นายกฯสั่งเกาะติดฝุ่นพิษ ห่วงกทม.-16จ.เหนือพุ่ง

นายกฯ สั่งทุกหน่วยเกาะติดสถานการณ์หมอกควันไฟป่าใกล้ชิด  พร้อมปรับมาตรการเข้มงวดขึ้นได้ทันที  "กทม.-16 จ.เหนือ" ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน คาด 18-20 ก.พ.พุ่งอีก เชียงใหม่วิกฤต! อันดับ 1 โลกมลพิษทางอากาศ ประกาศ "ห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด" เริ่มบังคับใช้ถึงสิ้นเม.ย.

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าอย่างต่อเนื่อง ห่วงกังวลค่า PM 2.5 พุ่งสูง กระทบต่อสุขภาพประชาชน ด้วยสถานการณ์ไฟป่าในหลายพื้นที่มีความรุนแรง ทั้งจากภาวะความแห้งแล้งจัด รวมถึงการลักลอบเข้าป่าและจุดไฟเผาป่า โดยการให้ใช้ทุกมาตรการเพื่อลดจำนวนการเกิดไฟป่า และขอความร่วมมือทุกพื้นที่ “งดการเผาทุกกรณี” 89 วัน ระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย.2566 หากฝ่าฝืนมีโทษ และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือ เฝ้าระวัง และจัดการสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ พร้อมแจ้งเตือนและขอความร่วมมือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ขอให้พร้อมปรับแผน และมาตรการให้เข้มงวดขึ้นอย่างทันท่วงที

ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันว่า ปริมาณ PM 2.5 ในประเทศ พบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ  จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.หนองคาย จ.เลย และ จ.หนองบัวลำภู ขณะที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ.66 ส่วนภาคเหนือตอนบน เฝ้าระวัง 16-22 ก.พ.66

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.แก้ไขปัญหาฝุ่นด้วยแนวคิด (Low Emission Zone) ว่า ปี 2564- 2565 กทม.ได้นำแนวคิดเขตควบคุมมลพิษต่ำ ต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เขตปทุมวันเมื่อปี 2564-2565 เป็นเขตนำร่องจัดทำโครงการ "อากาศสะอาดเขตปทุมวัน" โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมควบคุมมลพิษ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ ตรวจสภาพรถที่อาจปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งเสริมการใช้รถสาธารณะพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ จากการประเมินผลโครงการ พบว่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงประมาณร้อยละ 13 ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือจากทุกภาคส่วน และอาจขยายผลไปยังเขตอื่นๆ โดยนำเขตปทุมวันเป็นต้นแบบ

ที่ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจังหวัดลำปาง (วอร์รูม) นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า พร้อมทั้งได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันทุกจังหวัด โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธาน ทั้งนี้ ลำปางยังคงวิกฤต ค่าฝุ่น PM 2.5 วันนี้วัดค่าได้สูงสุด 192 ไมโครกรัม (มคก.) ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เกินค่ามาตรฐานติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ส่งให้สภาพอากาศทั่วไปที่มองด้วยตาเปล่าเห็นเป็นหมอกควันสีเทา มองไม่เห็นภูเขา และประชาชนเริ่มแสบจมูก แสบคอ แสบตา

ทั้งนี้ อธิบดี ปภ.เน้นย้ำให้แต่ละจังหวัดดำเนินการแผนและเพิ่มความเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือหากค่า PM 2.5 ไม่เกินค่ามาตรฐาน ก็ดำเนินการปกติ หากเกิน 51-75 ให้ดำเนินการให้เข้มงวดขึ้น และหากเกิน 76-100 ให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยให้ใช้อำนาจตามหน้าที่ในการควบคุมแหล่งกำเนิด ควบคุมพื้นที่และกิจกรรม หากเกิน 100 ให้แต่ละจังหวัดเสนอมาตรการเพื่อให้นายกฯ พิจารณาสั่งการต่อไป นอกจากนี้ขอให้แต่ละจังหวัดควรพิจารณากระจายติดเครื่องวัดอากาศขนาดเล็ก เพื่อให้การวัดไปในจุดต่างๆ มีความแม่นยำมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ iqair.com จัดอันดับคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก รายงานเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 15 ก.พ. พบความเข้มข้นของ PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ อยู่ที่ 191 เป็นอันดับ 1 ของโลก

ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่เริ่มบังคับใช้ประกาศเรื่องการกําหนดช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.-30 เม.ย.2566 หลังจากที่นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามในประกาศ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการเผา ลดวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รุนแรง และมีภาวะเสี่ยงสูงต่อการสร้างผลกระทบ จึงกําหนดให้พื้นที่ทุกหมู่บ้าน/ตําบล/อําเภอในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขตห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิด เป็นเวลา 75 วัน ยกเว้นพื้นที่ที่ขอบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบไฟดี แต่หากสถานการณ์รุนแรง ก็ต้องงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทันที

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ยังได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้กับทุกพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ปรับเปลี่ยนแผนบริหารจัดการตามความเหมาะสมของสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการให้รางวัลนำแจ้งเบาะแสดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเผารายละ 10,000 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมกันในการเฝ้าระวัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง