8พรรคร่วมจ้องรื้อ‘กอ.รมน.’ มทภ.4ย้ำเชือดไอ้โม่งยุนศ.

ตัวแทน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ประชุมคณะทำงานย่อยด้านสันติภาพชายแดนใต้ 3 เดือนแรกชง ครม.ทบทวนสถานภาพ กอ.รมน.และกฎหมายพิเศษในพื้นที่ เห็นพ้องเปลี่ยนชื่อเป็น "พูดคุยสันติภาพ" ไม่กังวลคนใช้ปมแบ่งแยกดินแดนเป็นเกมล้มตั้งรัฐบาล เชื่อเป็นไปไม่ได้ ยันต้องทำตามรัฐธรรมนูญ "แม่ทัพภาคที่ 4" ชี้ขบวนการ นศ.จัดกิจกรรมลงประชามติแยกดินแดนมีคนอยู่เบื้องหลัง แจงการรวบรวมข้อมูลต้องรอบคอบ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ทำการพรรคประชาชาติ ถนนสรงประภา เขตดอนเมือง คณะทำงานย่อยของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้ ได้จัดประชุมครั้งที่ 2

โดยมีตัวแทน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเข้าประชุม  ประกอบด้วย ตัวแทนพรรคก้าวไกล ได้แก่ นายรอมฎอน ปันจอร์, นายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ, พล.ท.พงศกร รอดชมภู ตัวแทนพรรคประชาชาติ ได้แก่ นายมุข สุไลมาน, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, นางสาวรอมือละห์ แซเยะ, นายรักชาติ สุวรรณ์, นายมูหามัดเปาซี อาลีฮา และผู้ร่วมสังเกตการณ์ ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายอับดุลเราะมัน มอลอ และนายสูฮัยมี ลือแบซา ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย ได้แก่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์, นางตัสนีม เจ๊ะตู ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ได้แก่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร, นายก่อแก้ว พิกุลทอง ตัวแทนพรรคเพื่อไทรวมพลัง ได้แก่ นายฮัมซะฮ์ หะสาเมาะ ตัวแทนพรรคเป็นธรรม ได้แก่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ, นายซาฮารี เจ๊ะหลง, ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์, นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม, ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย ได้แก่ พ.ต.อ.เสวก อรุณรุมแสง

 โดยนายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะทำงานย่อยด้านสันติภาพชายแดนใต้ว่า เป็นการหารือต่อยอดนโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งต่อไปจะใช้การสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ และจะนำมาสรุปว่าใน 100 วันแรกของรัฐบาล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะทำอะไรบ้าง โดยในวันนี้ได้หารือถึงมาตรการด้านความมั่นคง กฎหมายพิเศษที่เห็นตรงกันว่าถึงเวลาที่จะลดมาตรการพิเศษ ฟื้นคืนความปลอดภัยให้ประชาชน ทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้ ต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

"การประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วง 3 เดือนแรกจะต้องพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ต้องมาพูดคุยกับหลายฝ่ายว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ยังต้องคงกฎหมายเหล่านี้ เนื่องจากในพื้นที่ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะกังวล หากเจ้าหน้าที่ไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ จะส่งผลกระทบอย่างไร อีกทั้งยังทบทวนสถานภาพของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จากนี้จะนำผลการประชุมในวันนี้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต่อไป" นายรอมฎอนกล่าว

 นายรอมฎอนกล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะสานต่อการพูดคุยสันติภาพ และจะเปลี่ยนชื่อจาก "การพูดคุยสันติสุข" ที่ใช้ในสมัยรัฐบาล คสช. กลับมาใช้ชื่อ "การพูดคุยสันติภาพ" เพื่อสะท้อนนัยที่มีความหมายมุ่งสู่ความจริงจังในการแสวงหาข้อตกลงกับกลุ่มต่างๆ และจะนำสิ่งที่แต่ละรัฐบาลดำเนินการ ผลจากการพูดคุยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาสานต่อ ผลประโยชน์ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงจะกลับคืนสู่ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อสถาปนาความเป็นปกติใหม่ โดยไม่ต้องมีมาตรการพิเศษ ความปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อย่างไรก็ตาม วันนี้ไม่ได้คุยเรื่องการลงประชามติของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน

ส่วนถามว่า กังวลหรือไม่เรื่องการลงประชามติของขบวนการนักศึกษาอาจกระทบกับบางพรรคร่วมรัฐบาล นายรอมฎอนกล่าวว่า ไม่กังวล เรามีสมาธิจดจ่อกับการตั้งรัฐบาลใหม่ เราจะทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เราสามารถคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ได้ เพราะถือเป็นประเด็นอ่อนไหว แต่ไม่ได้แปลกใจอะไรหากเรื่องนี้จะถูกนำมาเป็นเกมล้มการจัดตั้งรัฐบาล จึงได้เตือนกันให้ระมัดระวังและรับฟังการทำงานของทุกฝ่าย

 เมื่อถามว่า ในอนาคตมีโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอให้แบ่งแยกดินแดนหรือไม่ นายรอมฎอนกล่าวว่า คิดว่าประเด็นนี้ตกไปแล้ว และพยายามทำให้เป็นข้อกังขา คงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะเสนอให้แบ่งแยกดินแดน แต่เมื่อมีคนตั้งคำถามแบบนี้มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะการได้มาซึ่งอำนาจในความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นเราต้องทำตามนโยบายที่ประกาศต่อสาธารณะตามกรอบรัฐธรรมนูญไทย

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุมสันติภาพชายแดนใต้ที่พรรคประชาชาติ ซึ่งมีประเด็นร้อนเรื่องประชามติแบ่งแยกดินแดน ว่าที่ผ่านมาพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแสดงท่าทีชัดเจนว่า การโจมตีเรื่องแบ่งแยกดินแดนถือเป็นการยกเมฆ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยกประเด็นมาโจมตีเพื่อการเมือง ประเด็นนี้น่าจะไม่มีปัญหาต่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่อาจหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คาดว่าในการประชุมหัวหน้าพรรควันที่ 22 มิ.ย.66 จะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกัน         

พลโทศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้สัมภาษณ์กรณีขบวนการนักศึกษาแห่งชาติได้จัดกิจกรรมจัดพิมพ์บัตรถามความเห็นประเด็นการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ได้มากพอสมควร ซึ่งการดำเนินการนั้น กอ.รมน.ภาค 4 สน.จะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลหรือทีมงานต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังได้ เพราะการที่นักศึกษาออกมาพูดนั้น คาดว่าต้องมีผู้ที่เชื่อมโยงชักใยอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเยาวชนอาจจะหลงผิดไปบ้าง ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

"ในการรวบรวมข้อมูลต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความรัดกุม รอบคอบ เพราะประชาชนคนไทยกว่า 70 ล้านคนจับตาดูอยู่ หากมีการสัมมนาต้องการจะแบ่งแยกทุกภาคของประเทศไทยคงเป็นไม่ได้ สำหรับกรณีการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่พี่น้องประชาชน เยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ ขณะนี้กำลังดำเนินการให้ครอบคลุมอย่างเร่งด่วน"

ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์การก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ ในช่วงที่ผ่านมาที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ กรณีเหตุยิงประชาชนไทยพุทธเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งได้ลงพื้นที่พร้อมสอบถามถึงเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุและรีบดำเนินการแก้ไข พร้อมทั้งได้มีการเน้นย้ำกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ก้าวไกล' ดิ้นสู้คดียุบพรรค!

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวถึง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลายื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาคดียุบพรรค ฐานกระทำการ

'รังสิมันต์' ยัน 44 สส. ก้าวไกล เสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นไปตามหน้าที่

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เรียก