เอ็มโอยูไม่แตะ112 ก้าวไกลพลิ้ว!อ้างเป็นรบ.ผสมต้องเน้นยึดจุดร่วม

ถือฤกษ์วันรัฐประหาร 22 พ.ค. 8 พรรคเตรียมลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง “ก้าวไกล” เดินสายพบตัวแทนพรรคหาข้อสรุปร่วมกันก่อนลงนามเผยทำความเข้าใจ ส.ว. มีแนวโน้มดี เล็งออกแบบแอปฯ หยั่งเสียงปชช. ก่อนตัดสินใจสำคัญในอนาคต "พิธา" ตระเวนขอบคุณ ปชช.ได้ ส.ส.เกือบยกทั้งจังหวัดชลบุรี "ประเสริฐ" ยังไม่คุยแบ่งเก้าอี้  "วันนอร์" วัดใจ ก.ก.ถอดเรื่องสมรสเท่าเทียม-สุราก้าวหน้า "กรณ์" โอดโดนด่าฟรี ยันไม่เคยติดต่อขอร่วมรัฐบาล "เรืองไกร" จ่อส่งหลักฐาน ITV เพิ่มเติมให้ กกต. ช่วยให้พิจารณาได้เร็วขึ้น

เมื่อวันอาทิตย์ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงความคืบหน้าการพูดคุยข้อตกลงร่วม (MOU) พรรคร่วมรัฐบาลว่า วันที่ 21 พ.ค. พรรคก้าวไกลได้นัดหารือกับตัวแทนพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อนำข้อคิดเห็นของแต่ละพรรคมาสรุป ซึ่งขณะนี้แต่ละพรรคการเมืองยังมีประเด็นข้อคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้รบกวนเวลาของทุกพรรคการเมือง วันนี้จึงนัดพบปะแบบทีละพรรค และจะมาพบกันเพื่อสรุปให้เป็นข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกัน ก่อนจะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในวันที่ 22 พ.ค.

นายชัยธวัชกล่าวว่า ใน MOU จะไม่ได้มีเฉพาะวาระของพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องรวมวาระสำคัญของพรรคการเมืองอื่นด้วย เพราะไม่ใช่คำประกาศของพรรคก้าวไกล แต่เป็นข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เช่น วาระเรื่องการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็อาจมีเพิ่มเข้ามา ซึ่งพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ ดังนั้นตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าใน MOU จะมีทั้งหมดกี่ข้อ

 “ในการพูดคุยเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ในนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นสุราเสรี ซึ่งนายวันนอร์ไม่ได้คัดค้าน และเอาเรื่องนี้มาเป็นปัญหาในการร่วมรัฐบาล รวมถึงเข้าใจเจตนาของพรรคก้าวไกลว่าเรื่องสุราก้าวหน้าไม่ใช่การสนับสนุนให้คนดื่มสุรา แต่เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสมรสเท่าเทียม ที่ต้องแยกกันระหว่างการสมรสในความหมายทางศาสนาและการสมรสในทางกฎหมาย ซึ่งสาระสำคัญคือการตอบรับความหลากหลายในสังคม ดังนั้นจึงเข้าใจว่ามีความสำคัญอย่างไร และต้องสามารถอธิบายให้กับผู้สนับสนุนพรรคประชาชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่จะเป็นพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ เชื่อว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะสามารถหาทางออกที่ลงตัวได้"

นายชัยธวัชกล่าวว่า สำหรับตัวเลขพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้คือ 313 เสียง ซึ่งคิดว่าน่าจะเพียงพอ ที่เหลือน่าจะเป็นการเดินหน้าพูดคุยทำความเข้าใจกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ตอนนี้ได้เดินหน้าพูดคุยไปแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ทยอยพบปะพูดคุยกับ ส.ว.หลายคน ทั้งการพบปะพูดคุยแบบเจอหน้าหรือพูดคุยทางโทรศัพท์ ซึ่งหลายคนขอดูรายละเอียดใน MOU ที่จะมีการแถลงข่าวในวันพที่ 22 พ.ค. เพื่อความชัดเจนก่อนตัดสินใจ เท่าที่ได้พูดคุยแนวโน้มถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี เพราะการเจอหน้าพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่ ส.ว.มีความกังวลใจ สงสัย เราก็สามารถอธิบายได้ ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงข่าวการลงนาม MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ยังมีพรรคที่จะเข้าร่วมรวม 8 พรรค ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง,  พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ มีจำนวนว่าที่ ส.ส.ทั้งสิ้น 313 คน โดยการลงนาม MOU ในวันที่ 22 พ.ค.นี้จัดขึ้นที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด  กรุงเทพฯ ในเวลา 16.30 น.

มีรายงานจากพรรคก้าวไกลระบุว่า สำหรับการเจรจาให้พรรคชาติพัฒนากล้ามาร่วมกับพรรค ก.ก.นั้น เป็นการตัดสินใจของคนที่ได้รับมอบหมายจากพรรคให้ไปเจรจา ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าคงอยากได้เสียง ส.ส.ให้เยอะไว้ก่อนเพื่อสู้กับ ส.ว. ซึ่งไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้แม้จะเป็นวิกฤต แต่ก็แสดงให้เห็นเสียงสะท้อนและความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อพรรค ซึ่งในอนาคตพรรค ก.ก.มีการหารือกันว่าจะมีการออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อหยั่งเสียงของประชาชน ในการตัดสินใจทางการเมืองต่างๆ ต่อไป ส่วนการลงนามเอ็มโอยูในวันที่ 22 พ.ค. เชื่อว่าจะสามารถลุล่วงผ่านไปได้ด้วยดี โดยมีการปรับความเข้าใจให้ตรงกันกับพรรคการเมืองต่างๆ โดยอาจจะให้พรรคการเมืองสงวนความเห็นในประเด็นที่ไม่เห็นด้วยไว้

'พิธา' ลั่นไม่ทำให้ ปชช.ผิดหวัง

  เมื่อเวลา 14.00 น. ที่บริเวณหน้าตลาดหนองก้างปลา ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  พร้อมด้วยนายสหัสวัต คุ้มคง ว่าที่ ส.ส.เขต 7 ชลบุรี และว่าที่ ส.ส.ชลบุรี พรรคก.ก.ทุกเขต ได้ขึ้นรถแห่ปราศรัยขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคก.ก. ในพื้นที่ ต.บ่อวิน โดยมีนักเรียน ประชาชน กลุ่มพนักงานโรงงาน และแฟนคลับมารอให้กำลังใจ ส่งเสียงเชียร์  โดยนายพิธาแนะนำตัวว่าเป็นนายกฯคนต่อไป ขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากประชาชนที่ให้ความไว้วางใจ ซึ่งจะไม่สูญเปล่าแน่นอน จะไม่หยุดทำงาน และตั้งใจเต็มที่เข้าไปในสภา จะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวัง รวมถึงมาสร้างขวัญกำลังใจให้ทีมงาน ส.ส.ด้วย

วันเดียวกัน เพจพรรคก้าวไกล -  Move Forward Party โพสต์ช้อความ หัวข้อ ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายใต้รัฐบาลก้าวไกล? MOU คืออะไร? ในเมื่อรัฐบาลก้าวไกลเป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง เราจำเป็นต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างเชิงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยคำนึงถึงความไว้วางใจที่พรรคการเมืองเหล่านี้ได้รับจากประชาชนมาผ่านคูหาเลือกตั้งเช่นกัน รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันวาระออกเป็น 2 ส่วน 1.วาระ “ร่วม” ของทุกพรรคร่วมรัฐบาล (ระบุใน MOU) วาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และพร้อมรับผิดชอบร่วมกัน

2.วาระ “เฉพาะ” ของแต่ละพรรคการเมือง (ไม่ถูกระบุใน MOU) วาระและนโยบายที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเอง เพิ่มเติมจาก (แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับ) นโยบายใน MOU ผ่าน 2 กลไกหลัก    

"พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าจะพยายามเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลที่เราสื่อสารกับประชาชนก่อนเลือกตั้งให้สำเร็จ โดยการพยายามบรรจุนโยบายเข้าไปในวาระ “ร่วม” หรือ MOU ให้ได้เยอะที่สุด ในขณะที่นโยบายอะไรที่ไม่ถูกบรรจุใน MOU เราจะผลักดันต่อผ่านกระทรวงที่พรรคก้าวไกลบริหารและผ่านจำนวนผู้แทนราษฎร 152 คน ที่เรามีในสภาผู้แทนราษฎร"

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการลงเอ็มโอยูของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า เราได้ส่งรายละเอียดในส่วนของพรรค พท.ไปให้พรรค ก.ก.แล้ว โดยวันที่ 22 พ.ค. ก่อนที่จะมีการแถลงร่วมกัน ก็จะมีการนัดหมายเพื่อสรุปอีกครั้ง ซึ่งในเอ็มโอยูนั้น เบื้องต้นเราสนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯคนที่ 30 และให้พรรค ก.ก.เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนในข้ออื่นๆ ก็จะเป็นการเขียนหลักการในภาพรวม ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมาก เช่น เราจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ, ความเหลื่อมล้ำ, รายได้ เป็นต้น เอ็มโอยูควรลงรายละเอียดกว้างๆ ไว้ก่อน ส่วนการลงรายละเอียดลึกควรเป็นนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา

'วันนอร์' วัดใจ ก.ก.รับฟัง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า จะเดินทางไปร่วมแถลงข่าวการทำเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลในที่ 22 พ.ค.ด้วย สำหรับตัวเนื้อหาในเอ็มโอยู พรรค ปช.ได้ทำหนังสือถึงพรรค ก.ก.อย่างเป็นทางการไปแล้วว่าเรื่องของสมรสเท่าเทียมกับเรื่องสุราก้าวหน้าเป็นเรื่องที่ขัดกับแนวทางของพรรค ปช. จึงทำหนังสือถึงพรรค ก.ก.เพื่อขอให้ปรับให้พรรค ปช.รับได้  และได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค นำเรื่องนี้ไปคุยกับคณะทำงานที่ร่วมทำเอ็มโอยู ซึ่งก็เชื่อว่าพรรค ก.ก.ก็คงจะรับฟังและนำไปปรับ นอกจากนี้ พรรค ปช.ยังได้เสนอไปอีกหลายเรื่องที่เป็นไปตามนโยบายพรรคเพื่อให้พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลพิจารณานำไปเขียนไว้ในเอ็มโอยู เช่น เรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย การให้สวัสดิการประชาชน เรื่องการแก้ปัญหาที่ดิน ก็เชื่อว่าหลายพรรคการเมือง ก็ขอให้มีการเขียนเพิ่มเติม โดยให้เอานโยบายแต่ละพรรคไปไว้ด้วย

 เมื่อถามถึงเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นนโยบายของพรรค ก.ก.  พรรค ปช.เห็นด้วยหรือไม่ หัวหน้าพรรคปช.กล่าวว่า พรรค ปช.เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเช่นเดียวกัน และพรรคยังได้เสนออีกหลายเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การเสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะใช้มานาน แต่สุดท้ายไม่ได้ผลในพื้นที่

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรค และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม.) กล่าวถึงร่าง MOU 13 ข้อว่า สนับสนุนทุกข้อ เพราะขณะนี้ไม่มีประเด็นการแก้ไข ป.อาญามาตรา 112 แล้ว อย่างไรก็ดี ใน MOU ต้องหารือและร่วมกันลงนาม ตนมีประเด็นที่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมต่อการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ซึ่งตนมีข้อเสนอในส่วนของที่ดิน สปก.4-10 และกรณีของที่ดิน ภ.บ.ท.5 ซึ่งเป็นที่ดินทำกิน แต่ไม่มีหลักฐานการครอบครองหรือโฉนด ดังนั้นควรพิจารณาให้สามารถออกเป็นโฉนดครอบครองได้

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลพิธาต้องขอเตือนสตินักการเมืองของทุกพรรคว่า การเจรจานั้น ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของพรรค หรือของพวกที่สนับสนุน อยู่เบื้องหลังพรรค การเจรจานั้นต้องเป็นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ทั้งที่เลือก ส.ส. ของทั้ง 8 พรรค หรือที่ไม่ได้เลือก ณ เวลานี้ ทุกคนต่างจับจ้องการเจรจา ด้วย ใจหวังพึ่ง MOU ของทั้ง 8 พรรค ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งอนาคตของเขาเอง และอนาคตของลูกหลาน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะคิดได้เช่นนี้ และขออวยพรให้การเจรจาประสบความสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่า วันที่ 22 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค รทสช. เดินทางเข้าที่ทำการพรรค รทสช. ที่ซอยอารีย์ 5 เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ในเวลา 15.30 น. จากนั้นเวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าร่วมประชุม ติวเข้มว่าที่ส.ส.ของพรรค 36 คนด้วย

'กรณ์' โอดถูกด่าฟรี

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลว่า สิ่งหนึ่งที่ตนอยากจะฝากไว้ วันนี้การจัดตั้งรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้น ขอให้เป็นไปกลไกตามรัฐธรรมนูญ คำนึงถึงประชาชนมากกว่าประโยชน์ทางการเมือง ขอให้ทำตามที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชนในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ส่วนตนพร้อมเป็นฝ่ายค้าน และให้เกียรติผู้ที่รับเลือกจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนพรรค รทสช.ยืนยันยังเดินหน้าขับเคลื่อนพรรคสู่สถาบันการเมือง ปรับเปลี่ยนการทำงานทันยุคทันสถานการณ์ปัจจุบัน นำแนวทางคนรุ่นใหม่และผสมผสานคนทุกรุ่นเข้ามาบนเจตนารมณ์และจุดยืนอันแน่วแน่ของพรรคในการปกป้องรักษาชาติ ศาสนา  พระมหากษัตริย์ และทำเพื่อประโยชน์ประชาชน

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีถูกเทียบเชิญร่วมรัฐบาลพรรค ก.ก. ว่า  “เรื่องจริง” ที่เกิดขึ้น หลังการเลือกตั้ง ผมมาอยู่กับลูกที่ออสเตรเลีย จนเมื่อวานบ่ายนายสุวัจน์ โทรแจ้งว่า ก้าวไกล ชวนเข้าร่วมรัฐบาลนายสุวัจน์กับตนเองสรุปกันว่าจะคุยกันวันจันทร์ในที่ประชุม กก.บห. เพราะมีประเด็นสำคัญสำหรับเราคือ นโยบายสู้ทุนผูกขาดพลังงาน และจุดยืนไม่แก้ ม.112 โดยไม่เคยติดต่อร่วมรัฐบาลกับใครเลย เพราะเรามีเพียง 2 เสียง และไม่ได้แม้แต่คิดจะมีเงื่อนไขต่อรองอะไร มีสื่อโทรมาหาตนที่เมลเบิร์นว่า เราเข้าร่วมรัฐบาลแล้วเหรอ ตนก็ตอบไปว่าเรายังต้องคุยเรื่องนี้กันในวันจันทร์ (สื่อลงว่าผม ‘กั๊ก’)

"ยืนยันเหมือนเดิมว่า พรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ ถึงจะมีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล นี่คือหลักประชาธิปไตยที่เป็นจุดยืนของผม ชาติพัฒนากล้าพร้อมทำงานกับทุกพรรค แต่เราไม่แตะ 112 และเราต้องการเน้นแก้ปัญหาราคาพลังงาน ผมโดนด่าฟรีจากทั้งขวาและซ้าย ผมรับได้ทุกข้อกล่าวหา ทุกคำหยาบ ทุกข้อมูลเท็จ แต่ที่เสียใจคือผลกระทบที่มีต่อครอบครัวและคนที่รัก การเมืองที่ผมสร้างไม่ได้สร้างบนความเกลียด ความกลัว แต่ทำบนความเชื่อ เชื่อที่อยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย" นายกรณ์ระบุ

นายพงศ์พรหม ยามะรัต อดีตรองหัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งว่า พี่กรณ์ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปลายปี 62 มาตั้งพรรคกล้ากับผม และคุณเอ๋ อรรถวิชญ์ แกชัดเจน ว่าขอไม่ทำงานในรัฐบาลทหาร เน้นตรงนี้ 100 รอบ จากนั้นแกก็วิจารณ์นโยบายรัฐบาลที่มีทหารเป็นหัวขบวนอย่างตรงไปตรงมา โดยวิจารณ์สิ่งผิดพลาดทหาร แต่ก็ยังมีจุดร่วม คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์  ผมต้องฝากคุณทิม นอกจากการ “ตามใจ” ฐานเสียงแล้ว ก็ต้องอย่าลืม "หลักการ" อย่าเริ่มตั้งต้นรัฐบาลด้วย “2 มาตรฐาน” ที่พัดโดยการเฮไปมา ของฝูงชน มันไม่ต่างอะไรจากยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน และเขมรแดงเลย จะทำร้ายใคร จะบูลลี่ใคร ไร้หลักการทั้งสิ้น มีแต่การเฮโลตามกระแส ตามการชี้นิ้วให้ไปทำร้ายคนโน้น คนนี้ แค่เพราะตัวเอง “ไม่ชอบหน้า”

"แต่ท้ายสุดประสบการณ์ และมันสมองผมบอกว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีแต่พยายามพัฒนาประเทศอย่างจับต้องได้ และช่วยอย่าไปยุ่ง อย่าไปทำร้ายพวกเขา ซึ่งผมก็จะฝากอีกครั้งว่า หากไปแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ผม และคนอีกมากมาย เราพร้อมจะลงถนนไปสู้กับพวกคุณเช่นกัน" นายพงศ์พรหมระบุ

ชงหลักฐาน ITV ให้ กกต.เชือด

นายจตุพร พรหมพันธุ์  แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวในรายการ ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอนหนึ่งว่า  วันนี้กองเชียร์พรรคก้าวไกลทั้งหลาย ถ้าอยู่ท่ามกลางคำสรรเสริญเยินยอว่าคุณเป็นรัฐบาลได้ ใครเห็นว่าคุณจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ คุณก็ประกาศฟาดงวงฟาดงา เขาไม่ต้องแสดงความคิดเห็นคุณก็จัดตั้งไม่ได้อยู่แล้ว เพราะการไปถึงตัวเลข 376 มันไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้เลย คือ ขณะนี้ ไป 313+16 เป็น 329 ไกลมั้ยกับ 376 และจะเอามาจากไหน เอามาจากชาติพัฒนากล้า มีกรณ์ไม่มีกู  พรรคใหม่ก็ไม่เอา มันมาถึงทางตันแล้วต้องคุยกันแล้ว ถ้าไม่คุยแล้วจะไปคุยกับใคร จะไปคุย ส.ว. ขนาดพรรคการเมืองยังมีเจ้าของเลย แล้ว ส.ว. จะไม่มีเจ้าของหรือ มีพรรคไหนที่ไม่มีเจ้าของบ้าง

ในส่วนของประเด็นที่ว่าหากรอให้ ส.ว. หมดอายุก่อนแล้วใช้เสียงข้างมากในสภานั้น นายจตุพรกล่าวว่า มันจะเดินไปไม่ถึง เพราะว่า กกต.จะทำงานก่อน เช่น เรื่องหุ้นของนายพิธา ไอทีวี อยู่ๆ วันดีคืนดี ประชุมผู้ถือหุ้นและมีการตั้งคำถามอยู่ในรายงานบันทึกการประชุมว่า ไอทีวียังประกอบการอยู่หรือไม่ก่อนการเลือกตั้ง ยังไม่เข้าใจอีกหรือ พวกนั้นไม่ได้ลงดาบคุณเป็นประชาธิปไตยจัดการประชาธิปไตยด้วยกัน

ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 24 พ.ค. เวลา 10.00 น. กกต.เชิญไปให้ถ้อยคำกรณีร้องขอให้ตรวจสอบนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โพสต์เฟซบุ๊ก เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ก่อนให้ถ้อยคำในวันดังกล่าว ตนจะถือโอกาสนี้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับกรณีนายพิธา ถือหุ้น ITV รวม 2 รายการ คือ 1. ตารางรายชื่อผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2566 พร้อมเอกสารประกอบ 2. ตารางรายได้รวมของ ITV ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2565 พร้อมเอกสารประกอบ (ยกเว้นปี 2555)

นายเรืองไกรกล่าวว่า กรณีที่นายพิธามีชื่อเป็นหุ้น ITV มาตั้งแต่ปี 2551 นั้น พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 62 วรรคสาม  บัญญัติว่า "ทะเบียนผู้ถือหุ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง"

 ITV เคยมีรายได้ปี 2549 ประมาณ 2,158 ล้านบาทเศษ ปี 2550 ประมาณ 352 ล้านบาทเศษ ซึ่งรายได้ปี 2549 และปี 2550 ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากธุรกิจสื่อ แต่ปีต่อๆ มา รายได้ลดลงทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน เพราะ สปน.บอกเลิกสัญญา แต่ ITV ไม่เห็นด้วย จึงมีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง คดียังไม่ถึงที่สุด สัญาที่ถูกยกเลิกจะครบกำหนดวันที่ 3 กรกฎาคม 2568

 "หลักฐานที่จะยื่นเพิ่มเติมในวันพุธที่ 24 พ.ค. น่าจะช่วยทำให้ กกต. พิจารณาได้เร็วขึ้น และน่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปว่า นายพิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่" นายเรืองไกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"