ธปท.ซัดแจกคนรวย ยี้‘ประชานิยมเหวี่ยงแห’ เพิ่มหนี้-เครดิตปท.เสี่ยง

แบงก์ชาติออกโรงแล้ว “เศรษฐพุฒิ” สะกิดพรรคการเมือง ไม่ควรมุ่งใช้นโยบายประชาชนนิยมแบบหว่านแห ชี้ไม่ใช่ยุคกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นช่วงสร้างเสถียรภาพประเทศมากกว่า รับหากทอดแหแจกโน่นลดนี่ อาจทำภาระหนี้ประเทศพุ่ง สุดท้ายถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ กกต.เตรียมถกนัดแรกหารือนโยบายใช้งบประมาณของ 70 พรรคการเมือง รทสช.เปิดคลิปรถบรรทุก พปชร.เล็งเผยมือเศรษฐกิจใหม่ ปชป.ชูนโยบายไม่สร้างหนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ​(ก​กต.)​ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณานโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน หลัง 70 พรรคการเมืองได้ส่งคำชี้แจงกลับมายัง กกต.​ ว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ในวันที่ 25 เม.ย.ให้พิจารณา ซึ่งจะพิจารณาตามพระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญว่าด้วย​พรรคการเมือง ตามมาตรา 57 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 73 โดยต้องรอการพิจารณาของ กกต.ก่อน ซึ่งการพิจารณาในเบื้องต้นยังจะไม่มีการเชิญหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย

วันเดียวกัน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the Press ตอนหนึ่งถึงนโยบายพรรคการเมืองว่า ธปท.ไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนำมาหาเสียง แต่ในหลักการแล้วหากเป็นนโยบายที่ออกมาแล้วบั่นทอนต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ก็เป็นปัจจัยที่ ธปท.ต้องจับตา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศ ก็มีความจำเป็นต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ 4 เรื่อง ประกอบด้วย  1.เสถียรภาพด้านราคา นโยบายที่ออกมาต้องไม่กระตุ้นให้เงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นมาก เช่น หลายประเทศที่ต้องพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพ ทำให้นโยบายการเงินต้องไปตอบสนองนโยบายการคลังเกินความจำเป็น จนขาดเสถียรภาพในการกำหนดนโยบาย

2.เสถียรภาพด้านต่างประเทศ เช่น การทำนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ไปกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน 3.เสถียรภาพด้านฐานะการคลัง ที่ต้องคำนึงบนพื้นฐานหลายอย่าง ไม่ให้ภาระการคลังสูงเกินไปจนกระทบกับเสถียรภาพและหนี้สาธารณะต่อจีดีพี รวมถึงภาระหนี้ต่องบประมาณต้องควบคุมไม่ให้สูงเกินไป โดยปัจจุบันไทยมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในสัดส่วน 8.5% และคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 8.75% แต่หากทำนโยบายใช้จ่ายที่กระตุ้นภาระหนี้ให้สูงมากกว่า 10% ประเทศก็อาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ และ 4.เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ก็ต้องทำนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้ผิดวินัยการชำระหนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพ

นายเศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นหรือไม่ ก็ต้องไปดูที่รูปแบบ วิธีการในแต่ละนโยบาย แต่ในมุมของ ธปท. เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่จำเป็นต้องกระตุ้น แต่ควรให้น้ำหนักในเรื่องของการดูแลเสถียรภาพ ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการได้ผลในระยะสั้น ส่งผลข้างเคียงให้เกิดภาระหนี้ตามมา จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะเร่งผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

แบงก์ชาติอัดอย่าหว่านแห

 “ในอดีตที่ผ่านมาเราทำกันเยอะแล้ว กระตุ้นโน่นนี่ ก็เห็นว่าได้ผลแค่ชั่วคราว แต่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นด้วย คือหนี้มันโตขึ้น ดังนั้นการทำนโยบายต้องมองให้ครบทั้งระยะสั้นยาว ค่าเสียโอกาส และงบประมาณที่เรามีจำกัด การทำนโยบายประชานิยมในบ้านเราเห็นพูดมานาน แต่ไม่ควรทำมากเกินไป ที่เห็นคือการดูแลตั้งแต่เด็กจนแก่ เพราะอาจแก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุด ดังนั้นควรบูรณาการให้ยั่งยืน จะเสริมการเติบโตระยะยาว ต้องหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน และทำให้มั่นใจว่าช่วยเหลือได้จริง อย่างในต่างประเทศจะเห็นนโยบายช่วยเหลือเด็ก ซึ่งจะมีผลที่ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ข้อมูลที่ใช้ต้องตรงจุด มุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคล ไม่ใช่นโยบายทอดแห ลดค่านู่นนี่ เป็นอะไรที่ไม่เฉพาะเจาะจง ทุกคนได้ประโยชน์ หากนำเงินที่มีจำกัดไปช่วยคนรวยก็ไม่สมเหตุสมผล จึงควรนำเงินไปช่วยเหลือคนจนให้ตรงกลุ่ม เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เงินลงไปคนจนมากกว่าทำเหวี่ยงแหทอดแห” นายเศรษฐพุฒิระบุ

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าวอีกว่า มาตรการพักหนี้ไม่ควรใช้อย่างยาวนาน เนื่องจากภาระของลูกหนี้ไม่ได้ลดลง เพราะดอกเบี้ยยังเก็บตามปกติ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการดังกล่าว เพราะทุกอย่างหยุดชะงักทั้งหมด จึงต้องทำมาตรการแบบวงกว้าง แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายการทำนโยบายพักหนี้แบบทอดแหไม่ดีแน่ ต้องปรับเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจง โดยเน้นปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ ซึ่งไม่ทำให้เกิดการเสียวินัยในการชำระหนี้ และต้องไม่ทำอะไรที่กระทบกับความสามารถในการขอสินเชื่อในอนาคตของลูกหนี้ด้วย ซึ่งต่อไป ธปท.จะออกมาตรการเพิ่มเติมซึ่งจะเป็นภาพใหญ่ โดยเน้นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้อย่างแท้จริง รวมถึงมีการให้ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องและชัดเจนควบคู่กันไปด้วย

นายเศรษฐพุฒิย้ำอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่โหมดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.6% โดยเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวคือท่องเที่ยว ที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 ล้านคน และการบริโภคภาคเอกชนที่บางช่วงอาจชะลอลงบ้าง แต่ในภาพรวมยังขยายตัวได้และยังไม่เห็นสัญญาณลดลง ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ และเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ส่งออกจะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ราว 4% จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 7% รวมถึงมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้เกิน 4%

 “การดำเนินนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังจึงแตกต่างกับในช่วงโควิด-19 ที่ต้องจัดเต็ม แต่ขณะนี้มาตรการที่ออกมาต้องเน้นในการดูแลเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่ากระตุ้นให้ขยายตัว โดยนักลงทุนต่างชาติเองก็ให้ความสำคัญที่สุดในเรื่องเสถียรภาพเป็นหลัก มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายเศรษฐพุฒิระบุ

พปชร.จ่อเปิดมือเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ยังคงมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ในการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ปล่อยคลิปรถบรรทุก แจงนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างชัดเจนจากพรรคการเมืองอื่นๆ คือ สร้างรายได้เข้าประเทศ 4,000,000 ล้านบาท โดยระบุว่าพรรคการเมืองอื่นๆ หาเสียงกับประชาชนว่าจะให้เงิน จะเพิ่มสวัสดิการ จะลดหนี้ ลดค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีพรรคไหนบอกว่าจะหาเงินมาจากไหน หาอย่างไร ถ้าจะมีก็ใช้วิธีตัดงบประมาณของหน่วยงาน โครงการอื่นๆ หรือใช้เงินภาษีแบบอัฐยายซื้อขนมยาย ใช้เงินประชาชนมาหาเสียงกับประชาชน ทั้งนี้คลิปรถบรรทุกเป็นเรื่องต่อเนื่องจากคลิปมือยาวที่เผยแพร่ไปแล้ว

ด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมจัดแถลงข่าวเปิดตัวสมาชิกพรรคคนใหม่ ซึ่งเป็นมือเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.จะมาร่วมเปิดตัวด้วย โดยมือเศรษฐกิจคนดังกล่าวจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งในทีมเศรษฐกิจ และทีมนโยบายของพรรค พปชร.

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่หาเสียงให้ผู้สมัครพรรคในพื้นที่ภาคใต้ ถึงนโยบายที่จะเดินหน้าใน 6 เดือนหลังได้เป็นรัฐบาลว่า นโยบายที่ต้องทำทันทีคือ นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย และคิดว่าเวลา 3 ปีน่าจะทำให้คนไทยฟื้นตัวได้ และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้แล้ว ซึ่งการเดินหน้านโยบายรัฐต้องออกพันธบัตร ตั้งกองทุน แล้วไปเจรจากับเจ้าหนี้ จัดการหนี้สินและดูแลเรื่องดอกเบี้ย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและเจ้าหนี้ ส่วนอีกหนึ่งนโยบายที่ต้องเร่งทำคือ การให้กู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน จากนั้นค่อยกลับมาใช้คืนพร้อมดอกหลังจากนั้น 30 วัน ซึ่งจะทำให้คนไทยมีเงินหมุนเวียนไปสร้างรายได้

“เราต้องลดความวิตกกังวล ทุกคนต้องมีมรดกไว้ให้ลูกหลาน หรือนโยบายกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป เมื่อเสียชีวิตครอบครัวจะได้เงินจากกรมธรรม์ ที่รัฐทำให้จำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท นอกจากนั้นผู้สูงวัยยังสามารถกู้เงินตรงนี้มาดูแลตัวเองได้ 20,000 บาท หากได้รับโอกาสเป็นรัฐบาล นโยบายพวกนี้เราได้เห็นความคืบหน้าใน 6 เดือนแน่นอน แต่ถ้าเป็นนายกฯ จะเร็วกว่านั้น" นายอนุทินระบุ

ปชป.ชูกระตุ้น ศก.ไม่เพิ่มหนี้

ด้านทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้จัดแถลงข่าววาระประเทศไทย ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ปชป.ชูนโยบายกระตุ้น ศก.ไทย โดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ โดย ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต ทีมเศรษฐกิจพรรค ปชป.ระบุว่า พรรคมีเป้าหมายกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของ GDP ไม่น้อยกว่า 5% โดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะผ่านกลไกและมาตรการต่างๆ อาทิ การปรับโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน โดยจะสนับสนุนให้การระดมทุนผ่าน IPO ง่ายขึ้น จะไม่จำกัดขนาด ฐานะการเงิน หรือผลประกอบการ โดยให้เน้นเพียงการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ และจัดให้มีตลาดหลักทรัพย์หลากหลายรูปแบบสำหรับสินค้าทางการเงินหลายประเภท รวมไปถึงสนับสนุน crowdfunding  ให้กระจายลงไปถึง SME กลุ่ม start up และกลุ่มฐานรากที่ได้ปรับเป็นนักธุรกิจแล้ว

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์กล่าวอีกว่า จะเร่งรัดให้สถาบันการเงินเข้าสู่ digitize banking system โดยเร็ว อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย มีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม สามารถลดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระของลูกหนี้และก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ฝากเงิน และจะมีการสนับสนุนจัดตั้ง Post Office and Microfinance Bank เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่กลุ่มฐานรากและ SME ทั่วประเทศ จะพัฒนาประเทศให้เป็น Financial Center

“สนับสนุนการระดมทุนขนาดใหญ่ Infrastructure Fund จากระบบเงินฝากในสถาบันการเงิน ปัจจุบันมีกว่า 18 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินที่ล้นระบบอยู่ไม่ต่ำกว่า 30% หากนำออกมาเพียง 10% สามารถนำไปใช้ลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ พร้อมกับสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ให้กระจายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ให้สิทธิพิเศษจาก BOI เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีส่วนรวมในการผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นนั้นๆ ได้” ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ระบุ

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์กล่าวต่อว่า โครงการธนาคารหมู่บ้านและชุมชนที่จะกระจายลงไปใน 8 หมื่นหมู่บ้าน/ชุมชน ชุมชนละ 2 ล้านบาท นำไปปล่อยกู้แก่คนในชุมชนเพื่อนำไปทำทุนค้าขาย โดยไม่ต้องมีหลักประกันนั้น จะเป็นการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้แคบลง คนที่นำเงินไปฝากจะได้ดอกเบี้ยมากกว่าธนาคารพาณิชย์ ส่วนคนที่กู้เงินก็สามารถกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเสนอให้มีธนาคารหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้ชุมชนและหมู่บ้านตัดสินใจเองได้ แต่จะอยู่ในระบบการควบคุมตรวจสอบ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสินในชุมชนไปดูแลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงิน จึงเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาเหมือนโครงการในอดีตจนกลายเป็นหนี้เสีย

นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายธนาคารหมู่บ้านชุมชนแห่งละ 2 ล้านบาท ไม่ใช่ ธปท.มากำกับดูแล แต่ให้ชุมชนดูแลชุมชน เพราะคนในชุมชนรู้ดีว่าใครน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งหลักคิดนี้พิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในการกำกับดูแลสินเชื่อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเป้าหมายชัดเจนของพรรคและเป็นจุดต่างเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายของพรรคอื่นๆ

 “ของพรรคประชาธิปัตย์จะเน้นใช้เงินน้อย แต่ต้องได้ผลเยอะ เพราะประเทศไทยมีเงินงบประมาณจำกัด เป็นเงินภาษีประชาชน ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ต้องชัดเจนว่าใครเป็นคนได้ประโยชน์ ไม่ใช่หว่านไปทั่ว” นายเกียรติ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง