เงินเฟ้อ0.23% ตํ่าสุด22เดือน หั่นเป้าส่งออก

เงินเฟ้อ มิ.ย.66 เพิ่ม 0.23% ชะลอตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6 ต่ำสุดรอบ 22 เดือน หลังสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ อาหาร น้ำมัน ปรับลดลง พาณิชย์ปรับคาดการณ์ทั้งปีใหม่เหลือ 1-2%               กกร.คงเป้าจีดีพีโต 3-3.5% ท่องเที่ยวเครื่องยนต์สำคัญดันเศรษฐกิจ ห่วง ศก.โลกชะลอ ฉุดเป้าส่งออกติดลบ 2-0%  

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มิ.ย.2566 เท่ากับ 107.58 เทียบกับ  พ.ค.2566 เพิ่มขึ้น 0.60% เทียบกับเดือน มิ.ย.2565 เพิ่มขึ้น 0.23% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 22 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย.2564 ที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.68% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาปรับลดลง และการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และฐานราคาในเดือน มิ.ย.2565 ที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 2.49%

สำหรับเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2566 ที่สูงขึ้น 0.23% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  3.37% ตามการสูงขึ้นของผักและผลไม้สด (มะนาว ผักคะน้า กะหล่ำปลี เงาะ แตงโม ทุเรียน) ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดภาคเรียน และภาคการท่องเที่ยว อาหารสำเร็จรูป  (อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์นม (นมข้นหวาน ครีมเทียม นมเปรี้ยว) และข้าวสาร ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ไส้กรอก เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก) ผักสดบางชนิด (ผักบุ้ง พริกสด) และอาหารโทร.สั่ง (Delivery)

ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.88% ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับลดลงทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า ราคายังคงลดลงต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า) หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารสาธารณะ (เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก/สองแถว) ค่าการศึกษา ค่าแต่งผมชายและสตรี

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มิ.ย.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.2566 ถือว่าราคาค่อนข้างนิ่ง และเพิ่มขึ้น 1.32% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2565 รวม 6 เดือนเพิ่มขึ้น 1.87%

นายวิชานันกล่าวว่า เงินเฟ้อไตรมาสแรก อยู่ที่ 3.88%, ไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.14% ทำให้ครึ่งปีเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2.49% ส่วนไตรมาส 3 คาดว่าเงินเฟ้อจะยังขยายตัวค่อนข้างต่ำ เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มทรงตัวและเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ  และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาเนื้อสัตว์ คาดว่าจะลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และฐานปีก่อนค่อนข้างสูง ทำให้เงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ 0.77% และไตรมาส 4 คาดว่าอยู่ที่ 0.62% จึงได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่ จากเดิม 1.7-2.7% ค่ากลาง 2.2% เป็น 1-2% ค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมติฐาน จีดีพีเพิ่ม 2.7-3.7% น้ำมันดิบดูไบ 71-81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

วันเดียวกัน นายผยง ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมประเมินประมาณการมูลค่าการส่งออกปี 2566 จะหดตัวมากขึ้นในกรอบติดลบ 2-0% จากเดิมประเมินไว้ติดลบ 1-0% เนื่องจากภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เช่นเดียวกับภาคบริการเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในประเทศที่ยังขยายตัวได้ เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งเร่งผลักดันการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อเปิดตลาดใหม่

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประมาณการจะอยู่ในกรอบ 2.2-2.7% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อจีดีพี กกร.จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตประมาณ 3-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว จากภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามากถึง 29-30 ล้านคน และรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ตลาดการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวในการขับเคลื่อนประเทศตอนนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน ที่มีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการออกหนังสือเดินทาง รวมถึงการดูแลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง