ฉะไร้วิญญาณผู้แทน นิโรธซัดเกมควํ่างบปี66/‘พท.-ก.ก.’ยํ้าไม่ยกมือวาระแรก

รองโฆษกรัฐบาลชวน ปชช.ติดตามอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้าน แจงเป็นงบที่ใช้ดูแลคนไทยทั้งประเทศภายใต้ปัจจัยความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและโควิด-19 "อนุทิน" เตือนอย่าใช้เวทีงบเล่นการเมือง ปชช.เสียประโยชน์ลั่น ไม่ใช่หมูในอวยไม่โหวตสุ่มสี่สุ่มห้า ประธานวิปรัฐบาลดักคอคนคว่ำงบไม่มีจิตวิญญาณการเป็นผู้แทนฯ “บุญสิงห์” ย้ำจุดยืน “เศรษฐกิจไทย” ยกมือให้ แต่ต้องดูในรายละเอียดด้วย “เพื่อไทย" จ่อเคาะคว่ำ โวยทัพฟ้าซื้อเครื่องบินรบ 2 ลำ แต่ไร้อาวุธ  "พิธา" เปรียบเหมือนเป็นงบช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้จ่อคว่ำเช่นกัน

เมื่อวันอาทิตย์ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.ว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้ชี้แจงถึงความจำเป็นและแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย แผนงานโครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ วงเงินงบประมาณรวม 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 78.2% และรายจ่ายลงทุน 21.8%

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของปี 2566 รัฐบาลได้กำหนดแผนงาน/โครงการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า งบประมาณรวม 2.7 แสนล้านบาท เกี่ยวข้อง 14 กระทรวง 265 โครงการ มีเป้าหมายคนจนในประเทศไทยลดลงอย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 5 ด้าน จึงเชิญชวนประชาชนติดตามการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ เพื่อจะได้ทราบแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล รวมทั้งโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ เป็นโอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบของภาคประชาชน อีกทั้งงบประมาณรายจ่ายนี้เป็นงบที่ใช้ดูแลคนไทยทั้งประเทศภายใต้ปัจจัยความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ รัฐบาลจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การติติงและข้อเสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การใช้งบประมาณอันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดของบ้านเมือง

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจ้องล้มร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ว่า ทุกปีที่มีการนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ผ่านเข้าสภา ซึ่งก็ต้องผ่านคณะกรรมาธิการต่างๆ ที่มีทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นการที่จะไปทำให้มีอุปสรรคปัญหา ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ก็คือประชาชนและประเทศ คิดว่าในสภาหากเราไม่ชอบการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีท่านใด ก็มีวาระของการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว ไม่อยากให้ไปใช้วิธีการทางการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ หากงบประมาณตกไป แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งที่ควรจะได้ครบถ้วนกระบวนความ ก็จะไม่ได้ และประชาชนก็จะเดือดร้อน กระทบการพัฒนาของประเทศจึงอยากให้ใช้เวทีให้ถูก

คนคว่ำงบไร้จิตวิญญาณ

ส่วนกรณีสถานการณ์ ความวุ่นวายในพรรคเศรษฐกิจไทย นายอนุทินกล่าวว่า ตนไม่สามารถบอกถึงพรรคการเมืองอื่นได้ ตนรับผิดชอบพรรคภูมิใจไทยว่าสถานการณ์ของพรรคภูมิใจไทย ไม่ต้องมีอะไรกังวล ส.ส.และผู้สมัครขยันทุกคน ส่วนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา  รักษาการเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย มั่นใจว่า “ครอบครัวธรรมนัส” มี 40 เสียงในมือนั้น เราก็ทำหน้าที่ของพรรคร่วม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปโหวตสุ่มสี่สุ่มห้า หากสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ พรรคภูมิใจไทยก็ต้องถือประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ “หมูในอวย” ซึ่ง ส.ส.ของพรรคทุกคนต่างฟรีโหวตเราไม่สามารถทำให้คนหมู่มากเห็นไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่เมื่อชี้แจงอธิบายแล้วเสียงข้างมากเป็นอย่างไร ก็ถือเป็นมติพรรคให้ปฏิบัติตาม 

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาภายในพรรคเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นคิดว่าจะมีผลกระทบต่อการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 หรือไม่ ว่าไม่มี เพราะ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มีจิตวิญญาณของการเป็นผู้แทนราษฎร ฉะนั้นเรื่องงบประมาณ ร.อ.ธรรมนัสทราบดีว่าเป็นเรื่องที่ต้องดูแลประชาชนและบริหารประเทศ มองว่าไม่คว่ำ พ.ร.บ.งบฯ แน่นอนส่วนฝ่ายค้านคงมีการอภิปราย เรื่องที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องงบประมาณ เพราะเป็นหน้าที่ผู้แทนราษฎรทุกคนอยู่แล้ว ในครั้งที่แล้วที่ฝ่ายค้านชี้แนะรัฐบาลก็ปฏิบัติตามอย่างเรื่องเรือดำน้ำก็มีการถอนงบประมาณออกดังนั้นไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่รับฟัง อย่าเพิ่งคิดคว่ำดูให้ละเอียดก่อน งบประมาณไม่ใช่เรื่องที่ดูนิดเดียวและรู้เรื่อง คนที่จะคว่ำไม่มีจิตวิญญาณของการเป็นผู้แทนฯ ส่วนที่กมธ.งบฯ ฝ่ายค้านไม่เข้ามาทำหน้าที่จะมาเป็นผู้แทนฯ ทำไม ถ้าไม่ทำหน้าที่ก็ลาออกไป

นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการนายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย ให้สัมภาษณ์ท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทยหลังจาก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ลาออกจากหัวหน้าพรรค ยังคงมีความเห็นว่าควรโหวตร่างพ.ร.บ.ปี 66 ผ่านเหมือนเดิมหรือไม่ ว่ายังคงเหมือนเดิม ทางพรรคเห็นความสำคัญของเรื่องงบประมาณ พวกเรามองว่าประเทศชาติบ้านเมืองจำเป็นต้องมีงบประมาณ และงบประมาณหลายอย่างประชาชนได้ประโยชน์ แต่เราก็มองเห็นว่างบประมาณหลายอย่างไม่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนบ้านเมือง ไม่คุ้มค่า ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปดูในรายละเอียดกัน ทั้งนี้ พรรคจะส่งคนร่วมอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณด้วย ซึ่งพรรคได้เวลาทั้งหมด 47 นาที

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.งบฯ คำเหมือนคนขอทานมาจัดเลี้ยงวันเกิดว่า เป็นการกล่าวหาที่แรงเกินไป งบประมาณจัดทำเพื่อประชาชน อย่าเหมารวมให้คนอื่นตีความได้ว่าเป็นการดูถูกประชาชนด้วย เพราะประชาชนไม่ใช่ขอทาน หลักการในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นในทางการเมือง เป็นหน้าที่หลักโดยตรงของ ส.ส.ที่จำต้องพิจารณาอย่างตั้งใจยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลด้วยเหตุด้วยผลถ้าคิดเพียงว่าต้องเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายรัฐบาลเสมอไป

ที่พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สอท. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค สอท., นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรค แถลงถึงภาพรวมเศรษฐกิจ การเมือง โดยนายอุตตมกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 เป็นกลไกการทำงานของรัฐบาล การบริหารในภาวะเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องจับตา 2 ประเด็นคือ การจัดโครงสร้างงบประมาณและการจัดสรรเงินจะสามารถช่วยให้รัฐบาลบริหารความเสี่ยงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจนับจากนี้ได้ดีแค่ไหน รวมถึงวิกฤตต่างๆ ที่กระทบเข้ามาพร้อมกัน ทั้งเรื่องอาหาร ผลต่อเนื่องจากโควิด-19 ที่จะเข้มข้นขึ้น และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นงบประมาณจะเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญของรัฐบาลที่เวลานี้ไม่ปกติ การใช้เครื่องมือที่มีอยู่จึงต้องเป็นแนวทางที้ไม่ใช่แบบภาวะปกติ

"เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ จะผ่านสภา เพราะไม่เคยมีการคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบมาก่อน แต่จะผ่านแบบฉลุยหรือรุ่งริ่งต้องรอดู ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ ถือเป็นตัวแปรสำคัญ ในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ นายกฯ ต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนว่ามีแผนที่จะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร เห็นใจและขอให้กำลังใจนายกฯ เพราะเรื่องนี้ไม่ง่าย" นายอุตตม กล่าว

พท.ตั้งธงคว่ำงบฯ แน่

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบปี 2566 เพราะกู้จนเต็มเพดาน งบประมาณพัฒนาประเทศแทบจะไม่มี ประชาชนเดือดร้อนอดอยากหิวโหย รัฐบาลบอกไม่มีเงินช่วย แต่กลับมีงบประมาณซื้อเครื่องบินรบลำใหม่รุ่น F35 จำนวน 2 ลำ ราคา 2,700 ล้านบาทต่อลำ กองทัพอากาศมีแผนจะซื้อทั้งหมด 8 ลำ ปรากฏว่าเป็นเครื่องบินเปล่าๆ ไม่มีอาวุธ จะนำประเด็นนี้ไปอภิปรายในสภาว่า ทำไมซื้ออีก มีเหตุผลความจำเป็นอะไร จะไปรบกับใคร พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีคำตอบ คือเหตุผลสำคัญที่พรรค ไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นี้ได้

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีมติโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ อย่างเป็นทางการ เพียงแต่พูดคุยกันภายในว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.งบประมาณฯ คาดว่าในวันที่ 30 พ.ค. จะมีมติออกมาในการประชุมพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้เราร่วมเป็น กมธ.อยู่แล้ว การไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้น จำเป็นต้องเข้าไปจัดสรรงบประมาณว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี และจะปรับหรือโยกย้ายตรงไหนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยแล้วจะไม่เข้าไปใน กมธ. เพื่อปรับปรุงแก้ไขและสิ่งที่เราสามารถทำได้

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นอกจากภาพรวมการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีภายใต้การบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้สถานการณ์ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงแล้ว ยิ่งสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในการบริหารประเทศ จากการศึกษาข้อมูลการจัดสรรงบฯ ปี 2566 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) การจัดสรรงบบุคลากรของ อว.เพิ่มสูงขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2563-2566 โดยปี 2566 งบประมาณรายจ่ายสำหรับบุคลากร 7.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62 ของภาพรวม ทั้งๆ ที่หลายมหาวิทยาลัยขาดแคลนนักศึกษา หลายสาขาวิชาต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีนักศึกษาเรียน แต่งบบุคลากรกลับสวนทาง การปรับลดขนาดบุคลากรลง จึงควรเป็นสิ่งที่กระทรวง อว.ต้องตระหนักเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในภาพรวม

ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม "Hackathon งบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น" โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  กล่าวถึงแผนการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ว่า พรรคก้าวไกลจะชี้แจงให้เห็นว่า ความจริงปีนี้เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ทั่วโลกจากเคยมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4 ล้านคน ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5 แสนคน ขณะเดียวกันอัตราเสียชีวิตก็ลดลง การฉีดวัคซีนก็เยอะขึ้น      เป็นปีที่การท่องเที่ยวน่าจะกลับมา การจัดงบประมาณในช่วงที่น้ำขึ้นต้องรีบตัก เมื่อพรรคก้าวไกลได้ดูงบประมาณปี 66 เหมือนเป็นงบช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ ที่ได้รับมากที่สุดคืองบกลาง ประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท โดย 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบบำเหน็จบำนาญและงบรักษาพยาบาลของข้าราชการ

"หากเราทำงบประมาณปีนี้ให้ดี ประเทศไทยจะมีความหวังไปข้างหน้าและสามารถปรับตัวได้ใน 10 ปี ถ้าเราจัดงบแบบเดิม เราก็จะถอยหลังไปอีก 10 ปีเช่นกัน ฉะนั้นพรรคก้าวไกลคงไม่สามารถที่จะให้งบประมาณผ่านวาระแรกไปได้ ในอดีตเราเห็นใจโดยใช้วิธีงดออกเสียง และไปพิจารณาในวาระ 2 แต่เราให้โอกาสมา 2-3 ครั้ง ในการแก้ตัวก็ไม่ดีขึ้น" นายพิธากล่าว                

คาดถกซักฟอก 18-21 ก.ค.

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 นั้น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  ในการประชุมพรรคได้การหารือในเรื่องนี้ โดยที่ประชุมมีมติว่าในวันที่ 15 มิ.ย. จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากยื่นญัตติแล้วประธานสภาฯ ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจสอบญัตติแล้วเสร็จส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณว่าจะพร้อมชี้แจงในวันใด คาดว่าจะสามารถเริ่มอภิปรายได้ในวันที่ 18-21 ก.ค. รวมทั้งหมด 4 วัน การอภิปรายครั้งนี้เป็นวาระสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกไปแล้ว บ้านเมืองฉิบหายหมดแล้ว

"ความพร้อมของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการอภิปราย มั่นใจว่ามีหลักฐานเด็ด ปลิดชีพระดับรัฐมนตรีว่าการให้ตายกลางสภาและมีใบเสร็จด้วย ถ้าเปิดหลักฐานออกมารับรองกรี๊ดกร๊าดสนั่นสภาแน่นอน รับรองได้ว่ามี ส.ส.ผู้หญิงบางคนอาจจะทนดูการอภิปรายของฝ่ายค้านไม่ได้ ต้องเดินออกไปร้องไห้ข้างๆ ห้องประชุมก็ได้ เที่ยวนี้ฝ่ายค้านมั่นใจในหลักฐานเด็ด" นายยุทธพงศ์กล่าว

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535  กล่าวถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส่งผลต่อการเมืองระดับชาติว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ลงสมัครในนามอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง ชูแคมเปญไม่ขัดแย้งกันกับใคร มุ่งทำงานรับใช้ประชาชน สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ยืนข้างขั้วการเมืองใด ทำให้ชาว กทม.จากทุกฝ่ายไว้วางใจเทคะแนนให้อย่างถล่มทลาย จึงคาดหวังอยากเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวในการเลือกตั้งสนามใหญ่ระดับชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น   ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องมากังขานโยบายของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะตัวเองได้ตระบัดสัตย์อย่างชัดเจน เปรียบเหมือนคนที่ล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ใครก็ตามที่สามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงจากอำนาจได้ต้องให้การสนับสนุนทั้งฝ่ายค้านรวมทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย หากร่วมกันล้มพล.อ.ประยุทธ์ได้ จะเป็นคุณูปการของบ้านเมือง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ผลกระทบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อการเมืองระดับชาติ” ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,322 หน่วยตัวอย่าง

เมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการที่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 77.76 ระบุว่าไม่แปลกใจเลย เพราะเป็นคนเก่ง มีคุณสมบัติเพียบพร้อม มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน และลงพื้นที่รับฟังเสียงจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ รองลงมา ร้อยละ 8.85 ระบุว่าไม่ค่อยแปลกใจ เพราะมีภาวะผู้นำ มีความเป็นกลางสามารถทำงานได้กับทุกฝ่าย ขณะที่บางส่วนระบุว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการการเปลี่ยนแปลง, ร้อยละ 7.34 ระบุว่าแปลกใจมาก เพราะผลงานในการพัฒนา กทม.ยังไม่มี ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่คิดว่าคะแนนเสียงที่ได้รับจะถล่มทลายทิ้งห่างคู่แข่งมากขนาดนี้ และร้อยละ 6.05 ระบุว่า ค่อนข้างแปลกใจ เพราะลงสมัครในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่กลับชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

ท้ายที่สุดเมื่อถามประชาชนถึงผลกระทบต่อการเมืองในระดับชาติ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 38.88 ระบุว่าคาดว่าจะส่งผลในทางลบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 32.53 ระบุว่า จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล, ร้อยละ 15.96 ระบุว่าเป็นแค่การเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งเท่านั้น, ร้อยละ 9.53 ระบุว่าอาจมีการยุบสภาเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้, ร้อยละ 8.40 ระบุว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ในกรุงเทพฯ เท่านั้น, ร้อยละ 6.43 ระบุว่าสังคมไทยจะเผชิญกับความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองมากขึ้น, ร้อยละ 6.35 ระบุว่าสังคมไทยได้ก้าวข้ามความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองแล้ว, ร้อยละ 4.99 ระบุว่าพรรค/กลุ่มการเมือง ฝ่ายค้านจะเกาะกระแส ดร.ชัชชาติ การต่อต้านรัฐบาล, ร้อยละ 3.33 ระบุว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวเพื่อหาทางสร้างคะแนนนิยมเพิ่ม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14 พ.ค.ได้ลุ้น คกก.ค่าจ้างฯ ถกค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

'คารม' ย้ำขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พิจารณาอย่างเหมาะสมและรอบคอบ เผย 14 พ.ค.นี้ คกก.ค่าจ้างฯ เตรียมประชุมพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

รัฐบาลกวักมือเรียกผู้กู้ กยศ.ที่ถูกดำเนินคดีเร่งปรับโครงสร้างหนี้ด่วน!

รัฐบาลเชิญชวน ผู้กู้ยืม กยศ. ถูกดำเนินคดีในปี 2557 ที่ยังมีภาระหนี้ค้าง เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน

ไฟเขียวเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ ไม่ถือเป็นวันลา!

รัฐบาลร่วมแสดงความจงรักภักดี และถวายพระราชกุศล เห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่ถือเป็นวันลา

รัฐบาลห่วงยอดโควิดพุ่ง แต่ขอให้มั่นใจโรงพยาบาลพร้อมรับมือ!

'เกณิกา' เผยรัฐบาลห่วงใยยอดโควิดยังพุ่งหลังสงกรานต์ ขอให้ประชาชนมั่นใจโรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมรับมือผู้ป่วยโควิด แนะใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่แออัด รีบตรวจ ATK หากมีอาการคล้ายหวัด