บีบ‘พิธา’MOUพัง! สะพัดก้าวไกลกินรวบกระทรวงเกรดเอ/เพื่อไทยเซ็งเก็บตก

ไทยโพสต์ ๐ เริ่มแล้วมหกรรมแย่งชามข้าว เพื่อไทยเซ็ง ก้าวไกลเปิดดีลขอกระทรวงหลักทั้งหมด อ้างยึดโยงนโยบาย   แถมยังขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกต่างหาก ส่วนเอ็มโอยูรกรุงรัง มีกระทั่งสมรสเท่าเทียม แต่ "ประเสริฐ" ปฏิเสธลั่นขอตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน

     เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ถึงการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลว่า ล่าสุดตัวแทนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เริ่มประสานเกี่ยวกับโควตารัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการมายังแกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วน    ว่าพรรคก้าวไกลขอโควตารัฐมนตรีที่ยึดโยงกับนโยบายพรรค ซึ่งจะเป็นกระทรวงหลักแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม มหาดไทย คลัง ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

     ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากตามหลักการต้องแบ่งกระทรวงตามจำนวน ส.ส. ซึ่งพรรคเพื่อไทยต่างจากพรรคก้าวไกลเพียง 10 เสียง และกระทรวงหลัก กระทรวงรองก็ควรเกลี่ยให้ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่งได้กระทรวงหลักไปเกือบทั้งหมด จนขณะนี้แกนนำพรรคเพื่อไทยยังคงสงวนท่าที เพราะไม่อยากให้พรรคก้าวไกลนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างว่าพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายต่อรองเก้าอี้ จนทำให้การตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป

     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางพรรคก้าวไกลยังแจ้งความประสงค์มาด้วยว่าอยากให้ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของพรรคก้าวไกล เพราะต้องการคุมเกมในสภา  ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เพราะพรรคก้าวไกลได้เป็นประมุขฝ่ายบริหารแล้ว พรรคเพื่อไทยควรได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ทิศทางขับเคลื่อนงานในสภาก็ต้องไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว

     อย่างไรก็พรรค แกนนำพรรค พท.ที่ได้รับการประสาน จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคก่อนจะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหลังจากนี้กรรมการบริหารพรรค พท.จะได้มอบหมายให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. ทำหน้าที่ประสานในทุกเรื่องกับพรรค ก.ก.ต่อ

     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเอ็มโอยูเข้าร่วมรัฐบาลนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยพิจารณาเรียบร้อยแล้ว และได้นำเสนอร่างในส่วนของพรรคเพื่อไทยไปยังพรรคก้าวไกล ให้เป็นผู้รวบรวมประเด็นกับเอ็มโอยูของพรรคอื่นๆ แล้ว โดยเนื้อหาที่พรรคเพื่อไทยปรับปรุงนั้น ยืนยันสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ และให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

     ส่วนเนื้อหาอื่นพรรคเพื่อไทยเขียนในภาพกว้าง ไม่ลงลึกรายละเอียด เช่น ร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน การแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกร แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการตั้งส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน

     ส่วนรายละเอียดอื่นที่อยู่ในร่างของพรรคก้าวไกล เช่น เรื่องความเสมอภาคของสิทธิมนุษยชน ประเด็นสมรสเท่าเทียมนั้น พรรคเพื่อไทยมองว่าสอดคล้องกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ควรอยู่ในเอ็มโอยู รอไว้ใส่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาจะดีกว่า ซึ่งบทสรุปของเอ็มโอยูที่จะเซ็นร่วมกันนั้น ทั้ง 8 พรรคจะหารืออีกครั้งเช้าวันที่ 22 พ.ค. ก่อนแถลงข่าวร่วมกันในช่วงบ่าย

ก้าวไกลล็อกเกรดเอ 

     มีรายงานข่าวแจ้งว่า เริ่มมีการล็อกกระทรวงแล้ว โดยกระทรวงการคลังนั้นพรรคก้าวไกลจองให้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ซึ่งจะรับตำแหน่งรองนายกฯ อีกตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นของนายชัยธวัช ตุลาธน,   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นของนายพิธา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นของนายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นของนายวรเทพ วิริยะโรจน์,   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิดัลฯ เป็นของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

     ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้โควตารัฐมนตรีว่าการ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ คมนาคม  เกษตรและสหกรณ์ การท่องเที่ยวฯ สาธารณสุข เมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่า พรรคก้าวไกลกวาดกระทรวงเกรดเอไปมากกว่า

      อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธกรณีมีกระแสข่าวการพูดถึงโควตารัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลว่า ยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะขั้นตอนการตั้งรัฐบาล ก่อนไปถึงการแบ่งโควตารัฐมนตรี เราต้องร่วมเสียงให้ได้ 376 เสียงก่อน แล้วประเด็นรัฐมนตรีค่อยคิดกันในภายหลังเพื่อแบ่งหน้าที่กันตามความเหมาะสม

     เมื่อถามย้ำว่า แต่มีกระแสข่าวออกมาหนาหู นายประเสริฐกล่าวว่า คิดว่าเป็นการโยนหินถามทางของบางกลุ่มบุคคลเท่านั้น แต่ยืนยันในฐานะเลขาฯ พรรคเพื่อไทยที่รับผิดชอบการจัดตั้งรัฐบาลในส่วนของเพื่อไทย ตนยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้แต่อย่างไร คงต้องรอให้การฟอร์มรัฐบาลเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยมาจัดการเรื่องนี้ เพื่อวางตัวบุคคลให้เหมาะกับงานและผลประโยชน์เกิดกับประชาชนมากที่สุด

     "ผมมองว่าคนที่ปล่อยเรื่องนี้ออกมามีนัย ส่วนตัวหวังอะไรหรือไม่ ผมอยากให้การตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นก่อน แล้วค่อยมาคุยเรื่องนี้กันภายหลัง จะเป็นประโยชน์ที่สุด ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะกลายมาเป็นเงื่อนไขในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลที่เราพยายามทำกันอยู่"

     เมื่อถามอีกว่า ในส่วนของตำแหน่งประธานรัฐสภา มีการพูดคุยบ้างหรือยัง  นายประเสริฐตอบว่า มีการพูดคุยกันบ้าง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะสุดท้ายต้องรอให้การฟอร์มรัฐบาลเสร็จสิ้นก่อน

     นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลว่า ในเอ็มโอยูมีการพูดถึงหลักการกว้างๆ   ในหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งที่พรรคประชาชาติต้องการให้ปรับมีสองประเด็นหลัก คือ เรื่องสุราเสรี ที่กระทบกับหลักศาสนา อยากให้มีการปรับถ้อยคำลงไม่ให้กระทบกับศาสนาใด อีกประเด็นคือเรื่องให้ความเคารพในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสื่อโยงไปถึงนโยบายสมรสเท่าเทียม

     ประเด็นนี้ พรรคประชาชาติไม่สามารถยอมรับให้มีในเอ็มโอยูได้โดยไม่มีข้อยกเว้น เราขัดข้องเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น และได้เสนอให้คณะทำงานร่างเอ็มโอยูดูว่า เรื่องนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งพรรคประชาชาติเสนอไปว่าอย่างน้อยที่สุดในเอ็มโอยูหรือกฎหมายที่จะเดินหน้าต่อจากนี้ ต้องบอกว่าเรื่องดังกล่าวจะต้องไม่มีผลบังคับไปถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม เพราะเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักศาสนา รวมถึงศาสนาอื่นๆ ที่เรื่องนี้ขัดหลักศาสนาเขาด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง