‘สุชาติ’รับ7ข้อเรียกร้องกลุ่มแรงงาน

“บิ๊กตู่” ยกผู้ใช้แรงงานฟันเฟืองสำคัญพัฒนาประเทศ ขณะที่กลุ่มแรงงานเฮ “สุชาติ” ทอดสะพานรับลูก 7 ข้อเรียกร้อง ด้าน "บิ๊กป้อม" ไม่ตกขบวน ขายฝันลูกข้าวเหนียวต้องรวย-ไม่ต้องเป็นแรงงานอพยพย้ายถิ่น "เพื่อไทย" สับเละ 8 ปีแช่แข็งค่าแรง ตีปี๊บเด็กจบ ป.ตรี 2.5  หมื่น

เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม กล่าวปราศรัยเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ใช้แรงงานทุกคน เผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ต่างๆ

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ผู้ใช้แรงงานทุกคนถือเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ที่ต้องได้รับการดูแลเพื่อยกระดับคุณชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

ในนามของรัฐบาลขอชื่นชมทุกภาคส่วน และขอบคุณผู้ใช้แรงงานทุกคนที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ตลอดจนมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของตน เพื่อเป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการมาโดยตลอด จนทำให้ประเทศของเราเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมทั้งสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤตการณ์ของสังคมโลก” นายกรัฐมนตรีระบุ

ที่ลานคนเมือง เขตพระนคร นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 กล่าวว่า ในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2566 ครั้งนี้ กลุ่ม 15 สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และกลุ่มแรงงานนอกระบบ ร่วมกันจัดงานเพื่อแสดงจุดยืนของผู้ใช้แรงงาน โดยมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อภาครัฐรวม 7 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง 3.ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม 4.ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 5.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุป ในแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงการให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบ ด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

6.เพื่อเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้แก่ลูกจ้าง ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลบังคับใช้โดยเร็ว และ 7.ให้ รมว.แรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2566 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

 “เชื่อมั่นว่าข้อเรียกร้องทั้งหมด 7 ข้อ เป็นการนำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของพี่น้องแรงงาน จะเร่งดำเนินการและติดตามให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานพึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” นายสุชาติระบุ

วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรคมีนโยบายในการยกระดับแรงงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยเรามีเป้าหมายในการยกระดับภาคอีสานให้เป็นแหล่งงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ เกิดแรงงานใหม่ให้คนในพื้นที่ ลูกหลานคนอีสานจะได้ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่ที่อื่นหรือกรุงเทพฯ เพื่อประกอบอาชีพ

 “เพราะเราจะผลักดันนโยบายอีสานประชารัฐ สู่การพัฒนา สร้างเมืองอีสานให้มีเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ และจะเชื่อมโยงระบบขนส่งคมนาคม ที่ครอบคลุมทั้งการโดยสารและขนส่งสินค้า เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อสร้างการค้าการลงทุนทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว  เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม จีน ดังนั้นแรงงานอีสานต้องรวย มีชีวิตที่ดี มีความมั่นคง" พล.อ.ประวิตรระบุ

ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์ยกระดับแรงงานไทยด้วยนโยบายพรรค ระบุใจความว่า เนื่องในวันแรงงาน พี่น้องแรงงานคือแรงขับเคลื่อนสำคัญในเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาโดยตลอด แต่ 8 ปีที่ผ่านมากลับเป็นภาคส่วนที่ถูกละเลย ได้รับผลกระทบสูงสุดจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ คุณภาพชีวิตเปราะบางย่ำแย่ลง จาก 8 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงถูกแช่แข็ง รายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สินฉุดรั้ง ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ นโยบายของพรรคจะเริ่มจากการสร้างฐานที่แข็งแรง พี่น้องแรงงานต้องได้รับการดูแลในทุกมิติ อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำ พรรคเพื่อไทยจะยกระดับรายได้ของพี่น้องแรงงานทั้งระบบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนผ่าน 2 นโยบายหลัก คือ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงศาล รธน. แล้ว! 40 สว. ยื่นถอด 'เศรษฐา-พิชิต' พ้นตำแหน่ง

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ร่วมกันเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลตีปี๊บ! ช่วยลูกหนี้นอกระบบแล้ว 1.4 แสนราย รวมพันล้านบาท

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้อย่างครบวงจรทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ