คนไทยหนุนสภา เลิกดอกเบี้ยกยศ. แต่ค้านล้าง‘หนี้’

ประชาชน 55% หนุนยกเลิกเก็บดอกเบี้ย กยศ. ชี้เป็นการช่วยลดภาระ พร้อมหนุนโละเบี้ยปรับผิดนัด แต่กลับไม่เห็นด้วยหากจะล้างหนี้ทั้งหมด อ้างจะทำให้ประชาชนขาดความรับผิดชอบ!

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “หนี้ กยศ.ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ หรือยกเลิกหนี้” ทำการสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง

โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อมติของสภาผู้แทนราษฎร ในการยกเลิกเก็บดอกเบี้ยผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พบว่า ตัวอย่าง 55.18% ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. เป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะที่บางส่วนระบุว่าเป็นการช่วยลดภาระสำหรับผู้ที่ตกงานหรือว่างงาน รองลงมา 18.22% ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการให้โอกาสกับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถเข้าถึงการศึกษา และการกู้ยืมเงินจาก กยศ. ไม่ควรมีการเก็บดอกเบี้ย, 17.61% ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการทำให้เด็กรุ่นใหม่ขาดวินัยทางการเงิน ขาดความรับผิดชอบ และไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ได้ชำระหนี้หมดแล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า การยกเลิกเก็บดอกเบี้ยอาจทำให้ กยศ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และ 8.99% ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้ที่จ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยครบแล้ว และผู้กู้ยืมเงินต้องมีความรับผิดชอบกับหนี้ที่ตนเองก่อขึ้น

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อมติของสภาผู้แทนราษฎร ในการยกเลิกการคิดเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. พบว่า 42.76% ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะเป็นการช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. เป็นการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่กำลังว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย รองลงมา 23.32% ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะควรทำตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ทำให้ผู้กู้ยืมเงินขาดวินัยในการชำระหนี้, 19.06% ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่หมุนเงินไม่ทัน ขณะที่บางส่วนระบุว่าการคิดดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้เป็นการซ้ำเติมผู้กู้ที่มีรายได้น้อย, 14.48% ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะผู้กู้ยืมเงินควรมีความรับผิดชอบ ควรปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้สัญญาการกู้ยืมเงิน ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่เป็นธรรมกับผู้กู้ยืมเงินที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนด และ 0.38% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเรียกร้องให้ล้างหนี้ (ยกเลิกหนี้) ของผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. พบว่า ตัวอย่าง 59.91% ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนขาดความรับผิดชอบ อาจทำให้เกิดปัญหาและความวุ่นวาย เช่น ผู้กู้ยืมเงินที่ชำระหนี้ครบแล้วจะได้รับเงินคืนหรือไม่ รองลงมา 16.62% ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เศรษฐกิจไม่ดีถึงไม่ยกเลิกหนี้ให้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้อยู่ดี, 14.48% ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะในช่วงที่ผ่านมา กยศ.มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม การลดเบี้ยปรับ เป็นต้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินควรทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้, 8.08% ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือด้านการศึกษา และเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่มีรายได้น้อย และ 0.91% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับประโยชน์ของ กยศ.ต่อการให้โอกาสทางการศึกษากับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พบว่า 84.53% ระบุว่ามีประโยชน์มาก รองลงมา 13.72% ระบุว่าค่อนข้างมีประโยชน์, 0.76% ระบุว่าไม่ค่อยมีประโยชน์, 0.69% ระบุว่าไม่มีประโยชน์เลย และ 0.30% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายสุดเมื่อถามถึงความเกี่ยวข้องกับ กยศ.ของประชาชน พบว่า 61.28% ระบุว่าไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ กยศ. รองลงมา 21.95% ระบุว่ามีลูก/หลานในการปกครองที่เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.,  9.83% ระบุว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. ที่ยังชำระคืนไม่หมด, 4.88% ระบุว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. ที่ชำระคืนหมดแล้ว,  1.75% ระบุว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. ที่กำลังศึกษาอยู่, 0.23% ระบุว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. ที่อยู่ระหว่างการเจรจาแก้หนี้ และ 0.08% ระบุว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องจาก กยศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง