‘ป้อม’ดอดตัดหน้าตู่ ลาครม.กล่อมบ้านใหญ่ราชบุรี/รบ.ย้ำให้ซักฟอก15-16ก.พ.

“พี่ป้อม” ลาประชุม ครม.ดอดลงพื้นที่ราชบุรีดักหน้า “น้องตู่” ที่จะลงเมืองโอ่งพฤหัสบดีนี้ ถามกลางวงยังรักกันอยู่นะ “พปชร.” เปิดนโยบายแรกบัตรสวัสดิการ 700 บาท/เดือนทำทันที “ประวิตร” ลั่นพร้อมเป็นนายกฯ คนที่ 30 หากประชาชนเลือก เดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้ง พร้อมเปิดอกคุยได้ทุกพรรค เด็กธรรมนัสมั่นใจพรรคลุงป้อมเป็นรัฐบาลแน่ “เขตรัฐ-เอนก” เตรียมย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ “ฝ่ายค้าน” ข้องใจรัฐบาลใจดีเกินเหตุให้เวลาเตรียมตัวอภิปรายมาตรา 152 นานผิดปกติ

เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมนายกฯ มีสีหน้าเรียบเฉย เมื่อสอบถามถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ลาการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในการลาประชุม ครม.ครั้งนี้ ยังมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ, นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์, นายสุนทร ปานแสงทอง รมช.เกษตรฯ และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทยด้วย

ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประวิตรลาประชุม ครม.เป็นการลาป่วยหรือไม่ ว่าวันนี้ท่านไปราชบุรีไม่ใช่หรือ ซึ่งจังหวะนี้นายกฯ ได้หันหน้าไปถามนายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ยืนอยู่ด้านหลังว่าไปหรือเปล่า จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมื่อวานไปแล้ว วันนี้เมื่อเช้าไปหรือเปล่าไม่รู้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตรลา ครม.เพราะอ่อนเพลียจากการลงพื้นที่ จ.ลำปางและพะเยา นายกฯกล่าวว่า “อ๋อ ผมก็เป็นห่วงท่านอยู่แล้วล่ะ ผมเคยเตือนท่านอยู่แล้ว บอกระมัดระวังหน่อยแล้วกันเรื่องสุขภาพ เป็นห่วงท่านแค่นั้นเอง แต่เดี๋ยวท่านก็หาย ท่านแข็งแรงอยู่แล้ว” 

เมื่อถามว่า ไม่ใช่ลาป่วยการเมืองหรือเปล่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบ พร้อมเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า และเมื่อถามว่าหลัง พล.อ.ประวิตรมีจดหมายเปิดใจได้พูดคุยกันหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ส่ายหน้าพร้อมร้อง “อึ้ย” และเมื่อถามว่าเห็นภาพ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย คุกเข่าไหว้ พล.อ.ประวิตร เพื่อจะกลับมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบพร้อมกับเดินเข้าตึกทันที

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนสอบถามเรื่องการลาประชุม ครม.ของ พล.อ.ประวิตร ว่ามาจากการป่วยและอ่อนเพลีย หลังลงพื้นที่จังหวัดลำปางและพะเยา เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ว่า หลังจากนายกฯ ขึ้นห้องทำงานแล้ว ได้ยกหูโทรศัพท์หา พล.อ.ประวิตรทันทีด้วยความเป็นห่วง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประวิตรติดภารกิจต้องไปทำหน้าที่ จึงลาการประชุม โดยสุขภาพของท่านยังแข็งแรง และไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานใดๆ อย่างยิ่ง จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นายกฯ ได้ทราบทำให้นายกฯ สบายใจที่ พล.อ.ประวิตรยังแข็งแรงดีอยู่

ในเวลา 15.00 น. พล.อ.ประวิตรเดินทางมาถึงที่พรรค พปชร. โดยรถตู้เบนซ์ ทะเบียน 8 กฎ 8866 กทม. ซึ่งเป็นรถยนต์ส่วนตัว โดยทันทีที่มาถึง ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า พล.อ.ประวิตรลาประชุม ครม.ไปราชบุรี ซึ่ง พล.อ.ประวิตรตอบกลับสั้นๆ ว่าไปธุระ จากนั้นเดินขึ้นลิฟต์​ไปทันที

ป้อมลงราชบุรีดักหน้าตู่

มีรายงานว่า หลัง พล.อ.ประวิตรลาประชุม ครม. ในช่วงสายวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตรได้เดินทางไปบ้านนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี สามีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร.ที่ราชบุรี โดยมี พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ กรรมการบริหารพรรค พปชร. และ พล.อ.ณัฐ อินทร์เจริญ คณะทำงาน พล.อ.ประวิตร เดินทางมาด้วย โดย พล.อ.ประวิตรได้สวมใส่แจ็กเกตสีขาวของพรรค กางเกงสีดำและรองเท้าผ้าใบ ขณะที่บ้านนายวิวัฒน์ มี ส.ส.ราชบุรีของพรรคอยู่ด้วยทั้งหมด รวมถึงนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ส.ส.ราชบุรี พรรค ปชป. นักการเมืองท้องถิ่นทั้ง ส.จ., ส.ท., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, นายก อบต.ในพื้นที่ จ.ราชบุรี รอต้อนรับ 

ทันทีที่มาถึงบ้านนายวิวัฒน์ พล.อ.ประวิตรได้ทักทายว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ยังรักกันอยู่เปล่านะ แต่ฉันยังรักพวกแกนะ อุตสาห์ลา ครม.เลยนะแกเอ๋ย ซึ่งทุกคนพร้อมใจกันตอบว่ายังรักลุงอยู่ พล.อ.ประวิตรยังได้บอกว่า เห็นว่านายกฯ จะมา จ.ราชบุรี วันพฤหัสบดี ทำให้พวก ส.ส.ตอบกับ พล.อ.ประวิตรไปว่า พวกเราต้องไปรับนายกฯ ตามหน้าที่ ซึ่ง พล.อ.ประวิตรจึงบอกว่า ไปเถอะ ท่านเป็นนายกฯ ไปทำตามหน้าที่

มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดลงพื้นที่ จ.ราชบุรี ในวันที่ 19 ม.ค. ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามี ส.ส.ราชบุรีพรรค พปชร.บางคนจะย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ทำให้การมาครั้งนี้ของ พล.อ.ประวิทย์ ถูกจับตามองว่าเพื่อป้องกันการแย่งชิงนักการเมืองในพื้นที่ จ.ราชบุรี ระหว่าง พปชร.กับ รทสช.หรือไม่ 

ทั้งนี้ ในการประชุม ครม. โดยเฉพาะช่วงพักเบรก ยังคงมีกระแสข่าวความไม่ชัดเจนของกลุ่มสามมิตรว่าจะยังคงอยู่กับพรรค พปชร.ต่อไปหรือไม่ โดยบรรดารัฐมนตรีกลุ่มสามมิตร ทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้จับกลุ่มคุยกันตลอดช่วงดังกล่าว ซึ่งปกติทั้ง 3 คนไม่ได้คุยกันยาวเช่นนี้ และในช่วงทานข้าวกลางวัน พล.อ.ประยุทธ์ยังได้เรียกนายสุริยะมาพูดคุยที่โต๊ะทานข้าวด้วย

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณี ครม.แต่งตั้งสมาชิกพรรค รทสช. 2 คนให้ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ ว่าตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ ยังมีอีกเยอะ และแบ่งไปตามโควตาพรรค ซึ่งสามารถตั้งได้ ไม่มีภาระหน้าที่อะไรมาก ปฏิบัติเป็นไปเท่าที่นายกฯ มอบหมาย ไม่แปลกอะไร ยกตัวอย่างตั้งนายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย ซึ่งจะลงสมัคร ส.ส.ก็สามารถตั้งได้ไม่มีปัญหา ตำแหน่งทางการเมืองเป็นเรื่องของการเมือง อย่าเอามาปะปนกันกับระบบการตั้งข้าราชการปกติ 

ขณะเดียวกัน นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้โพสต์ข้อความในกลุ่มไลน์ผู้บริหารสำนักงานและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ  กำชับให้ติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง และว่าที่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.อย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ รัฐมนตรีลงไปปฏิบัติหน้าที่ ว่านอกจากไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว ได้สุ่มเสี่ยงหรือหมิ่นเหม่ที่จะกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ รวมทั้งว่าที่ผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ด้วย ถ้ามีการมาปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตน ก็ให้คำแนะนำที่ถูกต้องด้วย และหากมีกรณีดังกล่าวให้รายงานอย่างไม่เป็นทางการมาที่ตนเองได้เลย เพื่อใช้ควบคุมและบริหารสถานการณ์ ให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

วันเดียวกัน ยังคงมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคต่างๆ อย่างคึกคัก โดยที่พรรค พปชร.ก่อนที่จะแถลงนโยบายพรรคเพื่อใช้หาเสียง บรรดารัฐมนตรีของพรรคเดินทางมาเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับ กก.บห.พรรค ส.ส. รวมถึงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรค ขณะที่บริเวณด้านหน้าที่ทำการพรรคและโดยรอบพรรค ได้ติดป้ายสโลแกนและป้ายนโยบายบัตรประชารัฐ เพิ่มสวัสดิการผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทจำนวนมาก

พปชร.เปิดนโยบายแรก

ในเวลา 15.30 น. พล.อ.ประวิตรและผู้บริหารพรรคได้แถลงข่าวเปิดนโยบายแรกของพรรค คือนโยบายบัตรประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พรรคเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศมาเกือบ 4 ปี ด้วยอุดมการณ์และนโยบายของพรรคที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เป็นประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ไร้ความขัดแย้ง สังคมสงบสุข แต่สังคมไทยยังคงมีแตกแยกทางความคิด จึงขอยืนยันว่าพรรค พปชร.พร้อมสานสัมพันธ์กับทุกฝ่าย เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง เดินหน้าสร้างพลังแห่งความปรองดองและสามัคคี โดยเราพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยทุกคน โดยประเทศไทยของเราต้องมีแต่ความสงบสุข

“พรรคพร้อมสานต่อนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนที่ได้ทำไว้ และริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ให้คนไทยได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพรรคพลังประชารัฐ ที่จะตอบสนองและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทุกพื้นที่ทุกเพศทุกวัย ด้วยคำว่า พลังสามัคคี ประชามีสุข รัฐพลิกโฉมบริการ”

พล.อ.ประวิตรยังได้ประกาศว่า พร้อมเดินหน้าการจัดทำนโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือนให้ประชาชน และพร้อมเริ่มทันทีหลังจากที่พรรคเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อเพิ่มวงเงินจะนำมาจากงบประมาณในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของงบประมาณปี 2566 หลังจากได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้ หากมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 18 ล้านคน คาดว่าต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 1.5 แสนล้านบาท ส่วนคุณสมบัติผู้รับสิทธิยังคงยึดกรอบเดิมเป็นหลักคือ รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท และนำคนที่เคยได้รับสิทธิตามบัตรมาพิจารณา

ภายหลังแถลงนโยบายเสร็จ พล.อ.ประวิตรได้แสดงสัญลักษณ์มือเป็นเลข 7  จากนั้น พล.อ.ประวิตรและรัฐมนตรีของพรรค ผู้บริหารของพรรค ได้ถ่ายภาพร่วมกัน โดยร่วมกันแสดงสัญลักษณ์มือเป็นเลข 7 เพื่อสื่อถึงนโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาท และชูมือร่วมกันถ่ายภาพ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง และเลขาธิการพรรค กล่าวว่า พปชร.ได้ดำเนินการในเรื่องนโยบายบัตรประชารัฐมาเกือบ 4 ปีแล้ว ซึ่งนโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาท โดย พปชร.จะทำทันทีเมื่อ พปชร.เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ประวิตรได้เป็นนายกฯ คนที่ 30

ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า คำขวัญของ พปชร.คือ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่ เริ่มต้นคือการเพิ่มเงิน 700 บาท ซึ่ง พปชร.จะสานต่อนโยบายเดิม ส่วนนโยบายนี้เรายืนยันว่าหลังเลือกตั้ง พ.ค. แล้ว จากนั้น มิ.ย.ท่านจะได้ใช้เลยทั่วประเทศ ซึ่งนโยบายยังไม่หมด เราจะเปิดไปเรื่อยๆ

ลั่นพร้อมเป็นนายกฯ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามได้สอบถาม พล.อ.ประวิตรว่า พล.อ.ประวิตรพร้อมที่จะเป็นนายกฯ คนที่ 30 หรือไม่ โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ก็เลือกมาดิ ถ้าเลือกได้ก็เป็น ถ้าประชาชนเลือกได้ให้ผมเป็น ผมก็เป็น" ทันทีที่สิ้นคำตอบ บรรดาแกนนำพรรคต่างส่งเสียงเฮกันดังลั่นห้อง

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า พร้อมจับมือกับทุกพรรคการเมืองใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เราก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ได้บอกว่าจะจับมือกับใครเลย ทุกพรรคเรามาคุยกันได้ เปิดโอกาสให้คุยกันได้

ส่วนนายสมศักดิ์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. กล่าวถึงความชัดเจนทางการเมืองของกลุ่มสามมิตรยังอยู่กับ พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าใช่หรือไม่ ว่าก็ทำนองนั้น ส่วนของนายอนุชานั้น คงตอบแทนนายอนุชาไม่ได้

เมื่อถามว่า พรรค พปชร.จะดันให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ คนที่ 30 กลุ่มสามมิตร พร้อมจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจกันอยู่แล้ว

นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. กล่าวว่า กลุ่ม ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยทั้ง 11 คน จะเข้าร่วมงานกับพรรค พปชร. ก่อนวันที่ 7 ก.พ.นี้ โดยไม่ได้รอให้ยุบสภา แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าพรรค โดยปลายเดือน ม.ค.นี้จะประชุมพรรค ศท.เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา หากเข้ามาทำงานในพรรค พปชร. ก็ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในพรรค

“ถึงเวลาแล้วที่คนในพรรค พปชร.ต้องจับมือร่วมกันสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ และมั่นใจว่าจะสามารถคว้าชัยและปักธงในสนามเลือกตั้งได้ตามเป้า โดยเฉพาะพื้นที่เลือกตั้งในความรับผิดชอบของ ร.อ.ธรรมนัสจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 20 ที่นั่ง ทั้ง ส.ส.เขตเดิมและที่ปั้นใหม่” นายบุญสิงห์กล่าว

เมื่อถามว่า  มีแนวโน้มที่พรรค พปชร.จะไปจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือไม่ นายบุญสิงห์กล่าวว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้กับทุกพรรค เพราะ พปชร.วางสถานะจุดยืนทางการเมืองคือการเป็นพรรครัฐบาล แม้อาจจะมี ส.ส.ไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งในสภา แต่เชื่อว่าพรรคจะมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์อาจลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้พรรค รทสช.ในช่วงวันหยุดว่า เป็นไปได้ เพราะเวลาเข้าสู่โหมดเลือกตั้งแล้ว ส่วนจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ด้วยหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่เข้าใจว่าไม่น่า เพราะน่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ อย่างเดียว

นายธนกรยังกล่าวถึงกระแสข่าว นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีต รมช.มหาดไทย และนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว.ทรัพยากรฯ จะร่วมงานกับพรรค รทสช.ว่า มีการติดต่อมารวมถึงนายเอกภาพ พลซื่อ อดีตนายก อบจ.ร้อยเอ็ด และนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ อดีต รมช.คมนาคม โดยได้ประสานให้ทั้งหมดไปพบกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช.แล้วครั้งหนึ่ง และต้องเจอกันอีกรอบหนึ่งภายใน 1-2 วันนี้ ทำให้เราประเมินว่าพรรคจะได้ ส.ส.มากกว่า 80-100 ที่นั่ง

เขตรัฐ-เอนกเข้าค่าย 'รทสช.'

ด้านนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรครวมพลัง โพสต์ในไลน์กลุ่มพรรครวมพลังแจ้งการตัดสินลาออกจากสมาชิกพรรค โดยมีรายงานว่าจะไปอยู่กับพรรค รทสช.ในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ทาบทามนายเอนกบิดานายเขตรัฐให้มาร่วมงานด้วย ซึ่งเบื้องต้นนายเอนกมีท่าทีตอบรับแล้ว โดยจะเข้ามาช่วยงานเป็นทีมงานแบบไม่เป็นทางการ และไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับพรรค  

ขณะที่พรรครวมพลังนั้น เบื้องต้นกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรค เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังต้องการให้พรรคยังมีอยู่ต่อไป จะไม่ยุบไปรวม แต่อยู่ในขั้นตอนตัดสินใจว่าจะส่งคนลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ หลังตอนนี้คนในพรรคที่เป็น ส.ส.ก็เริ่มทยอยออกไปแล้ว

ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของพรรคในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงว่า ตั้งเป้าเป็นพรรคระดับชาติ ต้องมี ส.ส.เขตในทุกภูมิภาค และต้องได้ ส.ส.มากกว่าเดิม โดยยืนยันพรรคจะไม่จับมือกับพรรคทหารจำแลง ทั้งพรรค พปชร.และพรรค รทสช. หรือระบอบประยุทธ์

นายพิธายังกล่าวถึงการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคในวันที่ 28 ม.ค.2566 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่าไฮไลต์คือการโชว์วิสัยทัศน์ทางการเมือง และนโยบายหาเสียง 9 เสา โดยเน้นนโยบายระดับชาติ พร้อมโชว์วิสัยทัศน์เค้าโครงทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการกำหนดวันอภิปรายโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่าวิปรัฐบาลยังไม่ได้สรุปวันมา โดยวิปจะไปหารือร่วมกับทางสภาในวันที่ 25 ม.ค. จากนั้นได้ข้อสรุปอย่างไรจะใช้วันไหนกี่ชั่วโมงค่อยว่ากันเป็นเรื่องของวิป

มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุมได้หารือกันถึงการอภิปราย โดยนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ แจ้งว่า ในวันที่ 25 ม.ค. วิปจะตกลงกัน แต่ในที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย โดยเสียงส่วนใหญ่อยากให้อภิปรายช่วงวันที่ 15-16 ก.พ. ส่วนรายละเอียดเวลาอภิปรายให้วิปไปลงรายละเอียดกันอีกครั้ง โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ได้กล่าวเสริมว่า เรื่องเวลาไปเจรจากัน อย่าให้รัฐบาลเสียเปรียบ เพราะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้าย

ขณะที่นายอนุชากล่าวถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า นายกฯ ได้ขอให้ทุกพรรคการเมือง ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลกำชับสมาชิกของตัวเองเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และลงมติโดยพร้อมเพรียง โดยเฉพาะในวันพฤหัสบดีที่ 19 ม.ค.นี้ เพราะจะมีกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณา

นายวิษณุกล่าวว่า ได้เตือนวิปรัฐบาลไปแล้วว่ามีรัฐมนตรีหลายคนมีภารกิจไปต่างประเทศ ไม่ได้หนี ไม่ได้กลัวอะไร ซึ่ง ครม.ได้แจ้งไปว่าพร้อมตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป ส่วนความคืบหน้ากฎหมายลูก 2 ฉบับนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ลงมา

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. กล่าวอ้างถึงรัฐบาลมี 3 ฤกษ์ในการยุบสภาว่า หัวหน้าพรรคอาจมีข้อมูลว่ามีคนแอบไปดูหมอ ส่วนจะยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 152 หรือไม่ ก็มีสิ่งบอกเหตุว่า ปกติฝ่ายค้านยื่นอภิปรายแล้ว ไม่น่าต้องรอนานเช่นนี้ แต่ครั้งนี้เนิ่นนานเกินปกติ ชวนคิดได้ว่าทำไมจึงนาน รัฐบาลอาจไม่ยอมให้ใครไปอภิปรายช่วงเลือกตั้ง เพราะจะเสียเปรียบ เว้นแต่จะดึงไปเพื่อไม่ให้มีการอภิปรายแล้วเลือกตั้งเลย 

“หากดูงานของรัฐบาลช่วงนี้ก็ไม่มีงานอะไรที่ชุกชุมหนาแน่นที่ต้องเลื่อน ซึ่งเราต้องพูดคุยกันเรื่องเวลาในการอภิปราย ซึ่งจริงๆ แล้วควรได้มากกว่า 22 ชั่วโมง  อยากเปิดอภิปราย 3 วัน เพราะครั้งนี้เป็นการสรุปรวบยอด 4 ปี” นายสุทินกล่าว และว่า ตอนนี้มีผู้อภิปรายและเนื้อหาเรียบร้อยไปแล้ว 80% เปิดอภิปรายพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ได้เลย การอภิปรายจะเน้น พล.อ.ประยุทธ์เป็นหลัก และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็คงหนีไม่พ้น 

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องแปลกที่การอภิปรายครั้งนี้ รัฐบาลให้เวลาฝ่ายค้านเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ในการอภิปรายที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามทำให้ฝ่ายค้านมีเวลาเตรียมตัวน้อยที่สุด เพื่อให้การอภิปรายออกมาไม่มีคุณภาพมาก แต่รอบนี้กลายเป็นว่าฝ่ายค้านมีเวลาถึงเดือนกว่าในการเตรียมตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอาจไม่ได้กังวลกับการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้เท่าไรนัก

“รัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งเปิดตัวเข้าพรรคการเมืองใหม่ กำลังให้ความสนใจกับการสร้างตัวตนทางการเมือง และให้ความสำคัญกับเรื่องเดียวเท่านั้น คือทำอย่างไรให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ จึงไม่แปลกที่จะเกิดข่าวลือขึ้นหนาหูในช่วงนี้ว่าจะเกิดการยุบสภาเพื่อหนีการซักฟอกของฝ่ายค้านหรือไม่ อยากฝากไปถึงรัฐบาล ว่าหากมั่นใจว่าไม่เกี่ยวกับการทุจริตและการบริหารประเทศที่ทำให้เกิดความเสียหาย รัฐบาลไม่จำเป็นต้องกลัวการซักฟอกถ้าไม่ได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา และควรใช้เวทีสภาในการอธิบายตัวเองกับประชาชนด้วย ยิ่งเป็นการอภิปรายที่ไม่มีการลงมติ สุดท้ายประชาชนจะเป็นคนลงมติเอง ก็ได้แต่หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีความกล้าหาญที่เผชิญหน้ากับพวกเรา” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์ยังกล่าวถึงกรณีการทยอยลาออกของ ส.ส.จำนวนมาก ก่อนวันที่ 7 ก.พ. ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 90 วันที่ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองในกรณีไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องประหลาดที่นักการเมืองที่ดิ้นรนอยากเข้าสภา กลับพากันละเลยที่จะทำหน้าที่ของตัวเองในช่วงเวลานี้ ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหา แทนที่ ส.ส.จะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน พิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลับพากันลาออกไม่อยากทำหน้าที่ สนใจแต่ว่าตัวเองจะไปอยู่พรรคไหนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งถ้าจะทำการเมืองแบบนี้ก็ไม่ควรมาเป็นนักการเมือง ต้องขอให้ประชาชนช่วยกันจับตาและจำคนแบบนี้ไว้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล

หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี

’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี