อ้างพระราชดำรัส ‘ส.ว.วุฒิพันธุ์’ลั่นเลือกนายกฯจากพรรคที่มีส.ส.มากสุด

ไทยโพสต์ ๐ "วุฒิพันธุ์" ออกจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ร่ายยาวโยงไปถึงการแสดงความคิดเห็นในลักษณะรณรงค์ต่อต้าน ขัดขวางการขึ้นสู่ตำแหน่งของบุคคลบางคน ด้วยการสร้างมายาคติ โดยก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ไม่น่าจะเป็นการกระทำที่เหมาะควรอย่างยิ่ง อ้างพระราชดำรัส ยืนยันให้การสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี

     เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2    ภายหลังจากที่เลขาธิการรัฐสภาได้ออกหนังสือถึง ส.ส.และ ส.ว. เรื่องการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 เวลา 09.30 น. โดยมีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

     โดยเนื้อหาระบุว่า กลไกกระบวนการตามอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐสภา ตามครรลองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและเรียบร้อย นับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.ค.2566

     ในโอกาสอันเป็นมหามงคลดังกล่าว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อที่ประชุม และขอใช้โอกาสนี้อัญเชิญบางส่วนของกระแสพระราชดำรัสมาเน้นย้ำให้ได้รับทราบทั่วกันอีกครั้ง

     “…ประเทศชาติ จะมีความเจริญเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญา ความสามารถ และความสุจริตบริสุทธิ์ของท่านที่จะปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวง โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด  หากทุกท่านจะได้สำนึกตระหนักเช่นนี้อยู่เสมอ ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จลุล่วง เป็นประโยชน์ เป็นความเจริญมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์ และชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง…”

     ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในรัฐพิธีอันเป็นมหามงคล ขอตั้งปณิธานน้อมนำกระแสพระราชดำรัสข้างต้น มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความเจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองด้วยความแน่วแน่ กรณีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะมีขึ้น และเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหากันอย่างรุนแรง และกว้างขวางเกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคคลบางคน อาจเป็นปรากฏการณ์ปกติของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

     อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นในลักษณะรณรงค์ต่อต้าน ขัดขวาง การขึ้นสู่ตำแหน่งของบุคคลบางคน ด้วยการสร้างมายาคติ บนความอคติ โดยก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ไม่น่าจะเป็นการกระทำที่เหมาะควรอย่างยิ่ง ความเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐสภา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักของอำนาจอธิปไตย อันประกอบด้วย นิติบัญญัติ-ตุลาการ-บริหาร พึงต้องตระหนักในเกียรติภูมิแห่งความเป็นสมาชิกรัฐสภา และพึงต้องระมัดระวังไม่กระทำการใดๆ ที่อาจเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 ว่าด้วย “สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่ หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ”

     หรือมาตรา 114 ว่าด้วย “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

     เพื่อยืนยันถึงการน้อมนำ และยึดมั่นตามแนวทางในกระแสพระราชดำรัส จึงขอเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยืนยันให้การสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมือง ที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี

     ทั้งนี้ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และธำรงไว้ซึ่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตลอดจนเพื่อความสอดคล้องกับฉันทามติของมหาชน ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566

     พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล ต่อการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล  ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค.นี้ว่า โดยปกติพรรคที่เป็นฝ่ายตั้งรัฐบาล จะมีวิปของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจะมีการประชุมวิปของทั้ง 8 พรรคมาพูดคุยกัน ในส่วนของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ก็จะมีวิปของ ส.ว.และ ส.ว. หารือกัน ในวันที่ 11 ก.ค.นี้

     ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของ 8 พรรคร่วม คือการเสนอชื่อนายพิธาเพียงชื่อเดียวในการโหวตครั้งแรกใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า 8 พรรคได้ประกาศตามเอ็มโอยูว่าจะเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

     ซักว่า มีการมองว่าหากนายพิธาไม่สามารถโหวตผ่านได้ในรอบแรก ก็ไม่ควรมีการเสนอชื่อเป็นรอบที่สอง เหมือนเช่นกรณีการโหวตบุคคลในองค์กรอิสระ  พ.ต.อ.ทวีตอบว่า อย่างที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พูดเอาไว้ ว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้  ตัวอย่างเช่น จะเห็นได้ว่าการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการเลือก 4-6 ครั้ง ก็ยังเป็นคนเดิมอยู่ ก็ต้องส่งชื่อไป เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ เช่นเดียวกับการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ในหลักการประชาธิปไตย มีหลักการเคารพเสียงข้างมาก เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าหากมีการร่วมกันก็ต้องใช้เสียงข้างมากเป็นสำคัญ ดังนั้นเสียงข้างมากในการบริหารประเทศจะต้องเป็นของ ส.ส. เราจึงเห็นว่า ถ้า ส.ส.มีมติเลือกใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในส่วนของ ส.ว. ก็ควรให้ความเห็นชอบ คล้ายกับความเห็นชอบขององค์กรอิสระ และหาก ส.ว.เข้าใจว่า ส.ส.จะต้องไปบริหารประเทศ

     “เสียงส่วนใหญ่ ส.ว.หลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าคงไม่เลือกรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะเป็นการส่อเจตนาว่าไม่ต้องการให้เป็นประชาธิปไตย เพราะ ส.ว.ไม่ได้บริหารบ้านเมือง เมื่อครบกำหนดตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ส.ว.ก็จะมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และการเลือกนายกรัฐมนตรี มีเรื่องจริยธรรมของ ส.ส.และ ส.ว.อยู่แล้ว เช่น ฝั่ง ส.ส.จะเลือกด้านความรู้และด้านความสามารถ และด้านจริยธรรม หากเอานโยบายของพรรคที่ไปหาเสียงและประชาชนให้การยอมรับเอามาเป็นเรื่องจริยธรรมจะไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องนโยบายต้องให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้เลือก ซึ่งผมเชื่อว่าในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะ ส.ว.หลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณแล้ว” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

     ถามว่า มองว่านายพิธาจะโหวตผ่านในรอบแรกเลยหรือไม่ เลขาธิการพรรคประชาชาติกล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ แต่ต้องเลือกตามจริยธรรม ในการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญของแต่ละองค์กรอยู่แล้ว จริยธรรมในส่วนของ ส.ส.คือเลือกตามความรู้ความสามารถ และมาตรฐานคุณธรรม และเมื่อเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้เลือกมาแล้ว นั่นคือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนเสียงสูงสุด รวมทั้งพรรคอื่นๆ  ดังนั้นการใช้ดุลยพินิจต้องอยู่ในครรลอง  ไม่ใช่ตามอำเภอใจ

     เมื่อถามว่า มีความเชื่อมั่นในเสียงของ ส.ว.หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ส.ว.เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย เราก็เคารพ ตนไม่ได้เป็นผู้ไปประสานกับ ส.ว.ว่าจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องถามพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจพรรคก้าวไกล เตรียมลงพื้นที่ขอบคุณประชาชนในอาทิตย์​ที่ 9 ก.ค. ที่ลานหน้าเซ็น​ทรัลเวิลด์ โดยระบุว่า เลือกตั้งจบไปเกือบ 2 เดือน แต่ภารกิจของเรายังไม่จบ 13 ก.ค.นี้ วันสำคัญที่ประชาชนทั้งประเทศเฝ้ารอกำลังจะมาถึง นั่นคือการโหวตนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยเดินหน้าต่อไม่ได้ เปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ หากไม่มีรัฐบาลที่ชอบธรรม ไม่มีนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมาบริหารประเทศ

     พรรคก้าวไกลขอเชิญชวนประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ มาร่วมส่งเสียงอีกครั้ง ถึงเจตจำนงของประชาชนต่ออนาคตประเทศไทย เราอยากขอบคุณประชาชน และฟังเสียงทุกคนอีกครั้ง ว่าอยากเห็นประเทศไทยเดินไปทางไหน วันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.นี้ พบกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่ 16.30 น. เป็นต้นไป ให้โอกาสประเทศไทยเดินหน้าต่อตามครรลองประชาธิปไตย จัดตั้งรัฐบาลตามเสียงของประชาชน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนลงพื้นที่พบปะมวลชนที่จังหวัดนครราชสีมา ถึงการตั้งข้อสังเกตการลงพื้นที่เดินสายจนยาวถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการปลุกมวลชน ไม่ได้เป็นการปลุกระดม แต่ยังมีเวลาว่าง และมีหลายพื้นที่ที่ได้ลงไปขอบคุณประชาชนแล้ว ที่นครราชสีมาก็มีการเรียกร้อง วันที่มีการเลือกประธานสภาฯ ส.ส.โคราชก็ถามว่าเมื่อไหร่จะมาโคราช วันนี้ก็เลยถือโอกาสมา หารือกับภาคเอกชน หอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมโคราช มีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน เช่น ปัญหาภัยแล้ง

    เมื่อถามถึงเงื่อนไขของ ส.ว.เรื่อง 112 ในฐานะหัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล จะยืนยันเดินหน้าแก้ไขหรือลดเพดานลง เพื่อให้ได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว. นายพิธาตอบว่า เป็นเงื่อนไขที่อ่อนลงเรื่อยๆ เมื่อได้รับฟังคำชี้แจงและคำอธิบายถึงเหตุผล ส.ว.หลายท่านจะเริ่มเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ได้อิงกับพรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรค แต่เป็นเรื่องหลักการที่จะทำให้ระบบกลับมาปกติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง