3นิ้วแตกคอบีบส.ว.โหวตพิธา

"วุฒิสภา" ผวา! รีบประชุมรีบกลับตั้งแต่บ่าย 2 โมง "วันชัย" บอกไม่กังวลโดนชุมนุมกดดัน พร้อมรับฟังเหตุผลทุกฝ่าย ระบุ ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่มโหวต "พิธา" เป็นนายกฯ แย้มกลุ่มยังไม่ตัดสินใจมากสุด ชี้ 250 คนมีวุฒิภาวะ "ส.ว.กิตติศักดิ์"  เชื่อก้าวไกลดันแก้ ม.112 แม้ไม่มีในเอ็มโอยูแน่ "ม็อบ" เสียงแตกหน้ารัฐสภา "แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ" ร่วมร้อยบีบ ส.ว.เลือกนายกฯ เจออีกกลุ่มโผล่มาร้องแก้ ม.112

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุมที่รัฐสภา    เพื่อกดดันให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามมติประชาชนว่า  เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายกฎหมายดำเนินการตามหน้าที่ ตามกฎหมาย ตนไม่จำเป็นต้องสั่งอะไร ซึ่งทุกคนเรียนรู้อยู่แล้ว กฎหมายก็คือกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานของท่าน

ถามว่า ฝ่ายความมั่นคงได้รายงานบรรยากาศหรือไม่ว่าจะมีความสุ่มเสี่ยงอะไรในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็รู้อยู่แล้ว เมื่อถามว่าแต่เปิดเผยไม่ได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่เปิดเผยไม่ได้ แต่ยังไม่เกิดใช่ไหม เมื่อยังไม่เกิดก็จะไปประกาศโครมๆ ขยายความกันเข้าไปสิ จะได้มากันเยอะๆ บ้านเมืองก็เสียหาย ก็แค่นั้นเอง

ส่วนที่รัฐสภา เวลา 08.30 น. มีการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน 1.ให้ความเห็นชอบบุคคลได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2.ให้ความเห็นชอบบุคคลได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 3.ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ 4.ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. 

สำหรับบรรยากาศที่รัฐสภา เจ้าหน้าที่ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยค่อนข้างเข้มงวด บุคคลที่เข้า-ออกภายในอาคารฝั่งวุฒิสภาจะต้องมีบัตรประจำตัวบุคลากรของรัฐสภา ขณะที่การทำงานของสื่อมวลชน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวุฒิสภาแจ้งให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติในติดตามการทำข่าวการประชุมวุฒิสภาว่า ให้ใช้พื้นที่บริเวณ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) เท่านั้น ซึ่งการสัมภาษณ์หรือทำข่าวต่างๆ สามารถเข้าเก็บภาพหรือทำข่าวในห้องประชุมวุฒิสภา ณ ห้องทำข่าวสื่อมวลชน ชั้น 3 ได้ตามปกติ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าบริเวณชั้น 2 อาคารรัฐสภา (ฝั่ง ส.ว.) โดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ การจัดมาตรการที่เข้มงวดเนื่องจากในเวลา 17.00 น. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้นัดรวมตัวหน้ารัฐสภา เพื่อกดดัน ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามมติประชาชน

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงการชุมนุมเรียกร้องให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯตามมติประชาชนว่า เชื่อว่าการเคลื่อนไหวการชุมนุมใดๆ ส.ว.รับฟังอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธเสียงของประชาชน ดังนั้นจึงเชื่อว่าทุกเรื่อง ทุกประเด็นต่างๆ นำมาประกอบการตัดสินใจได้ทั้งสิ้น ไม่ได้มองเป็นศัตรูคู่อาฆาต หรือไม่ได้มองกันถึงขนาดว่าจะเป็นเหตุของการที่จะโหวตให้หรือไม่โหวตให้ แต่เรามองด้วยเหตุด้วยผล เพราะถือว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกในระบอบ แต่ในสถานการณ์และภาวะอย่างนี้ การเจรจาและการพูดคุยกันหารือกันด้วยไมตรีที่ดีจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน

 “ผมเชื่อว่า ส.ว.แต่ละคนมีวุฒิภาวะ ท่านไม่ได้ดื้อรั้นอะไร แต่ความคิดเห็นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน และ ส.ว.มีตั้ง 250 คน จะให้ไปในแนวทางเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่บอกว่ามีกลุ่มนั้นมาสั่งกลุ่มนี้ กลุ่มนี้มาสั่งกลุ่มนั้น หรืออยู่ในอาณัติของคนนั้นคนนี้ ผมอยากจะบอกให้ประชาชนคลายกังวลต่อประเด็นนี้ได้เลย ไม่มีใครมาสั่งใครในสถานการณ์อย่างนี้ ยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจของแต่ละคน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สวยงามและเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้" นายวันชัยกล่าว

ถามว่า ในวันนี้ ส.ว.จะมีการหารือนอกรอบเพื่อพิจารณาเรื่องการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า ไม่ได้มีการประชุมกันแบบนอกรอบ หรือนัดกันเป็นกลุ่มใหญ่แต่อย่างใด แต่มีการแลกพูดคุยและปรึกษาหารือกัน และยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน ดังนั้นขอเรียนว่าจากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทางคือ กลุ่มที่ 1 เป็น ส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก, กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่าขอรอเวลาก่อน และกลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณาและจะไปตัดสินใจในวันโหวต ซึ่งกลุ่มที่ 2 และ 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เขาคงดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์แล้วค่อยตัดสินใจ เพราะหากตัดสินใจในวันนี้ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย

"แนวทางเท่าที่ดูมา คือมีการโหวตว่าจะเลือกหรือไม่เลือก กับอีกแนวทางหนึ่ง คือการงดออกเสียง ก็อาจจะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าแนวทางในการโหวตเลือกนายกฯ จะมี 3 แนวทางดังกล่าว ส่วนแนวทางไหนจะมากหรือน้อยกว่ากันยังไม่สามารถบอกได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ส.ว. มีการปรึกษาหารือกันตลอด และบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้มีแนวทางวิธีการที่จะโหวตเพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ยืนยันจะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังแน่นอน" ส.ว.รายนี้ระบุ

นายวันชัยกล่าวถึงกรณีในเอ็มโอยูการร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องของมาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว.เลือกนายพิธาหรือไม่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส.ว.แต่ละคน ตนพยายามที่จะแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ ส.ว.แต่ละคน ท่านบอกว่าเป็นสิทธิของตัวท่าน เพราะฉะนั้นใครจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิแต่ละคน

"ในส่วนตัวผมเห็นเอ็มโอยูแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าประเด็นเหล่านี้ยังอีกยาวไกล ที่จะนำมาพิจารณาและมีระยะเวลาในการพิจารณาอีกมาก ส่วน ส.ว.ท่านใดจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร ตนคิดว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน" นายวันชัยกล่าว

ส่วนนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ย้ำจุดยืนการโหวตนายกฯ ว่า คำไหนคำนั้น เหตุผลที่ไม่เลือกนายพิธาเพราะมีการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้งและเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน จึงไม่เห็นสมควรที่จะให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

"ผมฟังในการแถลงเอ็มโอยูเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา นายพิธายืนยันแม้การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู แต่จะยื่นเสนอเข้ามาในสภา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นปัญหาของนายพิธาและพรรคก้าวไกล เพราะไปหาเสียง ดังนั้นไม่ทำก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวไม่แก้เดี๋ยวไม่มีกู ฉะนั้นสร้างปัญหาเองก็ต้องไปแก้ปัญหาเอง เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องกลั่นกรอง ฉะนั้นเราต้องพิจารณาคนที่มานำพวกเรา ส่วนตัวยืนยันล้านเปอร์เซ็นต์ กิตติศักดิ์ไม่โหวตให้นายพิธา" นายกิตติศักดิ์กล่าว

ด้าน พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก ส.ว. กล่าวว่า ส่วนตัวได้ดูเอ็มโอยูการเซ็นจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลแล้ว พบว่าดี ไม่ติดขัดอะไร เพียงแต่ห่วงเรื่องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ถ้าไม่มีกรณีดังกล่าวทุกอย่างน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี ส่วนตัวเห็นว่าคุณสมบัติของนายพิธาถือว่าเก่งมาก เหมาะสมเป็นผู้นำประเทศได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เวลานี้สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตลอด สำหรับตนหากมีข้อมูลครบถ้วน ตัดสินใจวันเดียวก็ได้ และยืนยันว่าไม่มีใครสามารถมาข่มขู่ ส.ว.ได้ ไม่มีประโยชน์ และไม่มีผลต่อ ส.ว.เลย

ต่อมาเวลา 13.56 น. การประชุมสมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ ได้เสร็จสิ้น ส.ว.ต่างรีบทยอยเดินทางกลับ เนื่องจากไม่ต้องการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม

จากนั้นเวลา 16.00 น. มวลชนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทยอยเดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา โดยมีการตั้งเวทีชั่วคราวจัดกิจกรรม จนเวลา 17.00 น. กิจกรรมได้เริ่มต้นขึ้น มีนักวิชาการมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันบนเวที อาทิ นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  นายอุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมีนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (เป๋า iLAW) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา 

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ สมาชิกแคมเปญโหวตเพื่อเปลี่ยน กล่าวว่า กิจกรรมที่ได้ออกแบบมาคือการส่งเสียงไปถึง ส.ว. ถึงบทบาทที่จะยกมือเลือกนายกฯ นั้นมีความชอบธรรมอย่างไรหรือไม่ และอีกส่วนหนึ่งที่ ส.ว. หลายคนออกมาพูดในเงื่อนไขต่างๆ มากมาย จะยกมือหรือไม่ยกมือเลือกนายกฯคิดว่ากิจกรรมในวันนี้จะเป็นการย้ำเตือนว่าจริงๆ แล้วเขาไม่มีอำนาจ และพิเคราะห์เสียงจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ดุลพินิจของตนเอง  

"ที่มาก็ยังเป็นข้อครหาของประชาชนว่าการมาของ ส.ว.นั้นมาอย่างไร ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ ส.ว.ทั้ง 250 คนอยู่แล้ว" น.ส.ภัสราวลีระบุ

ถามว่า ในการเซ็นเอ็มโอยูไม่มีเรื่อง มาตรา 112 ผิดหวังหรือไม่ น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า คิดว่าหลายคนอาจจะคิดไม่ตรงกัน ส่วนตัวแล้วมองว่ามาตรา 112 ของพรรคร่วมรัฐบาล บางพรรคอาจจะไม่พูดอย่างชัดเจน แต่ถ้าทางพรรคก้าวไกลยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องแก้ไข ตนเห็นว่าอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำขณะที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ กำลังเรียกร้องให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ตามมติประชาชนอยู่นั้น ได้มีมวลชนอีกกลุ่มมาชูป้ายคัดค้านมาตรา 112 และจะนำไปแขวนที่รั้วรัฐสภา ทำให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯห้ามปราม จนทั้งสองกลุ่มโต้เถียงกันว่ามากดดันใครกันแน่ โดยมีผู้ชุมนุมได้บอกกลุ่มที่มาชูป้ายคัดค้าน ม.112 ให้รอเลือกนายกฯ ก่อนค่อยดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการมากดดันก้าวไกลและคุณพิธา ก่อนที่ทั้ง 2 กลุ่มจะแยกย้ายกันไปโดยไม่มีอะไรรุนแรง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์