บัตรคนจนรอบใหม่1เม.ย.

ครม.อนุมัติบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-ประชารัฐสวัสดิการใหม่ ให้แก่ผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 14.6 ล้านราย เริ่มกระบวนการยืนยันตัวตน 1 มี.ค.66 นายกฯ ขอพรรคร่วมดูแล ปชช.แม้ช่วงปลายเทอมรัฐบาล ชาวสวนยางเฮ! ครม.ไฟเขียวประกันรายได้ชาวสวนยางเฟส 4 กว่า 7.64 พันล้าน พร้อมอนุมัติสินเชื่อ 2 หมื่นล้าน หนุนกิจการไม้ยางเฟส 2

 ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 กุมภาพันธ์    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติบัตรสวัดิการแห่งรัฐในเฟสต่อไป โดยทำเป็นระยะๆ ซึ่งใช้เงินพอสมควร อย่างที่บอกไปแล้วคือเรื่องของการให้ความเป็นธรรมกับผู้มีรายได้น้อยว่ามีกฎเกณฑ์กติกาพอสมควร ใช้เงินอยู่หลายหมื่นล้านบาทในแต่ละครั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์ โดยจะเริ่มใช้วันที่ 1 เมษายน ยืนยันว่าจะดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ถึงแม้จะเป็นช่วงปลายรัฐบาลก็ตาม และได้มีการขอร้องกันในพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคแล้วในทุกๆ เรื่อง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ  พร้อมทั้งอนุมัติงบกลาง จำนวน 9,140.35 ล้านบาท ให้กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม นำมาสมทบกับเงินกองทุนฯ ในการดำเนินการจัดสรรประชารัฐสวัสดิการใหม่ เช่น วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 300 บาท/คน/เดือน  วงเงินค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ   750 บาท/คน/เดือน เป็นต้น

สำหรับรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนโครงการปี 2565 มีรายละเอียด ดังนี้ ผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนโครงการ ปี 2565 ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 14,596,820 ราย ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 5,050,421 ราย ซึ่งผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ อาทิ มีรายได้เกิน 100,000 บาท/ปี มีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาท มีบัตรเครดิต มีวงเงินกู้บ้าน/รถ เป็นต้น ส่วนกรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ปี 2565 โดยประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติและเริ่มกระบวนการยืนยันตัวตน 1 มีนาคม 2566, เริ่มใช้สิทธิ์สวัสดิการสำหรับผู้ลงทะเบียนรอบปกติ 1 เมษายน 2566, กระบวนการอุทธรณ์ (กรณีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ)  1 มีนาคม-1 พฤษภาคม 2566, ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ 20 มิถุนายน 2566, เริ่มใช้สิทธิ์สำหรับผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ 1 กรกฎาคม 2566

สำหรับข้อเสนอ ประชารัฐสวัสดิการใหม่ ที่จัดสรรให้แก่ผู้มีบัตรฯ 1.วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้า : ต่างจังหวัดและ กทม. 300 บาท/คน/เดือน 2.วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม :  80 บาท/คน/สามเดือน 3.วงเงินค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาท/คน/เดือน 4.วงเงินค่าไฟฟ้า ต่างจังหวัดและ กทม. 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน 5.วงเงินค่าน้ำประปา ต่างจังหวัดและ กทม.  100 บาท/ครัวเรือน/เดือน แต่ไม่เกิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า  โครงการปี 2565 วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจะได้รับเท่ากันทุกคน และเพิ่มครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะ 8 ประเภท เช่น รถ ขสมก., รถ บขส., รถไฟฟ้า, รถสองแถว, เรือโดยสาร และขยายสิทธิ์ให้เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ รวมทั้งสามารถเฉลี่ยการใช้วงเงินได้กับทุกประเภท รวมทั้งยังกำหนดให้วงเงินค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ให้เป็นสวัสดิการหลักที่ไม่มีเวลาหมดอายุด้วย  โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดสรรประชารัฐสวัสดิการใหม่ ปีละ 65,413.80 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายประชารัฐสวัสดิการใหม่ให้กับผู้ถือบัตรที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการแล้ว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า สวัสดิการรอบนี้จะได้รับเป็นวงเงินทั้งหมด ไม่มีการกดเป็นเงินสดออกมา และหากใช้สิทธิ์ในแต่ละเดือนไม่หมด ก็ไม่สามารถเอาไปทบในเดือนต่อไปได้ โดยกรณีค่าน้ำค่าไฟก็จะไม่เข้าบัญชีของผู้ได้รับสวัสดิการ แต่กระทรวงการคลังจะทำการจ่ายตรงไปยังการไฟฟ้า เพราะหน่วยการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนจะถูกบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถยืนยันว่ามีการจ่ายจริง

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงิน 7,643.86 ล้านบาท และอนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2 วงเงินกู้ยืม 20,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ 

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 ระยะเวลาประกันรายได้รวม 2 เดือน คือ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และเป็นเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 1.6 ล้านคน รวมพื้นที่สวนยางกรีดได้ 18.18 ล้านไร่ สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านมา 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 วงเงินสะสมโครงการรวม 46,682.88 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้เฉลี่ยปีละ 1.4 ล้านคน

น.ส.รัชดากล่าวด้วยว่า โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2 มีระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติอนุมัติโครงการนี้ เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยางและผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยมากกว่าร้อยละ 50 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อไม้ยาง การดำเนินงานกิจการไม้ยาง การขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และค่าดำเนินการ รวมวงเงิน 604 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง