เร่งซื้อ‘แพกซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์’

รัฐบาลใจชื้น เปิดประเทศ 7 วันนักท่องเที่ยวทะลัก แถมส่วนใหญ่ปลอดเชื้อโควิด ททท.คาด 2 เดือนสุดท้ายแห่เข้าเดือนละ 3 แสน ขณะที่ "บิ๊กตู่" ปลื้มสื่อนอกตีข่าวไทยฉีดวัคซีนอันดับ 18 จาก 184 ประเทศทั่วโลก พร้อมสั่ง สธ.เร่งเจรจาซื้อยารักษาโควิดชนิดกิน “แพกซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์” ด้านกรมการแพทย์สำทับข่าวดีจ่อนำเข้าไทยได้ช่วงต้นปีหน้า

เมื่อวันจันทร์ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากเปิดประเทศมาแล้ว 7 วัน รัฐบาลประเมินว่าสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้ตรวจพบเชื้อโควิดเพียง 15 คน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ประชาชนและนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นต่อการเปิดประเทศและแนวทางอื่นของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ที่มีเสียงตอบรับเป็นอย่างดี

“ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวนั้น ททท.คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 300,000 คน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ประเทศและกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศมีมากขึ้น และราคาสินค้าก็จะปรับตัวดีขึ้นอย่างเหมาะสม” นายธนกรระบุ

นายธนกรกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พอใจการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในไทย ซึ่งมีสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่มีจำนวนลดลงอยู่ในหลักพัน ยอดผู้เสียชีวิตต่ำกว่าร้อยติดต่อกันหลายสัปดาห์ และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด ข้อมูลจากเว็บไซต์บลูมเบิร์ก ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ระบุความคืบหน้าการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในประเทศต่างๆ 184 ประเทศทั่วโลกว่า ขณะนี้ทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 7,200 ล้านโดส โดยประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน โดยประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากที่สุดได้แก่ จีน, อินเดีย, สหรัฐอเมริกา, บราซิล และอินโดนีเซีย

นายธนกรระบุว่า ขณะนี้ยอดการฉีดวัคซีนสะสมของไทยมีกว่า 80 ล้านโดสแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 คิดเป็น 65.44% ของประชากรไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้ด้วยอัตราการฉีดประมาณ 6-8 แสนโดสต่อวัน ทำให้บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าหากไทยฉีดด้วยความเร็วระดับนี้ต่อไป จะสามารถฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสให้ครอบคลุมประชากร 75% ได้ภายใน 1 เดือน สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศแบบปลอดภัย (Smart Entry) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากรัฐบาลจะดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีนให้คนทุกกลุ่มในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอาการติดเชื้อรุนแรงและป่วยหนัก และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อแล้ว นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดติดตามเจรจาเพื่อสั่งซื้อยารักษาโควิด-19 ทั้งแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ และโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัทเมอร์ค ที่ช่วยลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยได้รับยารักษาโควิด-19 ที่มีการพัฒนาเป็นคิวแรกๆ

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ แถลงข่าวยารักษาโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดว่า ยาทั้ง 2 ตัวเป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน เพื่อไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อไวรัสเข้ามาในร่างกายและจับกับตัวรับในร่างกาย ก็จะพยายามเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วยการจำลองตัวเอง

นพ.อรรถ​สิทธิ์​กล่าวอีกว่า จะเห็นว่ายา 2 ตัวมีประสิทธิผลในการช่วยไม่ให้ระดับความรุนแรงถึงขั้นต้องนอน รพ.ได้ทั้ง 2 ชนิด ไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับยาทั้งแพกซ์โลวิดคู่กับริโทนาเวียร์ และผู้ที่ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ ขณะที่ยาโมลนูพิราเวียร์ใช้กรณีไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย ส่วนยาแพกซ์โลวิดใช้เฉพาะโรคโควิด-19 และทั้ง 2 ตัวสามารถใช้ได้กับไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

“กรณีราคานั้นยังพูดยาก เพราะยาตัวใหม่ยังไม่ทราบว่าจะมีราคาเท่าไหร่สำหรับยาแพกซ์โลวิด ส่วนโมลนูพิราเวียร์นั้นการขายในประเทศกำลังพัฒนาอาจจะมีความแตกต่างกันได้” นพ.อรรถสิทธิ์กล่าว

นพ.อรรถสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทม์ไลน์การนำยาแพกซ์โลวิดเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น กรมการแพทย์ได้มีการหารือกับบริษัทไฟเซอร์ เกี่ยวกับข้อมูลยาและการวิจัยตั้งแต่เดือน ส.ค.64 ตอนนั้นผลวิจัยยายังไม่ออก หลังคุยข้อมูลเบื้องต้นและมีการลงนามรักษาความลับไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ต่อมาเดือน ต.ค.มีการหารือเป็นรอบที่ 2 เกี่ยวกับความก้าวหน้าโครงการวิจัย และ ณ ปัจจุบันผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นออกมาแล้ว

“จะมีการหารือร่วมกันรอบที่ 3 ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เกี่ยวกับความเป็นไปได้กับการจัดหายามาใช้ ประมาณการว่าบริษัทไฟเซอร์น่าจะยื่นขออนุญาตกับ FDA อเมริกาในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะมีความก้าวหน้าในการจัดหายาแพกซ์โลวิดเพิ่มขึ้น จะนำข้อมูลมาแจ้งต่อไป ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์นั้น FDA อเมริกากำลังพิจารณา คาดว่าหากผ่านการขึ้นทะเบียนเรียบร้อย น่าจะมีการนำเข้ามาในประเทศไทยราวช่วง ธ.ค.64 ต้นปี 2565” นพ.อรรถสิทธิ์ระบุ

นพ.อรรถสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ยา 2 ตัวจะใช้ได้ดีในคนที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง เป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง อาทิ โรคตับ, โรคไต, โรคหัวใจ, เบาหวาน, อ้วน เป็นต้น ในผลการศึกษายังไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง ส่วนข้อห้ามใช้นั้นเหมือนกับยาทั่วๆ ไป คือยังไม่แนะนำในคนที่มีความผิดปกติของตับรุนแรง, ไตรุนแรง, เอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ เนื่องจากยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มนี้ ส่วนเบื้องต้นประมาณการว่าประเทศไทยจะต้องใช้จำนวนเท่าไหร่นั้น โดยการคำนวณจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เช่น 1 หมื่นรายต่อวัน คาดว่าจะมีกลุ่มเสี่ยงต้องใช้ยานี้ประมาณ 10% หรือ 1,000 คนต่อวัน

เมื่อถามว่ายา 2 ตัวนี้มีความแตกต่างจากยาฟาวิพิราเวียร์ที่ประเทศไทยใช้รักษาผู้ติดโควิด-19 อยู่ตอนนี้อย่างไร นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์เป็นการศึกษาในผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ แต่ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ใช้รักษาไวรัสตัวอื่นมาก่อน เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จึงนำมาใช้รักษาผู้ปวยโควิด-19 และได้ผล

ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ว่า ทิศทางการพบเชื้อและการเสียชีวิตลดลงทั้งที่มีมาตรการผ่อนคลาย โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,592 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,871 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,743 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 128 ราย มาจากเรือนจำ 711 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,975,591 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,495 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,857,463 ราย อยู่ระหว่างรักษา 98,425 ราย อาการหนัก 1,997 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 441 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 39 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 15 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 28 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน จ.ยะลา 5 ราย

“ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 19,703 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 พ.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 278,059 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 80,499,612 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 250,610,260 ราย เสียชีวิตสะสม 5,064,584 ราย" พญ.อภิสมัยระบุ

เธอระบุด้วยว่า แม้ช่วงนี้จะมีมาตรการผ่อนคลาย แต่ขอให้ประชาชนระมัดระวังตัวตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากดูการคาดการณ์การติดเชื้อหลังประเทศในฉากทัศน์สีเขียว กรณีประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี พบว่าปัจจุบันตัวเลขต่ำกว่าฉากทัศน์ดังกล่าว แต่ยังขอให้ประชาชนเข้มงวดมาตรการเช่นเดิม เพราะหากปล่อยปละละเลยจะทำให้ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นไปเป็นจำนวนหลายหมื่นเหมือนก่อนหน้านี้ได้

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับมาตรการเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-7 พ.ย. มีผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งสิ้น 22,832 คน พบผู้ติดเชื้อ 20 คน คิดเป็น 0.09% ประเทศที่เข้ามามากสุดผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่ เยอรมนี 2,666 คน รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 2,665 คน, สหราชอาณาจักร 1,475 คน, ญี่ปุ่น 1,449 คน และเกาหลีใต้ 987 คน

“โดยกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามตัวเลขดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมขอเน้นย้ำกับประชาชนว่า ผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรแบบไม่กักตัว ได้รับอนุญาตเข้ามาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงทางสาธารณสุข เป็นการเปิดประเทศในสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ แต่ขอให้ภาครัฐ ผู้ประกอบการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด” พญ.อภิสมัยระบุ

เมื่อถามถึงกรณีที่พบผลตรวจ ATK เป็นผลบวกลวงที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร ศบค.มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การตรวจ ATK ตรวจถี่หรือบ่อยแค่ไหน ตรวจวิธีใด ขอให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งสามารถลงรายละเอียดได้แตกต่างกันในแต่ละอำเภอ แต่ละพื้นที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการที่ 3 ของตราด

รัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดตราด เพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย! เศรษฐาห่วงใยสุขภาพประชาชน

นายกฯ ห่วงใยสุขภาพพี่น้องประชาชนจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนทางตอนบนของประเทศไทย ช่วง 3 - 7 พ.ค.นี้