สั่งแจงเพิ่มคดีศักดิ์สยาม ปปช.ฟันอดีตเลขาฯสภา

ศาลรัฐธรรมนูญสั่งผู้เกี่ยวข้องคดี "ศักดิ์สยาม" ถือหุ้นบุรีเจริญ ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม แต่ไม่ได้กำหนดเส้นตาย ป.ป.ช.ฟัน "สุวิจักขณ์" อดีตเลขาธิการสภาฯ กับพวก ผิดวินัย-อาญา ฐานทุจริตจัดซื้อนาฬิกาหรู 15 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลประชุมปรึกษาคดี ในคดีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้นายศักดิ์สยามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี  พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม  สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่  ประธานสภาฯ จึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว มีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น 

โดยศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการระบุว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ให้มีการชี้แจงเพิ่มเติมนั้นคือบุคคลใด และให้ชี้แจงภายในเมื่อใด

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้พิจารณากรณีไต่สวนเรื่องโครงการการจัดซื้อนาฬิกาติดโดยรอบอาคารรัฐสภา จำนวน 240 เรือน มูลค่ารวม 15,422,845 บาท เมื่อครั้งนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 56 โดยมีนายสุวิจักขณ์กับพวกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับบริษัทเอกชนในการกำหนดสเปก รายละเอียด ราคากลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางสภาเข้าไปร่วมในการดำเนินการ เพื่อกำหนดล็อกสเปกนาฬิกายี่ห้อ BODET ของบริษัท อีควิพเม้นท์ จำกัด ให้เป็นผู้ชนะและเป็นผู้มีสิทธิ์ทำสัญญากับทางรัฐสภา ทั้งที่วัตถุประสงค์ของการจดจัดตั้งบริษัทไม่ได้มีเรื่องจำหน่ายและติดตั้งระบบนาฬิกาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีการปลอมหนังสือรับรองผลงานและสัญญาจ้างที่ใช้ประกอบการเสนอราคา จนกระทั่งมีการอนุมัติลงนามในสัญญา อีกทั้งในขั้นตอนการส่งมอบงานให้กับรัฐสภานั้น ทางบริษัท อีควิพเม้นท์ จำกัด ไม่ได้สั่งนาฬิกาเข้ามาจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยตรง แต่สั่งจากบริษัท พรีเซียสไทม์  เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นผู้แข่งขันอีกราย ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วจึงมีมติชี้มูลความผิดนายสุวิจักขณ์ กับพวก มีโทษทั้งวินัยและอาญา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนายสุวิจักขณ์ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งแล้ว จึงพ้นโทษวินัย ส่วนโทษทางอาญานั้น ป.ป.ช.จะส่งสำนวนไปยังอัยการเพื่อส่งฟ้องศาลอาญาทุจริตต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง