เฉ่งยับ6กกต.ดูงานตปท. ‘ศรีสุวรรณ’ชงปปช.เชือด

กกต.แจงยิบปมบินดูงานเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 4-24 เม.ย.  อ้างเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการเลือกตั้ง ไม่กระทบกับงานตามแผนปฏิบัติการที่ได้กำหนดไว้แล้ว “ศรีสุวรรณ” จวกยับ ละเลยหน้าที่บินดูงานหลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ทั้งที่ควรอยู่ในประเทศเพื่อดูแลแก้ปัญหาซึ่งมีทุกวัน และยังไม่พิจารณา 2 เรื่องใหญ่ จ่อร้อง ป.ป.ช.ฟันผิดจริยธรรมร้ายแรง

เมื่อวันที่ 13 เมษายน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารชี้แจงการเดินทางไปดูงานการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักรของ กกต.ทั้ง 6 คน โดยระบุว่า การเดินทางไปดูงานจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นไปตามโครงการเตรียมการและตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจ ติดตามการเตรียมความพร้อม รับฟังสภาพปัญหา รวมทั้งการบริหารจัดการการเลือกตั้งในแต่ละประเทศที่มีข้อจำกัดแตกต่างกันตามกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ ลักษณะภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรืออาจนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนการดำเนินการ สำนักงาน กกต.ได้มีการหารือร่วมกันกับกระทรวงการต่างประเทศมาโดยตลอด ถึงวิธีการที่จะทำให้การเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่ต่างประเทศสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด

ต่อมากระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือเชิญ กกต.เดินทางไปเข้าร่วมโครงการเตรียมการและตรวจ ติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานทูตและสถานกงสุลในประเทศต่างๆ ซึ่ง กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ในโอกาสต่อไป จึงได้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่กระทบกับงานตามแผนปฏิบัติการที่ได้กำหนดไว้แล้ว รวมถึงการเดินทางในห้วงเวลาที่จะไม่เป็นภาระในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานทูตหรือสถานกงสุลในประเทศต่างๆ จึงได้กำหนดให้มีการเดินทางในห้วงระยะเวลาวันที่ 4-24 เม.ย.66 โดยแต่ละเส้นทางไม่ได้เดินทางไปพร้อมกัน และแต่ละเส้นทางที่เดินทางประกอบด้วย กกต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นเพียง 4-5 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว กกต.ได้กำหนดแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้สำนักงาน กกต.และหน่วยงานสนับสนุนดำเนินการไว้หมดแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะเดินทางไปต่างประเทศ ก็ยังมีการนัดประชุม กกต.ตามปกติผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และหากมีเรื่องด่วน ก็อาจนัดหมายประชุมเพิ่มเติมจากการประชุมตามปกติก็ได้         สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงการขยายระยะเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ากรณีเกิดปัญหาผู้ลงทะเบียนบางส่วนไม่อาจลงทะเบียนได้ในช่วงเวลา 21.00-24.00 น. ของวันที่ 9 เม.ย.66 เนื่องจากข้อจำกัดของระบบที่มีศักยภาพในการรองรับการเข้าใช้งานลงทะเบียนพร้อมกันเพียง 5,000 คนต่อวินาที ถ้าสูงเกินกว่าจำนวนดังกล่าว จะทำให้ระบบล่าช้า สำนักงานกกต.ได้เรียนให้ กกต.ทราบตั้งแต่เกิดเหตุและต่อเนื่องมาเป็นลำดับ พร้อมทั้งประสานงานกับสำนักบริหารการทะเบียนเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข

โดยได้ข้อสรุปว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวระบบสามารถบันทึกข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียนแต่แสดงผลว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จไว้ ซึ่งระบบสามารถดึงข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียนดังกล่าวมาจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้เกือบทั้งหมด สำนักงาน กกต.จึงเห็นว่าไม่จำต้องขยายเวลาลงทะเบียนออกไป และได้รายงานให้ กกต.ทราบแล้ว

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง จริงๆ กกต.ทั้ง 6 คนควรอยู่ภายในประเทศเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีปัญหาแทบจะทุกวัน โดยเฉพาะช่วงนี้มีปัญหาอย่างน้อย 2 ประเด็นใหญ่ที่ต้องรอการตัดสินใจโดยด่วนของ กกต. คือ 1.เรื่องการขยายระยะเวลาเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งหมดไปตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. แต่ปรากฏว่าระบบลงทะเบียนเกิดล่มในวันสุดท้ายของการขอใช้สิทธิ์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเสียสิทธิ์ในการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า หาก กกต.อยู่ก็สามารถประชุมลงมติขยายเวลาออกไปได้ แต่ กกต.ไม่อยู่ก็หมดสิทธิ์ขยายเวลา  ถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรง

2.ขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยว่าอาจเป็นนโยบายที่ขัดกฎหมายหลายข้อหลายฉบับ ซึ่งก็ต้องให้ กกต.วินิจฉัยว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามมาตรา 57 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 ที่ต้องอธิบายที่มาของเงิน การได้ประโยชน์ เสียประโยชน์อย่างไร เพื่อให้พรรคที่นำเสนอสามารถใช้หาเสียงต่อได้หรือไม่ แต่เมื่อ กกต.ไม่อยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครวินิจฉัย เลขาธิการ กกต.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยได้โดยตรง การที่ กกต.ทั้งหมดไปต่างประเทศ อ้างว่าไปดูงานนั้น ตนว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่กกต.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ น่าจะเข้าข่ายความผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงจะไปร้องต่อ ป.ป.ช.ประมาณวันพุธหน้า เวลา 10.00 น.

นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า ที่บอกว่าสามารถประชุมออนไลน์กันได้ จริงๆ ก็ควรรีบประชุมและมีมติกัน เพราะโดยกฎหมายระเบียบ กกต. ว่าด้วยการจัดการเลือกตั้ง ข้อที่ 118 กำหนดว่าการจัดการล่วงตั้งล่วงหน้า ต้องจัดการให้แล้วเสร็จก่อนวันล่วงหน้า 30 วัน ดังนั้นพอหมดวันที่ 9 เม.ย. ก็ยังมีเวลาอีกตั้ง 1 สัปดาห์ หาก กกต.อยู่หรือมีมติ ก็สามารถขยายต่อไปได้อีกจนถึงวันที่ 14 เม.ย. ทำให้คนเข้าระบบได้

"แต่นี่ กกต.ไม่อยู่ เลขาฯ กกต.ก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แล้วจะมาอ้างว่ามีการประชุมออนไลน์ แล้วทำไมไม่จัดประชุมหรือแสดงให้ประชาชนรับรู้เป็นที่ประจักษ์ว่าได้ดำเนินการแล้วว่ามีการประชุมออนไลน์ มีระบบแต่ไม่ใช้ระบบมันก็ไม่เกิดการประชุมอยู่ดี เพราะถ้ามีประชุมจริงก็ต้องมีมติว่าตกลงจะขยายเวลาลงทะเบียนหรือไม่ แต่นี่เงียบหายไปเลย แสดงว่าไม่มีการประชุมจริง แล้วถ้าจะทำจริง วันนี้วันที่ 13 เม.ย. ก็ยังมีเวลาอีก 1 วัน ซึ่ง 1 วันนี้ก็มีประโยชน์มหาศาลถ้าคนคิดจะไปลงทะเบียนล่วงหน้า" นายศรีสุวรรณกล่าว

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่อง และไม่ทราบว่ามีความจำเป็นที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศมากน้อยแค่ไหน มองว่า กกต.ทุกท่านเป็นผู้ใหญ่ เข้าใจหน้าที่ของตัวเองดี ถ้าจะไปต่างประเทศแล้วหน้าที่ที่เมืองไทยต้องไม่บกพร่อง  ส่วนกระทบกับการพิจารณาปัญหาการลงทะเบียนเลือตั้งล่วงหน้าหรือไม่ เรื่องนี้ อาจมีคณะกรรมการชุดย่อย หรือใช้เทคโนโลยีซูมก็ได้เหมือนกัน เชื่อว่าทุกท่านมีวุฒิภาวะดีแล้ว และเข้าใจถ่องแท้ถึงการรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะองค์กรอิสระ

ขณะที่นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่ กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ทางพรรคก็มีประเด็นที่ต้องสอบถาม กกต. แต่ กกต.ทั้ง 6 คนก็เดินทางไปต่างประเทศกัน  ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุกคนต้องเตรียมตัวในการเลือกตั้ง รวมถึง กกต.ก็ต้องเตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นไม่สมควรที่จะไปต่างประเทศ เพราะทุกคนมีปัญหาที่ต้องสอบถาม กกต.มากมาย และพรรคเพื่อไทยก็มีคำถามที่จะต้องถาม แต่ไม่มีใครอยู่ให้คำปรึกษา

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบความคืบหน้าการเตรียมจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันและติดตามกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิของคนไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535