ส.ว.อกนิษฐ์เสนอ สังคายนาประวัติ ‘จังหวัดปัตตานี’

“บิ๊กเจี๊ยบ” เสนอสังคายนาประวัติศาสตร์ปัตตานี แก้ปัญหาภาคใต้ระยะยาว จะได้เลิกปลุกระดมรัฐปาตานี เผยหากรัฐบาลใหม่อยากเอาทหารออกก่อนปี 2570 ก็ต้องรับผิดชอบหากเกิดเหตุ “ศปปส.” บุกก้าวไกล หวิดปะทะด้อมส้ม ปมเปลี่ยนวันชาติ “ณัฐพงษ์” ยันไม่ใช่นโยบายพรรค เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค.2566 พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา   และประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ในฐานะอดีตนายทหารที่เคยทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาภาคใต้ในระยะยาวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องคิดใหม่ ต้องแก้กระบวนทัศน์ก่อน  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย พูดมาตั้งแต่สมัยรับราชการทหารว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสนามรบ 2 สนามซ้อนกันอยู่ คือสนามรบทางทหาร เช่น ซุ่มยิง วางระเบิด กับสนามรบทางวัฒนธรรม การต่อสู้ทางวัฒนธรรม เพื่อดำรงอัตลักษณ์ของความเป็นมลายู-ปัตตานี แม่ทัพเป็นแม่ทัพในสนามรบทางทหารได้ แต่ในสนามรบทางวัฒนธรรมไม่ใช่ เริ่มตั้งแต่อะไร ก็ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ใครจะไปแก้ กระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงศึกษาธิการ

 “ผมเสนอให้สังคายนาประวัติศาสตร์ปัตตานี พูดไว้นานแล้วตั้งแต่รับราชการ  ไม่ใช่ว่าใครอยากศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานีต้องไปแอบหาหนังสืออ่าน ก็ควรให้มีการมานั่งพูดคุยกัน โดยมีผู้รู้ นักวิชาการต่างๆ ให้มีความหลากหลาย มองประวัติศาสตร์ปัตตานี แล้วสรุปให้มีเรื่องเดียว มีฉบับเดียว ไม่ใช่มีหลายฉบับแล้วเอาประวัติศาสตร์ไปบิดเบือน ไปปลุกระดมบอกว่าปาตานี ผมไม่เคยเห็น ไม่มี ประเทศไทยไม่เคยมีปาตานี มีแต่จังหวัดปัตตานี” พล.อ.อกนิษฐ์ระบุ

พล.อ.อกนิษฐ์อธิบายอีกว่า ประเทศไทยอาจมีประวัติศาสตร์หลายฉบับก็ได้  ประวัติศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประวัติศาสตร์ของภาคเหนือล้านนา ประเทศหนึ่งมีหลายประวัติศาสตร์ได้ แต่จะยอมรับกันได้ไหมนี่คือเรื่องกระบวนทัศน์ เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของแม่ทัพ แต่เป็นเรื่องของเวทีประชาชน คณะพูดคุยฯ ที่เป็นจุดอ่อน ตรงนี้คือไม่ยึดโยงกับประชาชน ทั้งที่ประชาชนคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใหญ่ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนว่าจะให้ประชาชนมีบทบาท เปิดพื้นที่ให้เขาแสดงความคิดเห็นอย่างไร ค่อยมาหารือกันว่าจะมีวิธีการอย่างไร

เมื่อถามว่า โมเดลการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คณะทำงานลักษณะดังกล่าวยังเป็นอยู่หรือไม่ พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่า ต้องถามว่าคณะดังกล่าวเป็นพันธกรณีหรือไม่ บางคนที่เคยอยู่ในคณะแบบนี้ไปลงนามเป็นพันธกรณีหรือไม่ คือหากเป็นพันธกรณียังไง เราต้องปฏิบัติตาม เปลี่ยนรัฐบาล ยังไงก็ต้องปฏิบัติตาม แต่อันนี้ไม่ใช่พันธกรณี เพราะการเป็นพันธกรณีคือต้องมีลักษณะแบบสนธิสัญญา มีการลงนามกัน ต้องส่งเรื่องมาที่รัฐสภา ถามว่าจะเลิกเมื่อไหร่ได้หรือไม่ ก็ตอบว่าเลิกได้ เพราะไม่ใช่พันธกรณี แต่จะเลิกตอนนี้เลยได้หรือไม่เลิกได้ แต่ผลคืออะไร คือทั่วโลกที่เขาสนใจจะมองว่าประเทศไทยไม่ยอมใช้สันติวิธี

พล.อ.อกนิษฐ์ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวที่มีการจัดตั้งขบวนการนักศึกษา มีการจัดกิจกรรมทางความคิดเรื่องแยกดินแดนที่ปัตตานีว่า เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว และมีไม่รู้กี่ขบวนการ บางกลุ่มหายไป ก็มีกลุ่มใหม่ขึ้นมา เป็นเรื่องธรรมดา ส่วนที่มีบางพรรคการเมืองที่กำลังจะเข้าไปเป็นรัฐบาลบอกว่ามีนโยบายจะให้ทหารด้านความมั่นคงออกจากพื้นที่ หรือการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่นั้น ต้องบอกว่าเรื่องให้ทหารออกจากพื้นที่ ในความเป็นจริงในปี 2570 กำลังทหารด้านความมั่นคงก็จะไม่มีในพื้นที่แล้ว เรื่องนี้อยู่ในแผนลดทหารในพื้นที่ ส่วนการปรับบทบาท กอ.รมน. ก็มีการปรับอยู่แล้ว เขามีการทำอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการเอาเรื่องที่เขาทำอยู่แล้วมาพูด เพราะอย่างตามแผนที่ทราบมา ในปี 2570 กองทัพภาคที่ 4 ก็จะถอนทหารออกหมด ส่วนหากจะมีการทำอะไรกันก่อนหน้าปี 2570 ก็ต้องดูว่าเขาจะมีมาตรการมารองรับสถานการณ์หรือไม่ และรัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ หากมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมา

วันเดียวกัน ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พร้อมพวก เดินทางมาด้วยตู้ เพื่อยื่นหนังสือให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. สอบถามถึงกรณีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. จะเปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันที่ 24 มิ.ย. ว่ามีจุดยืนแบบไหน เป็นการตอกลิ่มความแตกแยกหรือไม่

โดยเมื่อนายอานนท์มาถึงหน้าที่ทำการพรรค ได้มีกองเชียร์ของพรรค ก.ก.ที่มารอให้กำลังใจนายพิธาแต่เช้าไม่พอใจ ต่างตะโกนด่าทออย่างหยาบคาย และมีบางคนพยายามเข้าประชิดตัวนายอานนท์ ทำให้คนของ ศปปส.ไม่พอใจพยายามจะไปเอาเรื่อง ทำให้เกิดความวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างวิวาทะกัน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมากต้องเข้าห้ามปราบควบคุมสถานการณ์

นายอานนท์กล่าวว่า ที่มาวันนี้สืบเนื่องจากการอภิปรายของนายรังสิมันต์ในเวทีเสวนา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า รอบนี้ฟ้าใหม่ ไม่ว่าประธานสภาฯ ก็คงไม่ใช่คนเดิม รวมถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อมั่นว่าเราจะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และเราจะได้เฉลิมฉลอง 24 มิถุนายนในฐานะวันชาติไปด้วยกัน ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวได้สร้างความไม่สบายใจให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยจำนวนมาก จะเป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การล้มล้างและการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองและคนในชาติหรือไม่ แม้ภายหลังนายรังสิมันต์จะให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าเป็นความเห็นส่วนตัว สิ่งที่พูดก็ไม่ต่างจากข้อมูลของนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ  นั่นก็ยิ่งเป็นการตอกลิ่มเพิ่มความขัดแย้ง เติมฟืนเข้ากองไฟ และหากพรรค ก.ก.จะอ้างข้อมูลจากนายรังสิมันต์เป็นความเห็นส่วนตัว ยังไม่ใช่จุดยืนของพรรค ก็จำเป็นต้องมีมาตรการกำกับดูแลสมาชิกพรรค ยึดมั่นและดำเนินการใดที่ไม่เป็นไปตามมติพรรค โดยเฉพาะนายรังสิมันต์ เป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในพรรค การดำเนินการหรือแสดงความเห็นใดๆ ในสาธารณชน  ย่อมพิจารณาว่าเป็นท่าทีและจุดยืนของพรรค

“พวกเราในนามศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน จึงขอทราบจุดยืนอย่างเป็นทางการของพรรคก้าวไกลต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงวันชาติ จากวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันที่ 24 มิถุนายน  ศปปส.จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อจะสกัดกั้นการทำลายสถาบันหลักของชาติ”

ต่อมา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ  และนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนนายพิธา เดินทางมารับหนังสือจากนายอานนท์ โดยนายณัฐพงษ์กล่าวว่า ขอบคุณที่มาวันนี้เพื่อทำความเข้าใจกัน ยืนยันว่ารัฐบาลของพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลเป็นรัฐบาลของประชาชนทุกคน ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลข่าวสารที่เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งพรรคไม่มีนโยบายนี้ เรามีจุดยืนประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และมีนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ถ้าดูดีๆ นายรังสิมันต์ เพียงแค่เสนอข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ไม่ได้เสนอเป็นนโยบายพรรคแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงการแสดงความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่นโยบายพรรค ขอให้สบายใจ

ทั้งนี้ เมื่อแกนนำ ศปปส.ยื่นหนังสือเสร็จ กลุ่มมวลชนด้อมส้มได้เปรยว่าวันนี้ได้แสงแล้ว ก่อนที่กลุ่ม ศปปส.จะขึ้นรถตู้เดินทางกลับออกจากพรรคไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง