กนง.ขึ้นดอกเบี้ยในรอบ4ปี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

"บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะนัดแรก "คกก.เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์วิกฤต   ศก." จับตาถกมาตรการลดค่าไฟ "กนง." 6  ต่อ 1 เสียง เคาะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในรอบ 4 ปี ดัน ดบ.นโยบายไทย 0.75% ต่อปี "อาคม" โยน ธปท.คุยแบงก์พาณิชย์ สมาคมธนาคารไทยยันตรึงดอกเบี้ย เน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง ธอส.ประกาศยื้อ ดบ.เงินกู้ถึงสิ้นปี 

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10  สิงหาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีกำหนดการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 11 ส.ค. เวลา 10.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายดอน ปรมัตถ์วินัย, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รวมทั้ง รมว.การคลัง, รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.คมนาคม, รมว.มหาดไทย, รมว.อุตสาหกรรม และปลัดกระทรวง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการที่สำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ร่วมหารือ

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า    ในการประชุม กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้นำเสนอการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเชีย-ยูเครน รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะนำเสนอการประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีวาระพิจารณาที่สำคัญคือ ข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจในระยะต่อไป เป็นการเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุรองรับล่วงหน้า เพื่อให้เศรษฐกิจไทย คนไทย สามารถต้านทาน พร้อมรับ และไปต่อได้

วันเดียวกัน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อปี จาก 0.50% ต่อปี เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ มี 1 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว แต่ผลกระทบต่อแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีจำกัด อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นายปิติกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไหร่ โดยจะมีการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในการประชุมครั้งหน้า จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.3% เนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่จีดีพีปีหน้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งการที่เศรษฐกิจเข้าสู่ระดับปกติก่อนสิ้นปีนี้ เป็นสิ่งที่คาดไว้แล้วตั้งแต่การประชุมครั้งก่อนๆ รวมถึงพัฒนาการเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาด ภาพเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นไปตามคาด เป็นการยืนยันว่าสิ่งที่คาดเป็นไปตามที่มองไว้

อย่างไรก็ดี ถ้าเศรษฐกิจฟื้นได้ต่อเนื่องไม่สะดุด แต่ไม่ได้ฟื้นร้อนแรงเกินไป จะไม่ซ้ำเติมและเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อ โดย กนง.มีการติดตามเงินเฟ้อใกล้ชิด ซึ่งตอนนี้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับสูง จากราคาน้ำมันและอาหารสด มองไปข้างหน้ามีโอกาสจะลดลงพอสมควร ถ้าดูราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตอนนี้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่กรรมการจับตาเงินเฟ้อพื้นฐาน เงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปสงค์ ตัวนี้เป็นสิ่งที่นโยบายการเงินจะดูใกล้ชิดมากกว่า

"การประชุม กนง.ในเดือน ก.ย.นี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่มีปัจจัยรุนแรง การปรับดอกเบี้ยจะยังค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยแบบแรง ไม่มีเหตุผลต้องเร่งปรับดอกเบี้ย ตามที่ตลาดมีการคาดการณ์ว่าครั้งต่อไปอาจมีการปรับดอกเบี้ยอีก 0.50%" เลขานุการ กนง. ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี หลังจาก กนง.ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561

ทางด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของ กนง. คงมีการพิจารณาและให้น้ำหนักในหลายมิติ ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยมีการพูดคุยกับ ธปท.แล้วให้มีการสื่อสารเรื่องนโยบายการเงินกับธนาคารพาณิชย์อย่างชัดเจน ส่วนกับสถาบันการเงินของรัฐนั้น กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่ในการสื่อสารเอง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เคยขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินของรัฐให้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อเป็นการแบ่งเบาและช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

 “ที่ผ่านมาเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านนโยบายไปถึงสถาบันการเงินประมาณ 3-6 เดือน โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อาจจะปรับขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก หากสถาบันการเงินมีการขยับอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็อาจจะกระทบทำให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว หรือแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อชะลอลงได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่ต้องสื่อสารกับธนาคารพาณิชย์” นายอาคมกล่าว

รมว.การคลังยังกล่าวถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ต้องดูในจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากเศรษฐกิจฟื้นตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงสามารถทำได้ แต่หากอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ การใช้จ่ายของประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จนทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือผ่านมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ โดยในวันที่ 11 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการเสนอมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่กำลังเดือดร้อนเพิ่มเติมด้วย

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลงว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก  ตระหนักถึงผลกระทบของลูกค้าประชาชน โดยนโยบายดอกเบี้ยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับการดูแลลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม เราหยุดหรือฝืนระบบไม่ได้ การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะพยายามชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะมากน้อยและจะนานแค่ไหนคงต้องดูแบบช็อตต่อช็อต ดูโครงสร้างทางการเงินของแต่ละธนาคาร ซึ่งการประชุม กนง.ยังเหลืออีก 2 ครั้งจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งจากนี้จนถึงสิ้นปีมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25-0.50% ต่อปี ทั้งนี้ สมาคมและธนาคารจะติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหน้าผาเอ็นพีแอล

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ยืนยันตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น