ขู่ฟันนักการเมืองยุแยกดินแดน

สมช.ถกปมกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนปาตานี ขณะที่เลขาฯ สมช.เผย เร่งสอบฝ่ายการเมืองโยงทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง หาเสียงสุดโต่งและแรงหลายเรื่อง ส่วน มทภ.4 ฮึ่ม! ไอ้โม่งชักใยขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ปัตตานี ชี้กระแสตีกลับคนในพื้นที่ไม่ต้องการแยกดินแดน

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยผลการประชุมถึงกรณีนักศึกษามีการจัดทำโพลแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อ ให้ปาตานีแยกออกมาปกครองตัวเองจากรัฐไทยว่า ตนได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า และตำรวจภาค 9 ก็กำลังตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในเนื้อหาสาระของกิจกรรมที่จัด และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และดูข้อมูลผลผลิตต่างๆ ที่ปรากฏต่อสื่อและโซเชียลมีเดีย ว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายเรื่องใดบ้าง ข้อมูลที่ปรากฏจะไปเกี่ยวกับการต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องมีการสืบสวนและหาข้อมูลรายละเอียด ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการและคงต้องใช้เวลาพอสมควร

 "เรากังวลสิ่งที่เผยแพร่ไปสู่สาธารณชน อย่างที่พวกเราได้ยินได้ฟัง ซึ่งต้องดูว่ากลุ่มที่ทำโดยเสียงประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ กลไกต่างๆ ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาสันติสุข ระดับตำบล และที่ผ่านมาเราก็รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งต้องดูว่าสิ่งเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการประเมินหรือไม่เพราะจริงๆ แล้วประเด็นนี้มีกลุ่มคนพยายามทำอยู่ แต่ทำไมจึงมารุกคืบรุนแรงในช่วงเวลานี้ เลขาฯ สมช.ตอบว่า ต้องให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงาน ซึ่งเรามีฐานข้อมูลเดิมอยู่พอสมควร ในความโยงใยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมา ได้พยายามทำความเข้าใจมาโดยตลอด ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ดีกินดี ปลอดภัย ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนในสิ่งที่พื้นที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา ถ้าดูแผนงานต่างๆ ในสิ่งที่รัฐบาลทำ ได้พยายามตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แม้บางส่วนอาจจะมีความคิดอย่างที่พวกท่านทราบ แต่เราก็ต้องพยายามอธิบาย ทำความเข้าใจถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร

 ถามว่า วันนี้ฝ่ายความมั่นคงมีหลักฐานว่าพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ตอบว่า จากการจัดกิจกรรมเท่าที่ทราบ เห็นว่ามีพรรคการเมืองเกี่ยวข้องด้วยทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ตรงนี้ขอให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งต้องอยู่ในผลการสอบสวนอยู่แล้ว ว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง

"ถ้าสังเกตการหาเสียงเลือกตั้งค่อนข้างจะสุดโต่งแรง และหลายเรื่องที่ สมช.มีข้อกังวล แต่หลังผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่มีการรับรองจาก กกต.ก็ตาม จะเห็นว่ามีความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองที่พยายามพูดถึงนโยบายที่จะทำต่อไป ผมคิดว่านโยบายเหล่านั้นนุ่มนวลลง และจากการเก็บรายละเอียดดูเหมือนว่านโยบายส่วนใหญ่สอดคล้องกับที่เราพยายามทำอยู่ ทั้งนี้ข้อมูลเดิมไม่ว่าอะไรก็ตามที่เชื่อมโยงกับการกระทำที่ผิดกฎหมายต้องถูกนำมาพิจารณาทั้งหมด"

 ซักว่า สมช.สามารถเอาผิดนักการเมืองได้หรือไม่ เลขาฯ สมช.บอกว่า ยังตอบไม่ได้ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับพรรคการเมือง แต่ความจริงแล้วท่านน่าจะทราบ สมช.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พูดชัดเจนเรื่องนโยบายแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้พูดชัดเจนมาตลอดทั้งในสภาและ ครม.ถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เรามีนโยบายชัดเจน

 เมื่อถามว่า เบื้องต้นยังเป็นเรื่องภายใน ยังไม่มีแรงจากนอกประเทศสนับสนุนใช่หรือไม่  พล.อ.สุพจน์บอกว่า ยังไม่มี แต่เรายังไม่ได้ตัดหากพบว่ามี ซึ่งทุกวันนี้เราได้พูดคุยกับต่างประเทศทั้งระดับนโยบายทั้งหมด และฝ่ายต่างประเทศและองค์กรต่างประเทศก็ลงไปรับทราบสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการพูดคุยอย่างใกล้ชิดมาตลอด 

ถามว่า การออกแบบสอบถามเพื่อทำประชามติแบ่งแยกดินแดนตามที่เป็นข่าวสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายหรือไม่ เลขาฯ สมช.ตอบว่า ถ้าพูดถึงการลงประชามติ เรื่องเอกราช มาตรา 1 รัฐธรรมนูญพูดชัดเจนทำไม่ได้ ส่วนจะผิดกฎหมายมาตราย่อยอย่างไรต้องดูพฤติกรรม และหลักฐาน สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย กอ.รมน.จะเป็นเจ้าภาพลงไปดำเนินการ ซึ่งวันนี้ได้กระทรวงยุติธรรม อัยการ มาพูดคุยแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวผิดหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ถ้ามีหลักฐานว่ามีความผิดก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย กิจกรรมนี้ดูเผินๆ เป็นกิจกรรมทางวิชาการ ซึ่งในเนื้อหาสาระมีทั้งเชิงวิชาการและกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง จึงเกิดประเด็นที่น่าเป็นห่วง ต้องตรวจสอบและต้องทำความเข้าใจกับสังคม

"เราพยายามพูดคุยกับผู้เห็นต่างทางการเมืองมาโดยตลอด และทุกวันนี้มีการยกระดับให้มีการพูดคุยกว้างขวางยิ่งขึ้นทุกภาคส่วน มิใช่แค่กลุ่มบีอาร์เอ็น หรือกลุ่มอะไรก็ตามที่อ้างตัวขึ้นมา เราได้รับฟัง พร้อมพยายามเชิญนักการเมืองและผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีของประชาชนมาทำความเข้าใจ มาช่วยกันแก้ปัญหา"

พล.อ.สุพจน์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีข่าวจะมีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยว่า ปกติจะมีการเตรียมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ภาคใต้ มีอยู่หลายท่าน ซึ่งจะรู้ปัญหาดีว่าที่ทำมาได้ผลเป็นอย่างไร ส่วนจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเป็นอำนาจของรัฐบาล เมื่อถามว่า ในพื้นที่สามารถเสนอตัวบุคคลขึ้นมาให้รัฐบาลพิจารณาได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่าได้ เพราะในกระบวนการต่างๆ ก็มีการพูดคุยอยู่แล้ว ก่อนที่จะมีการตั้งก็จะไปคุยในพื้นที่

ถามว่า มีกระแสข่าวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อาจจะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.สุพจน์ตอบว่า เป็นเพียงข่าวที่ออกมาเท่านั้น

ด้าน พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เผยว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รวมทั้งแนวทางดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ร่วมกิจกรรมหรือผู้ที่อยู่ในข่ายความผิด ต้องดูว่ากลุ่มเยาวชน พรรคการเมือง ทั้งคนที่รู้จักในแวดวงต่างๆ ในพื้นที่นั้น ซึ่งตรงนี้มีหลักฐานที่ชัดเจน ในส่วนของเยาวชนก็มั่นใจว่าเยาวชนอาจจะฟังข้อมูลที่ผิดๆ หรืออาจจะมีการชักจูงและคล้อยตามกับสิ่งที่รับฟังมา โดยจะนำหลักนิติศาสตร์เข้ามาช่วยด้วยในส่วนนี้ และต้องสร้างความตระหนักรู้ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ให้คุยกันด้วยเหตุและผล และจะมีกรณีใดบ้างที่เข้าข่ายนี้

ในส่วนเรื่องของผู้ที่ชักจูงให้เข้าร่วมการประชุมสัมมนานั้น เจ้าหน้าที่กำลังเร่งหาข้อมูลหลักฐาน เมื่อผิดจริงก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมาย รวมถึงชี้แจงสร้างความเข้าใจกับประชาชน และก็ทราบดีว่ากระแสปัจจุบันตีกลับมาว่า ที่ต้องการลงประชามตินั้นเป็นไปไม่ได้ และมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการแบ่งแยกประเทศ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รอง มทภ.4 และรอง ผอ.รมน.ภาค 4  สน.เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง