ไฟเขียวไฟเซอร์ ฉีดเด็ก6ด.-5ปี ป่วยหนักลดลง

ไทยติดเชื้อใหม่ นอน รพ. 2,062 ราย ดับเพิ่ม 28 คน ป่วยหนักลดเหลือ 785 ราย ภาพรวมอัตราครองเตียงลดลง อย.ไฟเขียว "วัคซีนไฟเซอร์" ฉีดเด็ก 6 เดือน-5 ปี กรมการแพทย์เจ๋ง! เปิดตัวเครื่องตรวจโควิดด้วยลมหายใจ แม่นยำใกล้เคียง RT-PCR เตรียมใช้งานประชุมผู้นำเอเปกเดือน พ.ย.

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,062 ราย โดยเป็นผู้ป่วยในประเทศทั้ง 2,062 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,415,826 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,100 ราย หายป่วยสะสม 2,420,827 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 17,831 ราย เสียชีวิต 28 ราย เสียชีวิตสะสม 10,411 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 785 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 386 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 14% ถือว่าลดลงต่อเนื่อง ภาพรวมผู้ป่วยเฉลี่ยรายวัน ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตเริ่มมีทิศทางลดลง

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ วันที่ 23 ส.ค.2565 ฉีดได้ 33,255 โดส สะสม 142,515,148 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 57,227,694 โดส คิดเป็น 82.3% เข็มสอง 53,670,662 โดส คิดเป็น 77.2% และเข็มสามขึ้นไป 31,616,792 โดส คิดเป็น 45.5% สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็มสามแล้ว 6,397,556 โดส คิดเป็น 50.4% ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มแรก 3,291,532 โดส คิดเป็น 63.9% และเข็มสอง 2,395,127 โดส คิดเป็น 46.5%

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า วันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวิชาการ อย. ได้มีมติอนุมัติตามที่ไฟเซอร์ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน-5 ขวบ ฝาสีม่วงแดง เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีรายงานว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 80.3% ทั้งนี้ สูตรดังกล่าวจะฉีดขนาด 3 ไมโครกรัม ทั้งหมด 3 เข็ม หลังฉีดเข็ม 1 เว้นระยะห่าง 3 สัปดาห์ แล้วฉีดเข็ม 2 จากนั้นเว้นระยะอีก 8 สัปดาห์จึงฉีดเข็ม 3 โดยวัคซีน 1 ขวด มี 10 โดส ทั้งนี้ กรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดเด็กโตจะฉีดขนาด 10 ไมโครกรัม ส่วนผู้ใหญ่ฉีด 30 ไมโครกรัม

ที่โรงแรมมิลเลนฮิลตัน รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม พร้อมด้วย รศ.ดร.ภก.กอบธัม สถิรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยการพัฒนานวัตกรรมตรวจโควิดด้วยลมหายใจว่า เป็นการนำเครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยลมหายใจมาพัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่องตรวจโควิดด้วยลมหายใจ โดยมีการพัฒนามาถึง 10 เวอร์ชั่น ตลอด 3 ปีของโควิดระบาด ซึ่งกลไกการตรวจวัดใช้แบบเดียวกันกับการตรวจน้ำตาล คือตรวจหาก๊าซในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อติดเชื้อโควิด ทั้งอะซิโตน ที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน, คาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะต้องมีค่ามากกว่าปกติ, เบนโซอิก และมีการเปรียบค่าแปลผลกับการตรวจ RT-PCR พบว่ามีความไว 100% ความแม่นยำ 97% สำหรับลักษณะการตรวจ เพียงเป่าลมหายใจลงในถุงพลาสติก จากนั้นนำท่อมาต่อเชื่อมกับเครื่องเพื่อแปลผลภายใน 5 นาที

รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้เครื่องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถตรวจหาโควิดในลมหายใจได้ดียิ่งขึ้น และคาดจะนำมาใช้ในการจัดการประชุมเอเปกในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากขณะนี้การพัฒนาในส่วนของซอฟต์แวร์มีความคงที่ เหลือเป็นระบบคีย์ออส ที่จะเชื่อมกับฐานข้อมูลของบุคคล โดยคาดว่าเครื่องตรวจวัดโควิดด้วยลมหายใจนี้จะเหมาะสำหรับใช้ในงานประชุมสัมมนา หรือสถานศึกษา เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน และมีต้นทุนแค่ 10 บาท/คน และเครื่องนี้มีต้นทุน 300,000 บาท ปัจจุบันมี 20 เครื่องแล้ว ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกให้ความสนใจพัฒนา มีแล้วในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ จีน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง