สอบญัตติซักฟอกเถื่อน ยื่นปธ.ชวน-ป.ป.ช.ชี้ผิดรธน.พ่วงฝ่าฝืนจริยธรรม

“ญัตติเถื่อน” ลาม เรืองไกรโผล่ยื่นประธานชวนให้ตรวจสอบผิดรัฐธรรมนูญ พ่วงฝ่าผืนจริยธรรม  เตรียมชง ป.ป.ช.สอบอีก ยกคำพูด “ชลน่าน” มัด พร้อมอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “บิ๊กตู่” เมินกฐินซักฟอก บอกมีเวลาอีก  1 เดือน สุชาติเดือด! ดีดปากก้าวไกล หากแกว่งเท้าหาเสี้ยนระวังช็อก “สุทิน" มั่นใจไร้ปัญหาแค่กลยุทธ์สับขาหลอก กกต.เผยไล่หนูตีงูเห่าส่อไม่ผิด แค่เงินหาเสียงคราวหน้าลดน้อยลง!

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีรวม 11 คนว่า ยังไม่ถึงเวลา มีเวลาอีก 1 เดือน

เมื่อถามย้ำว่า พร้อมชี้แจงมากน้อยแค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่าก็บอกไปตั้งนานแล้ว และเมื่อถามว่าฝ่ายค้านจะหยิบยกเรื่องการแก้จนมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ  นายกฯ กล่าวว่าก็ว่าไปตามนั้น ถึงเวลานี้เรื่องการศึกษาก็กำลังแก้ไขอยู่

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีนายสุชาติ ชุมกลิ่น รมว.แรงงาน ระบุว่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นญัตติเถื่อน เนื่องจากญัตติที่ ส.ส.ลงลายมือชื่อมีผู้ถูกอภิปรายเพียง 10 คน  แต่ญัตติที่ยื่นต่อประธานสภามี 11 คน ว่าหลักการคนที่จะลงลายมือชื่อต้องเห็นข้อความในญัตติ ซึ่งมีบรรทัดฐานตั้งแต่ปี 2557 ในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อ้างว่ายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ทั้งนี้ไม่ทราบรายละเอียดการยื่นญัตติครั้งนี้ของฝ่ายค้าน อยู่ที่ท่านสุชาติจะได้ข้อมูลมาอย่างไร

เมื่อถามว่า หาก ส.ส.ฝ่ายค้านออกมาเปิดเผยว่าถูกแอบอ้าง จะทำให้ญัตติดังกล่าวไม่ชอบใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีโอกาสเป็นเช่นนั้นได้ เพราะหากหักชื่อออกไปจำนวนไม่เพียงพอต่อการยื่นญัตติ ก็ต้องเข้าชื่อกันใหม่ ในขณะเดียวกันสุดท้ายไม่มี ส.ส.แสดงตัว ก็แปลว่าไม่มีหลักฐาน

ถามว่า รัฐบาลพอจะกำหนดวันอภิปรายได้แล้วหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่ายังไม่ได้ เพราะสภายังไม่ส่งญัตติมา  เนื่องจากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น คงต้องรอให้สภาส่งมา ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้กำหนดไทม์ไลน์อะไรไว้ในเรื่องนี้ ถ้าพูดถึงเดือน ก.ค. มันอัตโนมัติอยู่แล้วว่าสัปดาห์แรกรัฐบาลว่าง ไม่ติดภารกิจ พอสัปดาห์ต่อไป 13-15 ติดช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ไปอีกสัปดาห์หนึ่งวันที่ 18 -20 ก.ค. ก็เป็นไปได้ไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ทั้งนั้นไม่มีปัญหา ทำมาทุกปีอยู่แล้ว

ขณะที่นายสุชาติตอบโต้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ระบุการเพิ่มชื่อรัฐมนตรีที่จะขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจจาก 10 คนเป็น 11 คนไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าสะอาดก็อย่ากลัว ว่าการอภิปรายเพื่อตรวจสอบการทำงานรัฐบาลเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ขั้นตอนควรทำให้ถูกต้องชอบธรรม ซึ่งการเรียกร้องไปถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ เพราะเห็นถึงความผิดปกติ เนื่องจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ยอมรับว่าในวันที่ 14 มิ.ย.มี ส.ส.ลงชื่อ 182 คน ยื่นอภิปราย 10 รัฐมนตรี และมาเก็บตกเพิ่มรายชื่อในวันที่ 15 มิ.ย. ตรงนี้ถามว่า ส.ส.ทั้ง 182 รายชื่อที่ลงชื่อไปก่อนหน้านี้รับทราบและเห็นด้วยหรือไม่ และเป็นการสลับร่างเพิ่มรายชื่อหรือไม่ ตรงนี้ที่ขอให้ตรวจสอบ

เสี่ยเฮ้งเดือด! ดีดปากก้าวไกล

นายสุชาติกล่าวว่า หาก ส.ส.เซ็นใหม่แล้วไม่เหมือนเดิมก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ขอถามว่าคนเป็นผู้แทนจะเซ็นอะไรโดยที่ไม่ได้ดูความถูกต้องและเนื้อหาเลยหรือ เรื่องนี้คนที่ทำก็รู้อยู่แก่ใจ ซึ่งตนเองจบไปตั้งแต่ขอให้ตรวจสอบญัตติ  แต่พรรคก้าวไกลที่มีนักกฎหมายอยู่ในพรรคน่าจะเข้าใจ  กลับมาระบุในทำนองที่ไม่กล้าให้ตรวจสอบ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ขอย้ำว่าไม่ได้ซีเรียสเรื่องถูกอภิปราย ไม่กลัว เพราะสามารถตอบได้ทุกครั้งถ้าเป็นเรื่องของงาน แต่ไม่ชอบการกระทำที่ทำให้สภาเกิดความเสื่อมเสีย และที่ผ่านมาพูดถึงฝ่ายค้านและตั้งข้อสังเกตว่า ในญัตติที่ลงชื่อคือเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. แต่มาเพิ่มชื่ออีกในวันที่ 15 มิ.ย. เท่ากับเป็นการสารภาพของผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่เท่านั้น ไม่เคยพูดถึงพรรคก้าวไกล

"ผมไม่เคยยุ่งกับพรรคก้าวไกล พรรคคุณมีนักกฎหมาย ฉะนั้นย่อมรู้ดีว่าการลงชื่อยื่นญัตติเป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ผมไม่ยุ่งกับคุณ แต่ถ้าคุณมายุ่ง เดี๋ยวจะหนาว หากยังอวดภูมิ จะทำให้เห็นแล้วจะช็อก" นายสุชาติกล่าว

 ส่วนนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวเรื่องนี้ว่า  เป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง เพราะปกติในการลงนาม ส.ส.ต้องตรวจสอบดูก่อน ซึ่งมีการยื่นคำร้องไปอยู่ที่การตรวจสอบของประธานสภาที่จะได้ข้อยุติ โดยเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา หรือทำให้ญัตติถูกตีตกไป ส่วนกรอบเวลาการอภิปรายเห็นว่าช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. และลงมติวันที่ 21 ก.ค.นั้นเหมาะสมแล้ว และเชื่อว่าเวลา 4 วันน่าจะเพียงพอ เนื่องจากเห็นว่ารัฐมนตรีบางคนไม่มีประเด็นอะไรอภิปราย หากฝ่ายค้านมีจริยธรรมก็จะไม่นำเรื่องส่วนตัวมาอภิปรายในสภา

 “เชื่อมั่นว่าพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคเล็ก มีเสียงมั่นคงที่จะรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ได้ทุกคน จึงไม่ห่วงเรื่องเสียงโหวตในสภา เพราะญัตติเขียนมาว่าส่อทุจริต ซึ่งคำว่าส่อหมายถึงยังไม่เกิดขึ้น แต่ไม่ขอตอบว่าจะมีเสียงฝ่ายค้านมาหนุน หรือขาดประชุม ไม่ร่วมโหวตหรือไม่”

นายนิโรธกล่าวอีก พรรคได้ตั้งทีม ส.ส.รับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ 11 คน ชื่อว่าทีมปราบมาร เพื่อดำเนินการให้การอภิปรายเป็นไปตามญัตติและข้อบังคับการประชุม  โดย ส.ส. 11 คน ประกอบด้วย 1.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตร ส.ส.สระบุรี 4.พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี 5.นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. 6.นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส.นครศรีธรรมราช 7.นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ 8.นายภาคิน สมมิตรธนกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช 10.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร   ส.ส.กทม. และ 11.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม.

ขณะที่นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ กล่าวถึงการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ส่วนตัวเทคะแนนให้ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ คนเดียว และพรรคเล็กอื่นๆ เท่าที่คุยเบื้องต้นก็จะเทคะแนนให้ พล.อ.ประวิตรเช่นเดียวกัน  ส่วนนายกฯ และรัฐมนตรีคนอื่นนั้นขอฟังการอภิปรายก่อน  ขอดูตามเนื้อผ้า

 ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นายสุชาติกล่าวหาว่าเป็นญัตติเถื่อนว่า ได้ส่งไปให้ฝ่ายประจำช่วยตรวจสอบ รวมทั้งให้ตรวจสอบสิ่งที่นายสุชาติร้องมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งปกติแล้วการเพิ่มชื่อเป็นสิทธิของผู้ยื่น เขาจะเพิ่มผู้ใดหรือตัดผู้ใดก็ได้  แต่สิ่งที่นายสุชาติร้องว่าเวลาเสนอให้สมาชิกรับรองมี 10  คน เราไม่รู้ข้อเท็จจริง ซึ่งปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารที่ส่งมา ถ้าข้องใจอะไรก็จะสอบถามกลับไปถึงเจ้าของญัตติและผู้นำฝ่ายค้าน ที่ผ่านมาเรื่องในทำนองนี้ยังไม่เคยได้ยิน

สุทินอ้างกลยุทธ์สับขาหลอก

เมื่อถามว่า จะมีการเรียกวิปทั้ง 3 ฝ่ายเพื่อหารือวันอภิปรายในช่วงใด นายชวนกล่าวว่ายัง เพราะต้องรอให้วินิจฉัยก่อนว่าญัตติที่ยื่นมานั้นถูกต้องหรือไม่ภายใน 7 วัน  ซึ่งจะครบในสัปดาห์นี้ จะชัดเจน ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็สั่งบรรจุในระเบียบวาระว่าสมควรจะเป็นช่วงใด แต่ยังไม่ได้กำหนดวันอภิปราย ทั้งนี้เท่าที่หารือเบื้องต้นจะเป็นช่วงกลางเดือน ก.ค.ไปแล้ว ที่พูดกันไว้คร่าวๆ คือตั้งแต่วันที่  18 ก.ค.เป็นต้นไป แต่ยังไม่แน่นอน เพราะต้องดูความพร้อมของรัฐบาลด้วยว่าจะมีความพร้อมเมื่อใด เช่นเดียวกับฝ่ายค้านด้วยว่าต้องพร้อมเมื่อใด

ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยืนยันว่า ไม่กังวลและไม่มีผลว่าจะกระทบกับญัตติที่ยื่นไปแล้ว เพราะฝ่ายค้านดำเนินการถูกต้องทุกอย่าง เซ็นชื่อครบ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่มีใครติดใจ ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์ของผู้นำที่จะสับขาหลอกบ้าง ขณะนี้ก็ยังไม่มี ส.ส.ร้องขึ้นมาว่าเซ็นไม่ตรงหรือยัดไส้ เป็นเรื่องที่นายสุชาติเป็นคนพูดขึ้นมา

เมื่อถามว่า เหตุใดฝ่ายค้านไม่ยื่นญัตติชื่อของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน นายสุทินกล่าวว่า​ ญัตตินี้มียุทธศาสตร์เด็ดหัว สอยนั่งร้าน ดังนั้นจึงมุ่งไปที่พรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันทางการเมืองในอนาคต ส่วนนายสุพัฒนพงษ์เป็นคนนอก  ส่วนความผิดเรื่องราคาน้ำมันนั้นไม่ได้ถูกละเลยแน่นอน  เพราะฝ่ายค้านจะอภิปรายหนักไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ​แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอภิปรายนายสุพัฒนพงษ์ไม่ได้ เพียงแต่ไม่ได้ลงคะแนนเท่านั้น​

ถามต่อว่า กรอบเวลาการอภิปราย 4 วันเพียงพอหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า รัฐบาลต้องใจกว้างและให้เวลา  เพราะฝ่ายค้านคิดว่า 5 วันสำหรับการอภิปรายโดยไม่รวมวันลงมติเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ก็ต้องมาคุยกัน หากรัฐบาลให้เวลาน้อยฝ่ายค้านก็จะไม่ยอม ถือเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ต้องดูที่เจตนาด้วย

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิก พปชร. ระบุว่า ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภาให้ตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คน ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 หรือไม่ เพราะญัตติของฝ่ายค้านก่อนลงนามมี 2 ฉบับ คือฉบับไม่ไว้วางใจ รมต. 10 คน  กับฉบับไม่ไว้วางใจ รมต. 11 คน และทั้งสองฉบับลงวันที่  15 มิ.ย.เหมือนกัน จึงเป็นพิรุธน่าสงสัย เพราะนายชลน่านให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ไว้ส่วนหนึ่งว่า "เมื่อเราเขียนญัตติเสร็จวันที่ 14 มิ.ย. รายชื่อของนายสุชาติยังไม่ได้เข้าไป บางพรรคก็เซ็นชื่อวันที่ 14 มิ.ย. และในวันที่ 15 มิ.ย.ก็มีการเก็บตกลายเซ็น ส.ส.ที่ต้องเข้าชื่ออีกครั้ง ในช่วงเวลา  11.00 น.ยังมีการแก้ไขญัตติอยู่ ก่อนยื่นญัตติต่อนายชวนในเวลา 13.00 น."

นายเรืองไกรกล่าวว่า การแก้ไขญัตติโดยเพิ่มรายชื่อเข้ามาใหม่ และยังแก้ไขเนื้อหาอีกหลายที่ จนทำให้ญัตติฉบับ 10 คนที่มีเพียง 4 แผ่น กลายเป็นญัตติฉบับ 11 คน ที่มี 5 แผ่น แต่ใช้รายชื่อ ส.ส.ที่นายชลน่านกล่าวว่าลงนามไว้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.สำหรับญัตติ 10 คน มาแนบเป็นบัญชีแนบท้ายญัตติ 11 คน กรณีจึงมีเหตุต้องตรวจสอบว่าญัตติที่ทำใหม่แต่ใช้รายชื่อที่แนบญัตติเก่ามาแนบนั้น ชอบหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะไม่ชอบ หากเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556

 “ได้ร้องประธานชวนให้ตรวจสอบญัตติฝ่ายค้านที่ยื่นอภิปรายรัฐมนตรี 11 คน ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา  151 หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ และเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข้อ 8 หรือไม่ และเรื่องนี้จะยื่น ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย” นายเรืองไกรกล่าว

กกต.แย้ม ‘ไล่หนูตีงูเห่า’ ไม่ผิด

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) ชี้แจงถึงกรณีนายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมเข้ายื่นต่อ กกต.เพื่อให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทยหลังจัดกิจกรรมครอบครัวเพื่อไทย ภายใต้ชื่อ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เข้าข่ายการสัญญาและการกระทำที่ชอบหรือไม่ชอบทางกฎหมายหรือไม่ ว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 ประกอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามปกติประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควรฯ โดยหากมีพยานหลักฐานว่าพรรคการเมืองใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่บุคคล  โดยมิใช่การให้ตามปกติประเพณี หรือเหตุอันสมควร ให้สำนักงาน กกต.รวบรวมข้อเท็จจริงพร้อมเสนอความเห็นให้ กกต.พิจารณาสั่งให้เลขาธิการ กกต.บันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้ง  ส.ส.ครั้งต่อไป ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองนั้นเหลือจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปน้อยลง เช่น หากกำหนดให้พรรคการเมืองสามารถใช้จ่ายในการเลือกตั้ง  ส.ส.ได้ 35 ล้านบาท สมมติว่าพรรคการเมืองนั้นแจกเงิน และเสื้อไปรวมมูลค่า 1 ล้านบาท ก็จะทำให้สามารถใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้แค่ 34 ล้านบาท

 “กรณีจึงไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่จะทำให้เหลือเงินค่าใช้จ่ายหาเสียงของพรรคนั้นๆ ลดลงเท่านั้น เนื่องจากตามกฎหมายให้ใช้วิธีบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นเอง” แหล่งข่าวระบุ

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายธนกร วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้พรรคเพื่อไทยไปย้อนดูว่าประเทศต้องเจอกับสถานการณ์และเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้ เพราะรัฐบาลไหนทุจริตคอร์รัปชันมโหฬารว่า สิ่งที่นายธนกรพูดนั้นเป็นเรื่องที่น่าละอายมาก หากจะถามว่ารัฐบาลชุดไหนที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนหนี้สินประเทศที่ทุกคนต้องใช้หนี้ร่วมกันพุ่งชนเพดานที่ 10 ล้านล้านบาทนั้น ก็ล้วนเป็นฝีมือการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น เหตุใดนายธนกรจึงมั่นใจว่า  พล.อ.ประยุทธ์เข้ามากอบกู้เศรษฐกิจ ทั้งที่ปัญหาประเทศทั้งหมดเกิดขึ้นมาจาก พล.อ.ประยุทธ์เองที่มีเพียงตำแหน่งทางการทหาร และไร้ความสามารถในการเป็นผู้นำประเทศ

 “อดีตนายกรัฐมนตรีที่นายธนกรกล่าวถึง เป็นนายกฯ  ที่ประชาชนคนไทยคิดถึง เพราะได้สร้างคุณประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนคนไทยมามากมายมาจนถึงทุกวันนี้ คนไทยจดจำได้ดีว่าเศรษฐกิจแย่ คนแก้ต้องเพื่อไทย ซึ่งแตกต่างจากนายกฯ ของนายธนกรที่ไปไหนมีแต่คนตั้งคำถาม เบือนหน้าหนี เพราะเบื่อหน่าย เอือมระอากับการต้องทนทุกข์อยู่กับผู้นำประเทศที่ไร้ความรู้ความสามารถ" น.ส.ธีรรัตน์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง