางส่วนกังวลผลข้างเคียง

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ขณะนี้ใกล้เทศกาลสงกรานต์ที่มีผู้คนเดินทางกลับบ้าน จึงอยากเชิญชวนให้ผู้สูงอายุเร่งมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยกำหนดให้วันที่ 21-31 มี.ค. เป็นสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 หรือ SAVE 608 เพื่อลดความกังวลในกลุ่มผู้สูงอายุในวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 สามารถเลือกรับวัคซีนแบบครึ่งโดส หรือเต็มโดสได้ ในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์ แต่สำหรับผู้สูงอายุ 608 ที่ถึงครบกำหนดรับเข็ม 4 เตรียมมีแนวทางให้รับวัคซีนแบบครึ่งโดส เพื่อลดอาการข้างเคียง ลดความกังวล

"ในการให้บริการฉีดวัคซีน เปิดให้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ในช่วงเทศกาลสงรานต์ ลูกหลานสามารถพาผู้สูงอายุมารับวัคซีนได้ ขณะเดียวกันสำหรับบุตรหลานที่มีความตั้งใจไปเยี่ยมผู้สูงอายุในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยหรือสงกรานต์นี้ นอกจากตนเองจะต้องเตรียมความพร้อมรับวัคซีนให้ครบ และยังความงดปาร์ตี้ ไม่การ์ดตก ตรวจ ATK ก่อน 1 ครั้ง ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่วนเรื่องของ UCEP Plus เป็นเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่การให้บริการต่างๆ ยังเหมือนเดิม คือเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าเกณฑ์สีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ แต่ในส่วนของผู้ป่วยสีเขียว ก็ให้ใช้ HI ไปตามสิทธิของตนเอง" ปลัด สธ.กล่าว

จ.สมุทรปราการ นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ แจ้งว่า ขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนใน จ.สมุทรปราการ ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก ทำให้โรงพยาบาลสมุทรปราการได้ออกประกาศแจ้งปิดให้บริการห้องตรวจ หู คอ จมูก ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 14-18 มี.ค.2565 โดยรับเฉพาะกรณีเร่งด่วนและฉุกเฉินเท่านั้น

 จ.บุรีรัมย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในเด็กนักเรียนวันนี้พบติดเชื้อรายใหม่ 14 ราย แยกเป็นชั้นประถม อายุ 5-11 ปี 8 ราย ชั้นมัธยม อายุ 12-17 ปี 6 ราย โดยแหล่งติดเชื้อที่พบแยกเป็นที่บ้าน 10 ราย ที่โรงเรียน 3 ราย และต่างจังหวัด 1 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 1,467 ราย ในโรงเรียน 52 แห่ง ซึ่งการติดเชื้อในโรงเรียนวันนี้ พบที่ อ.นาโพธิ์ ได้แก่ โรงเรียนชุมชนบ้านนาแพง 1 ราย และโรงเรียนนาโพธิ์พิทยาคม 2 ราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวนเจ้าของรถตรวจเช็กสภาพฟรีก่อนซิ่งช่วงสงกรานต์

รัฐบาลเชิญชวนเจ้าของรถตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมก่อนเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ฟรี ณ ศูนย์บริการของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศตั้งแต่บัดนี้ถึง 15 เม.ย.2567