คาดโควิดในไทย พ้นระบาดใหญ่ ตามแผน1ก.ค.

ปลัด สธ.คาด "โควิด" ในไทยพ้นระบาดใหญ่ตามแผน 1 ก.ค. ยังติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ได้แต่อยู่ในการควบคุม ส่วนโรคประจำถิ่นรอให้ WHO ประกาศ  ย้ำ BA.4/BA.5 ยังไม่ชัดเจนแพร่เร็ว-รุนแรง แต่ต้องฉีดเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มภูมิ เผยมีคนไทย 16 ล้านคนอยู่ต่างประเทศอาจฉีดแล้วแต่ไม่มีรายงาน ขณะที่นายกฯ ชื่นชมนักวิจัยไทยพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์รับมือโควิด-19 ลดการนำเข้า เสริมศักยภาพประเทศสู่ Medical Hub        

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,735 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,734 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,734 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1  ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,138 ราย อยู่ระหว่างรักษา 22,895  ราย อาการหนัก 610 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 286 ราย

ทั้งนี้ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 9  ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ราย มีโรคเรื้อรัง  1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  4,515,890 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  4,462,388 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  30,607 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม  549,002,912 ราย เสียชีวิตสะสม 6,350,864 ราย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขับเคลื่อนโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นหลังวันที่ 1 ก.ค.ว่า เรื่องของโรคประจำถิ่นคงต้องรอให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้ประกาศ ส่วนประเทศไทยจะใช้ว่าเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หัวใจสำคัญคือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว และโรคลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 1 ก.ค.นี้จะไม่มีโรคแล้ว ก็จะมีเป็นคลื่นเล็กบ้างใหญ่บ้าง อาจเป็นคลัสเตอร์เล็ก  ปานกลาง หรือใหญ่ แต่ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม  ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ก็ต้องดำเนินการตลอด ซึ่งก็ดีขึ้นขณะนี้ฉีดสะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว  ประชาชน 60 ล้านคนได้ฉีดเข็มแรกแล้ว

"บางทีเราก็หาคนฉีดไม่ค่อยได้ ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไร ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับกระทรวงการต่างประเทศ  บอกว่ามีคนไทย 16 ล้านคนอยู่นอกประเทศ บางทีอาจจะได้ฉีดอยู่ข้างนอกประเทศแล้ว อาจจะไม่ได้รายงาน เราก็พยายามทำตัวเลขให้ใกล้เคียงที่สุด นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังรายงานว่า สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปถึง 5 ปี ซึ่งจะมีการหารือเวลาและรูปแบบการฉีดที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นสถานพยาบาล เพราะเด็กเล็กต้องมีการตรวจติดตามอยู่แล้ว โดยมีการเตรียมวัคซีนไว้แล้ว หากได้รับการอนุมัติจาก อย.ก็จะมีการฉีดในเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไป" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ถามย้ำว่า วันที่ 1 ก.ค.จะประกาศเป็น Post-Pandemic ใช่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิตอบว่า ก็คงเป็นไปตามแผน แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่จะไม่มีโรค แต่จะมีการติดเป็นคลัสเตอร์บ้าง แต่ไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ๆ คนติดเป็นล้าน  เกิดคลัสเตอร์แล้วลดลงไปเช่นนี้เป็นคลื่นเล็กๆ และโรคไม่รุนแรงอยู่ในการควบคุม คือความหมาย Post-Pandemic  ของเรา ส่วนเรื่องสิทธิการรักษารัฐบาลก็ดูแล สิทธิกองทุนต่างๆ ก็ครอบคลุมอยู่แล้ว โดยจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป

 เมื่อถามถึงคนเริ่มกังวลถึงสายพันธุ์โอมิครอน BA.4  และ BA.5 แต่ขณะนี้มีการอนุญาตให้ถอดหน้ากากตามความสมัครใจ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สายพันธุ์ BA.4 และ  BA.5 ไม่ได้เพิ่งเจอตอนนี้ สธ.โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการวางระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ โดยพบตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ก็ผ่านมา 3 เดือนแล้ว เคสก็เพิ่มขึ้นบ้าง ปัญหาที่เรากังวลว่าโรคจะแพร่เร็วจนเราควบคุมไม่ได้ใช่หรือไม่ และทำให้เกิดอาการหนักขึ้นจนมีคนป่วยหนักเข้า รพ.มากหรือไม่ ซึ่งเราเฝ้าระวังอยู่ ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีลักษณะนั้น

"บางคนคิดว่าฉีด 3 เข็มจะเพียงพอ แต่จริงๆ ถ้าถึงระยะเวลาที่แนะนำ คือ 4 เดือนควรมาฉีดซ้ำ เพราะวัคซีนเมื่อเราไปดูคนที่ป่วย BA.4/BA.5 ถ้าใช้วัคซีนบูสเตอร์อาการเจ็บป่วยน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ก็ชัดเจนว่าวัคซีนยังได้ผลป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ต้องรอไฟเซอร์และโมเดอร์นามาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมเพื่อฉีดในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการมายื่นขอขยายอายุการฉีดเพิ่มเติม แต่หากยื่นเรื่องเข้ามาแล้วก็สามารถพิจารณาได้ทันที โดยขนาดที่ใช้ในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไปจะน้อยกว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็กอายุ 5-11 ปี

 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค และสร้างความมั่นคงในระบบสาธารณสุข พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามผลงานการคิดค้นของคนไทยอย่างใกล้ชิด และล่าสุดได้แสดงความชื่นชมต่อนักวิจัยที่ได้พัฒนาผลงานนวัตกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ การวินิจฉัยและการดูแลรักษา ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)  ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนในภาพรวมกว่า 3 พันล้านบาท

นางสาวรัชดากล่าวว่า ตัวอย่างผลงานมีดังนี้ 1.เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (High Flow Nasal  Cannula-HFNC) มีต้นทุนการผลิตเครื่องละประมาณ 50,000 บาท ในขณะที่หากนำเข้าราคาเครื่องละ 200,000-250,000 บาท จึงทำให้ประเทศลดการนำเข้าได้สูงถึง 150,000 บาท ต่อ 1  เครื่อง ปัจจุบันมีการส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า  500 เครื่อง ช่วยลดการนำเข้าและลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐกว่า 75 ล้านบาท เป็นผลงานวิจัยโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และบริษัท อินทรอนิคส์  จำกัด

2.ชุดตรวจโควิดด้วยวิธีแลมป์เปลี่ยนสี (RT-LAMP) นำไปติดตั้งใช้งานที่ด่านคัดกรองโรคที่สนามบินและโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งการตรวจคัดกรองแบบเร็วนี้ ให้ผลภายใน 1 ชั่งโมง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการคัดกรองโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป มีการส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐและจัดจำหน่ายไปแล้วกว่า 260,000 ชุด มูลค่าประมาณ 65 ล้านบาท เป็นผลงานวิจัยโดยบริษัท  Startup “Zenostic” มหาวิทยาลัยมหิดล

3.ชุดตรวจ COVITECT-1 ด้วย Real-Time RT-PCR ผ่านมาตรฐานสากล มีการส่งมอบชุดตรวจให้ภาครัฐมากกว่า 500,000 ชุด และส่งมอบให้ประเทศสมาชิกในอาเซียนจำนวน 80,000 ชุด รวมถึงได้มีการจำหน่ายให้ห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยในปี 2564 มียอดขายประมาณ 190 ล้านบาท เป็นผลงานวิจัยโดยความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

4.หลอดเก็บเลือดอินโนเมด ปัจจุบันหลอดเก็บเลือดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีปริมาณการใช้งานสูง ผลิตภัณฑ์นี้พัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าและสามารถส่งออกต่อไปได้ โดยได้รับการออกแบบการใช้งานทดแทนการใช้หลอดเก็บเลือดจาก 2 หลอด เหมาะกับผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องเจาะเลือดบ่อยๆ และผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการรับรองที่ได้มาตรฐานอย่าง ISO 13485 แล้ว หากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นเองนี้จะช่วยลดการนำเข้าหลอดเก็บเลือดในแต่ละปี คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 2,700 ล้านบาท ผลงานวิจัยโดย ผศ.ดร.วันวิสาข์ ตรีบุพชาติสกุล มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัท วี เมด แล็บ เซ็นเตอร์  จำกัด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"