ตร.ฟิต!สอบ‘ส่วยน้ำมัน’ บิ๊กสรรพสามิตขอเคลียร์

พิษส่วยสติกเกอร์ลามสรรพสามิต "บิ๊ก ขรก." โทร.เคลียร์คดีน้ำมันเถื่อน “จรูญเกียรติ” สั่งสอบด่วน  เรียกตำรวจชุดจับกุมมาให้ข้อมูล จ่อเด้งระนาวโยงทุจริตสินบนทางหลวง ลั่นผลไม้พิษใครจะมากินไม่ได้ ขณะที่คมนาคมขยับลุยตรวจด่านชั่ง

จากกรณีโลกออนไลน์ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมาก หลังนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาเรียกร้องให้อธิบดีกรมสรรพสามิต และผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) แถลงให้ประชาชนทราบ ถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่สรรพสามิตระดับสูงรายหนึ่งโทร.มาเพื่อให้เคลียร์คดีจับรถบรรทุกน้ำมันเถื่อน

โดยนายวิโรจน์ระบุด้วยว่า ขอให้อธิบดีกรมสรรพสามิตและผู้บังคับการ ปปป. กรุณาแถลงให้ประชาชนทราบด้วย 1."บิ๊กสรรพสามิต" ที่เหิมเกริมคนนั้นเป็นใคร 2.ที่ระบุว่าให้ปล่อยรถบรรทุกน้ำมันเถื่อน เพราะเป็นของพรรคพวก พรรคพวกที่ว่าประกอบไปด้วยใคร หรือบริษัทไหนบ้าง 3.ที่ผ่านมา "บิ๊กสรรพสามิต" คนนี้ เคยใช้อำนาจหน้าที่ช่วยพรรคพวกไปแล้วกี่ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเท่าไหร่ มีการรับผลประโยชน์ไปแล้วมากน้อยเพียงไร

 “ในท้ายที่สุด ผมขอให้การสอบสวนที่จะเกิดขึ้น ขยายผลจากบิ๊กสรรพสามิตคนดังกล่าว สาวไปให้ถึงต้นขบวนการ และเครือข่ายพรรคพวกทั้งหมด และในกรณีที่พบหลักฐานการรับผลประโยชน์ จากพ่อค้าน้ำมันเถื่อน ก็ควรต้องพิจารณาดำเนินคดีอาญาอย่างเด็ดขาด รวมทั้งส่งเรื่องไปยัง ปปง.ให้ดำเนินการยึดทรัพย์เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป” นายวิโรจน์ระบุ

ล่าสุดเมื่อวันพุธ เวลา 11.00 น.  พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา และเรียกตำรวจชุดจับกุมมาให้ข้อมูล เบื้องต้นทราบว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมสรรพสามิตโทรศัพท์มาเคลียร์กับชุดจับกุม แต่ชุดจับกุมปฏิเสธ จากนั้นมีความพยายามติดต่อมายังคณะทำงานของตนเพื่อเจรจาขอไฟเขียวกับตน แต่ก็ปฏิเสธไปไม่ขอพูดคุยเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น

"ตอนนี้ตำรวจทางหลวงต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์องค์กรเพื่อสร้างศรัทธาแก่ประชาชน อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ตำรวจทางหลวงเป็นผลไม้พิษที่ใครจะมากินไม่ได้" พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าว

เซ็นคำสั่งเด้ง ตร.ทางหลวง

พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวถึงความคืบหน้าการสืบสวนคดีส่วยสติกเกอร์ของตำรวจทางหลวง โดยระบุว่า ในวันที่ 8 มิ.ย. ก่อนเวลา 13.00 น. จะลงนามในคำสั่งโยกย้ายข้าราชการตำรวจทางหลวงให้มาช่วยราชการ หลังจากสืบสวนแล้วพบว่าต้องสงสัยเข้าข่ายกระทำความผิด โดยเป็นการตรวจสอบจากบันทึกการจับกุมรถบรรทุกที่ผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีนายวิโรจน์จะนำหลักฐานส่วยสติกเกอร์มาให้กับผู้บังคับบัญชาระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะนำมาตรวจสอบร่วมด้วย

พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้ถือว่านายวิโรจน์เป็นคนจุดชนวนที่ดีในการตรวจสอบทุจริต แต่หลังจากนี้รัฐบาลควรจะต้องจริงใจในการแก้ไขปัญหาร่วมด้วย อย่าให้เป็นวัฒนธรรมของทุกองค์กรว่าจะต้องจ่ายส่วย เพราะหากทำถูกต้องตามกฎหมายก็สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมามีคดีเรียกรับสินบนเกิดขึ้น ก็จะมีหลักฐานมัดแน่นทุกคดี ส่วนการสั่งการให้ตรวจสอบการรับผลประโยชน์แต่ละกองกำกับการของตำรวจทางหลวง จากการตรวจสอบรายงานแล้วพบว่ามีบางส่วนเกี่ยวข้องกับที่ได้สืบสวนคู่ขนานกันไป พร้อมกับเน้นย้ำให้ตำรวจทางหลวงทุกนายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากสังคมจับตามอง

 “หลังจากนี้ก็เตรียมตรวจสอบร่วมกับทั้งสำนักงาน ป.ป.ช., ป.ป.ท. และตำรวจ ปปป. ตามด่านชั่งน้ำหนักที่ได้รับข้อร้องเรียนมาว่าตาชั่งไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวง เพราะแต่ละหน่วยงานมีความพร้อม และมีอำนาจในการดำเนินคดีอยู่แล้ว แต่ในชั้นนี้ขอตรวจสอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในหน่วยงานตำรวจทางหลวงไปก่อน” พล.ต.ต.จรูญเกียรติระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รรท.ผบก.ทล. สั่งการ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.4 บก.ทล., พ.ต.ต.พุทธางกูร เรืองธรรม สว.ส.ทล.3 กก.2 บก.ทล. สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ประจวบคีรีขันธ์ จับกุมนายสมบัติ อายุ 47 ปี ในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษี ได้ที่บริเวณริมถนนเพชรเกษม ทล.4 กม.308 ขาเข้า ต.เกาะหลัก อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีรถบรรทุกน้ำมันดีเซล 15,000 ลิตร เป็นของกลางในคดี 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้สั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วนแล้ว หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง จะดำเนินการต่อบุคคลที่กระทำความผิดตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นทันที พร้อมให้ความร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทั้งตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง และเชื่อมั่นในการดำเนินการของกรมสรรพสามิตต่อไป

ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ด่านชั่งน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ติดสินบนด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุกว่า ต้องการให้สื่อมวลชนมาตรวจสอบว่าระบบมีความสมบูรณ์และโปร่งใสหรือไม่ รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบและการคัดกรองรถบรรทุก ณ ด่านชั่งน้ำหนัก มีการควบคุมการทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการติดตั้งระบบชั่งน้ำหนักขณะรถเคลื่อนที่ (WIM) เข้ามาช่วยคัดกรองรถบรรทุกในเบื้องต้น เพื่อแจ้งเตือนผู้ขับขี่รถบรรทุกให้ทราบ และนำรถเข้าชั่งน้ำหนัก ณ ด่านชั่งถาวร เพื่อตรวจสอบน้ำหนักว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

นายมนตรีกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 มิ.ย. เวลาประมาณ 08.00 น. บริเวณด่านชั่งน้ำหนักอยุธยา ได้จับกุมรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้จำนวน 2 คัน ซึ่งคณะทำงานฯ จะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปประมวลผลกับด่านชั่งของกรมทางหลวงจำนวน 97 แห่งทั่วประเทศ ทำการปรับปรุงระบบการตรวจสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันให้มากขึ้น โดยพิจารณานำระบบ WIM เข้ามาใช้ เพราะปัจจุบันมีเพียง 37 แห่งเท่านั้น

คณะทำงานเร่งสอบฟันส่วย

 “ขณะนี้คณะทำงานยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเจ้าหน้าที่และบุคลากรกรมทางหลวงเพิ่มเติม ว่ามีโอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกหรือไม่ แต่เบื้องต้นได้รับรายงานจาก ผอ.ด่านว่ามีนโยบายสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่อยู่เป็นประจำภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อช่วยลดปัญหาการทุจริต ขณะเดียวกันจะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาสุ่มตรวจเช็กเพื่อป้องการปัญหาการทุจริตของด่าน ส่วนกรณีที่ตำรวจทางหลวงได้ตรวจสอบและพิจารณาเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดแล้วมากกว่า 15 รายนั้น ในส่วนคณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ และทำให้เกิดความล่าช้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลด่านชั่งน้ำหนัก” นายมนตรีระบุ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมมีการโยกย้าย หมุนเวียนเจ้าหน้าทุกด่านทุกพื้นที่ ไม่ได้มีการปล่อยปละละเลย ส่วนกรณีที่มีการออกมาเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ทางหลวงสถานีตรวจสอบน้ำหนักสุวินทวงศ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก โดยมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของหรือทำสติกเกอร์แจกจ่ายให้กับรถบรรทุก ขณะนี้ได้สั่งการให้โยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ยังสถานีตรวจสอบน้ำหนัก จ.สระแก้ว ตลอดจนตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบผู้บังคับบัญชาเกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ระดับใดก็ตาม จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้น

นายมนตรีกล่าวว่า ในวันที่ 8 มิ.ย.2566 ผู้แทนจากกรมทางหลวงจะเข้าร่วมประชุมพร้อมกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ณ กองบังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งทางคณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงก็จะนำชุดข้อมูลที่กรมทางหลวงร่วมประชุมในวันนั้น นำมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเข้าข่ายการกระทำความผิดจริง ก็จะสั่งย้ายทันที และหากสอบสวนแล้วมีมูลเหตุน่าเชื่อถือว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัยแล้วทำตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป   

ด้านนายอลงกรณ์ พรหมศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง (ทล.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย อาจได้รับข้อสั่งการจากข้าราชการระดับสูงหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมีการรวบรวมข้อมูลและเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน หากพบหลักฐานว่าผิดจริงก็จะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด  แต่ย้ำว่าการทำงานของด่านชั่งน้ำหนัก มีการเก็บข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และทางส่วนกลางก็มีหน้าที่กำกับดูแลในการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในพื้นที่ รวมถึงประเมินผลติดตามการทำงานอยู่ตลอด

 “ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ขณะที่กรมทางหลวงโดยนายสราวุธ ทรงศิวิไล  อธิบดีกรมทางหลวง ได้สั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกรม ส่วนสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ ในฐานะที่กำกับดูแลของด่านชั่ง หากมีประเด็นร้องเรียน จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนฯ และมีมาตรการต่างๆ ในการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น หากประชาชนพบเห็น สามารถร้องเรียนเรื่องรถบรรทุกได้ที่หมายเลข 1586 กด 5” นายอลงกรณ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง