ตั้งเวทีถก91ปีปชต. ‘รธน.’คือตัวปัญหา ชงเขียนฉบับใหม่

ท่าพระจันทร์ ๐ เสวนา 91 ปีประชาธิปไตย วนที่เดิมเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ "โภคิน" ชี้ทำประชามติ 3 รอบ เสียเวลา 3 ปี หวั่น รบ.อยู่ไม่ถึง ขณะที่ "อภิสิทธิ์" ระบุ 30 ปีทุกอย่างเหมือนเดิม  ประเมินขั้นร้ายสุดปีหน้าถึงจะทำประชามติได้ รอ ส.ว.ชุดนี้หมดอายุก่อน   ด้าน "อ.เจษฎ์" ป้องศาล รธน. ผิดตรงไหน วินิจฉัยยกร่าง รธน.ใหม่ต้องทำประชามติก่อน “ปิยบุตร” ชี้ 4 ปีไม่สำเร็จ ติด ส.ว.-ศาล รธน.

     เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ที่ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ (LT.2) คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์จัดเสวนาในหัวข้อ  "91 ปีประชาธิปไตยกับก้าวต่อไปหลังการเลือกตั้ง 2566 : กติกาทางรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับการเมืองไทย" ในโครงการ  "เชิดชูครูกฎหมาย" งานวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 11 มีวิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี,  นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศพรรคไทยสร้างไทย, นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

     นายโภคินกล่าวว่า เราจะก้าวข้ามกับดักรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น ตนนั่งคิดว่าปัญหาทั้งหมด 91 ปีที่ผ่านนั้น เกิดมาจากอะไร จึงวนเวียนที่การรัฐประหาร การเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจนั้นเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ซึ่งตนขอเรียนว่า ประเทศนี้ถูกขับเคลื่อน ด้วย 3 พลังใหญ่ๆ คือ 1.พลังศักดินานิยม  2.พลังอำนาจนิยม ที่มีกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกเป็นหัวหอก และ 3.พลังประชาธิปไตย ซึ่งมีพรรคการเมืองเป็นหัวหอก และอาจจะมีภาคประชาชนบ้าง  พลังนี้เป็นพลังที่อ่อนแอที่สุด

     "โดย 3 พลังนี้ขับเคลื่อนการเมืองไทยมาโดยตลอด เราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นการต่อสู้โดย 2 พลัง คือพลังศักดินานิยมกับพลังอำนาจนิยม บวกกับประชาธิปไตยส่วนหนึ่งในเวลานั้น แต่เมื่อพลังศักดินานิยมอ่อนแอลง ก็เป็นการต่อสู้ระหว่างพลังอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย มันผลัดกันไปมาอย่างนี้ตลอดเวลา"

     เขาบอกว่า หากจะปลดล็อกรัฐธรรมนูญ ต้องมาร่วมทำกันทุกฝ่าย  เสนอกลับเข้าไปใหม่หลังมีรัฐสภาขึ้นมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แก้ไขเพิ่มเติมตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป โดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปรับ 3 เรื่องใหญ่คือ 1.เลือก ส.ส.ร.ให้จบภายใน 60 วัน 2.ส.ส.ร.ทำงาน 120 วัน และ 3.เมื่อ ส.ส.ร.พิจารณาเสร็จแล้วไปขอความเห็นชอบสภา ถ้ารัฐสภาเห็นด้วยก็จบ และทำประชามติเพียงครั้งเดียว คือตอนที่เราจะให้มี ส.ส.ร. เพราะรัฐธรรมนูญบังคับ ถ้าเราทำอย่างนี้ครั้งเดียว แต่มันปลดกับดับทั้งหมดตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปได้หมด ตนคิดว่าให้ทำอันนี้ก่อน หลังจากนั้น ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างไรก็ไปว่าตามเกณฑ์อันใหม่ว่าต่อจากนี้จะปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรต่อไป

     "ผมคำนวณคร่าวๆ ถ้าถามประชามติ 3 รอบ การทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ผมยังไม่รู้ว่ารัฐบาลไหนจะอยู่ได้ถึง แต่ถ้าร่วมมือกันอย่างนี้ ไม่เกินปลายปีหน้าจบหมด และคนที่จะมาดำเนินการในสภาก็เป็น ส.ว.รุ่นใหม่ เพราะรุ่นปัจจุบันจะหมดอายุในเดือน พฤษภาคมปีหน้า ดังนั้นเรายกกับดักที่มันเลอะเทอะนี้ออกไปก่อน ซึ่งผมอยากให้ช่วยกันแบบนี้" นายโภคินกล่าว

30 กว่าปีวนอยู่เหมือนเดิม

     ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่งว่า  การมาร่วมงานวันนี้รำลึกใน 2 เรื่อง คือครูกฎหมายไพโรจน์ ชัยนาม กับ 91 ปีนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 ทำให้ย้อนคิดไปถึงอดีตตอนที่เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2534 ได้เป็นวิทยากรที่เคยมานั่งแบบนี้ รวมทั้งมีผู้ที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญมาร่วมเสวนารัฐธรรมนูญ 23 ก.พ.2534 ที่เกิด รสช. หนึ่งในผู้ร่างรัฐธรรมนูญลุกขึ้นชี้หน้ามาด่าตนทำให้รู้สึกสะท้อนใจ เวลาผ่านไปจนมาถึงตอนนี้ 30 ปี ที่ทุกคนคาดหวังจะมีกติกาที่เป็นฉบับสุดท้ายให้ประเทศเดินหน้าไปได้  แต่ปรากฏว่า 30 กว่าปีทุกอย่างยังวนเวียนอยู่เหมือนเดิม

     วันนี้ผู้มาร่วมเสวนาเชื่อว่าไม่มีใครคิดต่างในเรื่องนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการจัดทำประชามติที่เราบอกไม่ใช่กติกาที่จะเป็นคำตอบของประเทศ เป็นกติกาที่อาจจะไม่ได้ตามตั้งใจของผู้ร่างกติกาที่ไม่เป็นสากล มีความผิดเพี้ยน และเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง มีกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ก็มีความคาดหวัง และตนก็เห็นด้วยกับที่นายโภคินเสนอ คือต้องทำกติกาใหม่ ไม่เช่นนั้นนักการเมืองเดินต่อไปไม่ได้ ต้องแก้กับดักที่เกิดขึ้น หลังจากสภาชุดที่แล้วที่มีการแก้ไข แต่ให้เว้นหมวด 1 และ 2 ก็บอกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ยังเจอกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

     นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า การทำประชามติที่กำหนดในรัฐธรรมนูญให้ทำ 2 ครั้ง เพราะมีการแก้ไขและเติมเต็มรัฐธรรมนูญโดยที่ประชาชนอนุญาตแล้ว เมื่อยกร่างเสร็จก็ไปถามประชาชนอีกครั้ง วันนี้ยุติหรือยังที่จะต้องทำ 3 ครั้ง ทั้งที่เวลาผ่านมานานก็ยังไม่สามารถทำประชามติได้ ดังนั้นโจทย์วันนี้คือกระบวนการรื้อฟื้นกระบวนการที่จะทำประชามติ 1 ครั้ง และสามารถทำได้เลย หากเป็นเช่นนี้ พรรคการเมืองทั้งหลายน่าจะเห็นชอบ      "แต่ยังติดว่าถ้าอยู่ในขั้นเลวร้ายสุด ก็ต้องรอปีหน้าที่ ส.ว.ครบวาระจึงจะเดินหน้าได้ และยังมีจุดอื่นๆ อีก หากจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องเดินหน้าตั้งแต่หมวด 3 สิ่งสำคัญคือกระบวนการตกผลึก ที่จะต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงจะทำให้เป็นภูมิคุ้มกันของรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นกติกาทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้"

     นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า หากจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ หัวใจสำคัญตนมองว่าต้องดูที่เนื้อหาของการเขียนกติกา อยากให้เนื้อหาการเขียนรัฐธรรมนูญค่อนข้างสั้นไม่บดบังประเด็นหลัก ควรกำหนดเรื่องหลักคือบทบาทของภาครัฐ บทบาทของการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงสร้างที่ให้อำนาจกับประชาชนให้สิทธิเสรีภาพครอบคลุมเชิงสวัสดิการ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐ และอะไรที่ไม่ควรทำกับประชาชน รวมถึงบทบาทองค์กรอิสระด้วย

เสนอลบยุทธศาสตร์ชาติทิ้ง

     ส่วนเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติและแนวนโยบายแห่งรัฐไม่ควรมี แต่ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการใช้อำนาจและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการถ่วงดุลขององค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ เพราะในต่างประเทศไม่ได้อิงที่เนื้อหาสาระ แต่มีประเพณีและวัฒนธรรมการเมืองที่รองรับ ไม่ต้องมีศาลพิเศษหรือองค์กรอิสระ แต่การถ่วงดุลเกิดจากประเพณีและจิตสำนึก ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยล้มเหลวนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2536-2538 และเมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มองว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาระบบการเมือง ก็คิดว่าน่าจะเป็นต้นแบบได้ โดยให้รัฐธรรมนูญเกิดความเข้มแข็ง สามารถถ่วงดุลโดยภาคประชาชน แต่ก็ยังล้มเหลวจนมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยังมีจุดอ่อนหลายจุด แม้จุดประสงค์จะมีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับทั้งหมด เพราะยังเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือ ส.ว.เข้ามาด้วย

     นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ยิ่งไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่ได้ตั้งใจในการขับเคลื่อนประเทศ แต่เพื่อให้คนที่ยึดอำนาจยังมีอำนาจต่อไป โดยที่การทำประชามติไม่เสรีผู้ร่างกติกามาเล่นเอง และมีคำถามพ่วงที่ ส.ว.มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้เกิดความเสียหายมาก และเป็นยุคที่มองว่าองค์กรอิสระตกต่ำที่สุด โจทย์ต่อไปคือหากจะมีกระบวนการตรวจสอบจะใช้วิธีไหน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่จะโยนเฉพาะ ส.ว.และศาลในการตัดสิน เพราะถ้ามีเรื่องนักการเมือง ก็จะท้าให้นำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำให้ศาลมีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าไม่อยากเป็นใช่นี้ จะเอาระบบตรวจสอบถ่วงดุลอย่างไร ถ้ายังตอบไม่ได้ก็ยังไม่มีความหวัง แต่ตนก็ยังหวังว่าอีก 30 ปีข้างหน้าคงไม่ต้องมานั่งตั้งความหวังเหมือน 30 ปีที่แล้ว หรือตนอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังหวังว่าจะมีกระบวนการออกแบบได้ดี เลือกคนที่จะมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง 

     ส่วนนายเจษฎ์กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าก่อนทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามตินั้น ศาลรัฐธรรมนูญผิดตรงไหน ในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 60 หมวด 15 เป็นหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้อนุญาตให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ 3 วิธี ถ้าอยากแก้หมวดหนึ่ง หมวดสอง ก็ไปทำประชามติ  หรือถ้าอยากได้ ส.ส.ร. ก็ไปแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15 ว่าต้องการ ส.ส.ร. จากนั้นจึงนำไปทำประชามติ รวมถึงกรณีถ้าต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองก็ไปทำประชามติ

     "ถ้าจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญอีก  อยากให้มี 3 ข้อคือ รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านเสียก่อน อย่าให้ ส.ส.ร.เป็นคนยกร่าง แต่ให้ทำหน้าที่รับฟังความเห็น แล้วค่อยจ้างคนเขียน โดยมี ส.ส.ร.เป็นคนบอก เหมือนจ้างคนขับรถ จากนั้นค่อยไปปรับแต่ง และอย่าใช้ระยะเวลาเป็นตัวบีบรัด ขอให้ใช้เวลาในการยกร่าง 2-3 ปี แล้วจึงนำไปทำประชามติ" นายเจษฎ์กล่าว

 'ปิยบุตร' ยันต้องแก้ ม.112

     นายปิยบุตรกล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ มีเพียงเรื่องระบบเลือกตั้งเท่านั้นที่ทำได้ แต่ไม่ใช่หัวใจหลัก ซึ่งตนเห็นพ้องกับนายอภิสิทธิ์ ที่ว่ากติการะบบเลือกตั้งควรบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่า ในรัฐธรรมนูญควรกำหนดไว้เพียงสั้นๆ ว่าต้องเสรี โดยตรง และลับเท่านั้น เพื่อจะได้แก้ไขระบบเลือกตั้งได้ เพราะต้องยอมรับว่าระบบเลือกตั้งต่างมีข้อวิจารณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะระบบใดล้วนมีข้อดี-ข้อเสียทั้งสิ้น หากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะแก้ไขยาก

     อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 60 คือ หมวดแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ถือว่าแก้ไขได้ยากมาก เพราะขึ้นอยู่กับ ส.ว.และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเหมือนผู้ออกใบอนุญาตจะให้แก้ไขหรือไม่ให้แก้ไข ที่ผ่านมาก็ได้แสดงอิทธิเดชมาแล้ว นอกจากนี้ ตนยังเห็นคล้องกับนายอภิสิทธิ์ด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยชัดเจนว่าก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องประชามติเสียก่อน การที่รัฐธรรมนูญปิดช่องให้แก้ไขได้ยากนั้น  โดยเฉพาะมาตรา 256 ที่เขียนป้องกันไม่ให้ใครมาแตะต้องรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดปัญหา เพราะระบบมันตัน มีคนถามว่าสังคมจะออกจากรัฐธรรมนูญปี 60 อย่างไร ตนคิดว่ามองได้ 2 มุม ในมุมตัวบทรัฐธรรมนูญหาทางออกได้ยากมาก ส่วนมุมบริบททางการเมือง เราต้องสร้างฉันทามติสังคมร่วมกันว่าต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือว่าสำคัญมาก ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่ดีต้องประกันทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย เพราะทุกฝ่ายมีสิทธิ์เป็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และเวลาเขียนรัฐธรรมนูญต้องอย่าคิดถึงหน้าคน

     นอกจากนี้ นายปิยบุตรยังตอบคำถามผู้ร่วมเสวนาถึงการแก้ไขมาตรา 112 ว่า ตนพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นนักวิชาการ  ก่อนมาทำการเมืองแล้ว ว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไข อย่างน้อยที่สุดเพื่อป้องกันการถูกนำมาตรานี้มาใช้ในการกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่ตนตอบแทนพรรคก้าวไกลไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็น ส.ส.ของพรรค แม้จะเป็นผู้ช่วยหาเสียงหรือสนับสนุนพรรค แต่พรรคก้าวไกลได้มีการรณรงค์หาเสียงเรื่องนี้ไว้ เข้าใจว่าคงต้องยึดในหลักการที่ต้องปรับแก้ในเรื่องดังกล่าว .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฤษฎาฉีกหน้าพิชัย ไม่ให้เกียรติร่วมงานไม่ได้ ‘ทักษิณ’โผล่โคราช25พ.ค.

“เศรษฐา” ทัวร์ ประเดิมดูงานโครงการพระราชดำริ ชี้รัฐบาลให้ความสำคัญ ก่อนลุยตรวจสนามบินหัวหิน สั่งเร่งขยายให้จบก่อนไตรมาส 4 แพลมมีไอเดียเปลี่ยนชื่อเป็น