‘วรงค์’ชนะคดีหมิ่น‘ก.ก.’ ยกฟ้องขวางขบวนเสด็จ

"หมอวรงค์" ชนะคดี! ศาลยกฟ้องไม่หมิ่นก้าวไกล ชี้ติชมด้วยความเป็นธรรม ขณะที่ “เอกชัย” เฮ รอดคดีขวางขบวนเสด็จฯ ทุกข้อหา ชี้ตำรวจไม่ได้แจ้งล่วงหน้า

ที่ห้องพิจารณา 709 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน  ศาลนัดฟังคำพิพากษาหมิ่นประมาทพรรคก้าวไกล หมายเลขดำที่ 307/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ ฟ้อง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328

โดยโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า   เมื่อระหว่างวันที่ 20 ม.ค.2564 และวันที่ 3 ก.พ.2564 นพ.วรงค์ จำเลย กล่าวในเฟซบุ๊กชื่อ "Warong Decgitvigrom"  ไลฟ์สดในการแถลงข่าวการจัดตั้งพรรคไทยภักดี ใส่ร้ายโจทก์ทำนองว่าปัญหาของประเทศขณะนี้มีกลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดีจงใจจาบจ้วงสถาบันฯ อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ช่วงการระบาดโควิด โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งโรงงานวัคซีน กลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามโยงใยทำลายความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีทั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มราษฎร กลุ่มนักเรียนเลว ร่วมมือกัน โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษาคณะก้าวหน้า เป็นผู้สนับสนุน และข้อความอื่นซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด พร้อมกับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน 24 ล้านบาทเศษด้วย

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อช่วงปี 2563-2564 ปรากฏว่ามีสมาชิกพรรคโจทก์ไปร่วมด้วย ขณะที่เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2563 หลังการชุมนุมของนักศึกษาแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนั้น  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 10 ประการ ต่อสถาบันฯ ว่าไม่เท่ากับการก้าวล่วง จะต้องสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ อาจทำให้ประชาชนทั่วไปคิดไปได้ว่าโจทก์มีแนวคิดที่สอดคล้องกับบุคคลที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ดังนั้นการแสดงความเห็นของจำเลยทั้งสองครั้ง เมื่อวันที่ 20 ม.ค. และ 3 ก.พ.2564 เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นสะท้อนความคิดที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อสถาบันฯ ไปยังประชาชน อันเป็นการติชมโดยสุจริตที่วิญญูชนพึงกระทำได้ เป็นการทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ การกระทำไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 329 อนุ 3 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และไม่มีความผิดละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่ง พิพากษายกฟ้อง

นพ.วรงค์เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นว่า ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆ เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของตนนั้นเป็นไปโดยสุจริต ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องสถาบันของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สุดท้ายศาลยกฟ้อง ตนชนะ

เมื่อถามว่า จะมีการฟ้องกลับหรือไม่ นพ.วรงค์กล่าวว่า เราเป็นคนไม่ชอบเท้าความ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัวใดๆ เพียงแต่มีความขัดแย้งในทางความคิดและอุดมการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน  ซึ่งมีหลายประเด็นที่ฟ้องได้ แต่ไม่ได้ฟ้อง มีแค่คดีเดียวเท่านั้นในคดีมาตรา 112 กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เรื่องวัคซีนพระราชทานฯ เพราะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้

 “การเป็นพรรคการเมืองต้องใจกว้าง  ผมเรียกร้องให้พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้าใจกว้าง เราเป็นตัวแทนประชาชน ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่พวกคุณกระทำ ก็รับฟังไปเถอะ อะไรถูกก็ถูก ผิดก็ผิด อย่าให้มาเสียเวลาขึ้นศาล แต่กลับว่าพวกเขาฟ้องพวกเราเยอะมาก ซึ่งเราเฉยๆ เสียเวลา เอาเวลาไปต่อสู้ทางความคิดดีกว่า” นพ.วรงค์ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายธนาธรฟ้องในลักษณะเดียวกัน มีความมั่นใจว่าจะยกฟ้องหรือไม่ นพ.วรงค์ระบุว่า ทนายมั่นใจ เนื่องจากเป็นการไลฟ์ครั้งเดียวกัน และเนื้อหาก็เป็นสิ่งเดียวกันทั้งหมด พร้อมขอให้ประชาชนร่วมสังเกตว่าเขาแยกฟ้อง ทั้งพรรคและนายธนาธร และเรียกค่าเสียหายจำนวนเท่ากัน

วันเดียวกัน ศาลยังนัดฟังคำพิพากษาคดีแสดงความอาฆาตมาดร้าย  หมายเลขดำ อ.778/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ฟ้องนายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และพวก แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ในเหตุการณ์จำเลยกับพวกได้ลงมายืนบนพื้นผิวจราจรบนถนนพิษณุโลก ลักษณะกีดขวางการจราจร ซึ่งได้กำหนดใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินประจำปี พ.ศ.2563 ณ วัดราชโอรสาราม

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำสืบหักล้างเห็นว่า ช่วงวันเกิดเหตุมีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากมาที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขณะที่ขบวนเสด็จฯ ใช้เส้นทางโดยไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ซึ่งเป็นความลับ ทำให้การรับรู้ของประชาชนไม่เท่ากัน โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ตั้งแถวหน้ากระดาน หลายชั้น เพื่อขอใช้เป็นเส้นทางเสด็จฯ  และมีขบวนรถวิ่งเบิกทาง ขณะที่พวกจำเลยและผู้ชุมนุมเข้าใจกันว่า คฝ.จะเข้ามาสลายการชุมนุม จึงบอกให้ผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งขวางกลางถนน เพื่อป้องกันการรุกคืบของเจ้าหน้าที่ และเมื่อรถยนต์พระที่นั่งและขบวนเสด็จฯ ผ่านไป พวกจำเลยบางส่วนได้ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว และโห่ร้อง โดยไม่มีใครปาสิ่งของใส่รถยนต์พระที่นั่ง พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าพวกจำเลยมีเจตนาประทุษร้ายขัดขวางขบวนเสด็จฯ พวกจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง    พิพากษายกฟ้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง