ม.112เขย่า‘เอ็มโอยู’ ‘พิธา’อ้างทุกพรรคตกผลึกแล้ว‘ชลน่าน’รับพท.เห็นแย้งหลายข้อ

"ก้าวไกล" จับมือ 7 พรรคพันธมิตร ใช้ฤกษ์ครบรอบรัฐประหาร 22 พ.ค.ลงนาม MOU "พิธา" แถลงมั่นใจจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง อ้างทุกพรรคตกผลึกแล้วปม ม.112  "ชลน่าน" บอกต้องรอลงนามก่อนถึงจะพูดได้ว่าจบแล้ว รับพท.เห็นไม่ตรงกันหลายเรื่องในเอ็มโอยูก้าวไกล ระบุแก้ 112 ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ "เลขาฯ ก.ก." ยังวางใจเพื่อไทยไม่มีดีลลับ "บ้านใหญ่ พท.โคราช" ประกาศจอง 2 เก้าอี้ รมต.แล้ว "วิษณุ" แนะพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลใช้ไมตรีจิตแลกใจ ส.ว. "จตุพร" ชี้ถึงทางตันการเมือง เชื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ จุดชี้ขาดอยู่ "กกต.-ศาล รธน." ห่วงม็อบลงถนน

ที่โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ วันที่ 18 พ.ค. เวลา 10.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  พร้อมพรรคพันธมิตรอีก 7 พรรคที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย,  คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และนายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง   แถลงผลการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลประชาชน

นายพิธากล่าวว่า ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการมีจำนวนผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งสิ้น 313 คน รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน ทุกพรรคประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนร่วมกัน ดังต่อไปนี้ 1.ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 2.ทุกพรรคจะทำข้อตกลงร่วมหรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงานร่วมกันและวาระร่วมกันของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พ.ค.ที่จะถึง เพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมือง  เศรษฐกิจ และสังคม 3.ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ

นายพิธากล่าวว่า คณะเจรจาและคณะเปลี่ยนผ่านได้วางแผนไว้หลายรูปแบบว่าในอนาคตจะมีฉากทัศน์แบบไหนเกิดขึ้นบ้าง และฉากทัศน์แบบนี้เราสามารถจะจัดการบริหารสถานการณ์อย่างไร เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่กังวลอะไร ปล่อยให้คณะทำงานที่ทุกพรรคจัดตั้งในการบริหารทั้งเรื่องของจำนวนเสียงที่เหมาะสม การสานต่อในนโยบายที่เราควรจะทำตามที่ได้สัญญากับประชาชนผ่านนโยบายของทุกพรรค ยืนยันว่าคะแนนโหวตในสภาจะผ่าน

"อย่างที่เรียน ถ้าเราไม่มีโรดแมปที่ชัดเจนก็คงจะกังวล แต่ขณะนี้ไม่มีความกังวล เพราะเรามีโรดแมปที่ชัดเจน มีคณะกรรมการที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าเกิดฉากทัศน์ออกมาในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเราได้คาดการณ์ไปก่อนแล้วว่ากรณีนี้จะทำอย่างไรที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของเราสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผมคิดว่า 313 เสียง ณ วันนี้เป็นความปกติของระบบประชาธิปไตยที่เพียงพอ เพราะฉะนั้นในการที่เราจะต้องมานั่งคิด หรือบอกว่าได้ 376 เสียงโดยการที่จะต้องตามหาเสียงเพิ่มเติมยังไม่เป็นประเด็นสำคัญในตอนนี้" นายพิธากล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ให้กรอบเจรจาหาตัวเลขที่สมดุลเพื่อจะทำให้เกิดความแน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และจะลดความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอีก 2-3 เดือน ฉะนั้นไม่ต้องกังวลใจ สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน รวมทั้งยืนยันพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะกลมเกลียว ไม่ปล่อยมือกัน

อ้างทุกพรรคตกผลึก 112

ถามถึงข้อเป็นห่วงในเงื่อนไขการแก้ไขมาตรา 112 นายพิธากล่าวว่า ไม่มีความห่วงใย เพราะเรากำลังจัดทำทั้งเรื่องของคณะกรรมการที่จะใช้เจรจาการเข้าร่วมรัฐบาล รวมถึงคณะที่จะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประชาชนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นขอให้รอรายละเอียดในวันที่ 22 พ.ค.เลยทีเดียว ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 ทุกพรรคตกผลึกแล้ว ไม่มีอะไรน่ากังวลใจ

เมื่อถามว่า จะมีการเชิญพรรคอื่นๆมาร่วมรัฐบาลอีกหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการ ตนมอบอำนาจให้คณะกรรมการดูตัวเลขที่เหมาะสม รวมถึงต้องดูเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย และสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้หรือไม่ นโยบายตรงกัน จุดยืนตรงกัน อุดมการณ์ตรงกันหรือไม่

ซักถึงการส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยกับส.ว.เพื่อโหวตนายกฯ นายพิธากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ เมื่อถามอีกว่ามีความมั่นใจแค่ไหนที่ดึง ส.ว.เข้ามาร่วมโหวต นายพิธากล่าวว่า มั่นใจว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ และเป็นไปด้วยดี มีความคืบหน้าเรื่อยๆ เมื่อถามเพิ่มเติมว่าเริ่มมีส.ว.เสียงแตกจะโหวตหนุนให้จัดตั้งรัฐบาลได้ นายพิธากล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี และต้องขอบคุณ ซึ่งเป็นอาณัติหมายที่ดีพอสมควรที่จะเห็นประเทศไทยหลังจาก 9 ปี สามารถที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยสูงสุด

ถามถึงการจัดสรรปันส่วนเก้าอี้รัฐมนตรี หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า  ภายใต้การนำของตนและหัวหน้าพรรคทุกคน คราวนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องของเก้าอี้รัฐมนตรีซะส่วนใหญ่ เราเอาวาระประชาชนเป็นตัวตั้ง และนำนโยบายแต่ละพรรคมาเป็นตัวตั้ง ซึ่งหลายนโยบายทั้งเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือการกระจายที่ดินก็ดี มีกระทรวงที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ถึง 8 กระทรวง เพราะฉะนั้นเราต้องเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาประชาชนมาเป็นตัวตั้งก่อน และค่อยว่ากันว่าจะมีกระทรวงไหนที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพได้

เมื่อถามถึงความกังวลเรื่องการถูกร้องเรียน นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวล แต่ก็ไม่ประมาท เข้าใจดีว่าเรื่องของการเมืองมีมิติไหนบ้าง ซึ่งเราก็จะพร้อมรับมือกับทุกมิติ เมื่อเราเป็นบุคคลสาธารณะแล้วก็ต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ ขณะเดียวกันถ้ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เราก็พร้อมที่จะเตรียมรับกับผลกระทบที่ได้เกิดขึ้น

ส่วน นพ.ชลน่านยืนยันว่า พรรค พท.จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเป็นรัฐบาลแห่งความหวังและความฝันของประชาชนให้ได้ ส่วนแนวทางที่เราประกาศที่จะเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาล  เรื่องแรกเราไม่ได้เป็นคนเสนอเงื่อนไขเรายกให้เป็นหน้าที่ของพรรคแกนนำเป็นผู้เสนอ ซึ่งขั้นตอนนี้แต่ละพรรคก็ดูว่าอะไรที่เราเห็นว่ารับได้ หรือสมควรปรับแก้ หรือไม่สามารถไปด้วยกันได้ ก็จะพิจารณา

"ร่างดังกล่าวก็ไม่ได้ผูกมัดอะไรมากนัก ก็เปิดโอกาสให้พรรคต่างๆ เสนอ เช่น เรื่องมาตรา 112 ก็อยู่ในเนื้อหาของ MOU ถ้าเราลงนามร่วมกัน นั่นหมายความว่ามันมีข้อตกลงที่สรุปจบแล้ว เสนอให้กับพรรคซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่เราเสนอให้พรรคแกนนำ เพราะฉะนั้นนายพิธาจึงตอบชัดได้ว่าถึงขั้นตอนนี้มันไม่ได้เป็นประเด็นที่เราจะไม่ร่วมกันในกรณีมาตรา 112 เพราะมีข้อตกลงร่วมที่ทุกคนหาทางออกร่วมกันได้" นพ.ชลน่านกล่าว

ฤกษ์ลงนาม MOU 22 พ.ค.

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยยืนยันว่าหลักการของเราได้พูดเป็นสัญญาประชาคมตั้งแต่ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงว่าเราสนับสนุนให้ทุกฝ่ายเดินตามครรลองของประชาธิปไตย เมื่อพรรคก้าวไกลได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง เรายกมือสนับสนุนให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนข้อตกลงในนโยบายต่างๆ นั้น ยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งในการที่จะมานั่งพูดคุยกัน หลังจากวันนี้ก็จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันในการที่จะมานับหนึ่งเพื่อทำนโยบาย ยืนยันว่าการทำนโยบายที่ได้ให้สัญญากับประชาชนสำคัญกว่าการมาแบ่งตำแหน่งกระทรวง

"ประเด็นมาตรา 112 หน้าที่ของพรรคการเมืองทุกพรรคตามรัฐธรรมนูญ จะต้องรักษาชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ไว้ ดังนั้นการที่จะทำอะไรแล้วจะกระทบทำให้สถาบันเกิดความเสื่อมเสีย ทุกพรรคจะต้องปกป้อง ส่วนประเด็นการที่ผู้มีอำนาจมาใช้ประเด็น 112 เพื่อกลั่นแกล้งหรือทำร้ายกัน คงจะต้องต้องมีการมาพิจารณา และมาดูแต่ประเด็นของการที่จะทำให้มาตรา 112 ปกป้องสถาบันได้อย่างดีและไม่เป็นเครื่องมือให้กับใครที่มีอำนาจในการไปทำร้ายคนอื่นขอยืนยันจะต้องปกป้องสถาบัน และไม่ต้องการให้ใครใช้มาตรา 112 ไปทำร้าย" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

จากนั้น นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการเซ็น MOU วันที่ 22 พ.ค.ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ทุกพรรคก็เห็นด้วยที่จะมีการเซ็น MOU และแถลงข่าวในวันที่ 22 พ.ค. อย่างที่ทราบ เพราะเป็นวันครบรอบการรัฐประหารในปี 57

ถามว่า ต้องมีการพูดคุยอะไรเพิ่มหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า มีหลายเรื่อง เพราะแต่ละพรรคมีวาระหลักที่ต้องการผลักดัน เพราะฉะนั้นต้องมาดูว่าอันไหนตรงกัน แม้ไม่ตรงกันแต่ไปด้วยกันได้ก็ต้องคุยกัน รายละเอียดจะมากน้อยแค่ไหนก็ต้องคุยกัน แต่ละพรรคก็ส่งตัวแทนหลักที่จะมาคุยกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงกันก่อนวันที่ 22 พ.ค.

"แต่ละพรรคมีนโยบายที่เยอะมาก เราไม่สามารถยัดทุกอย่างเข้าไปใน MOU ได้ เราพยายามหาจุดร่วมและเป็นประเด็นหลักที่เราเห็นร่วมกัน คงไม่สามารถประกาศทุกอย่างได้ว่าแต่ละพรรคจะทำอะไรบ้าง รัฐบาลจะทำ 100-200 เรื่อง ก็คงไม่ขนาดนั้น" นายชัยธวัชกล่าว

ซักว่า ก่อนจะเซ็น MOU ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ทุกอย่างจะเรียบร้อยดีหรือไม่ เลขาฯ พรรคก้าวไกลกล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อวานก็มีการถกกันอยู่พอสมควรว่าควรจะมีเรื่องไหนบ้าง รายละเอียด รวมไปถึงโครงสร้าง MOU คาดว่าจะจบได้ภายในวันที่ 22 พ.ค. และเราก็เห็นร่วมกันว่าวันที่ 22 พ.ค.เป็นวันดี

เมื่อถามว่า มั่นใจแค่ไหนจะมีดีลลับอะไรเกิดขึ้น เลขาฯ พรรคก้าวไกลกล่าวว่า เราได้ข้อสรุปในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ตนคิดว่าความไว้วางใจ การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ หากมัวแต่คิดอย่างงั้นอย่างงี้ ก็ไม่สามารถจับมือร่วมกันได้ พรรค พท.ก็ยืนยันว่าจะจับมือกับพรรคก้าวไกล ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลจะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ 2 พรรคอย่างปฏิเสธไม่ได้

พท.แย้มเห็นไม่ตรงกันอื้อ

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงข่าวว่า ขณะนี้ตนเห็น MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลทำงานร่วมกันแล้ว โดยพรรคแกนนำหลักเป็นคนยกร่างมา และหากตรงไหนรับไม่ได้เราก็บอกเขาว่าตรงนี้เอาไปปรับแก้นะ ก็จะเป็นการพูดคุยในลักษณะแบบนี้ ข้อมูลประเด็นข้อห่วงใยต่างๆ ก็จะอยู่ใน MOU และได้มีการปรับแก้แล้ว มีบางข้อที่พรรคเพื่อไทยเห็นแย้งเยอะพอสมควร

ถามว่า แบบนี้จะบรรลุข้อตกลงกันหรือไม่ นพ.ชลน่าน​กล่าวว่า ก็ต้องมานั่งพูดคุยกัน เพราะพรรคแกนนำหลักก็เปิดโอกาสให้เติมเต็มแล้วพูดคุยกัน พูดง่ายๆ อย่างเรื่องของการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ก็มีการพูดคุยกันในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่าหากเป็นลายลักษณ์อักษรก็มาเขียนกันใน MOU เท่านั้น ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะกล่าวได้ว่า MOU อาจจะเป็นตัวที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้

เมื่อถามว่า ในฝั่งพรรคเพื่อไทยน่าจะมีการแก้ MOU เยอะใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า เขาส่งแต่เพียงตัวยกร่างมาเท่านั้นเอง และพรรคก้าวไกลเขาก็ไม่ยึดติดว่าต้องเป็นไปในตามนี้ ส่วนการแก้ ม.112 ใน MOU เรื่องนี้ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้ และในร่างของ MOU จากพรรคก้าวไกล ไม่มีการเขียนเรื่องนี้อยู่เลย และใน MOU ไม่ได้ยึดเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักแต่อย่างใด ขณะนี้ MOU ก็ยังเขียนไม่เสร็จ เขาเพียงแต่ส่งให้พรรคเพื่อไทยดูเท่านั้นว่าจะช่วยกันปรับแก้อย่างไร

มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า พรรคได้รับหนังสือจัดทำข้อตกลง MOU จากพรรคก้าวไกลแล้ว ขณะอยู่ในระหว่างนัดหารือกันภายในกันในเร็วๆ นี้ว่าจะหยิบยกประเด็นนโยบายที่สำคัญใดๆ ใส่เพิ่มเติมเข้าไปอย่างไรบ้าง ซึ่งพรรคอื่นๆ ก็ทำในลักษณะเช่นเดียวกัน  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือดังกล่าว พรรคก้าวไกลระบุนโยบายประเด็นต่างๆ ที่จะดำเนินการทันทีเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่นสุราก้าวหน้า เกณฑ์ทหารด้วยระบบสมัครใจ เป็นต้น ส่วนประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้มีการระบุไว้ แต่จะมีการหารือเพื่อหาข้อยุติร่วมกันภายหลัง

"ทุกพรรคการเมืองจะต้องส่งหนังสือที่เพิ่มเติมรายละเอียดแล้วเสร็จส่งกลับมายังพรรคก้าวไกลภายในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการร่วมลงนามข้อตกลง MOU ร่วมกันของทุกพรรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พ.ค.นี้ต่อไป" แหล่งข่าวจากพรรค พท.ระบุ

ที่ จ.นครราชสีมา นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล หรือกำนันป้อ อดีต รมช.พาณิชย์ บ้านใหญ่คนใหม่ของพรรคเพื่อไทยโคราช หัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยโคราช ครอบครัวเพื่อไทยโคราช กล่าวว่า ตอนนี้ว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยโคราชมีมากที่สุดในทุกๆ จังหวัด รวม 14 คน เพื่อจะสร้างโคราชให้เป็นมหานคร และตนคิดว่าเราทำได้ด้วย เพราะเราได้ ส.ส.มาตั้งมากมาย และคิดว่าอาจจะมีรัฐมนตรีว่าการถึง 2 คน

"ปัจจุบันนี้พรรคเพื่อไทยและทีมงานทำได้ก็ถือว่าประชาชนชาว จ.นครราชสีมาช่วยกันผลักดัน ทำอย่างไรให้ ส.ส.ทุกคนจะเป็นทีมงานเปรียบเสมือนที่ จ.สุพรรณบุรี หรือ จ.บุรีรัมย์ แต่วันนี้เราทำได้มากกว่า 2 จังหวัดนี้ เพราะเราได้ ส.ส.เขต 12 คน และบัญชีรายชื่ออีก 2 คน รวมเป็น 14 คน และก็ยังมีที่อื่นผสมมาอีก ผมคิดว่ารวมแล้วเกือบ 20 คน" นายวีรศักดิ์กล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยมีภารกิจเวลา 09.30 น. นายคเณศ ประสาท ธกาล (H.E. Mr. Ganesh Prasad Dhakal) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลประจำประเทศไทย เข้าอำลาในโอกาสพ้นจากหน้าที่ ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า

แนะเอาไมตรีแลกใจ ส.ว.

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของพรรค รทสช.ว่า คิดว่าพรรค รทสช.ไปได้ในอนาคต อาจจะต้องรีแบรนดิ้งพรรค ใช้ความรู้ความสามารถของคนทุกรุ่น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พ.ค. เวลา 16.00 น.พรรคจะมีการประชุม ส.ส.ของพรรคที่ได้รับเลือก 36 คน

นายธนกรกล่าวถึงการตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลว่า ขอฝากให้ ส.ส.หลายคนหยุดพฤติกรรมโพสต์ข่มขู่ ด่าทอกดดัน ส.ว. ตนพูดมา 2 วันแล้วว่าควรหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะท่านจะต้องไปขอเสียงจากเขา แต่วันนี้ยังเห็นว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ ส.ว.เป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะ ต้องมององค์ประกอบหลายอย่าง แต่หากยังมีพฤติกรรมกดดัน เชื่อว่า ส.ว.ไม่ฟังใครอยู่แล้ว เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของเขา หากพูดคุยกันดีก็จะได้บรรยากาศที่ดี

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) จะวางมือทางการเมืองทั้ง 2 ท่านหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่กล้าไปก้าวล่วงตรงนี้

เมื่อถามว่า ถ้าถึงเวลาพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เราจะตั้งหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า เขาตั้งได้อยู่แล้ว ก็เห็นเขาตั้งกันหลายพรรค

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลต้องอาศัยเสียง ส.ว.ว่าอาศัยในช่วงของการโหวตนายกฯ และอาจจะต้องอาศัยอีกในตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นตนถึงได้พูดไปก่อนหน้านี้ว่าเชื่อเถอะว่าปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง  ตนยังยืนยันแบบนี้อยู่ ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จากันไป ยังมีเวลาอีกตั้ง 60 วัน กว่าจะประกาศรายชื่อ ส.ส. และกว่าจะถึงเวลาเลือกนายกฯ บวกเข้าไปอีกร่วม 30 วัน รวมแล้ว 3 เดือน ต้องใช้เวลาเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไปด่าทอกันหรือประชดประชันกัน มันต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ เพราะต่างก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของรัฐสภา ไม่ใช่แค่ทำงานฉาบฉวย

"การเลือกนายกฯ อาจจะไม่ใช่ภารกิจยุ่งยากเท่าไหร่ แต่การผ่านกฎหมาย การอะไรต่ออะไรยังมีมากกว่านี้ และหลายคนใน 6-7 พรรคนี้ก็พยายามประสาน เพราะเขามีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ ฉะนั้นใช้เวลาตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ อย่าลงมือด่าทอตบตีกันตั้งแต่วันแรก" นายวิษณุกล่าว 

ถามว่า มีคนประเมินว่าในรัฐสภาจะไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่ได้ประเมิน เมื่อถามว่าในทางกฎหมาย หากโหวตชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนใดคนหนึ่งไปแล้ว แต่ไม่ผ่านจะสามารถนำชื่อเดิมกลับมาโหวตอีกได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ได้ โหวตมันทุกวันน่ะแหละ ชื่อเดิมก็ได้” เมื่อถามว่าพรรคอันดับ 2 จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ขึ้นไปก็ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ทุกอย่าง มันต้องอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งในรอบแรก เพราะว่ามาตรา 272 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ต้องมีความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ ซึ่งคือ 376 เสียง แต่ถ้าไม่สำเร็จก็โหวตอีก โหวตไปโหวตมาจนกระทั่งในที่สุดจะเปลี่ยนไปใช้มาตรา 272 วรรคสองก็แล้วแต่ หรือจะโหวตซ้ำมาตรา 272 วรรคหนึ่งก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะมันอาจจะมีเหตุผลใหม่ๆ ดีๆ และมีคนเปลี่ยนใจเพิ่มขึ้นก็ได้ สำคัญคือ วันแรก ด่านแรก ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร  

'ตู่' เชื่อทางตันห่วงลงถนน

ในส่วนของนายจตุพร พรหมพันธุ์  แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน และอดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลว่า ต้องยอมรับความเป็นจริง การจัดตั้งรัฐบาล จะ 6 พรรคหรือ 8 พรรค 313 เสียงก็ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติในช่วงระยะเวลา 5 ปี ต้องใช้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา คือ 375 + 1 หรือ 376 แม้ว่าจะมี ส.ว.บางคนรวมด้วยแล้วจะมีตัวเลขถึงจำนวนดังกล่าว ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลแทบจะเป็นศูนย์

"ณ วันนี้เราเดินมาถึงทางตันของการเมือง ส.ว.โดยส่วนใหญ่ได้แสดงเจตนาที่จะไม่โหวตให้ใคร ทำให้ไม่สามารถมีเสียงถึงจำนวนที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ นี่คือทางตันทางการเมือง แม้จะมีความคิดวิธีอื่น แต่ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ทำยากมากที่สุด คือพรรคร่วมในจำนวน 8 พรรคไปจับมือกับอีกฟากหนึ่งแล้วจะถูกประณามทั้งแผ่นดิน วันนี้ภาวะประเทศถึงทางตัน ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็หวังไว้แต่มองหาความสำเร็จไม่เจอ หนำซ้ำในช่วง 2 เดือนนี้ยังไม่รู้ว่า กกต.จะลงมือตามคำร้องอย่างไร ไม่ว่าเรื่องคุณสมบัติของนายพิธา เรื่องการยุบพรรค 5 พรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเป็นหลักกันทั้งสิ้น ยังไม่นับใบแดง เหลือง ส้ม ที่จะมีการแจกกันอีก ดังนั้นจุดชี้ขาดการเมืองตอนนี้อยู่ที่ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ" นายจตุพรกล่าว

ถามว่า หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลแทนได้หรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า ต้องดูว่าพรรคเพื่อไทยจะซื่อสัตย์กับพรรคก้าวไกลหรือไม่ ถ้าพรรคเพื่อไทยซื่อสัตย์จับมือก็จะได้ 313 เสียง  วันนี้ที่ ส.ว.พยายามจะส่งเสียงก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์บอกว่าถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยก็พอรับกันได้ แต่ถึงเวลาก็รวมไม่ได้อยู่ดี แต่พรรคร่วมจะ 6 หรือ 8 พรรคต้องมีความซื่อสัตย์ให้กัน ตนได้บอกนายพิธาว่าวันนี้ให้ลงสัตยาบันกันเสียว่าจะไม่ทิ้ง ไม่แยกจากกัน เพราะยังไม่ได้ลงนามอย่างเป็นทางการ เพียงแค่จับมือก็รอสะบัดมือกันได้ตลอดเวลา

"มีโอกาสสูงที่จะเกิดการลงถนนหลังจากนี้ ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังการเคลื่อนไหวให้มาก และอย่าปล่อยให้เกิดช่องว่างหรือสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การรัฐประหารได้ อะไรควรทำ-ไม่ควรทำก็ขอให้ระลึกเอาไว้ทุกฝ่าย" นายจตุพรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง