เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีแฟนเพจเฟซบุ๊ก “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” ได้โพสต์ข้อความจดหมายเปิดใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า เรื่องนี้ไม่มีนัยทางการเมือง ไม่ได้เป็นการตัดพ้อหรือน้อยใจแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นกลยุทธ์ในการสื่อสารกับประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประวิตรก็ยืนยันกับสมาชิกพรรคพลังประชารัฐในหลายวาระว่าเราจะขับเคลื่อนการเมืองต่อ เข้าสู่การเลือกตั้ง ทํางานเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชนในนามพรรคพลังประชารัฐต่อไป ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังมีความเข้าใจกันดีเหมือนเช่นที่ผ่านมา
“พี่น้อง 3 ป.ก็ยังพูดคุยกัน รักกัน ทํางานร่วมกัน เพื่อพัฒนาบ้านเมืองของเราต่อไป ไม่มีปัญหา ที่สําคัญอยากจะให้เราเข้าใจเรื่องที่เป็นกลยุทธ์การสื่อสารถึงประชาชนของ พล.อ.ประวิตร ผ่านเฟซบุ๊ก “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” เท่านั้น ก็ขอให้ผู้สนับสนุนช่วยกันติดตามฟอลโล เพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวและเรื่องราวดีๆ ที่ พล.อ.ประวิตรและพรรคจะนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่องด้วย” นายชัยวุฒิกล่าว
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับ พล.อ.ประยุทธ์ และส่วนตัวเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้ทำเอง
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ พรรคเพื่อไทย วางแผนจะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.อีกล็อต โดยเป็นเขตที่ลงตัวผู้สมัคร แต่ยังไม่ประกาศครบทั้งหมดทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง เพราะมีหลายเขตหลายพื้นที่ที่ยังไม่ลงตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ส่วนดาราสาวนางร้าย พรีเซนเตอร์หวยออนไลน์ชื่อดังที่มีกระแสข่าวจะมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.นั้น ยังไม่มีการเปิดตัว โดยจะไปเปิดตัวรอบท้ายสุดของพรรค
ขณะที่การเปิดตัวว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย พรรควางแผนที่จะเปิดตัวเอาไว้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม โดยจะส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีครบทั้ง 3 คน แคนดิเดตที่ชัดเจนแล้ว 2 คนคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน สำหรับนายเศรษฐา ก่อนหน้าเริ่มเปิดตัว ผ่านสื่อเกี่ยวกับแนวคิด มุมมองต่อปัญหาปากท้อง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในระยะหลังๆ นายเศรษฐา เริ่มเข้ามามีบทบาทภายในพรรคเพื่อไทยมากขึ้น ได้เข้ามาประชุมร่วมกับแกนนำพรรคที่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการเมืองของพรรคอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่ยังรอเวลาเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนอีกครั้ง
แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย ยังไม่ตกผลึกระหว่างนายชัยเกษม นิติสิริ กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ว่าท้ายที่สุดแล้วคณะกรรมการผู้มีอำนาจในพรรคจะตัดสินใจเลือกใคร เพราะต่างคนต่างมีข้อดี ความถนัดความเชี่ยวชาญคนละแบบ ถ้าเป็น นพ.ชลน่าน อาจช่วยลดกระแสกดดัน ถูกตั้งคำถาม ที่สมควรมอบตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ให้กับหัวหน้าพรรค ที่มีบทบาทขับเคลื่อนงานในสภา แต่ถึงแม้มีการเลือกนายชัยเกษมให้เป็นแคนดิเดต ถึงจะถูกตั้งคำถามตามมาบ้าง แต่เชื่อได้ว่าคงไม่น่าส่งผลกระทบต่อพรรคมากนัก เพราะพรรคไม่ได้มีประเพณีปฏิบัติเหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะมอบแคนดิเดตนายกฯ ให้กับหัวหน้าพรรค สมัยการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยทั้ง 3 คนก็ไม่มีใครเป็นหัวหน้าพรรคเช่นกัน
แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย
การจัดวางแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค จะไม่มีการจัดวางอันดับ 1-3 ขั้นตอนการเสนอชื่อแคนดิเดตเพียงหนึ่งเดียวไปให้ ส.ส.โหวตในสภานั้น ยังต้องพิจารณาตามสถานการณ์หลากหลายปัจจัยในวันข้างหน้า ที่ต้องมีการมาหารือร่วมกันว่าพรรคเพื่อไทยจะเคาะใครให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค ให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา แต่เวลานี้ต้องทำเป้าหมายให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายให้ได้มากกว่า 253 เสียงเสียก่อน
ส่วนการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯหนึ่งเดียวไปแข่งขันในสภา ยังต้องหารือให้ตกผลึกทั้งกระบวนการในพรรค พรรคพันธมิตรทางการเมือง พร้อมกับประเมินกระแสการเมืองทั้งในสภา นอกสภา แล้วค่อยนำมาประเมินสถานการณ์ในวันนั้นอีกครั้ง ที่อาจเป็นไปได้ทั้งเสนอชื่อแคนดิเดตนายกในพรรคเพื่อไทย หรือแคนดิเดตนายกฯ พรรคพันธมิตรการเมืองไปชิงชัยในสภา
มีรายงานอีกว่า วันที่ 15 ม.ค. นายเศรษฐาอาจจะเดินทางไปกับคณะ น.ส.แพทองธาร และ นพ.ชลน่าน แกนนำพรรค รวมทั้ง ส.ส.อีสานหลายจังหวัดที่เดินทางไปทำกิจกรรมการเมืองในนามครอบครัวเพื่อไทยที่ จ.อุดรธานีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โปสเตอร์หาเสียงของพรรคซึ่งเริ่มทยอยติดตามถนนสายต่างๆ ทั่้วประเทศนั้นใช้ภาพ น.ส.แพทองธารเพียงคนเดียว จึงคาดหมายว่าสุดท้ายแล้ว 1 รายชื่อที่จะเสนอกับสภานั้นคือ น.ส.แพทองธาร
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์กรณี ส.ว.ยอมรับว่ากำลังศึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี ว่า กรณีนี้แม้จะรู้ว่ามีพวกที่คิดสืบทอดอำนาจ คิดว่าคนไทยกินหญ้ากินแกลบอยู่เยอะ แต่ก็ไม่คิดว่าเขาจะกล้าคิดได้ถึงขนาดนี้ ฝ่ายเผด็จการเป็นคนเขียนกติการะเบียบวาระนายกฯ นี้ขึ้นมา การจะต่ออายุคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่าคนเหล่านี้ประเมินคนไทยต่ำ คิดว่าประชาชนเป็นลาโง่ ถ้ากล้าคิดต่ออายุนายกฯ ให้เกิน 8 ปี ตนก็ขอเสนอให้แก้ว่าไม่ต้องกำหนดวาระของ ส.ว. 5 ปี จะอยู่กี่ปีก็เชิญ เพราะไม่เชื่อว่าจะคิดกันได้ขนาดนี้
เมื่อถามว่า เมื่อมีผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้ามา คิดว่า ส.ว.จะแก้ไขเรื่องนี้สำเร็จหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า คิดว่าคงมี ส.ว.ไม่กี่คนที่คิดแบบนี้ เชื่อว่า ส.ว.ที่มีความคิดเป็นผู้เป็นคนยังมีเยอะ แต่เราก็ประมาทไม่ได้ รู้แต่ว่าแค่ ส.ว.อย่างเดียวคงแก้ไม่ได้ ถ้าไม่มีพวก ส.ส.ความคิดวิปริต
ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ท่าน ส.ว.บางคนแค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ อายุ ส.ว.เหลือเพียงอีก 1 ปี กลัวจะไม่ได้กลับเข้ามาเป็นอีก เลยต้องออกแอ็กติ้งโชว์พาว ทั้งๆ ที่ 4 ปีมานี้มีกฎหมายสำคัญระดับชาติทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยและเรื่องดีๆ ที่สังคมนี้ต้องการผ่านการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย สำคัญมาตั้งแต่ต้นปี 62 ไม่เคยเห็นสมาชิกวุฒิสภาลงความเห็นหรือเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ในสภาที่มาจากฝั่งคนที่ไม่ใช่พรรคไม่ใช่พวกตนเองเลย นอกจากการโหวตนายกรัฐมนตรีครบถ้วนทุกคนทั้งวุฒิสภา แต่พอ พล.อ.ประยุทธ์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง กลัวอยู่อีก 2 ปีครบ 8 ปีไม่หนำใจพอ เลยรีบเสนอเอาใจนาย
เหน็บ ส.ว.มีไว้ทำไม
เขากล่าวว่า ส.ว.ลูกศิษย์ก้นกุฏิ คสช.ยังออกมาบอกว่าพรรคเพื่อไทยจะกลัว เลยอยากถามกลับว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องกลัวอะไร 8 ปีมานี้เลิกกลัวกันไปนานแล้ว คนที่ควรกลัวคือ พล.อ.ประยุทธ์ หรือสมาชิกวุฒิสภาบางคน เพราะหากแก้ไขจริง จะให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไปตลอดชาติก็เป็นเรื่องของ ส.ว. แต่คนที่รับกรรมก็คือประชาชนและประเทศชาติ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจจุบัน อาการของประเทศเข้าขั้นโคม่ายังไม่พออีกหรือเพราะฉะนั้นการที่ ส.ว.จะทำอะไรเพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชน ก็อย่าทำเพื่อคนคนเดียวเลย สงสารประเทศไทยบ้าง และที่สำคัญใช่เรื่องหรือ ใกล้เลือกตั้งเหลือประชุมสภาไม่กี่นัดจะมาเสนอเรื่องแบบนี้ส.ว.น่าจะเสนอเปิดไม่ไว้วางใจอภิปราย 152 บ้าง เพื่อชี้แนะรัฐบาลจากประสบการณ์ความสูงวัยของท่าน จะได้สะท้อนให้กับรัฐบาลรู้บ้างว่าในมุมของพวกท่าน ประชาชนจะได้รู้ว่าจ่ายเงินภาษี เงินเดือนมากมายให้กับสมาชิกวุฒิสภาแล้วควรมี ส.ว.ไว้ทำไม
ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ก่อนที่บรรดา ส.ว.จะแก้ไขมาตรา 158 สิ่งที่ ส.ว.ควรทำคือแก้ไขมาตรา 272 ที่กำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ถือเป็นเมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งในสังคม ไม่มีความเป็นธรรม ไม่เคารพเสียงของประชาชน เนื่องจาก ส.ส.ที่ประชาชนเลือกเข้าสู่สภาไม่อาจเอาชนะเสียงของ ส.ว.ที่มีที่มาจากการสรรหาของ คสช.ได้ ทำให้คนไทยไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถได้ ซึ่งเชื่อมโยงกับมาตรา 269 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดย คสช. ออกแบบไว้ให้ ส.ว.มีวาระดำรงตำแหน่งยาวไปถึง 5 ปี เป้าหมายเพื่อให้สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหนึ่ง และสอดรับกับมาตรา 256 ที่บัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากที่สุด ถึงกับขนาดที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติจริง
การที่ ส.ว.มีความพยายามแผ้วถางเส้นทางรอ พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้างว่ามีสิทธิ์ที่จะอยู่ต่อได้เพราะเป็นคนดีนั้น เท่ากับคนกลุ่มนี้ไม่เคารพเสียงของประชาชน ดังนั้นหากอยากจะอยู่ต่อ ต้องไม่เอาเปรียบคนอื่น เข้าสู่อำนาจอย่างเท่าเทียม ซึ่งการที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวน 101 คน ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกมาตรา 272 และแก้ไขมาตรา 159 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. เพื่อให้เฉพาะ ส.ส.เท่านั้นมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง
“คำพูดที่ว่าคนดีอยู่เกิน 8 ปีก็ได้ พยายามแก้ไขกฎหมายต่ออายุอำนาจ จึงสงสัยว่า ส.ว.กลุ่มนี้รับงานมาหรือไม่ เหตุใดจึงเอาแต่เพิ่มความขัดแย้งให้บ้านเมือง ท้าทายสติปัญญาคนไทย ส.ว.กลุ่มนี้มีที่มาจากการสรรหา กินเงินเดือนเท่ากับ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกเข้ามา แทนที่จะทำงานเพื่อประชาชนบ้าง แต่กลายเป็นว่าทำงานตอบสนองต่ออำนาจเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน บ่งบอกว่า ส.ว.บางคนเป็นตรายางหรือไม่” นายชุมสายกล่าว
เพื่อไทยหลอนไปเอง
ขณะที่นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา คนที่สาม กล่าวกระแสข่าวที่คณะกรรมาธิการดังกล่าวเตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องขยายอายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีให้เกิน 8 ปีว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในทางการ หรือในวาระของประชุมของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเลย อาจเป็นแนวคิดของ ส.ว. บางท่าน แต่ในทางการยังไม่ปรากฏในนามของวุฒิสภา
"น่าจะเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในบรรดาเพื่อนฝูงหรืออะไรมากกว่า เพราะทั้ง 2 ท่าน ในเรื่องของความเห็นตอนวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ท่านก็มีความเห็นของท่าน และในทางแนวคิดทางการเมือง ท่านก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะไปจำกัดเวลาดำรงตำแหน่ง เขาดี-ไม่ดีประชาชนก็เป็นคนตัดสินใจอยู่แล้ว เป็นแนวคิดของ 2 ท่านนั้น แต่ยังไม่ได้นำเรื่องนี้ประชุมกันอย่างเป็นทางการ" นายดิเรกฤทธิ์กล่าว
โดยนายดิเรกฤทธิ์ให้ความเห็นต่อการกำหนดวาระในฐานะนักกฎหมายว่า ต้องขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและวัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศ บางประเทศก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดอายุการดำรงตำแหน่งของผู้นำ และมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัย กีดกัน หรือดูหมิ่นประชาชนด้วยซ้ำ เพราะมีระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งแล้ว ไม่มีการสืบทอดอำนาจ ขณะที่บางประเทศซึ่งให้ความสำคัญ เพราะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนหมู่มาก ควรให้เกิดการสร้างผู้นำทางการเมือง ไม่ใช่การผูกขาด
"ผมไม่เห็นความจำเป็นนะที่ต้องไปกำหนด ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้อย่างนี้แล้ว คนที่เห็นต่างก็มีมุมมองว่าอาจเป็นการกีดกัน และไม่เคารพประชาชน ถ้าประชาชนจะเลือกคนดีซ้ำเข้ามาก็เป็นการจำกัดสิทธิ ก็มีมุมแบบนี้อยู่เหมือนกัน จึงมีความเห็นได้ 2 ฝ่าย ซึ่งผมก็มองว่าคงไม่ใช่เรื่องการโน้มเอียง อคติ เชียร์-ไม่เชียร์ใคร ช่วย-ไม่ช่วยใครนะ ผมคิดว่าในสังคมเราก็ต้องรับฟังเหตุผลทุกฝ่าย" นายดิเรกฤทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายดิเรกฤทธิ์กล่าวย้ำว่า หากต้องการเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ โดยหารือกันในรัฐสภา เพราะฝ่ายที่เห็นด้วยให้แก้อาจไม่ได้หวังผลทางการหาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงอย่างเดียว ตนเห็นว่าควรเอาเรื่องความดี ความสามารถของนายกฯ มาเป็นตัวตั้งดีกว่า อย่าใช้เรื่องวาระ 8 ปีมาเป็นประเด็น เพราะเป็นบทบัญญัติที่คนเขียนขึ้นมา คนก็ย่อมแก้ได้ แต่ความเห็นของ ส.ว. 2 คน ไม่สามารถไปสรุปเป็นวุฒิสภาทั้งหมดไม่ได้
นายดิเรกฤทธิ์กล่าวต่อว่า แม้จะมีการเสนอแก้ไขจริง ก็คงแก้ได้ไม่ทันเวลา เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากต้องขอความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของรัฐสภาแล้ว ยังมีเงื่อนไขว่าต้องมีเสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว.และเสียง 20% ของฝ่ายค้านมาร่วมด้วย รวมถึงเมื่อเข้าเงื่อนไขของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ จึงต้องไปทำประชามติทั่วประเทศด้วย ในกระบวนการไม่ได้ง่าย เนื่องจากขั้นตอนการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งนี้ก็บัญญัติขึ้นด้วยเหตุผล และประชามติเช่นกัน ดังนั้น การจะแก้ไข ก็ต้องมีเหตุผลที่ดีพอมาหักล้างให้สภาเห็นด้วย และต้องให้ประชาชนที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญมา มีประชามติให้แก้ไขด้วยเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องยาก
เมื่อถามว่า วาระของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เหลือ 2 ปี จะส่งผลต่อการยกมือเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ครั้งต่อไปหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ตอบว่า ส.ว.เป็นปลายน้ำ ต้องดูกันต่อไปว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ต้นน้ำคงไม่ถึงปลายน้ำ หากประชาชนเลือกตั้งได้ ส.ส.เสียงข้างมาก เสนอใครเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้มีตำหนิเป็นที่ประจักษ์จริงๆ ว่าไม่เหมาะสมกับคู่แข่ง ก็เป็นไปไม่ได้ที่ ส.ว. จะไปเลือกคนที่ประชาชนและคนที่ ส.ส.เสียงข้างมากไม่ได้เลือกมา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พท.ฝัน‘หน่อย’ ชิงอบจ.โคราช ในนามเพื่อไทย
“อนุทิน” ตอกย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ลงเล่นสนามท้องถิ่น เด็กเพื่อไทยยังหวัง
ลุยมาเฟียปราจีนฯ ไร้เงาคนสนิทโกทร
นายกฯ อิ๊งค์พร้อมนั่งหัวโต๊ะทีมเฉพาะกิจปราบมาเฟียตามบัญชาพ่อ
ตีปี๊บโลกยกย่องนายกฯ ‘แพทองธาร’ไปมาเลย์
“รมต.น้ำ” แห่ตีปี๊บ “ฟอร์บส์” จัดอันดับ “แพทองธาร” ติดอันดับ 29
เชื่อ2วัน‘น้ำท่วมใต้’ลดลง
นายกฯ กำชับ ศปช.เร่งบรรเทาน้ำท่วมใต้ 4 จังหวัดยังหนัก คาด 2 วันคลี่คลาย
อิ๊งค์แก้ต่างแทนพ่อ อ้างพูดให้พรรคร่วมช่วยกัน/อนุทินชี้ดรามาจบแล้ว
“อิ๊งค์” แจง "พ่อนายกฯ" พูดถึงพรรคร่วมในภาพกว้าง ต้องช่วยกัน
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"